Skip to main content
sharethis
  • 'เพื่อไทย' ค้านการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.แบบที่ 6-7-8 เหตุขัด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 61 เตรียมยื่นเรื่อง กกต. ‘สุภาภรณ์’ ชี้ ประชาชนกำลังถูกรัฐประหารโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่  
  • ที่ประชุม กกต.พรุ่งนี้ หาข้อยุติเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ปมคำนวณ ส.ส. หวังเลือกตั้งเรียบร้อยเป็นที่ยอมรับ 

 

13 ก.พ.2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทย นำโดย วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง และโฆษกพรรคเพื่อไทย  สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม.เขตภาษีเจริญ พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวคัดค้านรูปแบบการแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กทม.โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความกังวลใจในการแบ่งเขตการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครของ กกต.ที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของพื้นที่ โดยในช่วงแรกแบ่งเขตการเลือกตั้ง แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ขณะนี้มีเพิ่มมาอีก 3 รูปแบบ ซึ่งถือเป็นการแบ่งเขตที่มากกว่าจังหวัดอื่น โดยเฉพาะการแบ่งเขตการเลือกตั้งรูปแบบที่ 6,7,8 ที่พี่น้องประชาชนได้สอบถามมายังว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคที่ลงพื้นที่ว่าเกิดอะไรขึ้น บ้านของตนอยู่ตรงไหน ต้องเลือกใคร บางคนมีบ้านอยู่ในเขตการปกครองนี้  แต่ต้องไปใช้สิทธิการเลือกตั้งในเขตอื่น  แสดงให้เห็นว่าการแบ่งเขตการเลือกตั้งในแบบที่ 6-7-8 ไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 มาตรา 29 ที่สร้างความสับสน และสร้างปัญหาให้พี่น้องประชาชน ทั้งยังสร้างปัญหา ความลำบาก และความสับสนในการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนรับรองว่าจะเกิดปัญหาตามมา และจะเกิดบัตรเสียมากมาย ไม่เป็นผลดีประชาชนและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่คาดหวัง 

ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งในแบบที่ 1-5 มีความสอดคล้องกับการเลือกตั้งในปี 2562 โดยมีการแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 25 เขต จากจำนวนเขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร 33 เขต  ซึ่งมีความสะดวกต่อพี่น้องประชาชน อยากให้ กกต.ระลึกให้ดี หากฉีกเขตออกมาจะเกิดความวุ่นวายมากมาย  โดยคาดว่าการแบ่งเขตของ กกต.ในครั้งนี้จะทำให้การเลือกตั้งเกิดความบกพร่องมากที่สุดหรือไม่ หาก กกต.จะคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน  ขอให้ทำตามระเบียบ ตามข้อกฎหมาย และตามหลักการของความเป็นจริงที่ต้องสร้างความสะดวกให้พี่น้องประชาชนในการเข้าถึงการเลือกตั้งและใช้สิทธิให้มากที่สุด  โดยในช่วงบ่ายวันนี้ พรรคเพื่อไทย กรุงเทพมหานคร จะยื่นข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนไปยัง กกต.กทม.  พรรคยอมไม่ได้ที่จะเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบ 

ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ในปี 2561 มีคำสั่ง คสช. 16/61 ให้อำนาจ กกต.เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งได้ โดยในปีนั้น กกต.ยืนยันว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จก่อน พ.ร.ป.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ทั้งหมดเป็นการยืนยันว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้วางหมากเกมไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ การแบ่งเขตจึงไม่สามารถสรุปได้โดยเร็วตามที่ได้ประกาศเอาไว้จนก่อให้เกิดการแบ่งเขตหลากหลายรูปแบบและไม่อาจสรุปได้ในเวลาอันเหมาะสม  ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้ง ควรเป็นไปเพื่อความสะดวก ตามพื้นที่เชิงข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด  อย่าให้เป็นเหมือนกรณี Gerrymandering ที่ผู้อำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งในการเลือกตั้งวุฒิสภาของสหรัฐเมื่อปี 1812

ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ กกต.จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนได้เข้าถึงหลักการการแบ่งเขตเลือกตั้ง  โดย กทม.มีทั้งหมด 33 เขตจากจำนวนประชากรประมาณ  5.49 ล้านคน โดยเอาถือเกณฑ์จากประชากรประมาณ 1.66 แสนคนเป็นเกณฑ์

