Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนหลายฝ่ายจัดเสวนา สะท้อนข้อกังวล ร่าง พ.ร.บ.ประมง พร้อมประสานเสียง กม.นี้ไม่ช่วยไทยเป็น ‘จ้าวสมุทร’ แต่ทำลายความยั่งยืนทางทะเล เปิดช่องละเมิดสิทธิแรงงาน เสี่ยงสร้างระบบแรงงานทาส กระทบการทำ FTA กับ EU

 

เมื่อ 5 มิ.ย. 2567 ณ ห้องประชุม CU Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงานเสวนาทางวิชาการ "สู่การดูแลทะเลร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน" เพื่อสะท้อนข้อกังวลของภาควิชาการ ภาคประชาชน กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน และภาคอุตสาหกรรม ต่อการแก้ไขกฎหมายการประมง รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองและวิเคราะห์ผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ที่ผ่านขั้นที่ 1 รับหลักการจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567  ที่ผ่านมาโดยมีมติเอกฉันท์ 416 เสียง และกำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย

เปิด 8 ประเด็นต่อร่างแก้ไขกฎหมายประมง ที่กำลังถอยหลังลงทะเล

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาคมรักษ์ทะเลไทย และหนึ่งใน  กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เผยว่า พ.ร.บ.ประมงฉบับนี้มี 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.การผ่อนปรนบทลงโทษเชิงป้องกันที่ถูกออกแบบเพื่อขัดขวางการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) 2.การรื้อฟื้นการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลมาตรา 85/1 และมาตรา 87 3.การรื้อฟื้นการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล มาตรา 83/1 4.การลดทอนกลไกการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง มาตรา 81(1) 5.การลดทอนกลไกเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงาน มาตรา 82 และมาตรา 83 6.ลดทอนการควบคุมเครื่องมือประมงทำลายล้าง มาตรา 67  7.ผ่อนคลายกฎระเบียบที่คุ้มครองสัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ มาตรา 66 และ 8.ความพยายามกีดกันทางการค้าด้วยข้อกำหนดการนำเข้าและกำแพงการค้า มาตรา 97

สมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุเพิ่มเติมว่า การแก้ไขกฎหมายประมงฉบับนี้จะไม่นำประเทศไทยกลับไปสู่การเป็นเจ้าสมุทร แต่เป็นการถดถอยของประมงไทยที่ทำลายความยั่งยืนทางทะเล และเสี่ยงกระทบกับเศรษฐกิจ

ห่วงรัฐไม่ฟังเสียงผู้ประกอบการส่งออก หวั่นกระทบ FTA กับ EU

ดร.อดิศร พร้อมเทพ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และอดีตอธิบดีกรมประมง มองว่า การแก้ไขกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่วันนี้สิ่งที่กำลังจะแก้ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน เขาจึงมีคำถามว่าแก้ไปทำไม แก้ไปเพื่อใคร เขาไม่เห็นมีใครได้ประโยชน์ใดๆ จากการแก้ไขครั้งนี้ แม้กระทั่งประมงพาณิชย์ นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีหลายมาตราที่ดูแล้วขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ IUU เช่น รายละเอียดในมาตรา 141 ที่มีการลดโทษในการกระทำผิด มีความพยายามลดค่าปรับที่ได้เปลี่ยนจากแบบสัดส่วนตามขนาดเรือ มาเป็นอัตราค่าปรับคงที่เท่ากันทุกขนาดเรือ ซึ่งทำให้เรือเล็กได้รับผลกระทบมากขึ้น

ดร.อดิศร กล่าวต่อว่า คือการเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสัตว์น้ำ ซึ่งอุตสาหกรรมทูน่าส่งออกของไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าปลาทูน่า ซึ่งกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขนั้นมีการให้เก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสัตว์น้ำหรืออาหารทะเลทุกชนิดในอัตรา 20 บาทต่อกิโลกรัม อันนำมาซึ่งต้นทุนที่เพิ่มมามากขึ้นของภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล

“เราอยากเป็นเบอร์ 1 ของโลก แต่วันนี้เราส่งออกทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลกมานานแล้ว ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมแบบนี้ มันจะกระทบต่อเศรษฐกิจไปอีกหลายเรื่อง” ดร.อดิศร กล่าวและว่า รัฐบาลกำลังทำให้กฎหมายฉบับนี้ลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมทูน่าต่อภาคการผลิตและสินค้าส่งออกอื่นๆ  ทั้งห่วงโซ่อุปทาน รัฐบาลบอกว่าจะกลับไปเป็นเจ้าสมุทร เราจะเพิ่มจำนวนเรือได้อย่างไรในเมื่อสัตว์น้ำในทะเลเรามีอยู่แค่นี้ ถ้าเพิ่มขึ้นมันก็เกิดการแย่งทรัพยากรกัน

