Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่กี่วันมานี้ (ต้นเดือนเมษายน 2566 ภายหลังวันเลิกทาสและ April’s Fool Day) มีคลิปไวรัลบนโลกโซเชียลที่ปฏิกิริยาของชาวเน็ตค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือรุมด่ายับ คลิปที่ว่านี้ถ่ายจากพิธีอะไรสักอย่างหนึ่งในโรงเรียนมัธยม (น่าจะเป็นไหว้ครู) ในคลิปมีครูเดินเป็นแถวบนทางตรงกลางที่เว้นไว้ สองข้างซ้ายขวามีนักเรียนหลักร้อยก้มกราบแน่นิ่ง และมีเสียงเพลง “จงตั้งใจ ให้เป็นคนเก่งคนดี เจ้าไปได้ดี โชคดีครูก็สุขใจ แต่อย่าเอาความรู้ไปคดโกงใคร จงใช้ชีวิตบนความดีงาม” 

ในปี 2023 แล้ว คงไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไปว่าการก้มกราบหมอบราบคาบแก้วเช่นนี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และข้อเขียนนี้ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์มาโต้แย้งถกเถียงในประเด็นดังกล่าว เพราะชัดเจนอยู่แล้วว่าลักษณาการดังว่าไปด้วยกันไม่ได้กับโลกสมัยใหม่ มิพักจะต้องพูดถึงเรื่องที่การหมอบกราบถูกยกเลิกไปแล้วกว่าร้อยปี

และดูเหมือนว่าสังคมก็มีฉันทามติร่วมกันกับประเด็นนี้ ดังจะเห็นได้จากในทศวรรษที่ผ่านมา โรงเรียนจำนวนมากค่อยๆ ปรับรูปแบบพิธีไหว้ครูให้ทันสมัยขึ้น เป็นต้นว่า นักเรียนไม่ต้องก้มกราบครูแล้ว เปลี่ยนเป็นยื่นพานหรือเครื่องแสดงความเคารพอื่นๆ ให้เท่านั้น อาจมีต้องเดินเข่าหรือลดระดับตัวให้ต่ำกว่าครูที่นั่งอยู่ ก็เป็นการประนีประนอมในระดับที่รับได้ และหากว่ามีโรงเรียนไหนเกณฑ์นักเรียนให้ทำอะไรเทือกนี้ เช่น กราบผู้อำนวยการวันเกษียณ ก็จะโดนชาวเน็ตรุมด่าแบบไม่ต้องลุ้น 

อันที่จริงการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายของการหมอบกราบในพิธีกรรมตามโรงเรียนไทยระดับประถมและมัธยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่น้อมนำอุดมการณ์รัฐอย่างหนักหน่วงเข้มข้นถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะแสดงให้เห็นว่าการจองจำนักเรียนไว้ภายใต้ระบบอำนาจนิยมค่อยๆ ลดความขึงขังลง และคนที่เป็นนักเรียนได้รับอนุญาตให้เป็น “คน” เท่าๆ กันกับผู้มีอาวุโส เมื่อยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านรื้อถอนมาถึง การก้มกราบจึงกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมร่วมสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นที่คลิปไวรัลต้นเรื่องกลายเป็นลานจอดรถทัวร์ ถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนหน้า เสียงอาจจะยังแตกอยู่ คือมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ตามเหตุผลที่ควรจะเป็น ในเมื่อการเปลี่ยนผ่านรื้อถอนเกิดขึ้นรวดเร็วดังไฟไหม้ฟางในโรงเรียนประถม-มัธยม การเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันหรือในระดับที่มากกว่าก็ควรเกิดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยด้วย เพราะสถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งศึกษาความรู้ระดับสูงซึ่งเป็นด่านหน้าที่ได้สัมผัสกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ทันสมัยก่อนใครเพื่อน และในฐานที่ผู้เรียนระดับอุดมศึกษา “โตแล้ว” การจะแสดงออกว่าเคารพบูชาครูอย่างสูงด้วยการหมอบกราบ เทิดไว้เหนือเศียรเกล้าจึงไม่ควรเกิดมีขึ้นไม่ว่าในวงการการศึกษาแขนงใด

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้เด็กรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากด้วยถูกบ่มเพาะจากสิ่งแวดล้อมแห่งยุคสมัยให้มีความกล้าคิด กล้าแสดงออก มีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง แข็งขืน ไม่ยอมจำนนต่อกรอบเกณฑ์ไร้เหตุผล และขนบธรรมเนียมดั้งเดิมในการศึกษาระดับโรงเรียนค่อยๆ ทยอยสูญพันธุ์ไปแล้ว ทว่า “วัฒนธรรมการกราบกรานครู” ยังคงมีความหนักหน่วงเข้มข้นอยู่ในหลายๆ สำนักระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงวิชาการด้านการศึกษา (ครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์) และการศึกษาที่เกี่ยวกับความเป็นไทยทั้งหลายแหล่ (เช่น ภาษาไทย วรรณคดีไทย ฯลฯ) แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

เราๆ ท่านๆ จึงอาจยังคงได้เห็นพิธีไหว้ครูระดับอุดมศึกษาหรือบัณฑิตศึกษา (โท-เอก) ในวงวิชาการแขนงเหล่านี้ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับการมอบเครื่องบูชาและการหมอบราบกราบครูเพื่อแสดงสัญญะของการเป็นศิษย์ที่ดี (แต่ไม่รู้ว่าพิธีนี้มีพันธะผูกพันให้ครูต้องเป็นครูที่ดี ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์ดังที่คาดหวังให้ผู้เรียนเป็นศิษย์ที่ดีหรือไม่)

อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อโต้แย้งว่า การแสดงความเคารพนบนอบอย่างสูงในงานพิธีเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ตามธรรมเนียมเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันใดๆ ความเข้าใจนี้ผิดถนัด เพราะในทางปฏิบัติ วัฒนธรรมการกราบครูในวงวิชาการแขนงไทยๆ และการศึกษา ไม่ได้จบลงเพียงแค่ในพิธีไหว้ครู 
แต่ยังมีผลผูกพันต่อเนื่องเชิงวัฒนธรรมซึ่ง “โปรแกรม” ผู้เรียนในศาสตร์แขนงเหล่านี้ให้ต้องพินอบพิเทา เออออห่อหมกไปกับคนเป็นครูในทุกเรื่อง ไม่ว่าครูพูดอะไรก็ถูกต้องไปเสียหมดทั้งเรื่องวิชาการหรือเรื่องอื่นๆ งานวิชาการของครูมีสถานะศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าคัมภีร์ทางศาสนา เพราะคำสอนในพระคัมภีร์สามารถวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง ถอดรื้อได้ 

แต่ศิษย์ของครูในวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์งานของครูในสำนักที่ตนเองสังกัดหรือในวงการเดียวกันได้ ถือเป็นความผิดมหันต์ 

สิ่งที่แสดงออกได้จึงมีเพียงการชื่นชมยกย่อง การเทิดงานของครูไว้เป็น “มาสเตอร์พีซ” ทั้งๆ ที่ก็อาจรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองตีราคางานครูสูงไป แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะการเป็นที่เอ็นดูของครู การมีสัมพันธภาพที่ดีกับครู การอยู่ภายใต้อาณัติทางวิชาการของเจ้าสำนักเป็นใบเบิกทางชั้นเยี่ยมต่อความสำเร็จในวงวิชาการ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการ “กราบกราน” ในมิติทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงการสยบยอมต่ออำนาจ ระบบอาวุโส และระบบอุปถัมภ์อย่างราบคาบ 

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังอาจพบว่า เป็นเรื่องปกติที่หลายๆ สำนักมีธรรมเนียมให้ศิษย์ปฏิบัติกับครูราวกับเป็นราชวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งพื้นคุยกับครู-ถ่ายรูปกับครูที่นั่งบนเก้าอี้หรือยืน และไม่ว่าครูจะทำอะไรให้ศิษย์ แม้จะเป็นหน้าที่พึงทำอยู่แล้วเพราะอยู่ใน job description ของการเป็นครู แต่ก็จะถูกตีความไปว่าเป็นความกรุณา ความเมตตา ความใจกว้างของครูที่ “อุตส่าห์” ทำสิ่งเหล่านี้ให้ 
และในหลายกรณีเราก็อาจเคยได้ยินเสียงเล่าอ้างในวงวิชาการสาขาต่างๆ ว่า นักศึกษาเสียเงินจ่ายค่าเทอมมาเรียน มาทำวิทยานิพนธ์เทอมละไม่ใช่น้อย สามารถเรียนจบได้ภายในระยะเวลา 2 ปีตามหลักสูตร (ต่างประเทศเรียนทั้งหลักสูตรแค่ปีเดียว) แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถเรียนจบได้หากยังไม่ถึง deadline 4-5 ปี เพราะครูว่างตรวจงานเฉพาะก่อน deadline ครูมีภาระ-ความรับผิดชอบส่วนตัวต้องทำ (ไม่รู้ว่านับการคุมงานนักศึกษาเป็นหน้าที่ด้วยหรือไม่) หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือ หากนักศึกษาจบไปก็จะไม่มีคนช่วยทำวิจัยหรือพิมพ์งานให้ จึงต้องประวิงเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเขต 

ตัวอย่างดังว่านี้สื่อสารชัดเจนว่า คนเป็นครูไม่ได้มองเห็นว่า ผู้เรียนเป็นบุคคลที่ต้องให้ความสำคัญ เป็นส่วนสำคัญของวิชาชีพ หรือเป็นคนที่ตนเองต้องให้เกียรติเพราะมีความเกี่ยวข้องกันในทางวิชาการ 