ในรอบแรกทาง กกต.ได้เสนอการแบ่งเขตการเลือกตั้ง  5 รูปแบบ และช่วงหลังมีการนำเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง  6-7-8 รูปแบบ รวมแล้ว 8 รูปแบบ ทางพรรคเพื่อไทยได้มอบหมายว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นประชาชนโดยถือหลักการกฎหมายการเลือกตั้ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 มาตรา 29 เป็นหลัก และมาตรา 27 รวมทั้งระเบียบ กกต.ที่ประกาศใช้ในปี 2566 เป็นเกณฑ์ พบว่า รูปแบบการแบ่งเขตการเลือกตั้งรูปแบบ ที่ 1-2 มีความชัดเจนในเรื่องของพื้นที่ที่มีความคาบเกี่ยวกันในเรื่องของประชากรในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าในเรื่องขององค์ประกอบมีความสอดคล้องกันมากกว่าในแบบต่างๆ เนื่องจากมีเขตการเลือกตั้งที่ไม่ต้องแบ่งเขตจากปี 2562 ที่ไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน โดยในครั้งนั้นแบ่งเขตการเลือกตั้งทั้งหมด 25 เขต 

ส่วนการแบ่งเขตการเลือกตั้งในปัจจุบัน รูปแบบที่ 3 มีจำนวน 21 เขต แบบที่ 4 มี 24 เขต และแบบที่ 5 มี 20 เขต ที่ไม่ต้องมีการแบ่งเขต

ส่วนแบบที่ 6,7,8 พี่น้องประชาชนจะมีความสับสนมากกว่า โดยแบบที่ 6 มี 5 เขตที่ไม่ต้องมีการแบ่งเขต แบบที่ 7 มี 4 เขต และแบบที่ 8 มี 4 เขต 

ทั้งนี้ ในประกาศของ กกต.ในข้อที่ 3 วงเล็บที่ 2 ที่ระบุว่าจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งและผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งในจังหวัดนั้น ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันเดินทางด้วยความสะดวก  ดังนั้นในการอ้างอิงตัวเลขร้อยละ 10 ไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าจะเป็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือการแบ่งเขตแล้วมีความสับสนจะทำให้เกิดบัตรเสีย 

เช่น เขตเลือกตั้งจอมทอง เขตเลือกตั้งที่ 24-27  ในการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ 7 โดย 1 เขตมี ส.ส. 4 คน และยังมีเขตเลือกตั้งที่ 11 แบบที่ 8 โดย ส.ส. 1 คนดูแลเขตพื้นที่ 4 เขต 

ในปี 2562 มีการแบ่งเขตที่ทับกัน โดยเอาเขตการปกครองเป็นตัวตั้ง จากนั้นจึงแบ่งแขวงออกไป ทำให้ในเขตเลือกตั้งคนละเบอร์ ของ ส.ส.ในพรรคเดียวกัน แต่ ส.ส.เดิมที่ทับกันอยู่แล้วแบ่งเขตให้ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน  เนื่องจาก ส.ส.เบอร์ดังกล่าว  มาลงอีกแขวงหนึ่ง และเป็นแบบนี้เกือบทุกเขต ซึ่งเกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งที่ 16 และ 17 เป็นตัวอย่างในปี 2562 

“การที่ กกต.นำวิธีการต่างๆ มานำเสนอต่อพี่น้องประชาชนเป็นความยุ่งยาก ลำบาก อาจจะทำให้เกิดความสับสน อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน เพราะจำนวนพรรคการเมืองใน กทม.ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง มี 30 พรรคการเมืองเป็นอย่างน้อย หากมีการแบ่งเขตพื้นที่เป็นแขวง ส.ส.คงไม่ได้เรียกเป็น ส.ส.เขตแล้ว น่าจะเรียกเป็น ส.ส.แขวง ซึ่งเป็นมิติใหม่ในการแบ่งพื้นที่ในลักษณะนี้ ผมทำนายว่า หากใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบ 6,7,8 จะมีปัญหาตามมา คือบัตรเสียจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น พรรคเพื่อไทยจึงพิจารณาอย่างรอบคอบโดยฟังเสียงประชาชน แบบเลือกตั้งที่ 1 และ 2 มีความเหมาะสมมากที่สุด” วิชาญ กล่าว 

สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม.เขตภาษีเจริญ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากสอบถามว่า กกต.ทำหน้าที่กี่วันใน 4 ปีนี้  จึงออกแบบการแบ่งเขตการเลือกตั้งออกมาเป็นแบบนี้  ซึ่งตนขอยืนยันว่าอาจจะขัดหลัก พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561มาตรา 29 ที่ต้องคำนึงการแบ่งเขตในรูปแบบเดิมเป็นหลักเสียก่อน โดยในการแบ่งเขตเลือกตั้งในแบบที่ 6 มีการยกเขตปกครองเดิมมาเพียง 5 เขต แบบที่ 7 ยกเขตปกครองเดิมมา 4 เขต และแบบที่ 8 ไม่ได้ยกเขตปกครองเดิมกลับมาเลย ซึ่งขัดต่อ พ.ร.ป.ดังกล่าวชัดเจน 

ทั้งนี้การแบ่งเขตแบบคร่อมเขตทับซ้อนกันไปมาในการทำงาน แม้เชื่อว่าเป็นการกระจายอำนาจเพื่อให้ง่ายต่อการปกครองและการพัฒนาการจัดสรรการทำงานต่างๆ  แต่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนได้อย่างไร  เพราะ ส.ส.ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงออกกฎหมายหรือแก้ไขข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นความคาดหวังของพี่น้องประชาชน ในการส่งต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งดูเหมือนว่า กกต.จะลดบทบาทนิติบัญญัตินี้ลงอย่างชัดเจนและจงใจ ซึ่งทำไปเพื่ออะไร 

เช่น ในเขตของตน เขตภาษีเจริญ เขตเดียว ถูกระเบิดแบ่งออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้งที่ 28,30 และ 32  มีเขตการปกครองที่เข้ามาเกี่ยวข้องถึง 4 เขต ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 

แบบที่ 6 มีเขตปกครองถึง 4 เขต คือ เขตภาษีเจริญ บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย และตลิ่งชัน 

แบบที่  8 มีเขตการปกครองที่เข้ามาเกี่ยวข้องที่ไม่ซ้ำ 4 เขต คือ เขตภาษีเจริญ จอมทอง บางแค บางบอน หากตนเป็น ส.ส.ต้องชนะเลือกตั้งให้ได้ถึง 4 เขตการปกครอง

“ในความรู้สึกของการทำงานเป็นผู้แทนราษฎร ดิฉันอยากจะฟันธงและบอกว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งในแบบที่  6,7,8 ไม่เป็นไปตามหลักการ ท่านใช้หลักการอะไรในการแบ่งเขตแบบนี้คะ  การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน  และเป็นโอกาสของประเทศชาติที่จะได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะมีโอกาสเลือกผู้แทนและพรรคการเมืองดี ๆที่เชื่อมั่นและเชื่อมือในการทำงาน เพื่อมีความหวังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงและดีกว่าใน 8 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าผู้มีอำนาจ ท่าน กกต.ยังยึดติดอยู่กับการใช้อำนาจ แบบเดิมเหมือนตอนที่ปฏิวัติรัฐประหารมา การแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ออกมานี้ ดิฉันเชื่อว่ากำลังจะเป็นปัญหา และดิฉันจะถือว่าพี่น้องประชาชนกำลังจะถูกรัฐประหารโดยการแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วระบบประชาธิปไตยของพวกเรานั้นจะเดินต่อไปได้อย่างไร” สุภาภรณ์กล่าว

ที่ประชุม กกต.พรุ่งนี้ หาข้อยุติเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ปมคำนวณ ส.ส. หวังเลือกตั้งเรียบร้อยเป็นที่ยอมรับ 

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ประชุม กกต. วันนี้ (13 ก.พ.66) มีการหารือกรณีความเห็นต่าง ในการที่ กกต.นำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี และแบ่งเขตเลือกตั้งตามที่สำนักงานฯ เสนอเรื่อง หลังสังคมมีความไม่สบายใจและมีความเห็นที่แตกต่าง ทั้งจากประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกต. ทำให้การทำงานของ กกต. เกิดความเคลือบแคลง ควรจะมีแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร 

รายงานข่าวระบุว่า ในการพิจารณาของ กกต. ก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งถ้าเดินหน้าต่อ ปัญหาที่จะเกิดในอนาคตมีอะไรบ้าง หรือถ้าจะมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในขณะนี้จะทำได้หรือไม่ เพราะ กกต.ก็อยากเห็นการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป โดยนัดที่จะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวต่อในการประชุม กกต.วันพรุ่งนี้          

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.66) เวลา 13.00 น. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะไปยื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยกรณีความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม มาตรา 86 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 ประกอบมาตรา 26 ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ว่าการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ   ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น หมายความรวมถึงจำนวนราษฎรผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงราษฎรที่เป็นคนต่างด้าวด้วยหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net