Skip to main content
sharethis

นักวิชาการประเมินความท้าทายในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกของไทย อันดับ Global Financial Center Index ของกรุงเทพฯ ร่วงจากระดับ 50 ในปี 2562 มาอยู่ที่ 93 ในปี 2567 คาดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติช่วยลดความเหลื่อมล้ำเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น กฎหมายธุรกิจการเงินใหม่ สิทธิประโยชน์ใหม่ ระบบนิเวศทางการเงินใหม่ ต้องแข่งขันและดึงดูดสถาบันการเงินและนักลงทุนจากทั่วโลกได้จริงจึงจะประสบความสำเร็จ                  
        
21 ก.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกภายใต้โครงการ Ignite Finance ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมบริการการเงิน การลงทุนที่มีมูลค่าสูง ถือเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนหนึ่งที่จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของไทยสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จและล้มเหลวของนโยบายที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคด้วยการเปิดเสรีทางการเงินช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540 ให้ดีด้วยว่า ทำไม มาตรการ BIBF จึงสะดุดและยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินตัวและธุรกรรมเก็งกำไรเกินขนาดในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ วิกฤตการณ์ครั้งนี้มีทั้งวิกฤตการณ์ระบบสถาบันการเงิน วิกฤตการณ์ค่าเงินและวิกฤตการณ์เศรษฐกิจมหภาค วิกฤตการณ์ปี พ.ศ.2540 มีจุดเริ่มต้นจากการก่อหนี้เกินตัวของภาคเอกชน และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค นโยบายการเงิน นโยบายการกำกับสถาบันการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาด ทำให้การก่อหนี้ขยายวงจนเป็นปัจจัยสำคัญของวิกฤตการณ์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 พบว่าโครงสร้างการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก สัดส่วนภาคการเงินในโครงสร้างการผลิตเพิ่มขึ้น มีการสะสมสต็อกทุนในสาขาที่อยู่อาศัย สาขาอุตสาหกรรม สาขาคมนาคมและบริการค่อนข้างสูง แรงงานย้ายมาอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ในด้านอุปสงค์มวลรวม การลงทุนและภาคต่างประเทศมีสัดส่วนค่อนข้างสูง

ในด้านงบประมาณการคลังมีการเกินดุลในช่วงทศวรรษดังกล่าว เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ที่สูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่ดี หนี้สาธารณะมีแนวโน้มลดลง การส่งออกของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2538 โดยในทศวรรษดังกล่าวมีการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรมากขึ้น ดุลการค้าและดุลเดินสะพัดขาดดุลอย่างต่อเนื่อง และมีการขาดดุลค่อนข้างมากในปี พ.ศ.2538 ถึง พ.ศ.2539 เมื่อภาคส่งออกชะลอตัวอย่างมาก ขณะที่การนำเข้ายังเติบโต

ขนาดของภาคการเงินในส่วนของภาคธนาคารมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่   ตลาดทุนเติบโตต่อเนื่องในช่วงต้นทศวรรษ 2530  ก่อนที่กิจกรรมในตลาดจะลดลงในปี  พ.ศ.2536   การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2537 ถึง พ.ศ.2538 แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้นที่ไหลผ่านเงินกู้ของธนาคารและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้หนี้ระยะสั้นของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยจะเป็นแบบคงที่ แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของไทยแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและยังได้สรุปปัจจัยต่างๆที่นำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การเปิดเสรีการเงิน ความเปราะบางของสถาบันการเงิน การโจมตีค่าเงินบาท รวมทั้งจุดอ่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย

รศ.ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 เพื่อใช้มาเป็น บทเรียนในการกำหนดการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของไทยครั้งใหม่ หลังจากเคยล้มเหลวในความพยายามผลักดันให้ กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางทางการเงิน หรือ นโยบาย BIBF ในช่วงทศวรรษ 2530 สาเหตุของวิกฤติปี 2540 มีดังนี้    

1. ช่องว่างระหว่างระดับการออมและระดับการลงทุนและการลงทุนเกินตัวทำให้ต้องอาศัยเงินออม (กู้เงิน) จากต่างประเทศ เอกชนลงทุนเกินตัวเพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวยการลงทุนในประเทศและการส่งออกของไทย ทำให้ภาคเอกชนไทยเร่งการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาที่ดินและราคาหุ้นในประเทศสูงขึ้น ดึงดูดให้ภาคการเงินแข่งขันกันปล่อยกู้ในกิจกรรมดังกล่าว การเปิดเสรีภาคการเงินทำให้สถาบันการเงิน กู้เงินจากต่างประเทศ ที่มีต้นทุนต่ำมาปล่อยกู้ในประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนมากเกินไป ในขณะที่ภาคการเงินที่มีโครงสร้างแบบผูกขาดมาเป็นเวลานาน ขาดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ  8.6 การที่เศรษฐกิจขยายอย่างร้อนแรงเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกันทำให้นักลงทุนเห็นโอกาส ในการสร้างผลตอบแทนจึงขยายการลงทุนอย่างมากจนทำให้ สัดส่วนของการลงทุนภายในประเทศต่อรายได้ประชาชาติพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 41.4% จึงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อตอบสนองการเติบโตของการลงทุน

2. การพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอัตราสูงไม่ใช่ปัญหา  หากมีการบริหารจัดการที่ดีไม่ให้มีสัดส่วนของเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป เงินทุนที่ไหลเข้าก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 สองสามปีมีสัดส่วนของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) น้อย การลงทุนเข้ามาถือหุ้นร่วมกิจการก็น้อยเมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าในรูปของเงินกู้และที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นทางด้านสถาบันการเงินก็ต้องมีระบบการปล่อยสินเชื่อที่มีมาตรฐานและโปร่งใส

3. นับตั้งแต่มีการเปิดเสรีการเงินผ่านการเปิดเสรีวิเทศธนกิจ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบสถาบันการเงินไทยจำนวนมาก ทำให้สถาบันการเงินในประเทศมีการขยายสินเชื่อในอัตราเร่ง คุณภาพสินเชื่อเริ่มลดลง อัตราส่วนระหว่างการปล่อยสินเชื่อต่อปริมาณเงินฝากสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เพิ่มจากระดับต่ำกว่า 1 ในปี พ.ศ. 2533 สูงขึ้นจนถึงระดับ 1.35 เมื่อสิ้นไตรมาสสองของปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณของหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

4. การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) ขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่พร้อมกับยังมีการเติบโตร้อนแรงอยู่ในภาคการลงทุนส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศยิ่งสร้างแรงผลักดันให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นและดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 40 ผู้ให้กู้ให้สินเชื่อแบบผ่อนคลายมากขึ้น โครงการต่างๆขยายโดยใช้สัดส่วนของสินเชื่อค่อนข้างสูงและหลายโครงการกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อประหยัดดอกเบี้ย โดยมีสมมติฐานว่าไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะมั่นใจว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระบบตะกร้าเงิน

5. สภาพคล่องที่ผ่อนคลายและปริมาณเงินขยายตัวในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาผสานเข้ากับความร้อนแรงของการลงทุนและการเก็งกำไรทำให้ราคาที่ดินและหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจัยพื้นฐานมากจนเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์

6. ทางการไทย (รัฐบาลไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงาน  ทางเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ) ไม่สามารถใช้มาตรการหรือนโยบายต่างๆหยุดยั้งภาวะฟองสบู่และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของอุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นโยบายการคลังที่เข้มงวดและเกินดุลมากพอที่จะลบล้างความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าไม่ได้เกิดขึ้น นโยบายการเงินเข้มงวดโดยปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยสูงไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก นโยบายเพิ่มทุนสำรองและกีดกันการนำเข้าของเงินกู้ระยะสั้นมีการดำเนินแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากพอ

7. การโจมตีและการเก็งกำไรค่าเงินโดยกองทุนเก็งกำไรและนักลงทุนช่วงก่อนที่จะมีการโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ได้มีพฤติกรรมการโจมตีค่าเงินในประเทศอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ค่าเงินของหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานในหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น การโจมตีค่าเงินในสหภาพยุโรป ปี 2535 และเม็กซิโก 2537 ประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นจะมีแนวโน้มที่ถูกโจมตีมากกว่าประเทศอื่นๆ (IMF Research Department Staff 1997) นอกจากนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินในเม็กซิโก ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลใจกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ที่มีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด และมีแนวโน้มว่าจะมีการลดค่าเงิน นักลงทุน นักเก็งกำไรเริ่มเห็นโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากการที่ประเทศไทยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจร้อนแรงมีภาวะฟองสบู่ ค่าเงินถูกกำหนดให้แข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน  กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลพยายามลดความรุนแรงของปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะฟองสบู่ กิจกรรมเก็งกำไรแต่ไม่เป็นผลนัก เงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นของภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสียสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมเก็งกำไร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศลดลงอย่างมาก อันดับความน่าเชื่อถือของไทยถูกปรับลดลงโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เงินทุนต่างประเทศเริ่มทยอยไหลออกเป็นจำนวนมากจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท

ช่วงเดือนธันวาคม 2539 ใช้เงินตราต่างประเทศในการแทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 4.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ต่อมาเมื่อมีข่าวลือการลดค่าเงินในช่วงเดือนมกราคม 2540 นักลงทุน        ได้เข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท  ธปท. แทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี พ.ศ. 2539 และมีฐานะเงินสำรองทางการหักยอดคงค้างสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือทุนสำรองทางการสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นจำนวน 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2540 การปกป้องค่าเงินบาททำให้ทุนสำรองสุทธิลดลงจากระดับ 24.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงเดือนมิถุนายน 2540 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออก ส่งผลให้เงินทุนของนักลงทุนไทย    ไหลออกนอกประเทศ ส่งผลให้ทุนสำรองสุทธิลดลง จนกระทั่งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท 
ในที่สุดภายใต้แรงกดดันของตลาดการเงินระหว่างประเทศและปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทหรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนระบบคงที่แบบตะกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate System) เป็น ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Floated Exchange Rate System) โดยในวันดังกล่าวทุนสำรองสุทธิของไทยเหลืออยู่ในระดับ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

8. ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เมื่อใช้ในสภาวะที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจำกัดอุปสงค์รวมได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูง ผู้ลงทุนจะหันไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นก็ต่ำกว่าไทยมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้ต่อประเทศระยะสั้นจำนวนมาก

9. เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประเทศจะสามารถขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องได้จะต้องมีการเกินดุลบัญชีเงินทุน ในกรณีของประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเงินทุนในส่วนของเงินกู้จากต่างประเทศ และเป็นหนี้ระยะสั้น ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เชื่อว่าประเทศสามารถจ่ายหนี้ได้ในอนาคต และสามารถรักษาระดับเงินทุนไหลเข้า

10. การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยหลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้นมิใช่จากการยกระดับผลิตภาพและเทคนิคการผลิต ซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในสิงคโปร์การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี หรือการเพิ่มคุณภาพของปัจจัยการผลิตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอิสราแอล การเพิ่มผลิตภาพรวมของปัจจัยการผลิต (Total Factor Productivity, TFP) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคุณภาพของปัจจัยการผลิต และการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้นนั้นเป็นที่มา (Source) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง

หากเราต้องการให้ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกอาจต้องมียุทธศาสตร์และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการแต่จะเป็นประโยชน์แน่นอน การตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก เราต้องทำให้อันดับ Global Financial Centers Index ของกรุงเทพฯมาอยู่ที่ 20 อันดับแรกเป็นอย่างน้อย ขณะนี้ “กรุงเทพฯ” อยู่อันดับที่ 93 ในปี พ.ศ. 2567 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2562) ประเทศไทยเคยอยู่อันดับที่ 50 และดิ่งลงอย่างรวดเร็วจากเงินทุนไหลออกและขาดการพัฒนาระบบต่างๆ ความไม่โปร่งใสของบริษัทจดทะเบียน การฉ้อโกงนักลงทุนของผู้บริหารในตลาดหลักทรัพย์ และ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินไม่ดึงดูดต่อการลงทุนและการประกอบกิจการบริการทางการเงินและการธนาคาร สถาบันการเงินระดับโลกบางแห่งขายธุรกิจให้กับธนาคารในระดับภูมิภาค การเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกของไทยต้องแข่งขันกับศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคเอเชียให้ได้เสียก่อน สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 3 ของโลก ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 4 ของโลก เซี่ยงไฮ้ และ กรุงโซล อยู่ในอันดับ 6 และ อันดับ 10 ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของโลก หรือ ในอาเซียน กรุงเทพฯ ต้องเอาชนะ กัวลาลัมเปอร์ที่อยู่ในอันดับ 77 ให้ได้เสียก่อน