ดร.พฤษา สิงหะพล มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เสริมประเด็นผลกระทบต่อ FTA หรือเขตการค้าเสรี ที่ไทยพยายามเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป โดยการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกกำหนดไว้ แม้สหภาพยุโรปจะไม่ใช่คู่ค้ารายใหญ่ในอุตสาหกรรมประมง ที่ถือครองสัดส่วนการส่งออกอาหารทะเลไม่ถึง 5% แต่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และเกาหลีใต้ ที่ถือครองสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 60% ประเทศเหล่านี้ล้วนมีทิศทางในการกำหนดมาตรการการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทย ไปในรูปแบบทิศทางเดียวกันกับสหภาพยุโรป คือการเพิ่มความโปร่งใส และปฏิเสธสินค้าที่เกิดจากการละเมิดสิทธิแรงงาน

"ต้องอย่าลืมว่า FTA ไม่ได้มีแค่เรื่องของประมง ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งหากเงื่อนไข IUU ไม่ได้รับการระบุอย่างเหมาะสมการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปก็เกิดขึ้นได้ยาก" พฤษา กล่าว

พฤกษา ปิดท้ายในประเด็นนี้ว่า รัฐบาลไม่สามารถละเลยกฎระเบียบระหว่างประเทศไปได้ เพราะปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่การอำนวยความสะดวกให้ชาวประมงจับปลาได้มากขึ้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถขายสินค้าเหล่านั้นได้หรือไม่ เพราะถ้าหากประเทศคู่ค้าไม่ยอมรับสินค้าทางทะเลก็ไม่เกิดประโยชน์กับมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ    

การแก้ไขกฎหมายประมง เป็นการแก้แบบทุนนิยมล้าหลัง ที่กำลังห่างไกลจากความยั่งยืน

กฤษฏา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ชวนมองว่า กฎหมายประมงที่กำลังปรับปรุงแก้ไขเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ทะเลอย่างทำลายล้าง ยกตัวอย่าง ความพยายามลดทอนเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ตามมาตรา 67 ที่มีการถอนคำว่า “อวนลาก” ออก ถ้าเราใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างเราอาจจะคิดว่าประมงพื้นบ้านเสียประโยชน์ และประมงพาณิชย์ได้ประโยชน์ แต่จริงๆ มันคือการสูญเสียด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

กฤษฏา ได้ขยายความว่าสิ่งที่ประมงพาณิชย์ต้องเผชิญไม่ใช่แค่กฎหมายไทย แต่ต้องเผชิญกับกฎหมายระหว่างประเทศที่จะนำสินค้าออกไปขาย ซึ่งโลกกำลังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะต้องปรับไปสู่การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เขาเห็นด้วยที่ควรแก้ไขกฎหมายแต่ต้องไม่หลงลืมมิติในเชิงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลให้มากขึ้น รวมทั้งเน้นเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่นจากทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น

กฤษฏา ได้กล่าวปิดท้ายในประเด็นเรื่องความยั่งยืนว่า ประเทศไทยได้ลงนามสนธิสัญญาตั้งแต่ สนธิสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อตกลงเรื่องกรอบคุนหมิง-มอนทรีออล ที่ต้องขยายพื้นที่อนุรักษ์ทางชีวภาพทางทะเลให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนนี้เราทำได้เพียง 7 เปอร์เซ็นต์ หากมีการแก้ไขกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ไปทำลายระบบนิเวศความหลากหลายทางชีวภาพ มันจะกลายเป็นปัญหาที่ไม่เพียงแต่ทรัพยากรถูกทำลาย แต่เป็นการไปขัดกับข้อตกลงอื่นที่ประเทศไทยไปผูกพันไว้ด้วย

กฤษฏา บุญชัย

ชาวประมงพื้นบ้านขอส่งเสียง พ.ร.บ.ประมง ออกแบบสวนทางความยั่งยืน ละเลยประมงพื้นบ้านที่สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้านและเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับนี้ เขาให้ความเห็นว่า การประมงยั่งยืนเป็นแค่เรื่องวาทกรรม ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดไม่เคยคิดที่จะออกกฎหมายที่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว หนำซ้ำยังมีความทำลายประมงพื้นบ้านที่มองว่าไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ปิยะ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประมงพื้นบ้าน ข้อมูลผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 ประมงพาณิชย์มีผลผลิตสัตว์น้ำจากการประมงอยู่ที่  1,007,112 ตัน โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงิน 39,474 ล้านบาท ในขณะที่ประมงพื้นบ้านมีผลผลิตอยู่ที่ 272,645 ตัน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงิน 26,792 ล้านบาท โดยเมื่อหารเฉลี่ยราคาต่อตันประมงพาณิชย์จะอยู่ที่ 39,195 บาทต่อตัน ขณะที่ประมงพื้นบ้านสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตที่มากกว่าอยู่ที่ 98,267 บาทต่อตัน

นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เครื่องมือประมงพาณิชย์ยังคงทำประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งอยู่ แต่ในอนาคต ถ้าคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็น่าตกใจ ถ้าเครื่องมือประมงทำลายล้างพวกนี้ถูกอนุญาตโดยกรมประมงประจำจังหวัด หรืออนุญาตให้ทำประมงในเขตประมงชายฝั่งตามร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ เครื่องมือประมงพื้นบ้านก็คงต้องสิ้นอาชีพกัน

"ผมเอาชีวิตของผมต่อสู้กับการทำประมงทำลายล้าง เราเอาชีวิตของเราเป็เดิมพัน แต่พรรคการเมืองไม่ได้ฟังเสียงประมงพื้นบ้านเลย คุณกำลังไปฟังสิ่งที่เป็นทุนนิยมล้าหลัง เราจะเป็นเจ้าสมุทร แต่คุณฟังผิดด้าน คุณไม่ได้ดูหลักสากล การทำประมงยั่งยืน เราพึ่งพาใครไม่ได้ในกรรมาธิการแม้แต่คนเดียว และอีกไม่นานเราจะเห็นการลดลงของสัตว์น้ำวัยอ่อนและการล่มสลายของประมงพื้นบ้าน" นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ ระบุ

ปิยะ เทศแย้ม

แก้กฎหมายประมงเสี่ยงเกิดแรงงานทาส ปลุกผีค้ามนุษย์

เพ็ญพิชา จรรย์โกมล ตัวแทน MWG แสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องการละเมิดสิทธิของแรงงานประมงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารูปแบบของการละเมิดจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบการค้าทาสสมัยใหม่ มีการยึดหน่วงเอกสารประจำตัว รูปแบบการจ่ายค่าจ้างที่ซับซ้อน การสร้างภาระหนี้สินให้กับแรงงาน ตลอดถึงการเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตขณะทำงาน

MWG กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มองแรงงานเป็นหนึ่งในนั้น โดยการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีความพยายามนำเรื่องของแรงงานแยกออกไป ทั้งที่จริงแล้วแรงงานเป็นกลุ่มสำคัญในการดำเนินกิจกรรมประมง นอกจากนี้ ยังมีการรื้อฟื้นการขนย้ายลูกเรือกลางทะเล ตามมาตรา 82 และ 83/1 เป็นการเปิดช่องว่างให้มีการขนถ่ายลูกเรือ โดยเป็นเหตุผลของการยืดระยะเวลาของการทำงานของลูกเรือกลางทะเลให้นานออกไปมากขึ้น

เพ็ญพิชา กล่าวเพิ่มว่า รวมทั้งร่างกฎหมายทุกฉบับกำหนดให้เรือประมงไม่จำเป็นต้องแจ้งจำนวนรายชื่อ และหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาตของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง การแก้ไขข้างต้นทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานประมง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบว่าเรือลำดังกล่าวได้ใช้แรงงานประมงอย่างถูกกฎหมายหรือไม่

ตัวแทน MWG กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากประเด็นข้อกังวลที่ทุกฝ่ายได้นำเสนอไปแล้ว ตนยังมีข้อกังวลเพิ่มเติมจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ออกจดหมายแสดงความเป็นกังวล ทั้งการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์กับการนิรโทษกรรมผู้เคยทำประมงผิดกฎหมายที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเกินกว่า 2 ปี สามารถกลับมาขอออกใบอนุญาตได้อีกครั้งหนึ่ง การเปิดโอกาสให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำได้ทั้งประมงในและนอกน่านน้ำไทย ซึ่งมีความเสี่ยงในการทำประมงเกินขนาด การจับปลาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายซึ่งไม่สามารถตรวจสอบที่มาของปลาได้ สอดคล้องกับ ปิยะ ที่ให้ข้อสังเกตุว่า "การประมงยั่งยืนเป็นแค่เรื่องวาทกรรม การประมงยั่งยืนไม่มีจริงในแนวทางปฏิบัติ"

เพ็ญพิชา จรรย์โกมล

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net