Skip to main content
sharethis

ชุมชนบ่อแก้ว สร้างแปลงในฝัน พัฒนาพื้นที่แปลงรวม ก้าวเข้าสู่การจัดการที่ดิน ด้วยความคาดหวังถึงความมั่งคงในที่ดินและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น #โฉนดชุมชน #ชุมชนจัดการตนเอง

ถือเป็นความสำเร็จอีกลำดับหนึ่งของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินทำกิน ร่วมผลักดันให้รัฐแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกรณีสวนป่าคอนสาร กระทั่งมติ ครม.23 มิ.ย.63 เห็นชอบในการส่งมอบที่ดินทำกินเดิมให้กับสมาชิกชุมชุนบ่อแก้ว จำนวน 366 ไร่ 78 ตรว.

หลังได้ที่ดินกลับคืนมาจำนวน 7 แปลง ความร่วมมือรวมใจ ลงแรงช่วยกันปรับพื้นที่และฟื้นสภาพป่าตามแต่ละรายแปลง เพื่อจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน

"ตลาดชุมชนบ่อแก้ว" อีกความฝันหนึ่งของสมาชิกชุมชน ที่ก่อตั้งขึ้นในพื้นที่แปลง 2 เพื่อให้เป็นพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนของคนในชุมชนและสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ในแต่ละพื้นที่ นำสินค้าจำพวกพืชผักสวนครัว ไม้ผลยืนต้นหลากหลายชนิด ที่เป็นผลผลิตของคนในชุมชนปลูกกันเอง และสิ่งของที่เก็บหาได้จากธรรมชาติที่หมุนเวียนเกิดขึ้นมาตามฤดูกาล ทั้งในแหล่งน้ำและในพื้นที่ป่าชุมชน เช่น เห็ด หน่อไม้ มาวางขายเป็นการเสริมรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตและเศษฐกิจของชุมชนและเครือข่ายให้ดีขึ้น โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการจัดการที่ดินและการพัฒนาระบบการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์อินทรีย์ชุมชนบ่อแก้ว เป็นอีกกลไกหนึ่งในการบริหารจัดการดูแลผลผลิตของชุมชนและเครือข่ายสมาชิก

เริ่มเปิดตัวเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2566 โดย อภิชาติ ศิริสุนทร (ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมเป็นเกียรติในการมาเปิดตลาดชุมชนอย่างเป็นทางการ โดยมีตัวแทนสมาชิก คปอ.ในแต่ละพื้นที่ และองค์กรเพื่อนมิตรต่างๆ มาร่วมงานและนำสินค้าในพื้นที่มาวางขาย นอกจากนี้ยังมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมเปิดงาน

เป็นบรรยากาศที่ครื้นเครง สร้างความสุข และรอยยิ้มเบิกบานใจให้กันและกันระหว่างผู้เข้าร่วมกับพ่อค้าแม่ขาย เช่นเดียวกับยายบัวลัย โยธาธรรม คณะกรรมการชุมชนบ่อแก้ว ที่ได้สร้างรอยยิ้มอย่างไม่หยุดพัก ขณะกำลังจัดข้าวสารกใส่ถุงให้กับลูกค้า พร้อมบอกว่า

"ผลผลิตที่นำมาขายเป็นของสมาชิกชุมชนที่ลงแรงช่วยกันปลูกในพื้นที่นารวม (แปลง 2) เป็นข้าวไร่ที่ปลูกสืบทอดต่อกันมายาวนาน เนื่องจากอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่สูง และข้าวไร่ใช้น้ำน้อยกว่า แต่ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ เมล็ดข้าวใหญ่เนียนขาว มีคุณค่าทางอาหารต่อผู้บริโภค" ยายลับ เล่าไปยิ้มไปพลาง แม้จะสวมแมส แต่รอยยิ้มแสดงออกให้เห็นทางสีหน้าและแววตา บ่งบอกถึงความสุขในชีวิตที่ได้ที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา

นอกจากนี้สมาชิกชุมชนบ่อแก้ว ได้มีการตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มเลี้ยงกบ กลุ่มหม่อนไหม กลุ่มแปรรูปหน่อไม้ กลุ่มเพาะพันธุ์กล้าไม้ รวมถึงการจัดการด้านการตลาดและแปลงรวม

อีกความฝันหนึ่งของคนในชุมชนบ่อแก้ว สิ่งนั้นคือ สร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชน

นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว เผยว่า ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นอีกสิ่งที่จะทำขึ้นในพื้นที่แปลง 2 เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาแลกเปลี่ยน ให้ความเรียนรู้ทั้งในเรื่องระบบการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องราวของชุมชนที่ได้ต่อสู้จนประสบความสำเร็จ รวมถึงการบอกเล่าวิถีชุมชน ที่คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ด้วยความเข้าใจและรู้วิธีอนุรักษ์ไว้มานานอยู่แล้ว

"นอกจากมีร้านกาแฟภูซางที่ติดกับตลาดชุมชน และขณะนี้ได้ทำพื้นที่ลานกางเต้นท์ จุดชมวิวแล้ว โครงการที่จะทำต่ออีก คือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และบ้านพักโฮมสเตย์ เพราะบริเวณนี้อากาศดี พื้นที่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12  เป็นทางผ่านไปยังแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ต่างๆ เช่น อ.ชุมแพ และ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และยังเป็นประตูไปสู่ภาคเหนือ เชื่อมต่อไปยังเทือกเขาเพชรบูรณ์ ผ่าน อ.น้ำหนาว.อ.หล่มสัก ขึ้นไปทางเขาค้อ เช้าสู่ จ.พิษณุโลก" ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว เล่าต่อถึงสิ่งฝันที่จะทำต่อให้สำเร็จ

เมื่อพูดถึงการต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน ถือเป็นความสำเร็จก้าวหน้าในอีกระดับหนึ่งของชาวบ้านบ่อแก้ว ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน สร้างสังคมที่เป็นธรรม

การที่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ในนามสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้ติดตามและผลักดันการแก้ไขปัญหา จนนำมาสู่การสำรวจพื้นที่ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เดือดร้อน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ชาวบ้านเสนอ จำนวน 830 ไร่ หลังการสำรวจสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 28 พ.ย.62 มติคณะกรรมการรอิงค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เห็นชอบในการคืนพื้นที่จำนวน 7 แปลง รวม 366 ไร่ 78 ตรว.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63

แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน จึงได้ดำเนินการมาเป็นลำดับขั้นตอน ตามมติที่คณะกรรมการชุมชนบ่อแก้ว ประชุมร่วมกับสมาชิก เห็นชอบการจัดสรรที่ดินจำนวน 366 ไร่ 78 ตรว.ให้สมาชิกครอบครัวละ 2 ไร่ (123 ครัวเรือน) เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และทำการผลิตในรูปแบบเกษตรผสมผสาน และไม้ผลยืนต้น ส่วนที่เหลือจำแนกเป็นพื้นที่แปลงรวม เช่น แปลง 2 เพื่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกัน

แม้รัฐจะคืนที่ดินให้ผู้เดือดร้อนบางส่วน แต่ยังขาดในส่วนที่จะต้องคืนให้ตามที่ได้ตกลงร่วมกับที่ปรึกษาคณะยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.ทส.(กาญจนา ศิลปอาชา) เมื่อวันที่ 26 ส.ค.62 และข้อตกลงเมื่อวันที่ 22 ก.ย.62 ตามที่ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ (จตุพร บุรุษพัฒน์) พร้อมคณะทำงานทีมยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ลงพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง รวมทั้งสิ้น 830 ไร่

ดังนั้น อ.อ.ป.ต้องเร่งส่งต่อให้ชาวบ้านอีกจำนวน 464 ไร่ ตามมติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ดินดังกล่าว เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ เหมาะแก่การทำเกษตร แต่ติดที่กระบวนการแก้ไขปัญหา เป็นไปอย่างล่าช้า ยืดเยื้อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net