Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม' เจ้าของร้านหนังสืออิสระ ผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จากการโพสต์รูปและข้อความบนเฟซบุ๊ก วิจารณ์ปมแก๊สน้ำตากับริษัทบุญรอด ในเหตุสลายการชุมนุมใกล้รัฐสภา เมื่อ พ.ย.63 ที่คดียังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม หรือ โดนัท

นับตั้งแต่ปี 2563 การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชน ซึ่งนำโดยคนรุ่นใหม่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยยะสำคัญของยุคสมัย การแสดงออกและเรียกร้องของประชาชนกลายเป็นแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง แม้อาจกล่าวได้ว่าเป้าประสงค์ของผู้ชุมนุมที่ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นยังไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำในขวบปีที่ผ่านมาจำนวนของผู้ชุมนุมก็ลดน้อยลงไปกว่าครึ่ง หากกระแสคลื่นทางความคิดก็ได้ปลุกผู้คนในสังคมให้มีความตื่นตัวในเรื่องของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และสิทธิ์อันพึงมีในฐานะประชาชน ซึ่งรวมถึงการแสดงออกทางการเมืองที่เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ไล่เรียงตั้งแต่ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ที่รัฐอ้างว่าเป็นมาตรการควบคุมโรคระบาด แต่กลับเป็นข้อหาที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมากที่สุด ไม่ต่ำกว่า 1,448 ราย ไปจนถึงข้อหารุนแรงอย่างมาตรา 116 และมาตรา 112

นอกจากวิธีการเข้าจับกุม และขั้นตอนการเข้าถึงทนายความที่หลายครั้งถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมยังได้กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหลายรายถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน หลายคนถูกคุมขังเป็นเวลาหลายเดือน ถูกลิดรอนสิทธิ์ประกันตัว สร้างความยากลำบากในการต่อสู้คดี ที่มากไปกว่านั้น สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ไม่ว่าจะถูกคุมขังหรือไม่ ก็ล้วนได้รับผลกระทบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ทุกคนสูญเสียโอกาส ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน การศึกษา รวมทั้งการถูกตีตราราวกับอาชญากร เราอาจรับรู้เรื่องราวของพวกเขาบางคนจากหน้าสื่อ ตามที่ชุมนุม หรือตามแคมเปญต่างๆ ทว่ายังมีผู้ถูกกล่าวหาอีกเป็นจำนวนมากที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี หลายข้อหาชวนให้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนของโทษกับสิ่งที่กระทำ ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐมองประชาชนผู้เห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อ เสียงของพวกเขาก็ยิ่งแผ่วเบา จนบางครั้งเราอาจไม่ได้ยิน

งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม หรือ 'โดนัท' เจ้าของร้านหนังสืออิสระและรีครูทเตอร์ของบริษัทต่างชาติ หญิงสาวที่อยู่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณใกล้รัฐสภา อีกหนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม นับตั้งแต่ปี 2563 วันนั้นเธอออกไปร่วมชุมนุมฝ่าดงแก๊สน้ำตา ก่อนจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จากการโพสต์รูปและข้อความบนเฟซบุ๊ก วิจารณ์ว่ามีแก๊สน้ำตาออกมาจากรั้วบริษัทบุญรอด หนึ่งในทุนใหญ่ของประเทศที่ดำรงธุรกิจมายาวนาน ด้วยการขายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน

ถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง กระบวนการเป็นไปอย่างไร?

งามแสนหลวง เล่าว่า ตอนนี้มีสองคดี หนึ่งคดีเป็นจำเลย คือคดีบุญรอด (บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด) ที่เราถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความที่ทำให้บริษัทเค้าเสียชื่อเสียง ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของราษฎรบริเวณใกล้รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งคดีก็ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

ในเดือนพฤษภาคม 2566 จะมีการไต่สวนพยานนัดแรก คือที่ผ่านมาคดียังอยู่ในชั้นศาลพิจารณารับฟ้อง ซึ่งก็โดนเลื่อนไปเลื่อนมา กระทั่งศาลประทับรับฟ้อง จากนั้นก็จะมาถึงการไต่สวนพยานนัดแรก คดีนี้เราไม่ได้โดนคนเดียว แต่มีอีกสองคนที่โดนด้วย คนแรกคือเพจประชาชนเบียร์ แชร์ภาพป้ายบริษัทที่มีคำบรรยายว่าบริษัทให้คนเข้าไปยิงแก๊สน้ำตา เพจประชาชนเบียร์จึงโพสต์กำกับภาพนั้นว่า เรื่องนี้บุญรอดต้องให้คำตอบ ซึ่งเขาก็โดนฟ้องด้วย ส่วนอีกคนคือคนที่ไปคอมเมนต์ในเพจประชาชนเบียร์ และแปะลิงก์ว่าในวันนั้นเขาไลฟ์สดอยู่ ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ตรงนั้นใช่หน้าป้ายบริษัทบุญรอดหรือเปล่า

แม้เราจะลบโพสต์ภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็มีคนไม่รู้จักหลายคนส่งข้อความคล้ายกับจะล็อบบี้ให้ลบโพสต์และแถลงการณ์ขอโทษ ย้ำว่าให้ออกมาบอกว่าบุญรอดไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง เราก็ตอบไปว่าโพสต์นั้นเราลบแล้ว ส่วนการขอโทษคงขอโทษได้อย่างเดียวที่เราใจเร็วด่วนโพสต์ แต่จะให้ขอโทษและบอกว่าบริษัทเขาไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองทั้งที่ไม่มีหลักฐานมายืนยัน เราคงทำให้ไม่ได้

เรารู้สึกว่าเขาพยายามลากให้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องที่เขาทำเพื่อปกป้องชื่อเสียง แต่คำถามจากทนายฝั่งเราคือ ถ้าคุณบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ม็อบในวันนั้น ทำไมถึงใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มันควรจะเป็นคนวิจารณ์กันปกติ ก็ต้องใช้หมิ่นประมาท ทั้งนี้ศาลก็รับด้วยนะว่าเป็น พ.ร.บ.คอมฯ

ตอนแรกผู้ฟ้องไปแจ้งความที่ สน.ทองหล่อ พวกเราก็ไปรับทราบข้อกล่าวหาเรียบร้อย แต่อัยการไม่สั่งฟ้อง เขาเลยไปฟ้องกับศาลโดยตรง ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมเอง ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเขาต้องการฟ้องให้ได้ หลังจากนั้นเขาก็ออกแถลงการณ์มาหนึ่งหน้า A4 ว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง โดยชี้แจงว่าวันนั้นบริษัทไม่เปิดทำการ ไม่มีพนักงาน และไม่ได้เปิดให้ใครเข้ามา ขณะเดียวกันสื่อออนไลน์มากกว่าหนึ่งสื่อก็เล่นข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ และเผยแพร่คลิปวีดีโอที่ไลฟ์สดในวันเกิดเหตุ (17 พ.ย. 2563) มีการซูมไปที่ยอดตึกให้เห็นว่ามีการเปิดไฟ มีคนเดินไปมาข้างในนั้นจริงๆ อย่างที่บอกว่าบุญรอดก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาไม่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สิ่งที่เราและหลายคนอยากรู้ไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็นกล้องวงจรปิด หรือวิธีอื่นๆ ที่จะแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งถ้าสุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นแบบที่เขาถูกวิจารณ์ เราก็พร้อมจะรวมตัวกันจัดแถลงการณ์ขอโทษ แต่เขาไม่เลือกทางนั้น เขาเลือกการฟ้องไล่บี้ทุกคน

ในกระบวนการศาลมีการไกล่เกลี่ยกันมาแล้วสองรอบ แต่ข้อไกล่เกลี่ยของเขาไม่สมเหตุสมผล อย่างเช่นให้ลงขอโทษในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งสี่สีของหนังสือพิมพ์ห้าหัวเป็นเวลาสามสิบวันและแถลงข่าว ทั้งที่เรื่องเกิดในเฟซบุ๊ก เราเข้าใจว่าเขาต้องการทำให้เรื่องมันใหญ่ เพราะในยุคนี้การขอโทษในหนังสือพิมพ์กับการขอโทษในโลกออนไลน์ แบบไหนไปไกลได้มากกว่ากัน

แถลงการณ์ ‘บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด’ปฏิเสธกรณีให้บุคคลภายนอกและเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้สถานที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม 17 พ.ย.63

ส่วนคดีที่สองเป็นคดีที่เราเป็นโจทก์ กับกลุ่มประชาชนเบียร์ ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน ร้านอาหาร โรงแรม ร่วมกันฟ้องประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี รวมถึงกระทรวงการคลัง และกระทวงสาธารณสุข เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด การสั่งปิดร้าน การสั่งห้ามไม่ให้ขาย แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งหนึ่งในเหตุผลของการฟ้องครั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมไม่ลืมการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดที่ไม่ดีพอ นำมาสู่ความสูญเสียในด้านต่าง ๆ ของประชาชน

ช่วยเล่าเหตุการณ์17 พ.ย. 2563

ช่วงนั้นเราไปม็อบทุกวันเพราะว่างงาน สถานการณ์โควิดทำให้บริษัทที่ทำงานอยู่ไปต่อไม่ไหว พอดีวันนั้นมีม็อบบริเวณรัฐสภา เราเห็นว่าใกล้บ้านมากเลย ดูจากข่าวก็ยังคิดว่ามันรุนแรงขนาดนั้นเลยเหรอ พร้อมกับที่ในโลกออนไลน์มีการเตือนกันว่าใครจะมาใส่แว่นตาใส่หมวกมาด้วย ให้เตรียมน้ำเพราะมีแก๊สน้ำตา เราไปถึงตอนห้าโมงเย็นก็เห็นว่ามันเดือดจริงๆ ตั้งแต่ยังไม่ถึงหน้ารัฐสภา แค่บริเวณแยกบางกระบือก็แสบตามากแล้ว พอเข้าไปใกล้อีกหน่อยก็คือยิงแก๊สน้ำตากันไม่หยุด

เราไปช่วยเพื่อนที่เป็นอาสากู้ภัย มีคนที่มาร่วมชุมนุมตั้งแต่แรกที่ไม่มีแว่นตา ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใดๆ เลย หน้าที่ของเราคือฝ่าฝูงชนไปประคองคนที่โดนแก๊สน้ำตามาที่จุดพยาบาล ขณะที่วิ่งไปวิ่งกลับก็ได้ยินเสียงประกาศของทีมการ์ดผู้ชุมนุมว่าให้ออกมาจากด้านหน้า อย่าไปอยู่ใกล้รั้วบุญรอด อย่าไปอยู่ใกล้รั้วทหาร ซึ่งลักษณะถนนตรงนั้นคือฝั่งหนึ่งทั้งฝั่งเป็นรั้วทหาร เราไม่สงสัยถ้าแก๊สจะออกมาจากตรงนั้น ส่วนอีกฝั่งก่อนจะถึงรัฐสภาคือบริษัทบุญรอดที่ยาวมาก จากนั้นสถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น คนเริ่มขว้างปาสิ่งของเข้าไปในพื้นที่บริษัทบุญรอด เขย่ารั้ว ตะโกนให้เปิดประตู ส่วนหนึ่งเพราะคนที่โดนแก๊สน้ำตาไม่รู้จะหาน้ำจากไหน บางคนก็ปาขวดแก้ว ปาประทัดเข้าไปก็มี ตอนนั้นเราก็สงสัยนะว่าทำไมต้องทำแบบนั้น แล้วก็มีป้าคนหนึ่งถามขึ้นว่าทำแบบนั้นทำไม เราได้ยินคนตะโกนกลับมาว่าเขาตอบโต้ที่ข้างในปาแก๊สน้ำตาออกมา

ภาพตำรวจชุดคุมฝูงชนขว้างปาพลุควันกลับใส่การ์ดอาสา วันที่ 17 พ.ย.63 (ภาพโดย กันต์ แสงทอง)

เห็นการยิงหรือปาแก๊สน้ำตาออกมาจากรั้วนั้นไหม

เราไม่เห็นขนาดนั้น หมายถึงไม่เห็นตอนที่มีคนกำลังยิงออกมา แต่เราเห็นว่ามีคนอยู่ในบริษัทจริงๆ มีคนวิ่งไปวิ่งมาในบริษัทเขาจริงๆ เสียงในเหตุการณ์วันนั้นเป็นไปในทางเดียวกันว่าแก๊สน้ำตาออกมาทั้งสองฝั่ง อีกสิ่งที่เห็นคือชั้นบนสุดของตึกที่สูงที่สุดในนั้นเปิดไฟและมีคนเดินไปเดินมา ขณะที่ส่วนอื่นปิดไฟเงียบหมด

ผลกระทบที่เกิดจากการถูกดำเนินคดี

ผลกระทบแน่นอนคือเรื่องจิตใจ ช่วงแรกเป็นกังวลมาก ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถามก่อนแล้วว่าจะสู้คดีไหม ถ้าเกิดว่าไม่สู้คดี เขาเข้าใจและพร้อมจะดำเนินการอีกแบบหนึ่งให้เป็นการประนีประนอม แต่ถ้าสู้คดีมันอาจจะกินเวลายืดเยื้อ ซึ่งก็จริงเพราะว่าตอนนี้จะ 3 ปีแล้ว และต้องยอมว่าชีวิตเราอาจต้องลางานเพื่อมาเข้ากระบวนการศาล บางทีอาจจะเดือนละครั้ง หรือหลายเดือนครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็สองสามเดือนครั้ง มีอยู่บางช่วงที่ติดกันเดือนละครั้ง แต่ตอนนี้เราก็เริ่มปรับตัวในเรื่องนี้ได้บ้าง

ส่วนผลกระทบอื่นๆ คือเรื่องงาน ดีที่ว่าตอนนี้เราได้ทำงานในบริษัทต่างชาติ ถ้าเป็นบริษัทในไทยเขาก็มีแนวโน้มว่าจะไม่เลือกเรา อันนี้เป็นประสบการณ์จริง ก่อนหน้านี้เราหมดสัญญากับที่เก่า กำลังจะไปเริ่มงานกับบริษัทใหม่ เป็นบริษัทรีครูทเตอร์ชื่อดังของไทย ตอนแรกไม่มีปัญหาอะไร แต่พอถึงช่วงเวลาที่ต้องไปเซ็นสัญญา เขาก็โทรมาบอกว่าต้องเช็คประวัติอาชญากรรมด้วยนะ เราก็บอกเขาไปด้วยความซื่อสัตย์ว่าเช็คอย่างไรก็เจอ เพราะว่าคดีที่เรามีอยู่เป็นคดีอาญา เราบอกเขาว่าไม่ต้องห่วง มันไม่เกี่ยวกับการฉ้อโกงทุจริต จากนั้นเขาก็หายไปสองสามวัน ก่อนจะโทรมาบอกว่าทางผู้ใหญ่ฝั่งเขาค่อนข้างเป็นกังวล ถ้าเราอยากร่วมงานกับเขาจริงๆ เขาขอลดเงินเดือนลดครึ่งหนึ่งจากที่ตกลงไว้ในตอนแรก ท้ายที่สุดเราก็ไม่ได้ทำงานกับบริษัทนั้น

คิดว่าภาคเอกชน บริษัทห้างร้าน และนายทุน ควรมีท่าทีในการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

สืบเนื่องจากที่เรามีคดี ศูนย์ทนายฯ ก็ให้ความรู้ว่าสิ่งที่เราโดนอยู่ เขาเรียกว่าการฟ้องปิดปาก ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีการแก้ไขกฎหมายให้ส่วนหนึ่งเอื้อและปกป้องนายทุน ทั้งนี้เราคิดอยู่แล้วว่าเขามีสิทธิ์ในการแสดงออกทางการเมือง ในเมื่อเขาไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ

ทุกคนสามารถแสดงออกทางการเมืองได้หมด แต่เขาก็ต้องยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มันอาจจะทำให้เสียผู้สนับสนุนในฝั่งหนึ่ง แต่ก็อาจจะทำให้ได้ผู้สนับสนุนในอีกฝั่งหนึ่งมากขึ้น ยกตัวอย่างชาเนลที่ออกมาบอกว่าเขาไม่ขายให้คนรัสเซีย ทำให้คนรัสเซียออกมาตอบโต้จนเป็นไวรัล ซึ่งเรามองว่าก็เป็นการบอกว่าเขาเลือกที่จะยืนข้างไหน สนับสนุนสิ่งใด หรืออย่างในไทยก็มีบะหมี่ตั้งฮกกี่ เรามองว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนที่คิดแบบเดียวกับเขาไปอุดหนุนด้วยซ้ำ

แต่นั่นแหละ ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคจากนายทุนที่ครองตลาดอยู่แล้ว เขาจะต้องกลัวอะไร อย่างร้านสะดวกซื้อ ต่อให้เราไม่ชอบเขา เรายังต้องเข้าเลย เหตุการณ์มันบังคับขนาดนั้นอยู่แล้ว

การฟ้องร้องที่เกิดขึ้น คุณคิดว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่

มีอยู่แล้ว คือถ้าเขาแสดงออกแบบนี้ เท่ากับว่าเขาไม่อยู่ข้างประชาชนแล้วใช่ไหม

ในทางการเมือง ประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีต้นทุนในการต่อสู้คดี ควรจะต้องกลัวการตกเป็นคู่กรณีกับนายทุนไหม เราจะทำอะไรได้บ้าง

ไม่อยากให้กลัว ตอนนี้มีหลายองค์กร เช่น iLaw หรือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกมาแสดงตัวเยอะมาก มีทนายอาสาเยอะขึ้น ต่อไปนี้เวลาเรามีเรื่องกับหน่วยงานใหญ่ๆ มันมีคนที่พร้อมจะช่วยให้เรื่องนั้นไม่เงียบ และอีกอย่างคือการระดมทุนแบบ GoFundMe ก็กำลังเข้ามาในไทย เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การต่อสู้ของประชาชนเป็นไปได้มากขึ้น

ตอนนี้เหมือนกับว่าหลายคนรอคอยการเลือกตั้งที่จะมาถึง คิดว่าการเลือกตั้งในอนาคตจะนำไปสู่ทางออกได้มากน้อยแค่ไหน

มีสองแบบ ถ้าเกิดฝั่งประชาธิปไตยชนะ เราอาจจะพอมองเห็นลู่ทาง อาจจะพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือตอนนี้ที่คนออกมาชุมนุมน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะเขาเหนื่อยล้าจากเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องคดีความ เรื่องเศรษฐกิจ หนี้สิน เรื่องโรคระบาด แต่ถ้าเลือกตั้งแล้วฝั่งสืบทอดอำนาจยังชนะด้วยวิธีหรือกลไกแบบเดิมๆ มันอาจจะปลุกผู้คนขึ้นอีกครั้ง เกิดเป็นผลพวงของความคับแค้น ยิ่งสำหรับคนที่คิดว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว

สำหรับคุณ คำว่า 'จบ' หรือคำว่า 'ชนะ' ของฝั่งเรา คือจุดไหน

ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, 110 เพราะตอนนี้พอจับผู้เห็นต่าง เอะอะอะไรก็โยงเข้าเรื่องสถาบัน ซึ่งทำให้คนไปต่อไม่ได้ โดนจับกุม โดนจับขังกันหมด ยังไม่ทันตัดสินก็เอาเข้าคุกได้แล้ว อีกอย่างคือแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องอำนาจของ ส.ว.

สิ่งที่อยากฝาก อยากสื่อสารกับสังคม จะเป็นเรื่องคดีความ หรือเรื่องอะไรก็ได้

ชอบที่ท่านชัชชาติ ( สิทธิพันธุ์) พูดไว้ว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่โดนัทอาจจะไม่ได้พูดอะไรซอฟต์ขนาดนั้น แต่อาจจะพูดว่าเดี๋ยวอีกหน่อยก็ตายค่ะ สลิ่มอะ แก่งั่กกันขนาดนี้แล้ว เหลือเวลาอีกไม่นานหรอก ไม่คุณตายก่อน ฉันก็ตายก่อน แต่มันจะไม่หยุดแน่นอน มันจะมีคนที่สู้เพื่อประชาธิปไตย มีคนที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกเรื่อยๆ

 

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผย ก.ค. 63 - ต.ค.65 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม-แสดงออก 1.8 พันคน

อนึ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 

จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,890 คน ในจำนวน 1,169 คดี  

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 4 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) โดยเป็นเด็กเยาวชนรายใหม่ 1 ราย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,772 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 228 คน ในจำนวน 247 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,467 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง 

(หมายเหตุ จำนวนคนลดลงจากเดือนธันวาคม 2565 จำนวน 2 ราย เนื่องจากทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพิ่งพบการนับสถิติคลาดเคลื่อน โดยพบผู้ถูกดำเนินคดีที่ถูกกล่าวหาหลายคดี ไม่ได้ถูกนับจำนวนซ้ำ จึงปรับแก้ไขสถิติใหม่)

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 159 คน ในจำนวน 179 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี

จากจำนวนคดี 1,169 คดีดังกล่าว มีจำนวน 301 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 868 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net