Skip to main content
sharethis

ด้วยมาตรวัดของรัฐโลกวิสัย ประเทศไทยยกพุทธศาสนาให้โดดเด่นกว่าและผูกกับความมั่นคงของรัฐจนกระทบต่อเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา นักวิชาการนิติศาสตร์เสนอกระบวนการทางกฎหมายเพื่อแยกรัฐจากศาสนา ปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องของเอกชนจัดการกันเองโดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง แต่การเพิ่มอำนาจกษัตริย์ลงในกฎหมายสงฆ์ก็ทำให้เรื่องนี้ซึ่งยากมากอยู่แล้ว ยากยิ่งขึ้นไปอีก

  • ในทางปฏิบัติ พุทธศาสนาถือเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้พุทธศาสนามีสถานะและได้รับความสำคัญมากกว่า เป็นเหตุให้ไม่มีการคุ้มครองเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงควรแยกรัฐจากศาสนา
  • กริชเสนอกระบวนการแยกรัฐจากศาสนา 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการใส่คุณลักษณะทางประชาธิปไตยให้แก่องค์กรสงฆ์ ขั้นตอนที่ 2 คือรัฐค่อยปรับลดบทบาทในการอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาลงตามลำดับ จนเลิกข้องเกี่ยวในที่สุด ปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องของเอกชนที่จะจัดการกันเองโดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง
  • การเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ในกฎหมายคณะสงฆ์ ในปี 2560 และ 2561 ส่งผลให้รัฐไทยกับพุทธศาสนาผูกมัดกันแน่นยิ่งขึ้นและกลายเป็น ‘ปัญหาเชิงระบอบ’
  • ในแง่ความเป็นไปได้ทางการเมืองถือว่าเป็นเรื่องยาก มีความเสี่ยงที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนา แต่การสร้างรัฐโลกวิสัยไม่ใช่สิ่งที่จะทำตามลำพังได้ หากต้องดำเนินไปควบคู่กับการพัฒนาประชาธิไตยในประเทศ

 

เสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเป็นคุณค่าที่รัฐเสรีประชาธิปไตยต้องยึดถือ มองแบบผิวเผิน รัฐไทยก็เหมือนจะปฏิบัติเช่นนั้น กับชาวพุทธจำนวนหนึ่งอาจมองว่ามากเกินไปเสียด้วยซ้ำสำหรับศาสนาอื่น

แต่หากยึดตามหลักการ ‘รัฐโลกวิสัย’ หรือ ‘secular state’ แบบเคร่งครัด รัฐไทยยังไปไม่ถึงเป้าหมายข้างต้น ยิ่งกว่านั้นในบางแง่มุม อำนาจทางการเมืองกับศาสนายังพัวพันกันจนกลายเป็นปัญหาเชิงระบอบ

การจะสร้างเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาให้เกิดเป็นจริงจำเป็นต้องแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน สร้างรัฐโลกวิสัยที่ศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซง นี่คือประเด็นของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘การจัดความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในประเทศไทย: ศึกษากรณีการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์’ วิทยานิพนธ์ดีเด่น หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2564ของกริช ภูญียามา

เขาเสนอขั้นตอนปฏิรูปผ่านการปรับแก้กฎหมายที่จะเพิ่มระยะห่างระหว่างรัฐไทยกับพุทธศาสนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปกระทั่งแยกจากกันในที่สุด

แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ จุดตัดสินคือการเมือง ซึ่งกริชตระหนักดีว่าเป็นเรื่องยากที่ต้องสู้กันอีกยาวนานและถึงที่สุดเรื่องนี้ไม่สามารถขับเคลื่อนไปตามลำพังได้ หากแต่ต้องดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง

ในทางพฤตินัย พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

นับตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ 2540, 2550, 2560 ข้อเรียกร้องหนึ่งจากบรรดาพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนคือการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 67 วรรคสองก็มีการเพิ่มถ้อยคำอย่างมีนัยสำคัญ

‘รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท’

แม้จะไม่มีการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ในทางพฤตินัย กริชเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น เขาให้เหตุผล 2 ประการ ประการที่ 1 คือคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ประการที่ 2 เมื่อดูจากทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐพบว่ารัฐให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ยกไว้ในสถานะที่สูงส่งโดดเด่นกว่าศาสนาอื่น ๆ

“ที่สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญมาตรา 7 กำหนดคุณสมบัติของประมุขของรัฐหรือกษัตริย์ไว้ประการหนึ่งว่าต้องเป็นพุทธมามกะ และโดยข้อเท็จจริงกษัตริย์แทบทุกรัชกาลต่างยืนยันตลอดมาว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รัชกาลที่ 6 พูดเยอะมาก ๆ รัชกาลที่ 9 ก็เคยพูด ตอนที่เสด็จเยือนวาติกันก็พูดกับสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 อย่างชัดเจนว่า ไทยเรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งหลายเหล่านี้นำมาสู่ข้อสรุปคือ เราต้องยอมรับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย”

เสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนายังไม่เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

จากการศึกษากริชเห็นว่า โดยปกติรัฐไทยมีท่าทีที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับกลุ่มศาสนาต่าง ๆ  กล่าวคือรับรองเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาของประชาชน ถึงกระนั้นก็ยังมีการเลือกปฏิบัติในทางศาสนาอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นสังคมมุสลิม แม้จะไม่ใช่การเลือกปฏิบัติโดยชัดแจ้ง

อย่างไรก็ตามกริชมีข้อสังเกตว่า เมื่อใดที่การใช้เสรีภาพทางศาสนาเริ่มกระทบกับสถานะหรือความมั่นคงของพุทธศาสนา ท่าทีของรัฐจะเปลี่ยนไปทันที ตัวอย่างเช่น การห้ามสวม “ฮิญาบ” ในโรงเรียนวัดที่ความไม่ลงรอยเริ่มจากคณะสงฆ์ซึ่งโดยโครงสร้างถือเป็นองค์กรของรัฐ หลังจากนั้นก็ส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และสุดท้ายตกผลึกออกมาเป็นกฎเกณฑ์ที่มีผลเป็นการห้ามสวมฮิญาบในโรงเรียนวัดอยู่กลาย ๆ

“สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการที่รัฐไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติทำให้การประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ และตามแนวคิดของรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือเป้าหมายสูงสุด เพียงเท่านี้ผมคิดว่ามันมีเหตุผลอันหนักแน่นเพียงพอแล้วที่รัฐไทยจะแยกตนเองออกจากพุทธศาสนา”

รัฐโลกวิสัย

กล่าวโดยสรุปได้ว่ารัฐไทยยังไม่ใช่ ‘รัฐโลกวิสัย’ หรือ ‘secular state’ เพราะไม่ได้ประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาแก่ประชาชน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเกณฑ์ที่กริชใช้เป็นหลักในการพิจารณาความเป็นหรือไม่เป็นรัฐโลกวิสัย

งานศึกษาของเขาแบ่งรัฐโลกวิสัยเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รัฐโลกวิสัยแบบไม่เด็ดขาดซึ่งหมายถึงรัฐโลกวิสัยที่ยังคงมีศาสนาประจำชาติ และรัฐโลกวิสัยแบบเด็ดขาดคือรัฐโลกวิสัยที่ไม่มีศาสนาประจำชาติ

อังกฤษเป็นประเทศที่มีระบบการประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังคงมี Church of England เป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยเหตุนี้จึงถูกจัดเป็นรัฐโลกวิสัยแบบไม่เด็ดขาด

สำหรับรัฐโลกวิสัยแบบเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงรัฐที่ประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาและไม่มีศาสนาประจำชาตินั้น ยังแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มย่อย ๆ ตามระดับความเข้มข้นของการแยกตัวออกจากศาสนาคือ กลุ่มที่ 1 รัฐโลกวิสัยแบบเด็ดขาดที่ยังคงให้ความสำคัญกับศาสนา เช่น อินเดียซึ่งรัฐยังให้ความอุปถัมภ์ศาสนาภายใต้เงื่อนไขว่าต้องอุปถัมภ์ทุกศาสนาอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

กลุ่มที่ 2 รัฐโลกวิสัยแบบเด็ดขาดที่เป็นกลางทางศาสนา เช่น สหรัฐอเมริกาที่รัฐมีบทบาทเพียงคอยประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาให้กับประชาชน คอยกำกับดูแลให้การใช้เสรีภาพเช่นว่านั้นอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยรัฐไม่อุปถัมภ์ศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชนดำเนินการกันเอง

กลุ่มที่ 3 คือรัฐโลกวิสัยแบบเด็ดขาดที่เป็นปรปักษ์กับศาสนา เช่น ฝรั่งเศสและตุรกีที่จะพยายามผลักทุกสิ่งที่เกี่ยวกับศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะ อย่างการห้ามสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น

ทำไมไทยไม่ใช่รัฐโลกวิสัย

จากเกณฑ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าไทยและอังกฤษมีความคล้ายคลึงกันอยู่ แล้วเหตุใดไทยจึงไม่ถือเป็นรัฐโลกวิสัย คำตอบของกริช...

“ทำไมไม่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอังกฤษ เพราะเรายังไม่สามารถบอกได้ว่า ประเทศไทยมีระบบการประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาที่ดีพอจนถึงขนาดจะนิยามตนเองว่าเป็นรัฐโลกวิสัยได้” เขาขยายความอีกว่า

แม้ว่าโมเดลของอังกฤษจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ไทยเป็นอยู่ตอนนี้มากที่สุด แต่ถ้าใช้เรื่องการประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเป็นตัวตั้งแล้ว จริงอยู่โดยทั่วไปยอมรับกันว่าอังกฤษมีกลไกในการประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ใช่ว่าเรื่องนี้จะปราศจากข้อถกเถียง ปัจจุบันเริ่มมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่าการมีศาสนาประจำชาติ ถึงที่สุดแล้วอาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ในตัวเอง เพราะเมื่อศาสนาหนึ่งถูกสถาปนาเป็นศาสนาประจำชาติ เท่ากับว่าศาสนาอื่น ๆ ย่อมถูกเลือกปฏิบัติโดยสภาพไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

หรือถ้าจะให้มุ่งเป้าไปเป็นแบบฝรั่งเศสหรือตุรกีซึ่งเป็นรัฐโลกวิสัยแบบเด็ดขาดที่เป็นปรปักษ์กับศาสนาก็ดูจะ ‘ตึง’ เกินไปสำหรับไทย

“ท่าทีแบบเป็นปรปักษ์กับ ‘ศาสนา’ เอาเข้าจริงก็เหมือนเป็นปรปักษ์กับ ‘เสรีภาพทางศาสนา’ อยู่ในที อย่างการสวมใส่สัญลักษณ์เกี่ยวกับศาสนาในพื้นที่สาธารณะ ถึงที่สุดแล้วมันคือการใช้เสรีภาพในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของเค้า ซึ่งในฝรั่งเศสและตุรกีเองก็มีนักวิชาการออกมาตั้งคำถามถึงท่าทีของรัฐต่อประเด็นนี้ว่าอาจกระทบต่อเสรีภาพทางศาสนาหรือไม่”

ในทัศนะของกริชโมเดลแบบอินเดียและสหรัฐอเมริกาจึงเหมาะสมกับไทยมากที่สุด

ใส่ ‘ประชาธิปไตย’ ให้คณะสงฆ์

ความเป็นชาติไทยกับความเป็นพุทธถูกประกอบสร้างอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ชาติไทยที่ไม่ใช่พุทธเป็นเรื่องยากลำบากแม้แต่ในจินตนาการ การแยกรัฐไทยออกจากพุทธศาสนาย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้แบบฉับพลันทันที กริชจึงเสนอแนวทางเชิง ‘ปฏิรูป’ คือทำแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น โดยโฟกัส (focus) ไปยังประเด็นเรื่องการปกครองคณะสงฆ์

“แน่นอนว่าในความเป็นจริงต้องทำทุกมิติ ทั้งด้านบุคคล ด้านทรัพย์สิน และด้านอื่น ๆ แต่ในวิทยานิพนธ์ผมเลือกศึกษาเฉพาะมิติด้านบุคคลคือเรื่องการปกครองคณะสงฆ์เท่านั้น ทำไม เพราะผมรู้สึกว่าเรื่องคนสำคัญที่สุด เนื่องจากคนจะไปคุมทรัพย์สิน คุมเรื่องอื่น ๆ อีกทอดหนึ่ง”

“ในโลกสมัยใหม่ถือว่าประชาธิปไตยกับโลกวิสัยเป็นคุณค่าที่ดำรงอยู่เคียงคู่กันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โลกวิสัยมีส่วนส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตย ขณะเดียวกันประชาธิปไตยก็จะเสริมสร้างให้เกิดโลกวิสัยด้วย ในขั้นที่ 1 นี้เราจะเอาประชาธิปไตยมาสร้างโลกวิสัย เรียกว่า ‘การสร้างคุณลักษณะของระบอบประชาธิปไตยให้แก่การปกครองคณะสงฆ์’ ซึ่งผลลัพธ์ที่เราได้คือคณะสงฆ์ที่ยังกอดอยู่กับรัฐ แต่จะกอดกันแบบหลวม ๆ คือมีระยะห่างจากรัฐมากยิ่งขึ้น”

นับจากอดีตถึงปัจจุบัน กฎหมายคณะสงฆ์ทุกฉบับมีลักษณะสำคัญร่วมกันประการหนึ่งคือการที่รัฐพยายามควบคุมคณะสงฆ์เอาไว้ในมือ แต่ระยะห่างระหว่าง ‘รัฐ’ กับ ‘พระ’ ก็แปรเปลี่ยนไปตามบริบททางการเมือง

กริชยก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการในขั้นแรก เพราะในกฎหมายฉบับนี้ซึ่งตราขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่นานนัก โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ สังฆสภาใช้อำนาจนิติบัญญัติ คณะสังฆมนตรีใช้อำนาจบริหาร และคณะวินัยธรใช้อำนาจตุลาการ การแบ่งโครงสร้างการปกครองแบบนี้ก่อให้เกิด ‘ผลโดยตรง’ คือการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันตามหลักการแบ่งแยกอำนาจของระบอบประชาธิปไตย

“แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ผลโดยอ้อม’ ที่ทำให้คณะสงฆ์เป็นอิสระจากรัฐมากยิ่งขึ้น ถ้าเราดูโครงสร้างการปกครองตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ที่ใช้อยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และโครงสร้างการปกครองตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อำนาจบัญชาการคณะสงฆ์จะรวมศูนย์อยู่ที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งด้วย พออำนาจรวมศูนย์อยู่ที่สมเด็จพระสังฆราชนั่นหมายความว่า ถ้าคุณดีลกับสังฆราชได้ คุณก็จะคุมคณะสงฆ์ทั้งหมดไว้ในมือได้"

“แต่โครงสร้างตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 อำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ถูกใช้โดย 3 องค์กร หมายความว่าถ้าคุณจะคุมคณะสงฆ์ทั้งหมดเอาไว้ในมือ คุณต้องดีลหรือประสานกับ 3 คนนี้ให้ได้ ในทางหลักการประสานสามคนก็ต้องยากกว่าประสานคนเดียว ผมถึงบอกว่าโครงสร้างแบบกฎหมายปี 2484 มันทำให้คณะสงฆ์มีความเป็นอิสระจากรัฐมากกว่าโครงสร้างตามกฎหมายฉบับอื่น ๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือโครงสร้างแบบกฎหมายปี 2484 มันส่งผลให้รัฐคุมคณะสงฆ์ได้ยากยิ่งขึ้นนั่นเอง”

ดังนั้น การดำเนินการขั้นที่ 1 จึงอยู่ที่การแก้กฎหมายคณะสงฆ์โดยนำโครงสร้างแบบ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 กลับมาใช้อีกครั้ง ผลที่ได้คือคณะสงฆ์ที่ยังเป็นกิจการของรัฐ แต่มีความเป็นอิสระจากรัฐมากยิ่งขึ้น  และเมื่อคณะสงฆ์ยังคงเป็นกิจการของรัฐ ผลที่ตามมาคือ ณ จุดนี้รัฐจึงยังให้ความอุปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ ได้ บทบัญญัติแบบมาตรา 67 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น’ จึงยังมีอยู่ต่อไปได้ ในชั้นรายละเอียด การอุปถัมภ์ของรัฐแก่คณะสงฆ์ในเรื่องต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เช่นมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งที่ได้รับงบประมาณจากรัฐก็จะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม

รัฐค่อยๆ ลดบทบาท

หลังจากระยะห่างระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์เพิ่มมากขึ้น ‘การทำให้คณะสงฆ์กลายเป็นกิจการเอกชนที่แยกต่างหากจากรัฐ’ ถือเป็นขั้นที่ 2

“พอไปสู่ขั้นนี้รัฐกับคณะสงฆ์จะแยกออกจากกันแล้ว คณะสงฆ์จะไม่ใช่กิจการของรัฐแต่เปลี่ยนเป็นกิจการเอกชน ดังนั้น พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ซึ่งจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์แบบระบบราชการจะมีอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องถูกยกเลิก”

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่าง ‘ปฏิรูป’ ตามแนวคิดที่วางไว้ กริชจึงแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนย่อย ๆ โดยในเบื้องต้น (2.1) คณะสงฆ์จะเป็นกิจการเอกชนที่ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐ นั่นหมายความว่าในขั้นนี้บทบาทของรัฐตามมาตรา 67 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญยังมีอยู่ได้ รัฐยังคงให้ความอุปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ได้ แต่เงื่อนไขสำคัญก็คือการอุปถัมภ์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างเสมอภาคสำหรับทุกองค์กรศาสนา (แบบเดียวกับโมเดลของอินเดีย) เช่น รัฐสามารถอุดหนุนมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ แต่ถ้าในอนาคตมีการตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามหรือมหาวิทยาลัยของศาสนาอื่น ๆ รัฐก็ต้องอนุญาตและอุปถัมภ์ในมาตรฐานเดียวกันด้วย

ในลำดับต่อมา (2.2) คณะสงฆ์จะเป็นกิจการเอกชนที่แยกจากรัฐโดยเด็ดขาด ในขั้นนี้รัฐจะอยู่นิ่ง ๆ ไม่อุปถัมภ์องค์กรศาสนาใด ๆ อีก บทบาทของรัฐมีเพียงการประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาให้แก่ประชาชนเท่านั้น (แบบเดียวกับโมเดลของสหรัฐอเมริกา) และแน่นอนว่าเมื่อถึงจุดนี้ มาตรา 67 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญจะต้องถูกยกเลิกไป

คุณลักษณะประชาธิปไตย ไม่การันตีการแยกรัฐออกจากศาสนา

ข้อเสนอเหล่านี้คือ ‘ความเป็นไปได้ทางกฎหมาย’ หากจะทำให้ไทยเป็นรัฐโลกวิสัย ทว่า ความเป็นไปได้ทางกฎหมายก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ ‘ความเป็นไปได้ทางการเมือง’ ซึ่งกริชเองก็ตระหนักดี

ประการแรก ต่อให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าถึงที่สุดแล้วคณะสงฆ์จะถอยห่างจากรัฐ ‘ประชาไท’ ตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ที่สังฆสภาอาจมีมติให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนาอยู่ใต้ร่มเงาของรัฐไทยมากกว่าเดิมและจะยิ่งมีความชอบธรรมเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ กริชยอมรับว่าเคยถูกสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เช่นกัน ซึ่งนับว่าน่าสนใจและชวนให้ขบคิดต่อ ในวิทยานิพนธ์ของกริชเองก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อประเด็นข้างต้น อย่างไรก็ตามเขาเห็นพ้องด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น

ยังไม่นับประเด็นที่ว่ามิได้มีเพียงพุทธศาสนาเท่านั้นที่ผูกติดกับรัฐไทย ศาสนาอิสลามเองก็มีความเกี่ยวข้องกับรัฐไทยอยู่ไม่น้อย การชูประเด็นแยกรัฐออกจากพุทธศาสนาโดยไม่กล่าวถึงศาสนาอิสลามหรือศาสนาอื่น ๆ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งที่คุกรุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วปะทุรุนแรงขึ้นหรือไม่ ?

ต่อประเด็นนี้กริชอธิบายว่า เนื่องจากพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ศาสนานี้เป็นใจกลางของปัญหาว่าด้วยความเป็นหรือไม่เป็นโลกวิสัยของรัฐไทยโดยอัตโนมัติ การศึกษาของเขาจึงจำกัดกรอบไว้ที่พุทธศาสนา แต่เขายืนยันว่าโดยหลักการโลกวิสัยทุกศาสนาต้องแยกจากรัฐ ดังนั้น โดยกระบวนการแล้วจึงต้องทำควบคู่กันไปทุกศาสนา

อำนาจกษัตริย์ใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ปัญหาเชิงระบอบ

ประการต่อมาที่จะยากลำบากยิ่งกว่าก็คือพระราชอำนาจของกษัตริย์ในกฎหมายคณะสงฆ์ ในปี 2560 และ 2561 มีการแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยให้การตั้งสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม และตำแหน่งทางปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์เฉกเช่นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่งผลให้รัฐไทยกับพุทธศาสนาผูกมัดกันแน่นยิ่งขึ้นและกลายเป็น ‘ปัญหาเชิงระบอบ’

“ผมมีความเห็นว่าหลักเกณฑ์ตามที่ปรากฏในกฎหมายปี 60 และปี 61 ไม่สอดคล้องกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เพราะตามหลักการของระบอบนี้กษัตริย์ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง การพยายามทำให้การตั้งสมณศักดิ์ การตั้งตำแหน่งทางปกครองคณะสงฆ์ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์ จะทำให้กษัตริย์ถูกดึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในคณะสงฆ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเมืองเป็นเรื่องของความเห็นต่างเสมอ บทบัญญัติแบบนี้จึงเป็นอันตรายในแง่ที่ว่าจะทำให้พระองค์ตกอยู่ในฐานะที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งย่อมกระทบต่อทั้งเกียรติยศและความเป็นกลางทางการเมืองซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในระบอบ Constitutional Monarchy เรื่องนี้จะก่อผลเสียในระยะยาว”

ความเป็นไปได้ทางการเมือง ?

เหล่านี้เป็นความท้าทายขนาดใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้าที่ส่งสัญญาณว่า ความเป็นไปได้ทางการเมืองต่ำแค่ไหน กริชเองก็ยอมรับว่า “ถ้าประเมินจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปได้ยาก”

เขาเล่าประสบการณ์การพบปะพูดคุยกับพระสงฆ์ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา พบว่าพระสงฆ์หลายรูปมีความรู้เรื่องประชาธิปไตยดีมาก แต่พอถามถึงประเด็นเกี่ยวกับศาสนา ร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์ยังต้องการให้ระบุในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ยังต้องการกระทรวงพุทธศาสนา ยังต้องการให้รัฐอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน

“จากข้อเท็จจริงพวกนี้มันชี้ให้เราเห็นว่าการแยกรัฐไทยออกจากพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ยังต้องผลักดันกันอีกเยอะและต้องเดินกันอีกไกล”

ประเด็นที่เขาต้องการย้ำคือการสร้างรัฐโลกวิสัยไม่ใช่โครงการทางการเมืองที่ทำแยกขาดจากเรื่องอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย

“การแยกรัฐออกจากพุทธศาสนาไม่สามารถยกออกมาทำเดี่ยว ๆ ได้ ทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดขึ้นพร้อมกับเรื่องอื่น ๆ ในกระแสพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนทุกเรื่องไปพร้อมกัน มันไม่สามารถหยิบเรื่องคณะสงฆ์ออกมาทำต่างหากได้ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะไปพัวพันกับเรื่องอื่นด้วย เช่น เรื่องพระราชอำนาจ ทุกมิติจะต้องถูกปฏิรูปไปพร้อมกันซึ่งในทางความเป็นจริงก็ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยพลังทางการเมืองอย่างมหาศาล”

กริชกล่าวในตอนท้ายว่า ในสี่เสาหลักอนุรักษนิยมของไทยซึ่งประกอบด้วยคณะสงฆ์ กองทัพ ศาล และสถาบันกษัตริย์ คณะสงฆ์อาจเป็นเสาที่แข็งแกร่งที่สุดเพราะเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่ประทับหรือฝังลงไปในจิตใจของผู้คน และสำหรับประเด็นนี้ต้องยอมรับในความฉลาดของชนชั้นปกครองไทยที่เอาตนเองไปผูกกับศาสนาซึ่งสัมพันธ์กับจิตใจของคนอย่างลึกล้ำกว่าเรื่องใด ๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net