ผลสำรวจพบคนทำงานเห็นว่า AI มีประโยชน์ในที่ทำงาน ตราบใดที่ไม่ใช้ในด้าน HR

ผลสำรวจคนทำงาน 17,193 คน จาก 17 ประเทศ พบคนทำงานเห็นว่า AI มีประโยชน์ในที่ทำงาน ตราบใดที่ไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการจัดทรัพยากรมนุษย์ (HR)

8 มี.ค. 2566 ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI (Artificial Intelligence) ในชีวิตประจำวันกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้หลายภาคส่วน เช่น ภาคธุรกิจ การแพทย์ การศึกษา และภาคอุคสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ AI มีศักยภาพในการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคตได้อีกมากมาย

จากรายงาน Trust in Artificial Intelligence: A global study 2023 โดย University of Queensland และ KPMG Australia ที่ได้สำรวจความคิดเห็นคนทำงาน 17,193 คน จาก 17 ประเทศ (ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)ในช่วงเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2565 ต่อประเด็นความไว้วางใจและทัศนคติต่อการใช้งาน AI รวมทั้งความคาดหวังในการจัดการและการกำกับดูแล  พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

คนทำงานเชื่อถือระบบ AI มากน้อยเพียงใด? ผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 5 คน (ร้อยละ 61) ยังคงมีความสับสนหรือไม่เต็มใจที่จะไว้วางใจ AI อย่างไรก็ตามการยอมรับและการให้ความไว้วางใจนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน AI ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในการดูแลสุขภาพมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการใช้ AI เพื่อวัตถุประสงค์ด้านทรัพยากรมนุษย์ แม้คนทำงานจะเชื่อมั่นในความสามารถและประโยชน์ของระบบ AI แต่ก็มักกังขาในความปลอดภัยและความเที่ยงธรรม หลายคนรู้สึกสับสนเกี่ยวกับการใช้ AI ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนระบุว่ามีทั้งอารมณ์มองโลกในแง่ดีและความตื่นเต้น ควบคู่ไปกับความกลัวและความกังวล

คนทำงานเห็นประโยชน์และความเสี่ยงของ AI อย่างไร? คนทำงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85) เชื่อว่า AI จะให้ประโยชน์มากมาย แต่มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่เชื่อว่าประโยชน์ของ AI มีมากกว่าความเสี่ยง, 3 ใน 4 คน (ร้อยละ 73) กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยเฉพาะความปลอดภัยทางไซเบอร์ถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ ที่น่ากังวล ได้แก่ การสูญเสียความเป็นส่วนตัว การยักย้ายถ่ายเทข้อมูลและการใช้งานที่เป็นอันตราย การถูก AI แย่งงาน (โดยเฉพาะในอินเดียและแอฟริกาใต้) ความล้มเหลวของระบบ (โดยเฉพาะในญี่ปุ่น) เป็นอันตรายต่อหลักการสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องและความลำเอียงจากการใช้ AI

ใครบ้างที่ได้รับความไว้วางใจให้พัฒนา ใช้ และควบคุม AI? ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความมั่นใจสถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย และหน่วยงานด้านกลาโหม ในการพัฒนา ใช้ และควบคุม AI เพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ (ร้อยละ 76-82) แต่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและภาคเอกชนน้อยที่สุด โดย 1 ใน 3 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นในระดับต่ำหรือไม่มีเลย เนื่องจากการใช้ AI เพิ่มขึ้นโดยรัฐบาลและภาคธุรกิจ

ผู้คนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับ AI ในที่ทำงาน? ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55) พอใจกับการใช้ AI ในที่ทำงานโดยใช้เป็นระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยเสริมการทำงานของมนุษย์ รวมทั้งช่วยในด้านการให้คำแนะนำในการตัดสินใจ ตราบใดที่ไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการจัดทรัพยากรมนุษย์ (HR) การจัดการประสิทธิภาพ หรือการตรวจสอบ แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจะชอบการมีส่วนร่วมของ AI มากกว่าการตัดสินใจของมนุษย์เพียงลำพัง แต่พวกเขาก็ยังต้องการให้มนุษย์เป็นควบคุม ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในจีนและอินเดียเชื่อว่า AI จะทำให้งานต่างๆ หายไป มากกว่าที่จะสร้างงานใหม่ๆ ให้มนุษย์

ที่มา:
Gillespie, N., Lockey, S., Curtis, C., Pool, J., & Akbari, A. (2023). Trust in Artificial Intelligence: A Global Study. The University of Queensland and KPMG Australia
Only half of us are willing to trust AI at work: 17-country study (What's New In Publishing, 23 February 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท