Skip to main content
sharethis

รพ.สวรรค์ประชารักษ์เตรียมยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569  - ศูนย์อนามัยที่ 7 ดูแล “หญิงไทยตรวจมะเร็งปากมดลูก” กระจาย “ชุดคัดกรองด้วยตัวเอง” ผ่าน หน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิ” 

8 เม.ย. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะผู้บริหาร สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ และสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปผลการจัดบริการคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 

นพ.นรุตม์ วงศ์สาคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้ว เขตสุขภาพที่ 3 สามารถคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดได้ประมาณ 43.8% หรือราว ๆ อันดับ 5 ของประเทศ ขณะที่ในส่วนของ จ.นครสวรรค์ สามารถตรวจคัดกรองได้ประมาณ 41% 

นพ.นรุตม์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากแม้การคัดกรองในโรงพยาบาลจังหวัดจะสามารถทำได้มากกว่า 90% รวมประมาณ 1,008 ราย แต่ยังมีทารกอีกจำนวนหนึ่งที่ไปคลอดที่โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ซึ่งจากตัวเลขพบว่ามีเด็กที่ได้รับการคัดกรองในโรงพยาบาลชุมชนสูงถึง 860 ราย  

“เพื่อให้การตรวจคัดกรองครอบคลุมเด็กกลุ่มนี้ เราจึงวางแผนการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก โดยจะมีโหนดในแต่ละโซน คือที่ อ.ลาดยาว 266 คน อ.บรรพตพิสัย 194 คน อ.ชุมแสง 56 คน อ.ท่าตะโก 103 คน และ อ.ตาคลีอีก 177 คน ครอบคลุมการดำเนินการปี 2566-2567 หากพบเด็กทารกที่มีความผิดปกติ จะต้องมีการตรวจยืนยันและทำการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก่อนอายุ 4 ขวบ ซึ่งถ้าดำเนินการในช่วง 2 ปีนี้ก็ยังถือว่าทันการณ์”นพ.นรุตม์ กล่าว 

ด้าน นพ.อภิชาต วิสิทธิวงษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า แผนงานของโรงพยาบาล นอกจากการตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมภายในปี 2566-2567 แล้ว โรงพยาบาลยังมีแผนเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมในปี 2569 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มารับบริการ เนื่องจากขณะนี้มีไม่กี่โรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมได้ ในส่วนของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เอง เมื่อตรวจพบเด็กที่มีความผิดปกติทางการได้ยินก็จะต้องส่งต่อไปรับการผ่าตัดที่โรงเรียนแพทย์ใน กทม. ดังนั้น การที่โรงพยาบาลเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจะทำให้ประชาชนในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงในเขตสุขภาพที่ 3 สามารถมารับบริการได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้า กทม. 

ด้าน นพ.ชวพล อิทธิพานิชพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า การคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกมีความสำคัญมาก เพราะพัฒนาการเด็กจะเริ่มตั้งแต่อายุ 4-6 ขวบ หากตรวจพบและรักษาทัน เด็กก็จะมีโอกาสได้ยินและสามารถสื่อความหมายได้ แต่ถ้าตรวจพบช้า สมองเริ่มพัฒนาด้านภาษาไปแล้ว เด็กนอกจากหูหนวกแล้วยังจะเป็นใบ้ เพราะไม่มีเสียงไปกระตุ้นสมองทำให้ไม่สามารถสื่อภาษาได้ 

อย่างไรก็ดี การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีความสำคัญเพียง 50% แต่อีก 50% ที่สำคัญเช่นกัน คือการฝึกฟังและพูดโดยนักแก้ไขการพูด (speech therapy) เพราะเสียงที่เด็กได้ยินผ่านประสาทหูเทียมอาจไม่เหมือนเสียงปกติที่คนทั่วไปยินดังนั้นจึงต้องมีการฝึกฟังและพูดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กทราบว่าเสียงแต่ละเสียงหมายความว่าอย่างไร ซึ่งตามแผนของโรงพยาบาลที่จะเปิดศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 โรงพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงนัก speech therapy ด้วยเช่นกัน 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกแรกเกิดและผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งที่สาเหตุที่มาเยี่ยมชมในวันนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เป็นโรงพยาบาลที่กระตือรือร้นและขยันในการดำเนินการเรื่องนี้มาก 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.เอง พร้อมสนับสนุนในด้านการใช้กลไกงบประมาณช่วยให้สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างราบลื่น อย่างไรก็ดี จากการรับฟังบรรยายสรุปพบว่าไม่ค่อยมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ แต่จะเป็นเรื่องระบบการตรวจคัดกรองที่ยังขาดในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งเรื่องบุคลากร เช่น นัก speech therapy หรือนักอรรถบำบัดเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการสื่อความหมายทางภาษาและกระบวนการพูดที่มีการผลิตออกมาน้อยและยังขาดแคลนอีกมาก ซึ่ง สปสช.ก็จะรับประเด็นเหล่านี้ไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกต่อไป

ศูนย์อนามัยที่ 7 ดูแล “หญิงไทยตรวจมะเร็งปากมดลูก” กระจาย “ชุดคัดกรองด้วยตัวเอง” ผ่าน หน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิ” 

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2566 นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ ผู้อำนวยการเขตสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งร้ายที่พบมากในผู้หญิง แต่สามารถรักษาได้ หากพบในระยะแรกเริ่ม การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นบริการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและ สปสช. ให้ความสำคัญ โดยบรรจุเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อดูแลหญิงไทยทุกคน ตั้งแต่บริการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ VIA และได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การตรวจด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เซล เทสต์ (HPV DNA Self Collection) ที่มีความแม่นสูง ในปี 2563 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีหญิงไทยอายุ 30-60 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจำนวนไม่มาก ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากความไม่สะดวกในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองที่หน่วยบริการ รวมถึงพฤติกรรมเขินอายที่จะเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง ดังนั้นที่ผ่านม บอร์ด สปสช. จึงอนุมัติให้ ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง “HPV DNA Self Collection” (เอชพีวี ดีเอ็น เซล คอลเลคชัน) เป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนบัตรทอง เพื่อเป็นทางเลือกบริการตรวจคัดกรองฯ เพิ่มเติม 

จากสิทธิประโยชน์มะเร็งปากมดลูกนี้ ทางศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ และ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น เพื่อให้หญิงไทยในพื้นที่เขต 7 ทั้งที่จังหวัดกาฬสิทธิ์ ขอนแก่น มหาสารคม และร้อยเอ็ด ได้รับบริการอย่างทั่วถึง และได้ลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินกการ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา     

จากความร่วมมือนี้ นอกจากการรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่หน่วยบริการแล้ว ยังเพิ่มช่องทางบริการรับชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ผ่านหน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิที่เข้าร่วมในพื้นที่นำร่อง ทั้งที่คลินิกการพยาบาล ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ และร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส พร้อมจัดระบบต่างๆ รองรับ ภายใต้การกำกับคุณภาพของหน่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการ  

นพ.ดุสิต กล่าวว่า ในการรับบชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA Self Collection นั้น ประชาชนที่มีสมาร์โฟนสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับชุดตรวจนี้ได้ผ่าน แอบพลิเคชัน เป๋าตัง และเข้ารับชุดตรวจได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมตามที่ได้เลือกไว้ ซึ่งจะมีการให้คำแนะนำวิธีการเก็บสิ่งตรวจ การนำส่งสิ่งส่งตรวจซึ่งจะมีระบบขนส่ง (logistic) รองรับ พร้อมให้ทำการแอดไลน์เป็นเพื่อนกับ  HPV7 ซึ่งเป็นบัญชีไลน์ทางการของศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น สำหรับลงทะเบียนเข้าสู่ระบบบริการ และรับผลของการตรวจคัดกรองวิธี HPV DNA Self Collection รวมถึงให้ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  

กรณีผลของการตรวจคัดกรองฯ พบความเสี่ยง จะมีการแนะนำและประสานส่งต่อเพื่อเข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพิ่มโอกาสในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรงมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการให้บริการที่ครบวงจร   

“การขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนี้ รวมถึงการกระจายชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ที่นำร่องในพื้นที่เขต 7 นี้ เป็นนวัตกรรมบริการที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ และความร่วมมือของหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่จำเป็นให้กับประชาชน ขณะเดียวกันยังทลายข้อจำกัดประเด็นความเขินอายในการรับการตรวจคัดกรองที่หน่วยบริการ ซึ่งจะเป็นโมเดลไปสู่การจัดบริการสุขภาพอื่นๆ ต่อไป” ผอ.สปสช. เขต 7 ขอนแก่น กล่าว 

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net