Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐสภาเป็นสิ่งสำคัญในทางกายภาพในการดำเนินกิจการทางการเมืองในระดับประเทศ โดยตัวแทนของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศและอำนาจอธิปไตย เข้ามาประชุมแลกเปลี่ยนถกเถียง แสดงวิสัยทัศน์ ลงประชามติ ออกกฎหมาย และกฏระเบียบต่างๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  ในกรณีรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ สัปปายะสภาสถานกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหลากหลายแง่มุม ได้แก่ 1) งบประมาณที่สร้าง สูงมากซึ่งขัดกับสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน แม้ชนชั้นกลางส่วนมากจะสามารถมีบ้านได้ แต่อาจต้องผ่อนนานมากกว่า 30 ปี 2) ระยะเวลาที่สร้างล่าช้าเกินกำหนด 3) ความไม่สมบูรณ์ของอาคาร (เช่น น้ำรั่ว) 3) การแยกลิฟท์ระหว่างข้าราชการการเมืองกับเจ้าหน้าที่ แสดงถึงความ “เจ้ายศเจ้าอย่าง” แยกบุคคลโดยสถานะทางสังคมอย่างชัดเจนดังสังคมสมัยโบราณ 4) ไม่มีห้องพักแม่บ้าน “ฝุ่นเมือง” “ไม่เห็นหัวคน(ธรรมดา)” ชนชั้นนำมุ่งเน้นปรนเปรอความสุขของตน ไม่คำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของคนธรรมดา 5) ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันเป็นอย่างมากคือรูปแบบอาคารที่นำความเชื่อทางศาสนามาใช้ในการออกแบบ สถานที่ของรัฐต้องแสดงคุณค่ากลาง คือ เสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตย ไม่ควรอย่างยิ่งที่สะท้อนถึงความเชื่อของบุคคลเฉพาะกลุ่ม ประชาชนไทยมีหลายศาสนา หลายความเชื่อ รวมทั้งคนที่ไม่นับถือศาสนา จึงไม่ควรสร้างความรู้สึกสร้างความ“เป็นอื่น” นอกจากนี้ “ความเป็นไทย” คือความหมายที่ถูกสร้างขึ้นจากชนชั้นนำ และความหมายยังลื่นไหลไปตามประโยชน์ของชนชั้นนำอีกด้วย

ในบทความนี้ขอเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับไสยศาสตร์กับศาสนา คือเรื่องเหนือธรรมชาติหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถให้คุณให้โทษต่อมนุษย์ได้ มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขอหรืออธิฐาน แต่ความแตกต่างคือ ไสยศาสตร์มักขอหรือต้องการให้เกิดเรื่องที่เฉพาะเจาะจงกว่า มีการสร้างรูปแบบตัวแทนหรือจำลองในรูปแบบต่างๆ  อย่างการฝังรูปฝังหุ่น เช่น การทำเสน่ห์ที่เจาะจงบุคคลว่าต้องการให้ใครรัก เป็นต้น ส่วนศาสนามีการขออธิฐานเช่นกัน แต่เน้นสนองความต้องการในเรื่องทั่วๆไปคือเจาะจงน้อยกว่า เช่น ขอคู่ครองหรืออาจมีการกำหนดคุณสมบัติ แต่ไม่เจาะจงตัวบุคคล เป็นต้น ความเข้าใจที่สำคัญคือ การที่มนุษย์เข้าหาไสยศาสตร์ไม่ได้สะท้อนถึงการขาดความรู้ แต่สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในอนาคตของตน (ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา, 2564) บางกรณีการใช้ไสยศาสตร์ทำเพื่อสู้กับศัตรูที่ไม่สามารถสู้ทางตรงได้หรือซึ่งหน้าได้ ที่สำคัญยิ่งมนุษย์ขาดความมั่นใจมากก็ยิ่งต้องการอำนาจจากสิ่งลี้ลับมากเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังที่ งามพิศ สัตย์สงวน (2538) ยกตัวอย่างมีใจความว่าในการทำประมงชายฝั่งของสังคมแบบดั้งเดิม (primitive societies) บางแห่ง  ชาวประมงยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองตน ส่วนชาวประมงที่หาปลาในเขตน้ำลึกก็จะยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เข้มแข็งและดุร้ายกว่าประมงน้ำตื้นตามสภาพความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ในกรณีรัฐสภาแห่งใหม่นี้ถ้ามองในมุมมองของชนชั้นนำนั้นสร้างขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน แก้อาถรรพ์ ปัดรังควาน เพราะในมุมมองรัฐแบบโบราณถ้ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐถือเป็นความเลวร้าย หรืออีกนัยหนึ่งรัฐสภาแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อกอบกู้ประเทศ (วิญญู อาจรักษา, 2556) ที่พวกชนชั้นนำสำคัญผิดว่าเป็นของตน จากการที่ศีลธรรมตกต่ำลงในสายตาของพวกเขา

ไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา และความเชื่อ ถ้าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็ถือว่าเป็นเสรีภาพของปัจเจกชนที่เลือกนับถือสิ่งใดหรือไม่นับถือสิ่งใดก็ได้ แต่หากรัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองก็เป็นสิ่งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการครอบงำ เป็นความล้าหลัง  และประเทศไทยก็ไม่ใช่รัฐศาสนา ประเทศไทยประกอบด้วยหลากหลายศาสนาและความเชื่อ คงไม่มีทางนำรูปแบบหรือสัญลักษณ์ของทุกศาสนาทุกความเชื่อลงไปได้ และหากสามารถทำได้ก็คงไม่สามารถทำให้ทุกศาสนาและความเชื่อดูสำคัญเท่าๆกันได้อยู่ดี แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมันเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสังคมโลกวิสัยและระบอบประชาธิปไตย กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก เพราะการตั้งคำถามและการตั้งข้อสงสัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสังคมประชาธิปไตย แต่กับไสยศาสตร์ ศาสนา และความเชื่อ มันยากที่เราจะทำเช่นนั้น เพราะเราเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจเหนือเรา เราจึงมักตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้น้อย เรา(เชื่อว่า)อาจถูกลงโทษจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือถ้าเราไม่เชื่อเราก็อาจถูกลงโทษจากผู้อื่นที่เชื่อถือหรือผู้ที่นำความเชื่อนี้มาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ไสยศาสตร์มักเป็นเรื่องของการวอนขอ เรื่องของความกลัว เช่น กลัวความไม่มั่นคงในชีวิตตน กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ เป็นต้น แต่สิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการต่างๆของคนธรรมดา มาจากการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ประชาชนคนธรรมดาอ้อนวอนขอความเมตตาจากชนชั้นนำ เหมือนมนุษย์อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ในการออกแบบที่นำรูปแบบโบราณนำมาประยุกต์โดยทั่วไปนำมาเพียงเป็นสัญลักษณ์ แต่ไม่ใช่กับรัฐสภาแห่งนี้

“...โดยทั่วไปอาคารที่ใช้ความเป็นไทยในการออกแบบ เรามักจะใช้แค่เปลือก รูปทรง แต่แนวคิดและการใช้พื้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัดเลย เช่น อาคารราชการของไทย หลังคาเป็นลักษณะทรงไทยเท่านั้น แต่รัฐสภาหลังใหม่นี้กลับตรงกันข้าม ลักษณะเหมือนวัด พื้นที่ (space) ข้างในก็เหมือนวัด ข้างบนตัวอาคารเป็นที่ประดิษฐานจุฬามณีเจติยสถาน เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช นอกจากจะเหมือนวัดแล้ว ก็ยังพาเราย้อนกลับไปหาโลกอดีตโดยสมบูรณ์ ...รัฐสภาหลังนี้จึงไม่ใช่เอารูปแบบของวัดมาใช้เฉยๆ แต่นำเอาความศักดิ์สิทธิ์ ความหมาย แนวคิดทางศีลธรรมมาใช้ ทุกอย่างต้องการให้ย้อนกลับไปหาอาคารทางศาสนา และแน่นอนที่สุด รูปแบบวัด รูปแบบศาสนาก็ตอบโจทย์เรื่องความเป็นไทยในเวลาเดียวกัน...” (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2562)

การสร้างรัฐสภามีแนวคิดบนพื้นฐานจากไตรภูมิและเขาพระสุเมรุ สมมติเป็นตัวแทนศูนย์กลางจักรวาลหรือศูนย์กลางอำนาจ เป็น “สภาที่ศักดิ์สิทธิ์” (พิพิธภัณฑ์รัฐสภา, 2564) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ชนชั้นปกครองครองที่มุ่งเน้นการ “อวย” เชิดชูตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล “บุคคลวิเศษ” เพื่อสร้างความชอบธรรมในการกดขี่ประชาชนคนธรรมดา  แล้วยังเป็นการสะท้อนการรวมศูนย์อำนาจ และเป็นผลิตผลทางสังคมที่สร้างขึ้นมาเพื่อครอบงำ (เบญจวรรณ์ ทัศนลีลพร, 2565) ซึ่งตรงข้ามกับเสรีภาพ ความเสมอภาค และสังคมประชาธิปไตย นอกจากนี้ และการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันที่เน้นกระจายอำนาจ ไม่สะท้อนการรับใช้ประชาชน” หรือ ประชาชนเป็น “เจ้าของประเทศ” แต่กลับเป็นการแสดงอำนาจของชนชั้นปกครอง ขาดความพอเพียง “อวดเบ่ง” ทั้งๆที่ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจนหรือถูกทำให้ยากจน สังคมสมัยใหม่ควรเป็น “โลกวิสัย” ที่เชิดชูศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นคุณค่ากลางที่ทุกคนยึดถือร่วมกัน ไม่มีใครวิเศษหรือศักดิ์สิทธิ์  รัฐสภาควรสร้างบนพื้นฐานในการใช้งาน ประโยชน์ใช้สอย ไม่มีสัญลักษณ์หรือมีที่มาจากไสยศาสตร์ ศาสนา และความเชื่อ เพื่อแสดงความเสมอภาค ความเป็นมิตรกับทุกความเชื่อ ศาสนา และทุกชาติพันธุ์ โดยคำนึงถึงการใช้เงินภาษีทุกบาทอย่างคุ้มค่า ความ “มีหน้ามีตา” ของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด ความอลังการ งบประมาณของสิ่งก่อสร้างใด แต่ขึ้นกับการอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคของประชากร และประชาชนไม่เพียง “อยู่ในฐานะสำคัญในทุกภาคส่วน” (พิพิธภัณฑ์รัฐสภา, 2564) แต่ประชาชนต้องสำคัญที่สุด

นอกจากการใช้แนวคิดเรื่องเขาพระสุเมรุแล้ว ยังมีการการนำไสยศาสตร์มาร่วมด้วย ได้แก่ การตั้งเทวรูปพระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระภูมิชัยมงคล และศาลตายาย และมีการประกอบพิธีบรวงสรวง

“สำหรับพิธีการเป็นการจัดแบบพิธีพราหมณ์ ฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้าโหรพราหมณ์ สำนักพระราชวัง นำอ่านโองการบวงสรวง และประธานในพิธีได้วางเหรียญจำนวน 19 เหรียญ พลอย 9 สี พร้อมข้าวตอกดอกไม้ จากนั้นหลั่งน้ำเจิมองค์พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระภูมิชัยมงคล หลั่งน้ำเจิมตายายและบริวาร จากนั้นอธิษฐานอัญเชิญเข้าศาล ก่อนจุดธูปเทียนหน้าเครื่องบวงสรวงและโปรยดอกไม้” (The Standard, 2565)

ไสยศาสตร์หรือความเชื่อเรื่อง “ผี” นอกจากไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ (อย่างน้อยก็ในการตีความของพุทธทาสภิกขุ ประยุทธ์ ปยุตฺโต และ ปัญญานันทภิกขุ เป็นต้น)  ยังไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะความเชื่อนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการเป็นรัฐชาติ (Nation State) และความต้องการจากการปกป้องประเทศหรือรัฐสยาม (เหล่าชนชั้นนำ) จากการล่าอาณานิคมของตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนในปัจจุบันศัตรูของชนชั้นนำก็คือ คนรุ่นใหม่ คนที่ตาสว่าง และสังคมโลกในยุคปัจจุบัน ที่ปฏิเสธสังคมอำนาจนิยม ความไม่เท่าเทียมกัน การขาดผูกขาดทรัพยกร และผูกขาดการกำหนดนาคตของชาติ นอกจากนี้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเองก็ใช่ว่าทุกคนมีความเชื่อเรื่องพระสยามเทวาธิราช  และเทวรูปควรอยู่ในศาสนสถานไม่ใช่ในรัฐสภา ห้องประชุม สส. และ สว. ที่เปรียบเสมือนเป็นแค่บริวารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือเป็นองค์ประกอบรอง (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2562) ซึ่งมีอำนาจสูงสุดควบคุมอีกที  ในสถานที่ทั้งภาครัฐและเอกชน เรามักเห็นการตั้งศาลหรือมีเทวรูป แต่มักเป็นการตั้งในบริเวณพื้นที่ที่แยกออกมาต่างหากจากอาคารหลัก การที่อาคารรัฐสภามีส่วนสำคัญหรือศูนย์กลางที่เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาและความเชื่อ แสดงให้เห็นว่ารัฐภาไม่เพียงเป็นการนำแนวคิดทางศาสนาและความเชื่อมาเป็นพื้นฐานในการสร้างอาคารเท่านั้น แต่รัฐสภาแห่งนี้คือ ศาสนสถาน หรือเป็นการนำไสยศาสตร์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

ตัวอย่างอาคารรัฐสภาของประเทศเยอรมัน เป็นอาคารเก่าที่มาต่อเติมสร้างโดมแก้วอยู่ด้านบนในส่วนที่เป็นจุดศูนย์กลางอาคารสามารถมองเห็นเมืองเบอร์ลินได้ 360 องศา โดมนี้ทะลุลงมาห้องประชุมใหญ่ ที่แสดงถึงสว่างความโปร่งใส่ (ซึ่งต่างจากรัฐสภาไทยที่ศูนย์กลางมีรูปทรงเจดีย์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ) นอกจากนี้ยังเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าชมได้เพียงแต่ต้องจองล่วงหน้า (The German Way & More, 2023) ลานหน้ารัฐสภาพเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ได้สะท้อนถึงความศักดิ์สิทธิหรืออำนาจลี้ลับแต่อย่างใด


ที่มา: History Hit (2023)


ที่มา: Visit Berlin (2023)


ที่มา: The German Way & More (2023)

ชนชั้นนำพวกเขากลัวการเสียอภิสิทธิ์ (หรือได้รับน้อยลง) เสียหรือถูกลดบทบาทในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง นับรวมถึงความมั่งคั่งของพวกตนลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนรุ่นก่อนก็ค่อยๆร่วงโรยไปหรือบางคนก็ “ตาสว่าง” การสร้างจิตสำนึกเท็จที่ทำอย่างได้ผลมาตลอดหลายทศวรรษใช้ไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่  ถึงแม้ชนชั้นนำจะเปี่ยมด้วยอำนาจทางตรง ทางอ้อมมากมาย เช่น กองทัพ ตำรวจ พนักงานของรัฐ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม สื่อสารมวลชน อำนาจทางเศรษฐกิจ การผูกขาดทรัพยากร การศึกษา นับรวมถึง ขนบธรรมเนียนประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆ เป็นต้น  แต่เอาเข้าจริงพวกนี้ก็เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยอาจไม่ถึง 1% ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานส่วนหนึ่งก็เพราะจากการหลอกลวงผ่านการประชาสัมพันธ์อย่างบ้าคลั่ง หากคนส่วนใหญ่ตาสว่างและสามารถรวมตัวกันได้ก็ถึงวาระสุดท้ายของเหล่าชนชั้นนำที่เอาเปรียบขูดรีด นอกจากการต่อสู้กับคนรุ่นใหม่และคนที่ตาสว่างแล้วมีสิ่งหนึ่งที่ชนชั้นนำไม่มีทางเอาชนะได้เลยคือ เวลา ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ไม่มีใครสามารถหยุดเวลาหรือเข็มนาฬิกาได้ ความพยายาม “แช่แข็ง” หรือย้อนเวลากลับไปในอดีตจึงเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะภาษีทรัพยากรต่างๆที่ประชากรจ่ายให้กับรัฐ แทนที่จะนำไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น กลับนำไปใช้ใช้มอมเมาครอบงำประชากรเอง

เราอาจรู้สึกว่าเราเป็นแต่ฝ่ายที่ถูกกระทำซึ่งก็เป็นความจริง แต่ใช่ว่าไม่มีผลอะไรต่อผลชนชั้นนำ เพราะพวกเขาสัมผัสถึงการรุกคืบของคนรุ่นใหม่ และรุ่นก่อนนี้ที่ตาสว่าง  และรู้ว่าบ้านเมืองนี้จะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไปตลอดกาล  ชนชั้นนำจึงนำทุกอย่างที่ตนมีมาใช้ไม่ว่าการใช้กำลังทางตรง กฎหมาย การก่อกวน การโฆษณาชวนเชื่อ นับรวมถึงไสยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้มีแรงผลักดันจากความโกรธ ความเกลียด โดยผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าบางทีแรงผลักดันนี้อาจรวมถึงความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงในการเสียหรือลดลงของอภิสิทธิและผลประโยชน์  รวมทั้งความรู้สึกไม่แน่นอนมั่นใจในอนาคตของตนในเหล่าชนชั้นนำด้วย


 

อ้างอิง

History Hit. (2023). The Reichstag. https://www.historyhit.com/locations/reichstag/

The German Way & More. (2023). The Reichstag in Berlin. https://www.german-way.com/travel-and-tourism/germany-for-tourists/city-guides-germany/berlin-and-potsdam/the-reichstag-in-berlin/

The Standard. (2565). รัฐสภาไทยประกอบพิธีพราหมณ์ ตั้งศาล ‘พระสยามเทวาธิราช-ศาลตายาย’ ประจำรัฐสภา. Retrieved พฤศจิกายน 22 from https://thestandard.co/thai-parliament-performs-brahmin-ceremony-establishes-court/

Visit Berlin. (2023). Reichstag in Berlin. https://www.visitberlin.de/en/reichstag-in-berlin

งามพิศ สัตย์สงวน. (2538). หลักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (3 ed.). ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชาตรี ประกิตนนทการ. (2562). สัปปายะสภาสถาน: รัฐสภาแห่งใหม่และความหมายที่สูญหายของประชาชน. Retrieved 20 ตุลาคม from https://waymagazine.org/interview-chatri-prakitnonthakan-sappayasaphasathan/

เบญจวรรณ์ ทัศนลีลพร. (2565). อ่านและถอดรหัส “สัปปายะสภาสถาน” จากสื่อนำเสนอแบบประกวดอาคารรัฐสภาไทย พ.ศ.2552 (รอบสุดท้าย). วารสารสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างวินิจฉัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 21(2), 17-38.

ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา. (2564). มานุษยวิทยาการพยากรณ์:ประสบการณ์ในการพยากรณ์ดวงชะตาบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจําวันของชาวดิจิทัลไทย. มนุษยศาสตร์สาร 22(2), 137-160.

พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. (2564). การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่. Retrieved พฤศจิกายน 22 from https://parliamentmuseum.go.th/2564/ar64-sappaya-sapa.html

วิญญู อาจรักษา. (2556). “เขาพระสุเมรุ” กับ อาคารรัฐสภาใหม่ไทย: “สภาวะแห่งการยกเว้น” ในฐานะกระบวนทัศน์การสร้างงานสถาปัตยกรรม. หน้าจั่ว: วารสารวิชาการ คณะสถาปัตกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 10 (ฉบับพิเศษ)(5), 102-129.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net