Skip to main content
sharethis

สปสช. ยกทีมผู้บริหารเยี่ยมโรงพยาบาลราชพิพัฒน์รับฟังข้อมูล Sandbox Model ของ กทม. ลั่นพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้การจัดบริการสุขภาพประสบความสำเร็จ ทั้งการจัดทำกลไกการเงินเพิ่มเติมสำหรับ Sandbox เพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมทั้งจัดทำ Gateway กลางเชื่อมข้อมูลสุขภาพจากแอปพลิเคชันสุขภาพต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว 

11 มี.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข และ คณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค กทม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 โดยได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้บริหารหน่วยบริการในสังกัด กทม. เพื่อรับฟังภาพรวมการบริหารจัดการของหน่วยบริการ กรณีนวัตกรรมการจัดบริการ UC New Normal และ Sandbox Model ของ กทม.

ดร.นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า Sandbox Model เริ่มต้นจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ที่เห็นปัญหาว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในระดับรากหญ้ายังเป็นไปด้วยความลำบาก จึงเกิดโมเดลนี้ขึ้น เอายานลูกออกจากยานแม่ ไปบริการแก่ประชาชนในรูปแบบของ Home based หรือการดูแลที่บ้าน บวกกับการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน รวมทั้งบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ตั้งแต่การพัฒนาหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัด กทม. นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการการรักษาเหมือนเช่นที่โรงพยาบาล 

ดร.นพ.สุขสันต์ ยกตัวอย่างบริการที่จัดขึ้นภายใต้โมเดลนี้ เช่น บริการเทเลเมดิซีน เทเลคอนซัลท์ ศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ (Commu-lance) รถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว (Motor-lance) รถฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์เทเลเมดิซีน (Telemedicine-ambulance) หรือที่ Sandbox ราชพิพัฒน์ ก็มีการสร้าง Line official สำหรับสื่อสารแบบเห็นหน้ากันได้ทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับคำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น 

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ทำ Sandbox Model มีหลายจุด นอกเหนือจากโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ที่ดูแลโซนธนบุรีเหนือ และธนบุรีใต้อีกบางส่วนแล้ว ยังมีโรงพยาบาลวชิระ ดูแล 4 เขตรอบพื้นที่โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลกลางดูแลโซนกรุงเทพกลางและกรุงเทพเหนือ โรงพยาบาลเจริญกรุงดูแลพื้นที่กรุงเทพใต้ และโรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ดูแลเขตกรุงเทพตะวันออก  

ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัดเจนว่าเน้นเส้นเลือดฝอยหรือการจัดบริการที่เข้าถึงประชาชน อย่างไรก็ดี ด้วยความที่พื้นที่ กทม. มีหน่วยบริการจากหลายสังกัดและไม่มี Unified Command การจัดบริการในลักษณะของ Sandbox Model จึงดำเนินการในโรงพยาบาลของ กทม. เพราะสามารถบูรณาการได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีบางโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัด กทม. และมีพื้นที่ดูแลปฐมภูมิของตัวเอง มีรูปแบบการจัดบริการของตัวเอง จึงต้องขอให้ สปสช. เป็นตัวเชื่อมกับโรงพยาบาลเหล่านี้ในการเชื่อมโยงระบบการจัดการร่วมกับ กทม. ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิไปจนถึงตติยภูมิ รวมทั้งอยากให้ สปสช. มีขั้นตอนการเข้ามาในระบบง่ายขึ้น ควบคุมกำกับและเบิกจ่ายง่าย เพื่อดึงหน่วยบริการต่างๆ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล ร้านยา เข้ามาในระบบมากขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล เพราะการที่หลายหน่วยงานต่างคนต่างออกแบบซอฟต์แวร์ของตัวเอง มีแอปพลิเคชันเยอะ ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลมีความยุ่งยาก หากมีระบบกลางให้เข้ามาเชื่อมต่อ การเบิกจ่ายจะได้ง่าย การได้มาซึ่งข้อมูลสุขภาพต่างๆ ก็จะเยอะมากขึ้น 

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.จะหาวิธีสนับสนุนเพื่อให้ กทม. สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาประชาชนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ใน กทม. แล้วไม่ย้ายสิทธิมาลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. ด้วย สปสช. จะรับดูแลในเรื่องการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการให้เพียงพอมากขึ้น เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของหน่วยบริการปฐมภูมิ จะมีสัดส่วนประชากรต่อหน่วยบริการอยู่ที่ 1 : 10,000 ปัจจุบันใน กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่รับดูแลด้านปฐมภูมิรวมประมาณ 300 แห่ง เท่ากับรองรับประชากรได้ประมาณ 3 ล้านคน แต่ตัวเลขประชากรที่อยู่ใน กทม. จริงๆมีมากกว่านั้น ดังนั้นต้องมีการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิให้มากขึ้น 

“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติงานแล้วจะนำเข้าคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13  อันนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ว่าทำอย่างไรให้คนต่างจังหวัดมาลงทะเบียนหน่วยบริการใน กทม. ก็คือต้องหาหน่วยบริการมารองรับ และตอนนี้ สปสช. เปิดรับหน่วยบริการเพิ่ม ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมที่เปิดเป็นบางช่วงเวลา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภายบำบัด และร้านยา ทั้งหมดนี้ประชาชนเลือกลงทะเบียนได้หมด โดยข้อมูลจะเชื่อมไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ในฐานะ Area Manager”นพ.จเด็จ กล่าว 

ขณะเดียวกัน สปสช. ก็จะจัดทำกลไกการเงินการคลังมาสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพต่างๆ ที่ทำใน Sandbox ไม่ว่าจะเป็น Mobile Unit เทเลเมดิซีน หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ร้านยา คลินิกพยาบาล ตู้คีออส เจาะแลปที่บ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณลงไปเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จ 

เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องแอปพลิเคชันด้านสุขภาพที่มีหลากหลายเต็มไปหมด สปสช.จะประกาศมาตรฐานกลางข้อมูลในวันที่ 1 เม.ย. 2566 นี้ โดยมี Gateway ที่ให้แอปฯต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อแล้วแปลงข้อมูลเข้าสู่ระบบบริการ ทำให้แม้แต่ละหน่วยบริการมีแอปฯ ของตัวเอง แต่ก็จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด รวมทั้งปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย สปสช. จะเปลี่ยน Call center เป็นศูนย์ส่งต่อให้ หากหน่วยบริการของ กทม. หาเตียงไม่ได้ สามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 แล้ว สปสช.จะประสานหาโรงพยาบาลรับส่งต่อให้ เป็นต้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net