11 ปี ครก. 112 ยื่น 3 หมื่นชื่อ แก้ ม.112 ก่อนถูกประธานสภาฯ ปัดตก

ตำแหน่งประธานสภาฯ สำคัญขนาดไหน ช่วงนี้คงมีข้อถกเถียงจำนวนมาก ย้อนไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ยื่น 3 หมื่นรายชื่อ เพื่อแก้ไขกฎหมายนี้ แต่ภายหลัง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลไม่ใช่กฎหมายสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงไม่มีสิทธิเสนอ

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2555 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวม 30,383 คน ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ... (ฉบับที่...) (ร่างแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์) แต่ต่อมา 11 ต.ค.2555 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเสนอ

ต่อมา ครก.112 ทำหนังสือคัดค้านคำสั่งไม่รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ยื่นอุทธรณ์ต่อประธานรัฐสภาอย่างเป็นทางการ ในหนังสือลงวันที่ 15 ก.พ. 2556  เพื่อให้ประธานรัฐสภาทบทวนคำสั่งแล้ววินิจฉัยใหม่ สุดท้าย 29 มี.ค.56 สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกหนังสือยืนยันคำวินิจฉัยเดิมระบุด้วยว่าร่างดังกล่าวมีการแยกองค์ประกอบความผิด ลักษณะการกระทำความผิดที่ผ่อนคลายลงและอัตราโทษที่น้อยลง ย่อมจะทำให้การละเมิด กล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้โดยง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐได้ จึงไม่ใช่เงื่อนไขในการเสนอแก้กฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ดังนั้น จึงไม่อาจเสนอร่างฯ ฉบับดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ม.163 ได้

 

โดยขณะนั้นพวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการตัวแทน ครก.112 กล่าวโต้แย้งว่า กรณีนี้สะท้อนว่าสภามองเรื่องสิทธิและเสรีภาพในแบบแคบและไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการปกป้องตนเองมากกว่าทำเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคงในระยะยาว

“มันเป็นสิ่งที่แยกไม่ออก ในยุคปัจจุบัน เขาจะมองว่ามันเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ แต่ว่าความมั่นคงของรัฐที่วางอยู่บนการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขัดกับระบอบประชาธิปไตย มันจะต้องถูกแก้ไข ในยุคปัจจุบันนี้คุณปฏิเสธไม่ได้สิทธิเสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญของสังคม ดังนั้นความมั่นคงของรัฐมันจะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนไม่ได้” นักวิชาการตัวแทน ครก.112 วิจารณ์คำวินิจฉัยที่ว่าการแก้ไข ม.112 เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐไม่ใช่สิทธิเสรีภาพ

นอกจากนี้เมื่อ พ.ย. 2564 ความพยายามแก้ ม.112 ที่นำโดยพรรคก้าวไกล ก็ถูก ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯตีตกไปก่อนเข้าสภาเช่นกัน โดย  ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า ร่างฉบับที่ 5 ที่แก้ไขมาตรา 112 กลับถูกโต้แย้งโดยสำนักการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่ามีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติข้อความสำคัญคือ "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท