Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์มองหุ้นธนาคารยุโรปดิ่งสะท้อนปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินยังไม่คลี่คลาย เตรียมรับมือภาวะเงินตึงตัวจากวิกฤติสถาบันการเงินโลกและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลาง แนะใช้ Rule-based stabilization เงินเฟ้อในไทยไม่น่าห่วง เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ช่องว่างผลผลิตยังสูง หนี้ท่วม ไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย         
         
26 มี.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินในยุโรปที่ดิ่งลงอย่างแรงต่อเนื่อง เกิดความเสี่ยงและควาไม่มั่นใจต่ออนาคตของธนาคารดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank)  ธนาคารขนาดใหญ่ของเยอรมัน ธนาคาร Societe Generle ธนาคารขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส โดยที่ทั้งสองธนาคารมีฐานะมั่นคง อย่างธนาคารดอยช์แบงก์นั้นเพิ่งประกาศผลกำไรในปี 65 สูงสุดในรอบ 15 ปี ตอนธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ของสวิตเซอร์แลนด์มีปัญหาก่อนการควบรวมกับ ธนาคาร UBS เงินฝากและเงินลงทุนไหลเข้าธนาคารดอยช์แบงก์ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารอย่างฉับพลัน ธนาคารได้นำเอาสภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้ไปซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Tier 2 Suborinated Debt) คืนก่อนครบกำหนด เป็นการลดหนี้สินของธนาคาร แทนที่ตลาดการเงินและนักลงทุนจะตีความในทางบวก มองในทางลบว่า อนาคตธุรกิจของธนาคารน่าจะซบเซาจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในยุโรป และไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจและโอกาสในการเติบโตของสินเชื่อในอนาคต  สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินโลกยังไม่คลี่คลาย แม้นจะมีสัญญาณดีเล็กๆที่เงินฝากและเงินลงทุนจากธนาคารขนาดใหญ่ทยอยไหลย้อนกลับไปยังธนาคารกลางและธนาคารเล็กบ้างแล้ว สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินและนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อระบบธนาคารกลางเริ่มกระเตื้องขึ้น 

อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ จะเกิดภาวะเงินตึงตัวจากปัญหาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโลกหรือไม่ และ การดำเนินมาตรการเข้มงวดทางการเงินจะมีผลต่อภาวะเงินตึงตัวในอนาคตหรือไม่ ตอนนี้ หลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย ยังอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ได้ แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ อาจเกิดภาวะเงินตึงตัว (Tight Money) ขึ้นมาได้ในบางประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ต่อเงินทุนมีมากกว่าอุปทานของเงินทุน เป็นภาวะที่มีความต้องการสินเชื่อและเงินทุนเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณเงินและสินเชื่อมีจำกัด ครัวเรือนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ขณะที่ในบางประเทศที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ธนาคารในประเทศก็ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและเข้มงวด ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนไม่ได้สินเชื่อ จะไปกู้หรือหาแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ ก็เกิดปัญหาเสถียรภาพของสถาบันการเงินโลกขึ้นมาอีก และ ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง เกิดความยากลำบากในการหาเงินทุน การที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่นและอื่นๆ ประสานกันในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโลกเมื่อหลายวันก่อนเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดสภาพคล่องและเงินตึงตัว 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ “ไทย” ไม่ได้มีปัญหาภาวะเงินตึงตัวขณะนี้ หากพิจารณาจาก อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋ว BE อยู่ที่ประมาณ 91-92 ประกอบกับยังมีเงินทุนไหลเข้าอยู่ ดุลการชำระเงินยังเป็นบวกอยู่ ในระยะสั้นยังไม่น่าวิตกกังวลอะไร แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลตอบแทนแท้จริงจากการฝากเงินธนาคารยังคงติดลบและรายได้แท้จริงลดลงจากอัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง ทำให้การออมแท้จริงโดยรวมในประเทศลดลง การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น จะต้องดำเนินการในลักษณะ “กฎ” (Rule-based Stabilization Policy) มากกว่าการใช้วิจารณาญาณ (Discretionary Policy) หมายความว่า ผู้ทำนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงเป้าหมายของนโยบาย โดยการตั้งเป้าหมายชัดเจน และระบุถึงเครื่องมือของการทำนโยบายด้วย เนื่องจากสามารถส่งผ่านผลของการทำนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการคาดการณ์ของภาคเอกชน ภาคการผลิต ภาคการลงทุนและภาคครัวเรือน ข้อได้เปรียบของนโยบายการเงินเมื่อเทียบกับนโยบายการคลังหรือนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ คือ มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถปรับตามพลวัตเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น เครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายใต้นโยบายการเงินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น 

ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เป็นเครื่องมือและกลไกส่งผ่านไปยังระบบสถาบันการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อพื้นฐานให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยไม่ไปรบกวนหรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับรายได้ หนี้สินเทียบกับผลผลิตในทุกระดับของระบบเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับสูง ทั้งภาคครัวเรือน ภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29 มี.ค. 2566 เศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างประเทศสอดคล้องกับลักษณะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคต่างประเทศสูง อัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากราคาพลังงานในตลาดโลกลดลง และ อัตราการขยายตัวของการนำเข้าของประเทศคู่ค้าหลักลดลง การที่ค่าเงินบาททำหน้าที่เป็นตัวรองรับผลกระทบจากภายนอก หรือ เป็น shock absorber ได้ดีในระดับหนึ่ง จึงควรปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามพลวัตของปัจจัยภายในภายนอก 

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย พิม มโนพิโมกษ์ นุวัติ หนูขวัญ เจตวัฒน์ ภัทรรังรอง พบว่าค่าเงินบาทถูกขับเคลื่อนจาก non-fundamental shock เป็นสำคัญ โดยอาจเกิดจากการเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงของ risk sentiment ของนักลงทุน ที่อาจสืบเนื่องมาจากการปรับมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของไทยหรือประเทศคู่ค้าจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด non-fundamental shock สามารถอธิบายความผันผวนของค่าเงินบาทได้สูงถึง 63% อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเองก็ถือว่ามีบทบาทในการกำหนดค่าเงินบาทอยู่ไม่น้อยที่ 37% โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานในประเทศ 19% และปัจจัยพื้นฐานจากต่างประเทศ 18% ทั้งนี้ shock ที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เกินครึ่งมาจากปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ขณะที่ shock ที่มาจากปัจจัยพื้นฐานต่างประเทศนั้น มาจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นจาก shock ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานกลับส่งผลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยน้อยมาก โดยสามารถอธิบายความผันผวนของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยได้เพียง 3% และ 1% ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลการศึกษาของสถาบันป๋วยยังพบอีกว่า เมื่อเกิด non-fundamental shock ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.11% ในขณะที่เงินเฟ้อปรับลดลงเพียง 0.034% ภายในเวลา 1 ปี 6 เดือน ซึ่งผลกระทบที่ค่อนข้างน้อยนี้ทำให้ความผันผวนของค่าเงินบาทจาก non-fundamental shock ไม่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยนัก 

ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกต่อว่าจากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติพบว่า ประชากรไทยประมาณ 37% คิดเป็น 25 ล้านคน เป็นหนี้ และคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นจากรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจำเป็น มูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 520,000 บาท มูลค่าหนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ 2 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย ไม่ใช่การก่อหนี้เพื่อการลงทุน แต่เป็นสภาพชักหน้าไม่ถึงหลัง กู้มาเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ฉะนั้น การที่มีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำมาหลายปีต่อเนื่องไม่ใช่สาเหตุหลักในการกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ สัดส่วนการเป็นหนี้ของภาคครัวเรือนไทยสูงเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำสูง 20% ของไทยเป็นหนี้ในเครดิตบูโรที่มีความเสี่ยงเป็นหนี้เสีย บัญชีหนี้เพื่อการลงทุนทางธุรกิจและสินเชื่อบ้านคิดเป็นเพียง 4% สะท้อนอนาคตปัญหากับดักหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจและภาคการเงินไทยหากดอกเบี้ยขึ้นไปเรื่อยๆโดยเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพและยังมีช่องว่างผลผลิต (Output Gap หรือ GDP Gap) มาก กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ 41 บาท ฉะนั้นค่าแรงงานขั้นต่ำเพียง 300 กว่าบาทต่อวันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแน่นอน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net