Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อ GDP ไตรมาส 4/65 เป็นจุดต่ำสุด มองส่งออก ไตรมาส 2/66 ฟื้น ชี้ภูมิทัศน์ทางธุรกิจและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการนโยบายเชิงรุกในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายแจกเงินที่ไม่ยั่งยืน      

19 ก.พ. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการสภาวิจัย สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงพลวัตเศรษฐกิจไทย 2566 ภายใต้ความผันผวนตลาดการเงินและทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้ภาคการผลิต ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต้องปรับตัวตลอดเวลา การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ดีกว่าคาดมาก ตลาดการจ้างงานแข็งแกร่ง ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวสูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อจากอุปสงค์ยังไม่ลดลง การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2% จึงต้องอาศัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่มากขึ้นและยาวนานขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวจากเงินไหลออกจากตลาดการเงินไทยและภาคส่งออกที่ทรุดตัวมากกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 1.4% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของสำนักวิจัยส่วนใหญ่ค่อนข้างมาก ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6% ในไตรมาส 3 ของปี 2565 จีดีพีที่ต่ำกว่าคาดการณ์มากในไตรมาสสี่เป็นผลมาจากการปิดประเทศของจีนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีที่แล้วและผลของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกของจีนติดลบ -6.9% และญี่ปุ่นติดลบ -4.6% เกาหลีใต้หดตัว -10% ไต้หวัน -8.6% และ โดยประเทศเหล่านี้เป็นห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่เชื่อมโยงกับไทย ปัจจัยภายนอกดังกล่าวทำให้มูลค่าส่งออกของไทยลดลงติดลบ 7.5% ในไตรมาส 4 และคาดว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว 

ประเมินว่าไตรมาส 2 ของปี 2566 ภาคส่งออกของไทยน่าจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้น โอกาสที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ จึงไม่เกิดขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้จึงเป็นปรากฎการณ์ระยะสั้น บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์มีผลกำไรชะลอตัวลง เมื่อบวกเข้ากลับแรงกดดันจากอุตสาหกรรมการเงินที่กระตุ้นผลลัพธ์ระยะสั้น ทำให้เกิดความไม่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่แท้จริงเท่าไหร่นัก หมายความว่า เงินบาทที่อ่อนค่าและดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับฐานลงมาแรงไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคตมากนัก โดยเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ภาคการบริโภค และการขยายตัวของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ส่วนความเสี่ยงสำคัญ คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเทียบกับจีดีพีที่ยังทรงตัวในระดับสูงกว่า 80% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 60% สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ปัจจัยเสี่ยงนี้ยิ่งมีความอ่อนไหวสูงมาก 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าเราไม่ควรวิตกกังวลต่อตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 4 ของปี 2565 ที่ต่ำกว่าคาดการณ์มากเกินไป ไม่ควรหวั่นไหวกับผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ลดลงมากเกินกว่าเหตุ ดัชนีทางเศรษฐกิจและตัวเลขการเงินเหล่านี้เป็นมาตรวัดเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ จะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดภาระหนี้ของภาคเอกชน ครัวเรือนและหนี้สาธารณะได้อย่างไรด้วยการขยายฐานรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ความมั่งคั่ง ควรใส่ใจต่อ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก (Global Competitiveness Index) มากขึ้น สนใจ ดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development Index) มากขึ้น เราจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของภาคการผลิตและภาคบริการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้อย่างไร ทำอย่างไรให้เกิดการบ่มเพาะให้เกิดเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมในประเทศนี้ การบริหารเศรษฐกิจต้องไปให้ไกลกว่าจีดีพีและผลกำไรของบริษัทขนาดใหญ่ ประเทศที่มุ่งไปสู่การเติบโตทางด้านจีดีพีระยะสั้นเฉพาะหน้าอย่างเดียว อาจนำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5 น้ำเน่าเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง อาจเกิดการละเลยต่อการลงทุนทางด้านการศึกษา นวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ ภูมิทัศน์ทางธุรกิจและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการนโยบายเชิงรุกในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายแจกเงินที่ไม่ยั่งยืน        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net