ย้อนดู 80 ปี 'ความรู้สึกรำคาญของชนชั้นกลางไทย' ผ่านคำพิพากษาและวินิจฉัยศาล

นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มช. เสนองานศึกษา “พิพากษารมณ์ : ระบอบกฎหมายแห่งความรู้สึกรำคาญของชนชั้นกลางไทย” เปิด 'ความรู้สึกรำคาญของชนชั้นกลางไทย' ผ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและวินิจฉัยศาลปกครอง ในรอบ 80 ปี จากยุค 'อุสาหกรรมใหม่' 'สังคมนายทุนน้อย' 'ชีวิตประจำวันในเอกนคร' และ 'ทวิลักษณ์เอกชน - มหาชน ' ขณะที่นักประวัติศาสตร์วิจารณ์แบ่งยุคยังคลุมเครือ ชี้หลังรัฐประหาร 57 ชนชั้นกลางถูกมองข้ามและละเมิด

“ผมพยายามจะบอกว่า ระบอบกฎหมายและอำนาจตุลาการมันเข้าไปนิยามความหมายและจัดการอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคม” กฤษณ์พชรกล่าว

'พิพากษารมณ์ : ระบอบกฎหมายแห่งความรู้สึกรำคาญของชนชั้นกลางไทย' ตอนหนึ่งจากการประชุมวิชาการเพื่อเสนอผลงานต่อสาธารณชน ภายใต้หัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ระบบคุณค่า และระบอบอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทย พ.ศ. 2500 – 2560” โดย กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายคุณภาพนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจารณ์โดย สิงห์ สุวรรณกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กฤษณ์พชรกล่าวว่า กฎหมายไม่ใช่กฎที่ควบคุมความประพฤติอย่างเดียว หลายๆ ครั้งมันควบคุมความคิด และหลายครั้งมากมันเข้าไปควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมว่า เรื่องแบบไหนที่ความเป็นปกติของกฎหมายจะอนุญาตให้เรารู้สึกได้บ้าง และความเดือดร้อนรำคาญหรืออารมณ์รำคาญก็มักเป็นสิ่งที่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก ทั้งในทางกฎหมายและทางประวัติศาสตร์ เพราะถ้าเรามองตามทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งแล้ว ความเดือดร้อนรำคาญมักจะถูกมองว่า เป็นความขัดแย้งระดับเล็ก (Micro Conflicts) ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ถึงกับผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันบานปลาย จนกลายเป็นความรุนแรงได้

วิดีโอคลิปการนำเสนอของกฤษณ์พชร

วาทกรรมความเป็นเหตุเป็นผลของกฎหมาย

กฤษณ์พชรกล่าวว่า กฎหมายตามตำรานั้นเป็นกติกาที่เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งอ้างอิงมาจากความเป็นเหตุเป็นผล กล่าวคือ ในสังคมที่เป็น National Society จะใช้กฎหมายเป็นใหญ่ในการกำหนดการกระทำของบุคคลในสังคม เพราะฉะนั้นเวลาคนธรรมดาสามัญอย่างเราคิดถึงกฎหมาย ก็มักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของระบบเหตุผล ตรรกะ และก็จะปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกอย่างสิ้นเชิง เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีเหตุผล

ข้อจำกัดจากคำพิพากษาศาลฎีกา

กฤษณ์พชรกล่าวว่า ตนค้นจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นคำพิพากษาสูงสุดอย่างเดียว ซึ่งกว่าคำร้องหนึ่งจะไปถึงศาลสูงสุด ก็ต้องผ่านระบบขั้นตอนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ผู้บังคับใช้กฎหมายในระดับฝ่ายปกครอง เพราะฉะนั้นข้อมูลจำนวนมากจึงมักถูกตัดทอนออกไปตามกระบวนการพิจรณาตามสิ่งที่ศาลเห็นว่าเกี่ยวข้องกับคดี เราจึงจะสามารถเห็นอารมรณ์ความรู้สึกในชั้นต้นได้มากกว่า เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยของศาลฎีกามันจึงมีขีดจำกัดในการอธิบายอารมณ์ความรู้สึก แต่อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาก็เป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถหาได้จากในระบบกฎหมาย เพราะว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือรายงานในชั้นตำรวจมันไม่ได้มีการเก็บบันทึกไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วก็มักจะถือกันว่าเป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิงไม่ได้

ระบอบความรำคาญของชนชั้นกลางไทย 4 ช่วง

กฤษณ์พชร แบ่งระบอบความรำคาญของชนชั้นกลางไทยออกเป็น 4 ช่วง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 25480 จนถึง 2540 ดังนี้

ระบบความรำคาญในอุสาหกรรมใหม่ (พ.ศ.2480 – 2500)

จากปี พ.ศ.2480 - 2550 มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นข้อพิพาทเรื่องความเดือดร้อนรำคาญก็คือ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นการค้าสำคัญของประเทศขึ้นมา ความเดือดร้อนรำคาญที่เกิดก็มาจากโรงงานอุตสาหกรรมของนายทุนใหญ่ ไม่ว่าจะโรงสีข้าว โรงเลื่อย โรงต่อเรือ ซึ่งมันเกิดผลกระทบต่อคนที่เขาอยู่รอบๆ และมีการเรียกร้องในลักษณะของการที่ทำให้เดือดร้อนรำคาญ แต่ในช่วงนี้มีหลักการหนึ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากช่วงนี้อุตสาหกรรมเป็นการค้าสำคัญของประเทศ เรื่องอารมณ์ความรู้สึกรำคาญที่เกิดขึ้นจึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ เมื่อเทียบกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศ จะเห็นได้เลยว่าความรำคาญที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ นั้นถูกกดทับไว้ไม่ให้แสดงออกมาในช่วงนี้

ตัวอย่างที่ 1 ‘โรงสีข้าวเป็นการค้าขายที่สำคัญยิ่งและรู้กันอยู่นานแล้วว่าการทำโรงสีต้องใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทำอย่างใดผิดไปจากโรงสีธรรมดาอันจะแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยขาดความระมัดระวัง ด้วยเหตุผลเหล่านี้จะยอมให้ความรำคาญในส่วนร่างกายของบุคคลซึ่งอยู่ในสถานที่เช่นนี้มาเป็นเหตุขัดขวางการค้าขายสินค้าอันสำคัญของประเทศหาควรไม่’

ตัวอย่างที่ 2 ‘สิทธิในความสุขสำราญในสถานที่อย่างหนึ่งนั้นหาจำเป็นว่าจะเสมอกับความสุขสำราญในสถานที่อีกอย่างหนึ่งไม่ โจทก์อยู่ในทำเลโรงสีข้าวจะหวังใช้สิทธิ์ในความสุขสำราญเหมือนกับอยู่ในสถานที่ที่เป็นตำบลสำหรับบ้านอยู่เท่านั้นหาได้ไม่ ในเรื่องนี้ถ้าแม้พิจารณาปรากฏว่าเถ้าแกลบที่ปลิวมานั้นเป็นความเสียหายแก่ทรัพย์สมบัติอันเป็นโทษเป็นล่ำเป็นสันไม่’

ระบอบความรำคาญในสังคมนายทุนน้อย (พ.ศ.2500 – 2520)

หลังปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยเริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ข้อพิพาทในเรื่องความเดือดร้อนรำคาญก็เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ อุตสาหกรรมหนักที่เคยอยู่แค่ในมือของนายทุนใหญ่เริ่มกระจายออกไปในหมู่ชนชั้นกลางมากขึ้น คนเหล่านี้มีการริเริ่มธุรกิจของตัวเอง เกิดโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งนายทุนน้อยเหล่านี้ไม่ได้มีทรัพยากรมากนัก ฉะนั้นโรงงานที่เกิดขึ้นมันจึงแทรกอยู่ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ซึ่งในที่นี้ผมเรียกมันว่า ‘โรงงานห้องแถว’ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดข้อพิพาทกันระหว่างประชาชนกับประชาชนในโรงงานขนาดเล็กมากขึ้น

ตัวอย่างที่ 1 ‘จำเลยเช่าตึกแถวจากนายดำรงค์ จ่างตระกูล เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ต่อมาจำเลยได้ใช้ตึกแถวเป็นโรงงานทำขนมปังและขายสุราอาหารจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญกับที่ดินข้างเคียง โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจึงบอกเลิกสัญญาเช่า รวมถึงขอให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย’

ตัวอย่างที่ 2 ‘โจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์มาประมาณ 44 ปี โดยปกติสุข ไม่มีเสียงดังให้เกิดความรำคาญ บริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย จำเลยได้ใช้ที่ดินของตนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมซ่อม เคาะ และพ่นสีรถยนต์ ฯลฯ กล่าวคือ ทุกวันเว้นวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 8:00 น ถึง 17:00 น และบางวันประมาณ 5 ครั้งใน 1 เดือนได้ปฏิบัติงานติดต่อกันจากกลางวันถึงเวลา 21:00 น จำเลยใช้ให้ลูกจ้างของจำเลยเดินเครื่องยนต์อย่างเต็มที่ทดลองอุปกรณ์ทำให้เกิดเสียงดังและกระเทือนเกินกว่าปกติ บางครั้งมีกลิ่นน้ำมันฟุ้งออกมาและเป็นควันตลบไปหมดเป็นเหตุให้โจทก์และครอบครัวกับบุคคลอื่นๆ ได้รับความสะเทือนทางสมอง จิตใจไม่สงบ ไม่ปกติ ปฏิบัติงานไม่ได้ พักผ่อนไม่ได้สะดวก โจทก์และครอบครัวต้องไปหาแพทย์รักษาพยาบาลเกี่ยวกับประสาทและหัวใจ ฯลฯ’

จะเห็นได้ว่าทิศทางของคำพิพากษาของศาลฎีกาเริ่มเปลี่ยนไป ถ้าเรามองในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ศาลเข้าข้างโรงงานอุตสาหกรรมแบบ 100% เพราะเป็นการค้าที่สำคัญของประเทศ เพราะฉะนั้นอย่าไปรำคาญกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลมองว่า การให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนมันเลี่ยงปัญหาเช่นนี้ไม่ได้ จึงมีการคิดทำนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา โดยการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมหนักอยู่เป็นที่เป็นทางมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมขนาดเล็กก็ยังคงกระจายอยู่กับชุมชน ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังเห็นอยู่ จากตัวอย่างดังกล่าว ศาลเริ่มให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนมากขึ้นว่าประชาชนรู้สึกเดือดร้อนรำคาญด้วยเหตุเพราะโรงงาน เริ่มยอมรับหลักการที่ว่าความรำคาญเป็นสิ่งที่อนุญาตให้รู้สึกได้ และเริ่มใช้กฎหมายให้สอดคล้องล้อไปกับแนวทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ความเดือดร้อนรำคาญมันไม่ได้เกี่ยวกับทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว หลังปี พ.ศ. 2500 เราเริ่มมีการวางบรรทัดฐานว่าท่าทางที่ไม่เรียบร้อยกังขา มันคือความน่ารำคาญอย่างหนึ่ง ศาลเริ่มทำให้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาในกฎหมายมากขึ้น ความรำคาญเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาตให้เรารู้สึกได้

ระบอบความรำคาญแบบชีวิตประจำวันในเอกนคร (พ.ศ.2520 – 2540)

