Skip to main content
sharethis

นักวิชาการมองลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตพุ่ง ตอกย้ำประชาชนส่วนใหญ่ลำบากเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำสูง ต้องแปลงเงินโอนจากรัฐสู่ประชาชนเป็น “การลงทุน” โดยเฉพาะการลงทุนในทุนมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและรายได้จึงตอบโจทย์ระยะยาว งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในทุนมนุษย์มีผลตอบแทนที่สูงมาก มากเกินกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทางกายภาพ

4 ส.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ตัวเลขการลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตทะลุ 21 ล้านคนภายใน 2 วันแรก ว่าประชาชนตอบรับต่อนโยบายดังกล่าว และ ตอกย้ำว่า ประชาชนส่วนใหญ่ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำสูง คนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนแบ่งรายได้ มีส่วนแบ่งในทรัพย์สินและความมั่งคั่งน้อยเกินไป สภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” จึงทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับต้นๆของโลก แม้นขณะนี้จะลดลงมาบ้างแล้วก็ตาม ปัญหาอุทกภัยหลายพื้นที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน จำเป็นต้องลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อให้สามารถบริหารน้ำท่วมน้ำแล้งได้ดีขึ้น ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงในช่วงมีนาคมเมษายนในปีนี้แล้วยังเจอกับภาวะน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศในช่วงไตรมาสสาม เป็นการเปลี่ยนผ่านจาก “เอลนีโญ” สู่ “ลานีญา” ประเมินเบื้องต้น มูลค่าสินค้าเกษตร ทรัพย์สินต่างๆและเศรษฐกิจเสียหายประมาณ 56,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของจีดีพี ส่งผลอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.2-0.3% จาก อุปทานลดลงอย่างฉับพลัน (Supply Shock) ทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยข้าว และ อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่รับความเสียหายมากที่สุด ประเทศไทยจะเผชิญภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมไปทุกปี ความเสียหายจะมากขึ้นตามลำดับ หากไม่มีรีบลงทุนการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำ และ ผลกระทบอุทกภัยต่อภาคเกษตรกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นสูงกว่าผลกระทบจากภัยแล้ง

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและบรรเทาภาระหนี้สินระยะสั้นจากเงินโอนดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นแต่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องมีการแปลงเงินโอนจากรัฐสู่ประชาชนให้เป็น “การลงทุน” อย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการลงทุนในทุนมนุษย์ และ เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและรายได้จึงตอบโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะยาว การพัฒนาทุนมนุษย์คือการลงทุนในประชาชนเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันในสังคมและเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในอนาคต การลงทุนในทุนมนุษย์โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการลงทุนที่เกี่ยวกับเด็ก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการลงทุนเหล่านี้มีผลตอบแทนที่สูงมาก มากเกินกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทางกายภาพ ในปัจจุบัน ประชากรในวัยทำงานของประเทศไทย (อายุระหว่าง 20-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 58.9 ของประชากรทั้งหมด แต่ภายในสองทศวรรษข้างหน้าประชากรกลุ่มนี้จะเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีอายุมากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบัน การพัฒนาต้นทุนมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพของกำลังคนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย โดยสังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว

ศาสตราจารย์ James J. Heckman ยังสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การลงทุนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่าจะนำไปสู่อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคช่วยให้เข้าใจว่า ทุนมนุษย์ (human capital) เป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ งานวิจัยของ Lucas Jr (1988) Romer (1990) และ Mankiw et al. (1992) นำเสนอกรอบแนวคิดที่ว่า ทุนมนุษย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูง ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ที่สำคัญ บทบาทของทุนมนุษย์ยังสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของทุนทางกายภาพ (physical capital) ที่จะมีบทบาทน้อยลงเมื่อมีปริมาณมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ในขณะเดียวกัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคชี้ให้เห็นว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล ในช่วงแรก

งานวิจัยของ Becker (1964) และ Mincer (1974) ช่วยชี้ให้เห็นบทบาทของทุนมนุษย์ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงาน โดยใช้การศึกษาและประสบการณ์ทำงานแทนทุนมนุษย์ งานวิจัยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนของการศึกษา (returns to schooling) ซึ่งช่วยบ่งชี้ว่า การศึกษาที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคชี้ให้เห็นว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาและประสบการณ์ทำงานไม่ใช่ทุนมนุษย์โดยตรง แต่เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่างานวิจัยของ รศ.ดร.วีรชาติ กิเลนทอง Kilenthong et al. (2023) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทยและคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัยได้ใช้ข้อมูลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยที่สำรวจในปีการศึกษา 2563 และจัดการกับปัญหาข้างต้นด้วยการใช้เทคนิคตัวแปรเครื่องมือ (instrumental variable approach) ซึ่งช่วยให้ผลการประมาณค่ามีความน่าเชื่อถือและผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยกับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคณิตศาสตร์และความจำใช้งาน (working memory) ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Ardington et al. (2021) Contini et al. (2021) Engzell et al. (2021) Halloran et al. (2021) Lewis et al. (2021) Maldonado & De Witte (2021) Schult & Lindner (2021) Tomasik et al. (2020) ที่พบว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเช่นเดียวกัน
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net