Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' แนะพรรคการเมืองเสียงข้างมากควรจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยภายใน 1 เดือนหลังเลือกตั้งเพื่อความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและบริหารประเทศ เตือนระวังปฏิบัติไอโอทำลายความชอบธรรมการเลือกตั้งและประชาธิปไตย เสนอรื้อยุทธศาสตร์ 20 ปี ปฏิรูปประเทศผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เร่งแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จำเป็นต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อเป็นฐานสำหรับการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่ควบคู่กับนโยบายประชานิยมและนโยบายสวัสดิการสังคมที่จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีตามโครงสร้างสังคมสูงวัย ย้ำให้พรรคการเมืองรักษาสัญญาประชาคม 8 ข้อที่ให้ไว้กับประชาชน ผ่าน องค์กรประชาธิปไตย และ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

14 พ.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนกล่าวว่าพรรคเสียงข้างมากต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยภายใน 1 เดือนหลังวันเลือกตั้ง และ กกต ต้องเร่งรับรองผลการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของประเทศ หากปล่อยให้มีการล่าช้าอาจเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนอันนำมาสู่การไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งอาจนำมาสู่โอกาสของการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยอาศัยเสียง สว อาศัยการตัดสิทธิ หรือ อาศัยการยุบพรรคการเมืองเพื่อดึง ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบเพื่อชิงจัดตั้งรัฐบาล  การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเพื่อความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและบริหารประเทศ 

เมื่อคำนึงถึง “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” ของระบบรัฐสภา ซึ่งในทางวิชาการประชาธิปไตยนั้น ไม่ปรากฏว่า ภายในอำนาจนิติบัญญัติต้องมีการถ่วงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรโดยอภิสิทธิ์ชนแต่อย่างใด อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารจึงผิดหลักการประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ วุฒิสภามีจำนวน มากถึง 250 คน ทำให้สามารถกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีได้ หากพรรคการเมืองไม่สามารถรวมเสียงกันได้มากกว่า 376 เสียง การรวบรวมเสียงให้ได้มากถึง 376 เสียงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย นั้นไม่ควรทำเพราะจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและอ่อนแอ สร้างปัญหาต่อระบบพรรคการเมือง เพราะจะมีการซื้อ ส.ส. ต่างขั้วทุกๆครั้งที่มีการโหวต เป็นการทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภา พรรคการเมืองต้องพิจารณาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนเท่านั้น  

รศ.ดร.อนุสรณ์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้งเพื่อสกัดการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หากเห็นชัดว่า เป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ได้นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการยุบพรรคการเมืองเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐหรือไม่ และ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องมุ่งไปที่การรักษาสิทธิ เสรีภาพ และ หลักการประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ใช่เพื่อปิดกั้นหรือทำลายเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือสมาคม และ หลักเกณฑ์ว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองมีลักษณะใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้การแต่งตั้งของคณะรัฐประหารได้ยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก เริ่มจาก การยุบพรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย (2551) พรรคไทยรักษาชาติ (2562) พรรคอนาคตใหม่ (2563) พรรคการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐ และ ผู้มีอำนาจรัฐมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มของตน การยุบพรรคการเมืองตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมือง และ ค่อยๆสะสมสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา กฎหมายยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยถูกวิจารณ์ในแง่ความชอบธรรมเนื่องจากเป็นผลพวงของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และ ปี พ.ศ. 2557 หลายกรณีเป็นการกระทำของบุคลากรบางคนของพรรคการเมือง ไม่ใช่การกระทำขององค์กร สถาบันพรรคการเมืองเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กับ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ หวังว่า “ผู้มีอำนาจรัฐ” จะไม่คิดสั้นๆเอาชนะคู่แข่งด้วยการยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ อย่าง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งเพื่อสกัดการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วเสรีประชาธิปไตย หากมีการสกัดกั้นการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติผ่านการเลือกตั้ง จะนำมาสู่ วิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจรอบใหม่ ฉะนั้น หลังการเลือกตั้ง เราจำเป็นต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ตัวรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย  

นอกจากนี้ปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอเพื่อทำลายความชอบธรรมการเลือกตั้งและประชาธิปไตยอาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองขั้วเสรีประชาธิปไตยมีอุปสรรคและเกิดความยุ่งยาก หรือ แม้นจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจใช้การยุบพรรคการเมือง ใช้องค์กร (ไม่) อิสระ ภายใต้รัฐธรรมนูญเล่นงานด้วยคดีความต่างๆได้ตลอดเวลา ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลขั้วเสรีประชาธิปไตยจะต้องดำเนินการทันที คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ สรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ด้วย กระบวนที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้คณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง เที่ยงธรรม มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ นอกจากนี้ควรทบทวนยุทธศาสตร์ 20 ปีใหม่ เนื่องจากที่มีการร่างไว้เดิมไม่ได้เป็นกระบวนการเปิดกว้าง การมีส่วนร่วมจำกัด และบัดนี้พลวัตทั้งภายในภายนอกก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายปัจจัยนอกเหนือการคาดการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากโควิด ไม่ว่าผลกระทบจากสงครามในยุโรป ปัญหามลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ พลวัตการแข่งขันระหว่างจีนกับชาติตะวันตกในภูมิภาคเอเชียไม่เหมือนเดิม ความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจะทำให้ ประเทศไทยรับมือพลวัตแห่งความท้าทายทั้งภายในและภายนอกได้ ลดความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่      
     
รัฐบาลใหม่ควรพัฒนาระบบประชาธิปไตยดิจิทัลและการร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-petitioning) ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ พัฒนาช่องทางต่างๆภายใต้เทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) เพื่อพัฒนาการกำหนดนโยบายอย่างมีส่วนร่วม เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการออกกฎหมาย เป็นเครื่องมือในการกำกับนโยบายให้มีประสิทธิภาพและประเมินผลนโยบาย เปิดเวทีระดมความเห็นทางออนไลน์ (Online forums) ในเชิงลึก หรือ ระดมความเห็นจากสาธารณชนในลักษณะ Crowdsourcing เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างมากในหลายประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้นส่งเสริมประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากมีการจำกัดเสรีภาพค่อนข้างมาก ซึ่งประชาชน องค์กรและภาคส่วนต่างๆสามารถแสดงความคิดเห็นได้แต่ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นการถกเถียงกันจนถึงจุดที่สามารถนำไปสู่ความเห็นพ้องและแสวงหาทางออกร่วมกันได้ในบางเรื่อง หากต้องการให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ก็ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปทางด้านกฎหมาย ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ด้านวัฒนธรรมและด้านความเป็นพลเมือง เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์นั้นจะส่งเสริมประชาธิปไตยก็ได้ ขัดขวางหรือฉุดรั้งประชาธิปไตยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมีนโยบายหรือกำกับดูแลให้ไปในทิศทางไหน การดำเนินส่งเสริมประชาธิปไตยดิจิทัลจะนำให้รัฐบาลใหม่มีความเข้มแข็งรับมือกับการปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอของเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยที่ทำงานอย่างเป็นระบบได้ การเข้าแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยในอนาคตด้วยการใช้รถถังหรืออาวุธมายึดอำนาจมีความเสี่ยงน้อยลง แต่จะมีการใช้สงครามปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอเพื่อทำลายรัฐบาลประชาธิปไตยแทน ปฏิบัติการข่าวสารบิดเบือน ไอโอของข่าวลวงข่าวเท็จพวกนี้จะพุ่งเป้าทำลายไปที่นโยบายของพรรคการเมือง สถาบันพรรคการเมือง และ นักการเมืองทั้งหลาย การปฏิบัติการข่าวสารบางส่วนจะใช้ ข้อมูลกึ่งเท็จกึ่งจริง เพื่อทำลายภาพลักษณ์นักการเมืองให้เสียหายจนประชาชนสิ้นศรัทธา หรือ การปลุกปั่นความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัด หรือ แอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติในการสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างสุดโต่ง ทำลายบรรยากาศของความเห็นต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผล ปฏิบัติการไอโอของเครือข่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่งแอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติเหล่านี้มีการทำงานอย่างเป็นระบบจนกระทั่งพัฒนาสู่ความเป็นสถาบัน หากรัฐบาลขั้วเสรีประชาธิปไตยไม่แก้ปัญหาอย่างทันท่วงที อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนสร้างความเกลียดชังอาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยและความสันติสุขของสังคมได้     

รศ.ดร.อนุสรณ์  กล่าวว่า ความสามารถในการจัดตั้งรัฐบาลได้รวดเร็วหลังการเลือกตั้ง จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการลงทุน นอกจากนี้ การมีรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนข้างมากอย่างเด็ดชาดในรัฐสภา มีความสำคัญต่อการดำเนินการนโยบายสำคัญโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจสำคัญ การไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาทำให้ไทยไม่สามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและติดอยู่กึ่งกลางระหว่างเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเปรียบในด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา กับ ประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน การปฏิรูประบบสถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 กำลังมาถึงขีดจำกัดและจำเป็นต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างใหม่กันอีกรอบเพื่อเป็นฐานสำหรับการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่ควบคู่กับนโยบายประชานิยมและนโยบายสวัสดิการสังคมที่เป็นจุดเน้นในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายประชานิยมสวัสดิการจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีตามโครงสร้างสังคมสูงวัยและตามสภาพที่เรียกว่าเป็น “กับดักประชานิยม” หากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อฐานรายได้ใหม่แล้ว คาดได้ว่า ไทยจะเผชิญปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในอนาคตอย่างแน่นอน นโยบายและมาตรการบางอย่างที่อาจสร้างความอ่อนไหวทางการเมืองและความเสี่ยงฐานะทางการคลังต้องมีการพิจารณาทบทวนให้เหมาะสมตามฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ 

การจัดสรรทรัพยากรทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ครัวเรือนที่มีความสามารถอาจไม่ได้สินเชื่ออย่างเหมาะสม  และทำให้กิจการขนาดย่อมขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเต็มที่ ทำให้การขยายตัวของประสิทธิภาพของการผลิตรวมลดลงตามไปด้วย นโยบายสาธารณะที่ดีควรจะต้องออกแบบให้ระบบสถาบันการเงินมีแรงจูงใจหรือสามารถที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ครัวเรือนที่มีความสามารถสูงใช้บริการได้อย่างสะดวก การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้นขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่ใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกิจการส่งออกล้วนเป็นเทคโนโลยีต่างชาติที่เราซื้อมาทั้งสิ้น การสร้างขึ้นมาเอง หรือพัฒนาต่อยอด สร้างนวัตกรรมสร้างฐานเติบโตใหม่ หากรัฐบาลใหม่ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางโดยอาศัยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลัก รัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสม อุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในแข่งขันสูงและมีผลิตภาพสูง รัฐควรมีนโยบายเชิงรับ เช่น สนับสนุนการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ลดการทุจริตรั่วไหล ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยมีผลิตภาพต่ำแข่งขันได้ไม่ดีนัก ควรใช้นโยบายเชิงรุก เช่น การให้สินเชื่อสนับสนุน การใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในและใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหากจำเป็น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ต้องเน้นการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้ง การปรับระบบภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นผ่านผลิตภาพที่สูงขึ้น  

การถดถอยลงของภาคส่งออกจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องหันมาเอาใจใส่อย่างจริงจังในเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของสินค้าไทยและการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของไทย (Total Factor Productivity of Thailand) นั้นยังมีอัตราการเติบโตต่ำ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูงส่วนใหญ่เป็นโรงงานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่มีการใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการผลิตรวมของไทยขยายตัวต่ำกว่า 1.2-1.3% ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระดับประสิทธิภาพในการผลิต (Productive Efficiency) อยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศที่ใช้แรงงานเป็นหลักและประเทศที่ใช้ทุนเป็นหลักจึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนี้จะยาวนานมากจนกว่าไทยสามารถพัฒนากิจการที่มูลค่าเพิ่มสูง การผลิตใช้ปัจจัยทุนหรือเทคโนโลยีเข้มข้น พร้อมกับ สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตัวเอง ปัจจัยประสิทธิภาพการผลิตนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อพื้นฐานความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากปัจจัยค่าแรง นโยบายสาธารณะ และ อำนาจตลาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและใช้เวลาสั้นกว่ามาก ภาวะการตกต่ำของภาคส่งออกไทยโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมบางตัวจะเกิดขึ้นอย่างยาวนานหากไม่สามารถปรับปรุงผลิตภาพการผลิตได้ จากประสบการณ์ของประเทศที่สามารถก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางได้ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ นั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาระดับความสามารถทางการผลิตของประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 

การกดค่าแรงไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้อง เพื่อนร่วมชาติผู้ใช้แรงงานต้องได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนแรกเข้าสูงขึ้นเป็นนโยบายที่จะช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ต้องมีมาตรการเชิงรุกอื่นๆเพิ่มเติมจึงสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื้อรังที่ต้นตอได้  การเติบโตด้วยการขับเคลื่อนจากฐานทรัพยากร และ ฐานแรงงานราคาถูกนั้นได้มาถึงขีดจำกัดอย่างชัดเจนและพ้นยุคสมัยไปแล้ว ความทรุดโทรมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้นแต่อากาศและน้ำสะอาดก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในหลายพื้นที่ของประเทศ ภาคการผลิตของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถอาศัยแรงงานทักษะต่ำราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆโดยไม่คิดยกระดับทักษะแรงงานเหล่านี้ เราควรปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวอย่างมีมาตรฐานและสิ่งนี้เป็นการแสดงความมีศิวิไลซ์ของสังคมไทย  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้พรรคการเมืองรักษาสัญญาประชาคม 8 ข้อที่ให้ไว้กับประชาชน ผ่าน องค์กรประชาธิปไตย และ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย  พรรคการเมืองกว่า 30 พรรคได้จัดทำ “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน” กับองค์กรประชาธิปไตยขึ้น โดยถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และพรรคการเมืองได้ให้คำมั่นว่าพรรคการเมืองที่ลงนามจะปฏิบัติตามสัญญาฯ ดังนี้

1) จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2) เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญแก่นโยบายร่วมกันนี้
3) จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ 
4) จะสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน
5) จะดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นมากขึ้นอย่างเพียงพอ
6) จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายการดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจในการออม และสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม รวมถึงลูกจ้างส่วนราชการและลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าสู่ระบบการประกันสังคมอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
7) จะกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ
8) จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

พรรคการเมืองต่างๆ ที่มาร่วมลงนาม เชื่อว่าการปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในที่นี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันพรรคการเมือง และมีส่วนช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งแก่ระบอบประชาธิปไตย ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและองค์กรประชาธิปไตยต่างๆจะร่วมกันติดตามว่า พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมหลังการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net