Skip to main content
sharethis

เผด็จการกองทัพพม่าถึงขั้นสั่งให้ทหารติดอาวุธไปข่มขู่ร้านค้า ผับบาร์ ร้านอาหารต่างๆ ให้ต้องขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอย่างเบียร์ยี่ห้อเมียนมา หลังจากที่ผู้คนทำการประท้วงด้วยการบอยคอตสินค้าเหล่านี้ อีกทั้งพื้นที่ๆ กลุ่มติดอาวุธต่อต้านเผด็จการปกครองอยู่ก็สั่งห้ามขายของจากเผด็จการพม่า จนทำให้ยอดขายตก

เผด็จการทหารพม่าเริ่มมีการส่งกำลังทหารติดอาวุธไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ร่านสะดวกซื้อ และผับบาร์ ต่างๆ ในเมืองย่างกุ้งเพื่อบังคับใมีการขายเบียร์ยี่ห้อ "เมียนมา" (Myanmar) เพราะเป็นเบียร์ที่กลุ่มธุรกิจของเผด็จการทหารพม่าเป็นเจ้าของ หลังจากที่เบียร์ยี่ห้อนี้สูญเสียยอดขายจากการที่คนทั้งประเทศบอยคอต

ซึ่งนอกจากจะมีการบอยคอตเบียร์ยี่ห้อ "เมียนมา" แล้ว ประชาชนพม่าที่ต่อต้านเผด็จการทหารยังทำการบอยคอตต์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตโดยบริษัทที่เกี่ยวโยงกับกองทัพพม่า แต่การที่เบียร์ยี่ห้อเมียนมายอดขายตกก็สร้างความขุ่นเคือนให้กับเหล่าผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่า

นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารพม่าปี 2564 กลุ่มผู้บริโภคก็ทำการบอยคอตสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทภายใต้กายควบคุมของกองทัพพม่า ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือเครื่องดื่มอย่างเบียร์ยี่ห้อเมียนมา ทำให้สินค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมน้อยลง ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหารแบรนด์เมียนมาเป็นแแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

กลุ่มต่อต้านเผด็จการพม่าและองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ยังได้ทำการสั่งห้ามขายสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารในพื้นที่ของพวกเขาด้วย โดยที่กลุ่มต่อต้านเผด็จการพม่าสามารถควบคุมพื้นที่ได้ในหลายส่วนของประเทศ

อย่างไรก็ตามในช่วงกลางเดือน ก.ย. 2566 ฝ่ายเผด็จการทหารพม่าก็เริ่มโต้ตอบการบอยคอตเบียร์ของพวกเขา โดยที่ในช่วงบ่ายของวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ฝ่ายงานบริหารทั่วไป (GAD) และคณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง (YCDC) ที่อยู่ภายการบังคับบัญชาของผู้บัญชาการเผด็จการพม่าใน Thingangyun ได้ไปตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ โดยไม่ได้นัดหมายและข่มขู่คุกคามเจ้าของร้านสะดวกซื้อเหล่านั้นที่ไม่ได้ขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมา

ผู้ค้าปลีกร้านแฟรนไชล์รายหนึ่งเล่าว่า มีทหารยศพันตรีถามเขาว่าทำไมถึงไม่ขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมา เขาตอบกลับไปว่าที่พวกเขาไม่ขายเพราะคนไม่ซื้อมัน ทหารยศพันตรีรู้สึกโมโหกับคำตอบนี้แล้วก็สั่งให้เจ้าของร้านค้าให้ต้องขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมา และสั่งให้ต้องมีการจัดแสดงให้เห็นแบรนด์เบียร์ยี่ห้อเมียนมาบนกระป๋องและขวดด้วย ถ้าหากไม่ทำตามทาง YCDC ก็ขู่ว่าจะเพิกถอนใบอนุญาต

พนักงานร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้าน City Express, ร้านสะดวกซื้อ G&G, และผู้คนในย่านต่างๆ ของพม่าคือ Thingangyun, South Dagon, South Okkalapa, and Botahtaung ต่างก็บอกว่า นับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2566 เป็นต้นมาร้านค้าต่างๆ ก็ถูกกดดันจากกลุ่มเจ้าหน้าที่เผด็จการทหารให้ต้องขายผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการทหาร

มีผู้อาศัยในเมือง Botahtaung รายหนึ่งบอกว่าร้านค้า City Express บนถนนของเขากลับมาขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมาอีกครั้ง เขามองว่าเรื่องนี้เป็น "การท้าทายจากเผด็จการทหาร" ที่มีต่อพวกเขา ดังนั้นแล้วเขาจึงอยากให้ประชาชนแสดงพลังด้วยการบอยคอตร้านค้าที่กลับมาขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมา

นอกจากร้านค้าเหล่านี้แล้ว เผด็จการทหารยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่คุกคาม บีบบังคับ ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น City Mart ร้านอาหารและบาร์ต่างๆ ให้กลับมาขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมาอีกครั้ง

อีกทั้งกองทัพพม่ายังได้เริ่มส่งกองกำลังไปเดินตรวจตราแถวถนนหมายเลข 19 ในย่านไชน่าทาวน์ ช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ของวันที่ 13 ก.ย. ซึ่งเป็นส่วนที่รู้จักในฐานะย่านร้านปิ้งย่างและผับที่ขายเบียร์

มีเจ้าของผับรายหนึ่งบอกว่า มีเจ้าหน้าที่เข้ามาที่ผับของพวกเขาเพราะพวกเขาขายแค่เบียร์ยี่ห้อ 'ไทเกอร์' เจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้พวกเขาขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมา ไม่ว่าจะในแบบดราฟเมียร์ หรือโดยการจัดแสดงให้เห็นกระป๋องและขวดเบียร์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังเตือนพวกเขาด้วยว่าถ้าหากพวกเขาไม่ขายเบียร์ตามที่สั่งเจ้าหน้าที่ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตขายแอลกอฮอล์

มีร้านค้าแฟรนไชส์ใน South Okkalapa เปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่กองทัพติดอาวุธมาสั่งให้ให้ร้านค้าของพวกเขาขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมา โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่จาก YCDC, GAD และตำรวจบอกกับพวกเขาว่าจะกลับมาเช็กดูอีกครั้งหนึ่ง ร้านค้าแฟรนไชส์บอกว่าพวกเขาพยายามอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการที่จะไม่ขายผลิตภัณฑ์ของเผด็จการทหารโดยเฉพาะเบียร์ยี่ห้อเมียนมาร์ แต่พวกเขาก็ตกใจกลัวเมื่อมีเจ้าหน้าที่ทหารติดอาวุธเต็มรูปแบบมาคุกคามพวกเขา

อย่างไรก็ตามมีเจ้าของร้านอาหารในบางพื้นที่บอกว่ากองทัพยังไม่ได้ส่งคนมาข่มขู่ร้านอาหารของพวกเขา แต่ก็ได้ยินว่ามีการข่มขู่เกิดขึ้นกับร้านอาหารภายในเขตชนบท

เบียร์ยี่ห้อเมียนมาเป็นยี่ห้อที่ครองตลาดทั้งในบาร์และบนชั้นวางซูเปอร์มาร์เก็ตมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่ที่มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจจากการสนับสนุนของญี่ปุ่นหลังจากที่กองทัพพม่าผ่อนคลายการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จลงเมื่อปี 2554

แต่หลังจากที่เกิดการรัฐประหารโค่นล้มออกซานซูจีในปี 2564 ผู้คนจำนวนมากก็เลิกสนับสนุนเบียร์ยี่ห้อเมียนมา และสินค้าอื่นๆ จากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ตั้งแต่สบู่ไปจนถึงกาแฟ

เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นคือ 'คิริน' ประกาศว่าพวกเขาเคยตกลงที่จะซื้อหุ้นของตัวเองกลับคืนมาจากกลุ่มบริษัทร่วมทุนของของพม่าที่เกี่ยวข้องกับเผด็จการทหาร กลายเป็นการที่คิรินการถอนตัวออกจากตลาดของพม่าได้สำเร็จในที่สุด

บริษัท คิริน ประกาศมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ก.พ. 2564 แล้วว่าพวกเขาจะถอนตัวจากการร่วมทุนกับโรงเบียร์เมียนมา ของบริษัท เมียนมา อิโคโนมิค โฮลดิง จำกัด (MEHL) โดยแถลงว่าพวกเขา "มีความเป็นห่วงอย่างมากเกี่ยวกับการกระทำของกองทัพในพม่าเมื่อไม่นานนี้"