ภายหลังปี พ.ศ. 2520 เป็นช่วงภายหลังสงครามเย็น เศรษฐกิจไทยดีขึ้น และถูกมองว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เกิดเอกนครขึ้นคือ กรุงเทพฯ มีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าไปในเมืองหลวงมากขึ้น ซึ่งมันทำให้ความหนาแน่นของประชากรเกิดขึ้นเยอะตามไปด้วย เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมือง เช่น ตึกอาคารสูง บ้านเรือนที่ชิดกันมากขึ้น ทำให้ภาพของการเกิดความเดือดร้อนรำคาญตรงนี้เปลี่ยนไปจากเดิม ในช่วงนี้ความขัดแย้งระหว่างคนที่ประกอบอาชีพกับชาวบ้านเริ่มลดน้อยถอยลงไป กลายเป็นการทะเลาะกันระหว่างเพื่อนบ้านกับเพื่อนบ้านด้วยกันเองมากขึ้น

ตัวอย่างที่ 1 ‘โจทก์ฟ้องจำเลยเนื่องจากจำเลยได้สร้างรั้วกำแพงทึบสูง 2.7 เมตรเฉพาะในด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ ซึ่งส่งผลให้กำแพงรั้วของจำเลยสูงเกือบเทียบเท่าชายคาบ้านชั้น 1 ของโจทก์ และยังห่างจากชายคาบ้านของโจทก์เพียงแค่ 50 เซนติเมตรเท่านั้น โจทก์จึงฟ้องร้องว่าจำเลยได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ เพราะถูกปิดกั้นแสงสว่างและทางลม’ สุดท้ายศาลพิพากษาว่ารั้วนี่มันไม่ถูกต้องและสั่งให้รื้อออก

ตัวอย่างที่ 2 ‘จำเลยเป็นเจ้าของโครงการจัดสรรซึ่งจำเลยแบ่งที่ดินดังกล่าวเป็นหลาย 10 แปลง ได้ออกแบบให้ที่ดินแต่ละแปลงมีทางออกสู่สาธารณะ มีการจัดที่ดินไว้แปลงหนึ่งให้เป็นลานโล่งอเนกประสงค์สำหรับเจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่จัดสรรจะใช้ร่วมกันในการสัญจรหรือเป็นที่จอดรถต่อมาจำเลยได้นำไม้แปรรูปมาต่อทำผังกั้นบริเวณหน้าที่ดินของโจทก์และขุดหลุมวางเสาคอนกรีต ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์หรือสิ่งของต่างๆ ออกสู่สาธารณะได้และยังเป็นการบดบังแสงสว่างและทางลมของตนด้วย’ จึงฟ้องคดีต่อจำเลย ศาลตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้และสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น

ระบอบความรำคาญแบบทวิลักษณ์เอกชน - มหาชน (ปีพ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน)

