Skip to main content
sharethis

กกต.แจง “ทิพานัน” ยิงเลเซอร์หาเสียง รทสช. บนสะพานพระราม 8 ถ้าขอแล้วหน่วยงานอนุญาตก็ทำได้ แต่ทาง รทสช.แจงเจ้าตัวทำโดยไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตกับพรรคก่อนและมีการตำหนิแล้ว 

9 พ.ค.2566 หลังจากเมื่อคืนวานนี้ ทิพานัน ศิริชัยชนะ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพการยิงโปรเจคเตอร์เป็นข้อความหาเสียงบนสะพานพระราม 8 จนมีการตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ และมีการขออนุญาตใช้สถานที่ราชการแล้วหรือไม่

ภาพการยิงเลเซอร์หาเสียงในทวิตเตอร์ของทิพานัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเสรีรวมไทย แสดงความเห็นเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กของตนว่า เขาได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ป้ายดังกล่าว เป็นการยิงเลเซอร์จากพื้นที่ สวนสาธารณะ สวนหลวงพระราม 8 โดยพรรค รทสช.ขออนุญาตใช้สถานที่หาเสียง แต่ไม่ได้ขออนุญาตการใช้เลเซอร์ยิงข้อความไปที่เสาสะพานพระราม 8 ซึ่งมีหน่วยงานเจ้าของสถานที่ คือ สำนักการโยธา กทม.และไม่ได้อนุญาตให้ยิงข้อความดังกล่าว

นอกจากนั้น ส.ส.ของเสรีรวมไทยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ประเด็นคือ

1. กฎหมายเลือกตั้งกำหนดขนาดป้ายเฉพาะป้ายที่คงทนถาวร การยิงเลเซอร์ จึงไม่น่าผิด ระเบียบหาเสียงของ กกต.

2. การยิงเลเซอร์ในสถานที่ราชการ หน่วยราชการที่เป็นเจ้าของสถานที่ต้องอนุญาต มิเช่นนั้น ยิงกันเปรอะแน่

3. กกต. อาจต้องออกมาให้ความเห็นว่า การใช้เลเซอร์ยิงโฆษณาหาเสียง บนพื้นที่สาธารณะ สามารถทำได้หรือไม่ได้

4. หาก กกต. บอกทำได้ พรุ่งนี้ พรรคเสรีรวมไทย จะไปยิงเลเซอร์โฆษณา เบอร์ 25 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ครับ เจอกัน

อย่างไรก็ตามข่าวช่อง 7HD รายงานถึงจดหมายของพรรค รทสช.ที่ชี้แจงกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าพรรคไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการและได้สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนแล้ว และพบว่าการดำเนินการดังกล่าวของทิพานันมีการขออนุญาตปลัด กทม.ด้วยจดหมายส่วนตัว โดยไม่ได้มีการปรึกษาหรือแจ้งให้พรรคทราบหรือมีการขออนุญาตจากผู้บริหารพรรค

“เมื่อพรรคได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วก็ได้ตำหนิและทำหนังสือตักเตือนพร้อมทั้งสั่งการไปยังนางสาวทิพานันให้หยุดดำเนินการดังกล่าวโดยทันที” ระบุในจดหมาย

อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กรณีดังกล่าวล่าสุด ปลัด กทม.กำลังไปตรวจสอบ และเขายังชี้แจงว่าการติดป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ได้กำชับไปทุกพรรคการเมืองในหลายโอกาสว่าต้องติดตามระเบียบ กกต.สิ่งที่ผ่านมาผู้สมัครและพรรคการเมืองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อติดผิดมีการทักท้วงก็มีการแก้ไข

ทั้งนี้ ประธาน กกต.ตอบคำถามสื่อเรื่องความเหมาะสมว่า หากยังไม่ขัดต่อกฎหมายก็สามารถทำได้ตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ หากพรรคการเมืองไม่แน่ใจก็สามารถถาม กกต.ได้ ส่วนเรื่องสะพานพระราม 8 เป็นสถานที่ราชการ ต้องดูว่าพรรคการเมืองได้รับอนุญาตหรือไม่หากได้รับอนุญาตก็ไม่มีปัญหา ถ้าผิดจะผิดเรื่องปิดป้ายหาเสียงไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งจะมีการดำเนินคดี หากติดในสถานที่ราชการเมื่อได้รับอนุญาตก็สามารถทำได้ ซึ่งหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้พิจารณาอนุญาต และหากอนุญาตให้พรรคใดพรรคหนึ่งก็ต้องอนุญาตทั้งหมดเพื่อรักษาความเป็นกลาง

ทั้งนี้ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าวของ The Standard เผยแพร่เอกสารที่ทิพานันส่งถึงขจิต ชัชวานิชย์ เพื่อขออนุญาตใช้สถานที่ลานริมน้ำ สวนหลวงพระราม 8 เพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง “เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” ให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับทราบเบอร์พรรค โดยมีการขอใช้ในช่วง 8-12 พ.ค.2556 เวลา 20.00-2.00 น.ของทุกวัน นอกจากนั้นในจดหมายดังกล่าวยังมีภาพของจุดติดตั้งและทิศทางที่ฉายข้อความขึ้นไปบนสะพานพระราม 8 ด้วย

ทั้งนี้มีหนังสือตอบกลับถึงทิพานันจากศูนย์ประสานงานการเลือกตั้ง โดยมีสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานครลงนามท้ายจดหมายว่า อนุญาตให้ใช้สถานที่ได้ตามเวลาเปิดปิดของสวนคือ 5.00-21.00 น. และยังได้มีการส่งหนังสือแจ้งเรื่องอนุญาตให้กับผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมด้วย

อย่างไรก็ตาม พบว่าเอกสารขออนุญาตใช้สถานที่ที่ทิพานันส่งถึงปลัด กทม. มีการลงวันที่ไว้ว่าเป็นวันที่ 8 พ.ค.2566 แต่บนหัวเอกสารมีตราปั๊มวันที่ได้รับจดหมายคือวันที่ 7 พ.ค.2566

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเพิ่มเติมถึงนิยามของ “แผ่นป้าย” ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พบว่ามีการกำหนดลักษณะเอาไว้ว่า “เป็นกระดาษ กระดาน หรือวัสดุอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและมีความแข็งแรง ที่มีข้อความหรือรูปที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง” ซึ่งไม่ได้มีการระบุถึงการฉายข้อความด้วยโปรเจคเตอร์ว่าเข้าข่ายเป็นแผ่นป้ายตามประกาศดังกล่าวหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net