เป็นเรื่องน่าตกใจที่คนจำนวนมากในหลากหลายสำนักตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้โดยไม่สามารถทำอะไรได้ หรือในบางกรณีก็ไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิดปกติที่ไม่ควรเกิดขึ้น และนักศึกษาในบริบทแบบไทยๆ เช่นนี้ก็ไม่มีทางที่จะคิดไปไกลได้ถึงขั้นที่ว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ตนเองโดนคนเป็นครูกระทำ เป็นต้นว่า การเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ การประวิงเวลาไว้ไม่ยอมให้จบเพื่อใช้ทำงานส่วนตัว ฯลฯ สามารถเอาผิดในทางกฎหมายได้ และรายการโหนกระแสสามารถเชิญไปออกได้

แล้วเพราะเหตุใดทั้งครูและศิษย์ในวงการเหล่านี้จึงอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่ครูก็ไม่เห็นว่า การให้ผู้เรียนยอมศิโรราบต่อความต้องการ ความสะดวกสบาย ความพึงพอใจของตนเองเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน เป็นการดูถูกผู้เรียน และเพราะเหตุใดในขณะเดียวกันผู้เรียนที่ถูกกดขี่ข่มเหงราวกับเป็นข้าไทไพร่ราบจึงไม่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายต่อต้านอำนาจที่กดทับ-กักขังตนเองอยู่?

การเจรจาต่อรอง การเร่งขอเรียนจบ ขอรีบสอบด้วยความจำเป็นต่างๆ การแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำงานล้วนเป็นสิ่ง “ต้องห้าม” ในความสัมพันธ์นี้ เพราะเมื่อลงว่าได้กราบกรานขอความเมตตากันมาตั้งแต่ต้นแล้ว “ปากเสียง” ของคนที่อยู่ในสถานะต่ำกว่าย่อมไร้ความหมายและเป็นวิสัย “กบฏ” ไม่ใช่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของศิษย์มีครู

วัฒนธรรมการกราบกรานครูนี้เป็นมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงสำหรับการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์โดยเฉพาะแขนงที่เป็นผู้แทนอันชอบธรรมในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับอะไรที่เป็นไทย (ไทยๆ) ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย วรรณคดีไทย ฯลฯ และในด้านครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ 

เพราะการสมาทานตัวเองเป็นผู้ต่ำต้อย เชื่อง เป็นเด็กดี หมอบราบคาบแก้วอยู่กับพื้น ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตกผลึกความคิดสร้างสรรค์ ความตระหนักรู้เรื่องเสรีภาพ การรู้เนื้อรู้ตัวว่ามนุษย์ทุกคนเท่ากัน และความเข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลายซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์ที่ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้พ้นไปจากกรอบเดิม การต้องมีความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การต้องมีความกล้าหาญทางวิชาการหรือทางจริยธรรมที่จะแสดงความคิด ความเห็น ความเชื่อ และตัวตนอย่างซื่อสัตย์ โดยไม่ต้องเกรงใจ-เกรงกลัวว่าคนที่เป็นครูจะพอใจหรือไม่ 

เราจะสามารถคิดสิ่งที่ไกลเกินตัว ยิ่งใหญ่ มีคุณูปการต่อชนรุ่นหลัง ไม่ติดกับดักจารีตธรรมเนียมอย่างไรได้ เราจะสามารถวิจารณ์วรรณกรรมโดยบูรณาการเข้ากับการวิพากษ์บริบททางสังคมการเมืองรวมถึงท้าทายขนบที่คลุมครอบสังคม-ความคิดของผู้คนได้อย่างไร เราจะเป็นครูที่เข้าใจธรรมชาติเด็กและส่งเสริมศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ที่ไปไกลมากๆ แล้วได้ไหม หากในวันที่เราเป็นปัญญาชนเต็มตัวแล้ว เรายังต้องหมอบราบกับพื้นเพื่อรอความเมตตาจากครูและทำทุกอย่างตามที่ครูพอใจ เหมือนโรงเรียนประถมเมื่อสมัย 20 ปีก่อนอยู่ 

ครูกับศิษย์สามารถให้เกียรติซึ่งกันและกันได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่าๆ กัน พูดคุย-ถกเถียงกัน แสดงความเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย พอใจ-ไม่พอใจได้ตามเหตุผลและความเหมาะสม ประนีประนอมต่อรองกันได้แบบที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจความจำเป็นและเงื่อนไขในชีวิตของอีกฝ่าย ด้วยความตระหนักว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีวุฒิภาวะ มีความเป็นผู้ใหญ่เหมือนๆ กัน ไม่ใช่ในฐานะผู้มีอาวุโส มีตำแหน่งทางวิชาการกับเด็กน้อยน้องแน้งที่ต้องอยู่ในอาณัติ 

แต่จะโทษระบบ โทษครูบาอาจารย์ที่โดนระบบกลืนกินเพียงอย่างเดียวก็ดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมนัก เพราะความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอำนาจไม่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ถูกกดไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง 

    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net