Skip to main content
sharethis

ไทยพีบีเอส รวมพลังสื่อ จัดดีเบต “นโยบายสาธารณสุขที่คนไทยต้องการ” เชิญ 10 พรรคการเมืองร่วมเวที ทุกพรรคเห็นพ้อง ‘ยกระดับสิทธิประโยชน์ 3 กองทุน’ มาตรฐานเดียว ลดเหลื่อมล้ำ 

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 ที่ไทยพีบีเอส ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและสื่อมวลชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์ข่าว Hfocus.org, The Better สื่อออนไลน์ด้านการเงิน – การลงทุน, สำนักข่าวทูเดย์ และคมชัดลึกออนไลน์ จัดเวทีวิสัยทัศน์ตอบข้อเสนอภาคประชาชน “นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66”  นโยบายสาธารณสุขที่คนไทยต้องการ โดยมีตัวแทนจาก 10 พรรคการเมืองร่วมเวที ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ 

สำหรับช่วงแรกเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะ 3 นโยบายหลักที่ทางพรรคจะทำหลังจากที่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งจากข้อมูลพบว่า นโยบายหลักที่แต่ละพรรคกำลังหาเสียงในเวลานี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 14 นโยบาย ครอบคลุมประเด็นโครงสร้าง บุคลากรและสิทธิประโยชน์  แต่ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดคือการที่ภาคประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของสิทธิการใช้บริการในแต่ละกองทุนยังแตกต่างกันอยู่คือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งภาคประชาชนเสนอว่าควรมีการรวม 3 กองทุนให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเดียวให้ สำนักงานหลักประกันสุขแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นคนบริหารจัดการ

สมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สะท้อนว่าจากการที่เขาทำงานได้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนที่ไม่เหมือนกัน เขาจึงเสนอให้มีการรวมกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

“จับความรู้สึกของหลายพรรคก็เหมือนจะเห็นด้วยในเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เท่ากัน แต่ไม่อยากไปก้าวล่วงกระทรวงฯ หรือแก้กฎหมายซึ่งในทางปฏิบัติจะยั่งยืนไหม”

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังเสริมว่าการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรวมสิทธิให้อยู่ภายใต้กองทุนเดียวกันจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับ สปสช. และเสนอให้ทุกพรรคการเมืองยกเลิกการจ่ายเงินประกันตนด้านสุขภาพ เนื่องจากเป็นภาระให้แรงงานในขณะที่กองทุนอื่น ๆ ไม่ต้องจ่าย

ด้าน พรรคการเมืองมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่าควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน แต่ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดพูดชัดเจนว่าควรรวมกองทุนทั้ง 3 กองทุนให้เป็นกองทุนเดียวโดยให้เหตุผลสนับสนุนที่ต่างกันออกไป 

นอกจากนี้ แต่ละพรรคยังมีนโยบายด้านอื่น ๆ อีกหลากหลายในการยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขทั้งเชิงรุก ป้องกัน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ 14 นโยบาย ครอบคลุมโครงสร้าง บุคลากร และสิทธิประโยชน์ ขณะที่ช่วงท้ายมีการถามถึงคนที่แต่ละพรรควางให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธารณสุข พรรคเพื่อไทยเสนอ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคภูมิใจไทยอยากครองเก้าอี้อีกสมัย ขณะที่อีกหลายพรรคบอกกระทรวงนี้สำคัญ แต่ยังสงวนท่าทีในการเปิดเผยรายชื่อ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net