เผด็จการทหารใช้การข่มขู่คุกคามและการพยายามบีบคั้นเพื่อฟื้นฟูยอดขายให้กับเบียร์ยี่ห้อเมียนมาและสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตโดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเผด็จการทหาร โดยมีการประกาศในเรื่องนี้จาก พล.ท. Yar Pyae รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของพม่า ทางการได้ออกคำสั่งกับสถานีตำรวจและสำนักงานเทศกาลทุกรัฐและทุกภูมิภาค ให้มีการบังคับร้านค้าต่างๆ ให้ต้องขายสินค้าของเผด็จการทหารรวมถึงในฐานที่มั่นทางอำนาจของเผด็จการทหารเองอย่างกรุงเนปิดอ

ข้าราชการท้องถิ่นของพม่ารายหนึ่งเปิดเผยว่า พวกเขาถูกสั่งให้คอยตรวจตราร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ ให้มีการขายสินค้าที่ผลิตโดยกองทัพและต้องมีการออกเอกสารรายงานเรื่องนี้ทุกๆ 6 โมงเย็น

ความพยายามฟื้นยอดขายในครั้งนี้เกิดขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากที่นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียง U Min Ko Naing เรียกร้องให้ประชาชนทั้งในและนอกพม่าทำการบอยคอตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารเพิ่มอีก 8 ยี่ห้อ โดยบอกว่ากรบอยคอตต์สินค้าเหล่านี้จะช่วยให้เป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงของเผด็จการทหารในการที่จะนำเงินเหล่านี้มาใช้ในการสังหารหมู่ประชาชนตัวเอง

สินค้า 8 ชนิดที่ U Min Ko Naing ขอให้มีการบอยคอตต์คือ เบียร์ยี่ห้อเมียนมา, เครื่องดื่มอันดามันโกลด์, เบียร์และเครื่องดื่มดากอง, เบียร์และเหล้ารัมมัณฑะเลย์, เบียร์ดำแบล็กชิลด์, เหล้ารัมอาร์มี่, บุหรี่เรดรูบี และบุหรี่พรีเมียมโกลด์

ในตอนต้นเดือน ก.ย. 2566 สภาเหล่าทัพของพม่าโต้ตอบด้วยการออกคำเตือนต่อสาธารณะไม่ให้ร่วมการบอยคอตนี้ อย่างไรก็ตามผู้อาศัยในหลายแห่งของย่างกุ้งเห็นตรงกันว่าถ้าพวกเขาพร้อมใจกันบอยคอตสินค้าต่อไป ต่อให้เผด็จการทหารทำการกดดันร้านค้าเหล่านี้ก็จะไม่เป็นผล

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา GAD และ CDC ใน Nyaung Tone ของภูมิภาคเอยาวดี สั่งปรับร้านขายเหล้าและผับบาร์อย่างน้อย 30 แห่ง ร้านละ 1 ล้านจ๊าต (ราว 17,000 บาท) เพราะว่าพวกเขาไม่ขายเบียร์ยี่ห้อเมียนมา

นอกจากเหล้า เบียร์ และบุหรี่แล้ว เผด็จการพม่ายังทำการกดดันซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านค้า และมินิมาร์ท ให้ขายซิมการ์ดของ มายเทล (Mytel) ซึ่งเป็นซิมของบริษัทที่เผด็จการทหารเป็นเจ้าของด้วย

หลังจากที่มีการกดดันจากเผด็จการทหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในพม่าอย่าง City Mart ก็เริ่มนำเบียร์ยี่ห้อเมียนมาและสินค้าเผด็จการพม่าอื่นๆ ออกมาวางขายรวมถึงซิมการ์ดมายเทลด้วย หลังจากที่ City Mart ทำการหยุดขายสินค้าเหล่านี้มาตั้งแต่ปลายปี 2564 เนื่องจากมีลูกค้าขอให้บอยคอตสินค้าเหล่านี้


เรียบเรียงจาก
Power-Drunk Junta Tries Selling Myanmar Beer at Gunpoint, The Irrawaddy, 14-09-2023
Myanmar vendors told to sell military beer – or face consequences, Radio Free Asia, 15-09-2023


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net