หลังปี พ.ศ. 2540 เกิดสถาบันทางกฎหมายใหม่ขึ้นมาคือ ‘ศาลปกครอง’ ที่มีอำนาจวินิจฉัยในหลายๆ เรื่อง  ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ วินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีการกระทำจำนวนไม่น้อยเลยที่ผูกพันกับเหตุที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม อย่างพระราชบัญญัติโรงงาน โดยให้อำนาจฝ่ายปกครองในการวินิจฉัยเบื้องต้นว่า อนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในย่านนั้นๆ ได้หรือไม่ ฉะนั้นศาลปกครองกลายเป็นตัวกลางที่เกิดขึ้นมาใหม่ระหว่างประชาชนกับประชาชน การเข้าไปแทรกแซงนี้เป็นการไปเพิ่มองค์ประกอบในคู่ความขัดแย้งจากที่มีแค่ประชาชนกับประชาชน กลายเป็นประชาชนกับประชาชน และประชาชนกับรัฐแทน ซึ่งมันสร้างอารมณ์ความรู้สึกและเงื่อนไขให้ชนชั้นกลางไทยที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินขนาดเล็กเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยิ่งอำนาจรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเอกชนที่เป็นชนชั้นกลางมากขึ้น มันจึงเกิดคู่ขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางกับเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นไปพร้อมๆ กันด้วย ตัวอย่างเช่น หากจำเลยขออนุญาตสร้างตึกสูง ถ้าฝ่ายปกครองอนุญาตให้สร้าง ฝ่ายปกครองก็จะมีปัญหากับโจทก์ แต่ถ้าฝ่ายปกครองไม่อนุญาตให้สร้างฝ่าย ปกครองก็จะมีปัญหากับจำเลย มันเพิ่มคู่ความขัดแย้งเข้าไปอยู่ในกระบวนการการบริหารจัดการความรู้สึกเดือดร้อนรำคาญ ผลที่ตามมาก็คือ ชนชั้นกลางไม่ไว้วางใจชนชั้นกลางด้วยกันเอง และชนชั้นกลางก็ไม่ไว้วางใจรัฐด้วย ชนชั้นกลางจึงกลายเป็นชนชั้นที่โดดเดี่ยวในเชิงอารมณ์ความรู้สึก ไว้ใจใครไม่ได้ และไม่มีพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มอื่นๆ 

จากเรื่องสาธารณะสู่ขัดแย้งเพื่อนบ้าน และชนชั้นที่โดดเดี่ยวตัวเอง

ความเดือดร้อนรำคาญเป็นสภาวะที่เป็นโครงสร้างทางสังคมที่เป็นพลวัตและกฎหมายก็เป็นระบบหนึ่งที่นิยามความหมายของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แล้วมันมีผลสำคัญเพราะมันมีรัฐคอยบังคับใช้ว่าเราต้องรู้สึกอย่างไร มิฉะนั้นจะไม่มีความชอบธรรมในทางกฎหมาย

กฤษณ์พชรกล่าวสรุปว่า ก่อนปี พ.ศ. 2500 ความเดือดร้อนรำคาญยังเป็นเรื่องของสาธารณะเป็นหลัก พอหลังปี พ.ศ. 2500 เริ่มกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านในระยะแรกระหว่างคนที่ประกอบอาชีพต่างๆ กับคนที่อยู่อาศัย ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่คนอยู่อาศัยกับคนอยู่อาศัยมีปัญหากันเอง ถึงแม้รัฐจะพยายามแก้ไขโดยให้ศาลปกครองเข้ามาใช้อำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ แต่มันกลับไปเพิ่มปริมณฑลของความขัดแย้งจากปัจเจกกับปัจเจก กลายเป็นปัจเจกกับปัจเจกและรัฐแทน และบรรยากาศที่ดำเนินอยู่หลายทศวรรษนี้เองมันทำให้ชนชั้นกลางตามความเข้าใจของตนกลายเป็นชนชั้นที่โดดเดี่ยวตัวเองออกจากทั้งชนชั้นล่าง และชนชั้นนำ หรืออาจจะเข้าไปเกาะอยู่กับชนชั้นนำก็ได้ แต่ก็สุดท้ายแล้วก็จะอยู่ในสถานะรอง และไม่ไว้วางใจรัฐไม่ไว้วางใจใครเลย

นักประวัติศาสตร์วิจารณ์ยังคลุมเครือ ชี้หลังรัฐประหาร 57 ชนชั้นกลางถูกมองข้ามและละเมิด

สิงห์ วิจารณ์ว่า ประเด็นหลักอันหนึ่งที่ผมได้จากงานนี้ คือการพยายามเขียนถึงลักษณะความสัมพันธ์ของกฎหมายกับอารมณ์ความรู้สึกอยู่ที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ 1. กฎหมายเป็นแหล่งข้อมูลและเป็นหลักฐานที่นำมาสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกในสังคมได้ 2. กฎหมายในฐานะสิ่งยืนยันและตอกย้ำมาตรฐานทางอารณ์ที่ดำรงอยู่แล้วในสังคม ทำให้อารณ์ความรู้สึกเหล่านั้นมันเด่นชัดและมีที่ทางในปริมณฑลของกฎหมาย 3. กฎหมายในฐานะสิ่งที่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกและมาตรฐานทางอารมณ์ และ 4. กฎหมายในฐานะเป็นพื้นที่ทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งการพยายามขจัดอารมณ์ความรู้สึกออกไปจากปริมณฑลของกฎหมายเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่

ตรงนี้สิงห์ให้ความเห็นว่ายังเป็นประเด็นที่คลุมเครืออยู่พอสมควร ซึ่งความสัมพันธ์แบบที่ 2 และ 3 มันยังเป็นพื้นที่ที่มีความทับซ้อนกับอยู่ แน่นอนว่าทั้งสองกระบวนการมันอาจเกิดขึ้นไปพร้อมกันได้ แต่ถ้าสามารถแยกออกมาเป็นประเด็นได้ มันก็จะทำให้ในหลายๆ จุด มันชัดเจนขึ้น

สิงห์ยกตัวอย่างว่า ตามความสัมพันธ์แบบที่ 2 คำพิพากษาก่อนปี พ.ศ. 2500 ศาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของบ้านเมือง ธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มาก่อนเรื่องทรัพย์สิน ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึกของปัจเจก ตามลำดับ ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ ศาลก็กำลังสร้างความรู้สึกแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือความสัมพันธ์แบบที่ 3 ที่กฎหมายเน้นไปที่เศรษฐกิจของชาติ ที่มันไปได้ดีกับทุนในเวลานั้น กล่าวคือ จริงๆ แล้วความสัมพันธ์แบบที่ 2 ที่เหมือนกับว่ามันไม่มีอารมณ์ความรู้สึกก่อนหน้านั้น มันมีอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งที่ศาลเองเป็นฝ่ายสร้างขึ้นมาผ่านกฎหมาย

อีกทั้งภายหลังรัฐประหารปี 2557 และการกลับคืนมาของอำนาจนิยมและทุนใหญ่ อารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางเริ่มกลับมาถูกมองข้ามและละเมิดได้อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับผู้มีอำนาจ ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็เริ่มมีการท้าทายอำนาจโดยกลุ่มคนชนชั้นล่างที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น อามรณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางมันจึงโดดเดี่ยว และไม่ได้เสียงดังขนาดนั้นอีกต่อไป

พิพากษารมณ์ (Judicilization of Emotion) และ พจนารมณ์ (Emotive)

พิพากษารมณ์ (Judicilization of Emotion) คือการทำให้อารมณ์ความรู้สึกอยู่ในระบบกฎหมายและอำนาจตุลาการที่จะมาบอกว่าคนควรรู้สึกอย่างไรคนมีสิทธิ์รู้สึกอะไรในแต่ละบริบทและเงื่อนไข

พจนารมย์ (Emotive) คือวิธีพิจารณาที่จะถอดรหัสจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้เรามองเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นมันมีอารมณ์ความรู้สึกอะไรอยู่บ้าง เพื่อที่จะเข้าใจว่าในแต่ละช่วงเวลาคนรู้สึกอย่างไร

อนึ่ง การนำเสนอเรื่อง 'พิพากษารมณ์ : ระบอบกฎหมายแห่งความรู้สึกรำคาญของชนชั้นกลางไทย' นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานการประชุมวิชาการเพื่อเสนอผลงานต่อสาธารณชน ภายใต้หัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ระบบคุณค่า และระบอบอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทย พ.ศ. 2500 - 2560” ที่จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ ร่วมกับโครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโสภายใต้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สายชล สัตยานุรักษ์ เมื่อวันที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จากโรงแรมโนโวเทล จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับ ศิริลักษณ์ ทาเป็ง ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานจาก คณะสังคมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท