หลังจากจีนเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อ ต่อกรณีสงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อไม่นานนี้ ปรากฏบทวิเคราะห์จากศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์มิงแฮม มองการที่จีนนำเสนอแผนดังกล่าวช่วงนี้ อาจไม่ได้เพิ่มอะไรที่เป็นแก่นสารมากนัก แต่กลับเป็นโอกาสทำให้จีนสามารถเน้นย้ำเรื่องพันธกรณีของตัวเอง ในการมีบทบาทร่วมปรับเปลี่ยนเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงในยุโรประยะยาว
ช่วงวันครบรอบ 1 ปี สงครามที่รัสเซียทำการรุกรานยูเครน 24 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น ทางการจีนได้นำเสนอแผนการสันติภาพ 12 ประการ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของจีนที่ระบุขอให้ "อย่าสุมไฟและเพิ่มความตึงเครียดไปมากกว่านี้" โดยหวังว่าจะป้องกันไม่ให้วิกฤต "เลวร้ายลงกว่าเดิมและดำเนินไปสู่จุดที่แย่จนควบคุมไม่ได้" นอกจากนี้ยังเตือนว่า "ความขัดแย้งและสงครามไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใด" และบอกว่าทุกคนต้อง "ใช้เหตุผลและมีการยับยั้งช่างใจ"
แผนการสันติภาพ 12 ข้อของจีนโดยคร่าวๆ ระบุว่า
1.) ขอให้เคารพต่ออธิปไตยของทุกประเทศ
2.) ละทิ้งวิธีคิดแบบสงครามเย็น
3.) หยุดทำตัวเป็นปฏิปักษ์
4.) ขอให้มีการกลับมาจัดเจรจาสันติภาพอีกครั้ง
5.) ขอให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรม
6.) ขอให้มีการคุ้มครองพลเรือนและเชลยสงคราม
7.) รักษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ให้ถูกโจมตี
8.) ลดความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์
9.) จัดให้มีการส่งออกธัญพืช (จากเดิมที่รัสเซียเคยถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นเส้นทางการส่งออกธัญพืชจากยูเครน แต่ฝ่ายรัสเซียโต้แย้งว่าเป็นฝ่ายยูเครนเองที่ไม่ยอมให้ส่งออก)
10.) ยกเลิกการคว่ำบาตรจากฝ่ายเดียว
11.) คงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
12.) ส่งเสริมการบูรณะฟื้นฟูหลังสงคราม
อย่างไรก็ตามมีข้อวิจารณ์จากเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปในจีนออกมาว่า ข้อเสนอของจีนดังกล่าวนี้ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอแผนการสันติภาพและไม่มีการพูดถึงฝ่ายที่ทำการรุกรานเลยด้วย
ชานนา เลชชินสกา อุปทูตยูเครนในกรุงปักกิ่งของยูเครน บอกว่าข้อเสนอของจีนเป็น "สัญญาณที่ดี" แต่ก็ตั้งข้อกังขาต่อความเป็นกลางของจีน โดยบอกว่าจีนมักจะพูดคุยกับรัสเซียแต่ไม่พูดคุยกับยูเครน พวกเขาควรจะพูดกับทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยูเครนจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่ยังคงทำให้พื้นที่อาณาเขตของยูเครนยังคงอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ทำให้ประชาชนยูเครนอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของผู้รุกรานอย่างรัสเซีย
หลี่ หมิงเจียง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศกล่าวว่าข้อเสนอของจีนเป็นแค่ "การพยายามประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์" เท่านั้น และบอกว่าเขาไม่เชื่อว่าการที่จีนเสนอข้อเสนอแบบนี้ออกมาจะทำให้พวกเขามีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในฐานะ "ตัวกลางเจรจาที่ซื่อสัตย์"
ผู้นำยูเครนประกาศจะเยือนจีนหลังรับทราบแผนสันติภาพ 12 ข้อ-ผู้นำเบลารุสเยือนจีนเช่นกัน
ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนกล่าวว่าเขาต้องการพบปะกับตัวแทนทางการจีนเพื่อหารือว่าจะมีการยุติความขัดแย้งของสงครามยูเครนได้อย่างไร หลังจากที่จีนประกาศแผนสันติภาพ 12 ข้อ
โดยที่เซเลนสกีบอกว่า "ในประวัติศาสตร์แล้ว จีนเคารพต่อบูรณภาพของเขตแดนของพวกเราเสมอมา และพวกเขาก็ควรจะทำทุกอย่างเพื่อให้รัสเซียออกจากเขตแดนของยูเครน" เซเลนสกีกล่าวอีกว่าถ้าหากเขาได้พบปะพูดคุยกับจีนก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศของพวกเขาเองและต่อความมั่นคงของโลก

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่มา: Wikipedia/แฟ้มภาพ
เซเลนสกีบอกว่าเป้าหมายหลักๆ ของเขาคือการทำให้แน่ใจว่าจีนจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงกรณีของสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนอาจจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารต่อรัสเซียในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธ แต่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลบิดเบือนในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัสเซียในการทำสงคราม และสหรัฐฯ ยังแสดงความกังวลว่าจีนอาจจะช่วยเหลือรัสเซียด้วยกำลังอาวุธในอนาคตด้วย ซึ่งทางการจีนปฏิเสธในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามเซเลนสกียังไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีการนัดหมายพบปะกับสีจิ้นผิงแล้วหรือยัง และยังไม่ได้ระบุวันเวลากับสถานที่พบปะระหว่างทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนประกาศแผนการสันติภาพ 12 ข้อ ประธานาธิบดีของเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนรัสเซียได้ประกาศว่าจะเดินทางเยือนจีนในวันที่ 28 ก.พ. โดยมีการกล่าวชื่นชมจีนว่า ไม่มีใครยับยั้งการเติบโตของจีนได้ และบอกว่า "ในทุกวันนี้ทุกปัญหาในโลกจะไม่สามารถแก้ได้ถ้าไม่มีจีน"
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ วิเคราะห์แผนสันติภาพจีน
สเตฟาน วูล์ฟ ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งเบอร์มิงแฮม วิเคราะห์ว่าแผนการสันติภาพของจีน 12 ข้อนั้น เต็มไปด้วยการพูดถึงอะไรกว้างๆ ทั่วไป แสดงให้เห็นถึง "จุดยืนแบบสมดุล" ของจีนและจนถึงทุกวันนี้จีนก็หลีกเลี่ยงที่จะชี้นิ้วประณามใครในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดช่องว่างให้คนตีความไปได้ต่างๆ นานา

สเตฟาน วูล์ฟ
วูล์ฟ มองว่าถึงแม้แผนการสันติภาพของจีนจะไม่ได้เสนอหนทางแก้ไขวิกฤตที่ชัดเจน แต่มันก็มีความสำคัญในแง่ของการเป็นถ้อยแถลงที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของจีนที่มีต่อความมั่นคงของโลก ของภาคพื้นยุโรปและเอเชีย รวมถึงของยุโรปเอง
ถึงแม้ว่าการใช้ภาษาในแผนสันติภาพของจีนจะดูกำกวม แต่ วูล์ฟ ก็บอกว่ามันแสดงให้เห็นจุดยืนของจีนได้เช่นกัน ในแง่ที่ว่าจีนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพของเขตแดน ซึ่งกลายเป็นข้อกังขาว่าจีนจริงใจแค่ไหนในเรื่องนี้เพราะในการลงมติของสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าด้วยเรื่องให้รัสเซียเคารพต่อเขตแดนของยูเครนและถอนทัพออกจากเขตแดนของยูเครน ทางการจีนงดออกเสียงในเรื่องนี้ ในขณะที่ชาติอื่นๆ 141 ชาติสนับสนุน มีฝ่ายที่โหวตคัดค้าน 7 ชาติ เช่น รัสเซีย, เอริเทรีย, เกาหลีเหนือ และซีเรีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ดูจะเชื่อใจได้ยากอยู่แล้วในแง่การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพโลก
แต่การที่จีนวางตัวแบบเหยียบเรือสองแคม (ไม่แสดงให้ชัดเจนว่าอยู่ข้างฝ่ายใดหรือทำตัวเหมือนอยู่ได้ทั้งสองข้าง) เช่นนี้อาจจะทำให้ยูเครนและกลุ่มประเทศตะวันตกรู้สึกรำคาญ แล้วก็ไม่ไปด้วยกันกับจุดยืนของจีนที่ต้องการให้เคารพในอธิปไตยและบูรณภาพของเขตแดนแบบที่ระบุไว้ในแผนการสันติภาพ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นสำหรับยูเครน พันธมิตรชาติตะวันตก และระเบียบความมั่นคงของยุโรปในอนาคตคือการที่จีนจะหันไปสมาทานจุดยืนในแบบที่คล้อยตามวาทกรรมของรัสเซียที่กล่าวหาว่านาโตพยายามขยายอำนาจจนเป็นภัยต่อรัสเซีย
วูล์ฟได้ตั้งข้อสังเกตต่อข้อความหนึ่งในแผนการสันติภาพของจีนที่ระบุว่าให้ละทิ้ง "วิธีคิดแบบสงครามเย็น" รวมถึงเรียกร้องว่าควรจะ "ให้ความสำคัญอย่างจริงจังและจัดการอย่างเหมาะสมกับเรื่องผลประโยชน์และข้อกังวลด้านความมั่นคงที่มีความชอบธรรมของทุกประเทศ" รวมถึงระบุเน้นย้ำให้ "ทุกฝ่ายควรจะต่อต้านการมุ่งหาแสวงหาความมั่นคงของตัวเองโดยส่งผลทางลบต่อความมั่นคงของประเทศอื่น"
วูล์ฟมองว่าข้อความดังกล่าวจากจีนจะสามารถมองได้สองทาง ไม่ว่าจะมองว่าเป็นการสื่อถึงวาทกรรมที่อ้างว่านาโตกำลังแผ่ขยายอำนาจไปทางตะวันออก หรือสื่อถึงเรื่องที่รัสเซียรุกรานยูเครนโดยอ้างวาทกรรมข้างต้นว่าทำไปเพื่อตอบโต้การขยายตัวของนาโตก็เป็นไปได้
เมื่อมองข้ามเรื่องความกำกวมว่าจะประณามหรือไม่ประณามฝ่ายใดของจีนแล้ว สิ่งที่ชัดเจนในสายตาของวูล์ฟคือการที่จีนพยายามเรียกร้องให้มีการหยุดยิงและมีการเจรจาสันติภาพแบบไม่มีเงื่อนไขให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ยูเครนและชาติตะวันตกมีโอกาสสูงที่จะไม่เห็นด้วยเพราะรัสเซียยังคงยึดครองพื้นที่อาณาเขตที่เคยเป็นของยูเครนอย่างไครเมียและส่วนใหญ่ของภูมิภาคดอนบัสอยู่
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับวูล์ฟคือการที่จีนยอมรับว่าในปัจจุบันยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะจัดให้มีการเจรจาได้ จึงได้เสนอตัวว่าจะเป็นผู้ที่ "เล่นบทบาทสร้างสรรค์ในเรื่องนี้" ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะเปิดเจรจากันได้ เรื่องนี้วูล์ฟมองว่าเป็นไปได้ที่จีนจะอาศัยจุดนี้เพื่อเป็นเพิ่มอิทธิพลในการคัดง้างต่อรองกับรัสเซียในอนาคตจนผลักดันให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียทำการเจรจาแบบที่ส่งผลจริงจังได้
แต่เรื่องดังกล่าวนี้จะเกิดเมื่อไหร่และเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจีนวางจุดยืนของตัวเองไว้ตรงไหนในอนาคตของความมั่นคงของยุโรป วูล์ฟมองว่าแผนการของจีนนั้นชี้ให้เห็นพวกเขาต้องการวางบทบาทของตัวเองให้ใหญ่กว่านี้ในเวทีโลก แต่ความกำกวมในเนื้อหาของแผนสันติภาพดูจะสะท้อนความไม่แน่นอนของจีนเองมากกว่าอย่างอื่น
มีข้อสังเกตอีกว่าแผนการสันติภาพของจีนนั้นดูจะยอมรับว่ามีวิกฤตด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นจริงในสงครามนี้ด้วย และเรียกร้องให้มีการเปิดทางให้กับความช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมกับการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของเชลยศึก ซึ่งแทบจะไม่เป็นไปในทางเดียวกับการศึกในแบบของรัสเซียเลย
อีกเรื่องหนึ่งคือการที่จีนแสดงออกว่าพวกเขามีความเป็นห่วงเสถียรภาพของโลกอย่างการพูดถึงความกลัวที่จะเกิดการยกระดับนิวเคลียร์ทั้งในแง่การใช้เป็นอาวุธหรือการทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึงแสดงความกังวลต่อการขัดขวางการส่งออกของยูเครนซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและสร้างวิกฤตอาหารกับพลังงาน อันเป็นเรื่องที่ประเทศโลกทางใต้จำนวนมากกำลังมีความเป็นห่วงเช่นเดียวกัน ทำให้จีนแสดงออกในเชิงวางตัวเป็นผู้นำการเรียกร้องให้กับประเทศเหล่านี้
"โดยรวมๆ แล้ว แผนการของจีนมีเนื้อหาที่ไม่ได้เพิ่มอะไรที่เป็นแก่นสารเข้ามามาก แต่มันก็สร้างโอกาสใหม่สำหรับจีนในการเน้นย้ำพันธกรณีของตัวเองในการเล่นบทในการร่วมปรับเปลี่ยนในเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของยุโรปในระยะยาวได้" วูล์ฟระบุ
วูล์ฟมองว่าแผนการสันติภาพของจีนเป็นไปในทางเดียวกับการที่จีนวางจุดยืนของตัวเองในโลกนี้ เป็นการที่จีนพยายามปักหมุดให้ตัวเองกลายเป็นมหาอำนาจในภาคพื้นทวีปยุโรปและเอเชีย เรื่องนี้ไม่ดีต่อทั้งรัสเซียที่มีความทะเยอทะยานจะขยายอำนาจ แล้วก็กลายเป็นการสร้างความท้าทายใหม่ให้กับยูเครนและชาติตะวันตกไปในตัวด้วย
เรียบเรียงจาก
- Zelenskyy plans to meet Xi Jinping after China proposes Russia peace plan, NBC News, 25-02-2023 https://www.nbcnews.com/news/world/russia-ukraine-war-china-peace-plan-zelenskyy-xi-jinping-meeting-putin-rcna72317
- U.S. officials believe China may be providing Russia nonlethal military assistance in Ukraine war, NBC News, 19-02-2023v https://www.nbcnews.com/news/us-news/us-officials-believe-china-may-providing-russia-non-lethal-military-as-rcna71336
- Belarus president and firm Russia ally Lukashenko to visit China, Aljazeera, 28-02-2023
- https://www.aljazeera.com/news/2023/2/28/belarus-leader-and-firm-russia-ally-lukashenko-to-visit-china
- Commentary: Beijing’s peace plan for Ukraine offers glimpse of how China plans to win the war, Channel News Asia, 27-02-2023 https://www.channelnewsasia.com/commentary/russia-ukraine-war-china-peace-plan-position-3306266
- Ukraine war: China unveils 12-point peace plan as it calls for ceasefire, Sky News, 24-02-2023 https://news.sky.com/story/ukraine-war-china-unveils-12-point-peace-plan-as-it-calls-for-ceasefire-12818707