Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์เรื่องหยุดบิดเบือนการเผยแพร่ข่าวสารการเคลื่อนไหวของแรงงานข้ามชาติ  เนื่องในวันแรงงานสากล 


ภาพที่เป็นประเด็นปัญหา การปราศรัยของแรงงานข้ามชาติกัมพูชาเมื่อ 1 พ.ค. 2566 ซึ่งภายหลังทาง TOP NEWS อ้างเพจเฟซบุ๊ก METTAD ซึ่งอ้างมาจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @ekkkrub1 อีกที ระบุว่า แรงงานข้ามชาติคนดังกล่าวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และสร้างรัฐสวัสดิการ ขณะที่เครือข่ายแรงงานระบุว่า แรงงานข้ามชาติคนดังกล่าวไม่ได้มาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นป้ายของผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่มาชูด้านหลังแรงงานข้ามชาติเท่านั้น (ที่มา: TOP NEWS)

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ออกแถลงการณ์เรื่องหยุดบิดเบือนการเผยแพร่ข่าวสารการเคลื่อนไหวของแรงงานข้ามชาติ  เนื่องในวันแรงงานสากล ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันแรงงานสากล ได้มีพี่น้องขบวนการแรงงานจำนวนมาก จากหลายภาคส่วนได้ออกมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและของโลก รวมถึงการนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆไปยังผู้กำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน โดยหนึ่งในการจัดกิจกรรมของกลุ่มแรงงานนั้นคือ “คนทำงานลงถนนวันแรงงานสากล” ดำเนินกิจกรรมโดยสหภาพคนทำงาน ซึ่งภายในงานได้จัดให้มีการเดินขบวนและการจัดเวทีตั้งแต่แยกราชประสงค์จนถึงเวลาแยกปทุมวัน มีพี่น้องแรงงานจากหลายกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงานไทย สหภาพไรเดอร์ สหพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแต่ละกลุ่มได้มีการนำเสนอสะท้อนปัญหาของคนทำงาน รวมทั้งข้อเรียกร้องต่อรัฐ โดยในส่วนของ ข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นั้น จะเป็นปัญหาที่แรงงานข้ามชาติประสบโดยตรงไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงสิทธิของผู้ประกันตนในระบบกฎหมายประกันสังคม ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนและการจัดทำเอกสารของแรงงานข้ามชาติ ปัญหาแรงงานข้ามชาติในระบบนำเข้าแบบรัฐต่อรัฐ หรือ MoU ที่ทำงานครบ 4 ปี ความเสี่ยงของแรงงานข้ามชาติที่จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายจากปัญหาการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านมติคณะรัฐมนตรีด้านการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติมาแล้วกว่า 15 ครั้ง ปัญหาการถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่บางคนโดยอาศัยช่วงเวลาการผ่อนผันของรัฐบาลมาเป็นข้ออ้างในเรียกรับเงิน ซึ่งปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่สะท้อนในกิจกรรมวันแรงงานสากลคือปัญหาที่ทั้งแรงงานข้ามชาติและนายจ้างเผชิญมาตลอดและยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลที่ผ่านมาอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามภายหลังการจัดงานก็ได้มีการนำเสนอข่าวจากสื่อแห่งหนึ่ง โดยนำภาพการเข้าร่วมกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติ และป้ายรณรงค์เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ของกลุ่มแรงงานไทยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในบริเวณเดียวกันมาโยงและสรุปเอาเองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นผู้ถือป้ายรณรงค์การปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งการนำเสนอข่าวที่ขาดการตรวจสอบและไร้จรรยาบรรณของสื่อได้ถูกนำมาขยายความโดยการเผยแพร่ภาพและการระบุข้อความในภาพที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ที่ได้รับข่าวสารดังกล่าวจนก่อให้เกิดการสร้างกระแสขับไล่แรงงานข้ามชาติออกจากประเทศไทย และมีความพยายามโยงเข้าสู่ประเด็นการหาเสียงเลือกตั้งโดยเหมารวมว่าการกระทำดังกล่าวมีการหนุนหลังจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง รวมทั้งเพจเฟซบุ๊คของนายสุชาติ ชมกลิ่น รักษาการณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้มีการโดยระบุว่า “...แรงงานข้ามชาติ ทำผิดเข้าข่าย ม.112 ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน นะครับ...” ต่อมาเวบไซต์ของกรมการจัดหางานก็ประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าวโดยระบุว่า “กรมการจัดหางาน เตือนแรงงานต่างชาติ ทำผิด ม. 112 มีสิทธิถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน” รวมทั้งหนังสือจากกรมการจัดหางาน ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด อ้างถึงการร่วมกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติเนื่องในวันสากลที่มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อสถาบันฯ ซึ่งการนำเสนอข้อความที่ขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสื่อ นักการเมืองและผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน ก่อให้เกิดการโต้กลับของแรงงานข้ามชาติ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Tiktok แต่การดำเนินการของรัฐที่นอกจากไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังใช้หน่วยงานของรัฐเองในการตรวจสอบติดตามหาชื่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายการคุกคามแรงงานข้ามชาติที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ในฐานะองค์กรเครือข่ายด้านแรงงานที่รวบรวมปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทยรวมทั้งการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐและกระทรวงแรงงานมาตลอดระยะเวลาหลายปีเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดทำนโยบายและกฎหมายด้านการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยและการป้องกันการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงาน ได้ร่วมจัดทำประกาศข้อเรียกร้องของแรงงานข้ามชาตินำเสนอในกิจกรรมวันแรงงานสากลดังกล่าว เห็นว่าการนำเสนอข่าวและการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายการเมืองที่ขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง วางบนฐานอคติ จนทำให้เกิดกระแสความเกลียดชังระหว่างคนไทยและแรงงานข้ามชาติ และมีข้อกังวลใจว่าจะเป็นการนำกระแสดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งพบค่อนข้างบ่อยในการเลือกตั้งต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมจะชูกระแสความเกลียดชังคนต่างชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยมาสร้างกระแสทางการเมืองให้พรรคตนเอง และที่น่ากังวลใจยิ่งกว่านั้นหากกระแสดังกล่าวถูกขยายผลโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งขัดแย้งกับกฎหมายการเลือกตั้ง และนำไปสู่การข่มขู่คุกคามต่อแรงงานข้ามชาติโดยใช้อำนาจของหน่วยงานราชการ และสร้างกระแสความขัดแย้งในสังคมไทย 

ทางเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องมายังผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ขอให้สื่อตระหนักถึงความอ่อนไหวของความแตกต่างของบุคคลอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติและสัญชาติ เพราะการนำเสนอข่าวที่ขาดการตรวจสอบและขาดจรรยาบรรณจะนำไปสู่การสร้างกระแสความเกลียดชังและขัดแย้งของคนในสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ 

2. ขอให้พรรคการเมืองและฝ่ายการเมืองที่รับผิดชอบกระทรวงแรงงานยุติการโยงเรื่องการทำกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติกับการเลือกตั้ง แต่ควรเร่งให้มีการรับฟังปัญหาของแรงงานข้ามชาติ และนำเสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นมันอาจจะสะท้อนว่าฝ่ายการเมืองไม่ได้มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพยายามบิดเบือนการจัดการที่ผ่านมาโดยใช้กระแสชาตินิยม ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีแต่อย่างใด และ

3. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อลดการตีตราต่อแรงงานข้ามชาติอันสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง รวมทั้งรับฟังปัญหาของแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการทุกฝ่ายในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง เพราะการกระทำโดยขาดข้อเท็จจริงที่รอบด้านจะนำไปสู่การตีตรา การคุกคาม และการใช้อำนาจโดยมิชอบ และสร้างความขัดแย้งทางสังคมรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้โดยง่าย 

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เชื่อมั่นว่า สังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้ หากผู้นำ หรือผู้ที่มีผลต่อความคิดของคนในสังคมไม่มีการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติ การสร้างความขัดแย้ง หรือความเกลียดชัง มีการนำเสนอข่าวสารบนการรับฟังข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของกันและกัน ฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการควรเปิดช่องให้มีการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม เพื่อรับฟังปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาและกำหนดนโยบายร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net