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกต้องมาพร้อมกับความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆจึงทำให้ สถานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินมีความยั่งยืนเฉกเช่น ศูนย์กลางทางการเงินอย่าง นิวยอร์ก และ ลอนดอน ความทะเยอทะยานสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกทางด้านเศรษฐกิจและการเงินเป็นเรื่องที่ดี การดำเนินการสู่เป้าหมายต้องใช้เวลา ต้องมีความมุ่งมั่น ทำอย่างต่อเนื่องและต้องมีการสานต่อจากรัฐบาลในอนาคต บางทีอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี สิงคโปร์ใช้เวลากว่า 58 ปีนับจากได้เอกราชจากประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกอันดับ 3 และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “สิงคโปร์” ก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วโดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วอายุคน สิงคโปร์ใช้เวลาสั้นกว่า นิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง ในการก้าวสู่ 1 ใน 4 ของศูนย์กลางการเงินโลก อุตสาหกรรมการเงินการลงทุนของสิงคโปร์เติบโตมาอย่างมั่นคงต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยมีตัวชูโรง คือ การบริหารสินทรัพย์จากทั่วโลก (Global Asset Management Hub) เป็นประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำและมาตรฐานธรรมาภิบาล การกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสากล “สิงคโปร์” เบียด “ฮ่องกง” มาเป็นอันดับสามจากเข้ามาแทรกแซงการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนของรัฐบาลปักกิ่งและปัญหาทางการเมืองในฮ่องกง ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มทุนการเงินจาก “ฮ่องกง” มายัง “สิงคโปร์” และ “สิงคโปร์” ยังมีวางฐานะทางยุทธศาสตร์ในการเป็นประตูสู่การลงทุนในอาเซียนที่มีศักยภาพในการเติบโตระดับต้นๆของโลก  

เวลาเราพูดถึง ศูนย์กลางทางการเงิน เรามักหมายถึง เมืองหรือประเทศที่สามารถดึงดูดให้สถาบันการเงิน สถาบันการลงทุนจำนวนมาก ทั้งสถาบันระดับภูมิภาคและระดับโลก เข้ามาลงทุนและใช้เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ และ หากต้องการเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกระดับต้นๆควรต้องมีสินทรัพย์ของสถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 200% ของจีดีพี ความท้าทายของไทยในการนำพา “กรุงเทพ” สู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก มีดังต่อไปนี้ ประการแรก สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการเงินและการลงทุนหรือไม่ สะท้อนมาที่ดัชนีความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะในมุมของนักลงทุนมักให้ความสำคัญอัตราภาษีที่ต่ำ ไม่ซ้ำซ้อนและต้นทุนต่ำ ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร แต่มีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองไม่ดีนัก มีรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงการเมืองไม่เป็นไปตามวาระและวิถีทางประชาธิปไตยบ่อยครั้ง  ประการที่สอง ระดับการเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุนอยู่ที่ระดับไหน (Level of Financial and Investment Liberalization)  กรุงเทพฯมีระดับการเปิดเสรีภาคการเงินไม่สูงเท่ากับสิงคโปร์ ฮ่องกง นิวยอร์ก ลอนดอน ซานฟานซิสโก ชิคาโก บอสตัน ลอสแองเจลีส  เวียนนา มิลาน ปารีส หรือ หมู่เกาะอย่างเคย์แมน บริติชเวอร์จิน แต่ไทยมีระดับการเปิดเสรีในระดับที่พัฒนาต่อยอดได้ ประการที่สาม ความพร้อมของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงิน ประเทศไทยมีความพร้อมในระดับปานกลาง ยังต้องพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุนเพิ่มเติมอีกมาก ประการที่สี่ ความเชื่อมั่นและการยอมรับในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เกี่ยวข้องกับวางระบบกฎหมาย การที่กระทรวงการคลังจะมีแผนในการจัดทำกฎหมายทางการเงินใหม่ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม ไอทีและเทคโนโลยีสารสนเทศถือว่ามีความสำคัญมากในระบบการเงินและการลงทุนแบบดิจิทัล ประการที่ห้า ระบบความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการและระบบความมั่นคงปลอดภับทางไซเบอร์และธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ประการที่หก การกำกับดูแล ความมีธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ความคงเส้นคงวาและคาดการณ์ได้ของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบสถาบันการเงิน นโยบายการเงินและนโยบายการลงทุน  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่าสำหรับการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะทำให้ ประชาชนและธุรกิจรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากระบบสถาบันการเงินได้โดยตรง สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นหลังจากมีการค้ำประกันโดยสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ และคาดว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน กฎหมายธุรกิจการเงินใหม่ สิทธิประโยชน์ใหม่ ระบบนิเวศทางการเงินใหม่ ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นโดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องแข่งขันและดึงดูดสถาบันการเงินและนักลงทุนจากทั่วโลกได้จริงจึงจะทำให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก ศูนย์กลางทางการเงินของโลกในอันดับต้นๆมีความพร้อมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสถานะความเป็นศูนย์กลางให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ ต้องให้ความสนใจว่า ผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของไทยได้กระจายมายังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ อย่างไร              

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net