กรีนพีซชี้ 'สัปปายะสภาสถาน' รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงจมน้ำในอีก 9 ปีข้างหน้า

กรีนพีซ เอเชียตะวันออก เผย 'สัปปายะสภาสถาน' รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงจมน้ำภายใน พ.ศ.2573 และ 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ขณะเดียวกัน เมืองใหญ่อีก 6 เมืองในเอเชียเสี่ยงจมน้ำพร้อมๆ กับกรุงเทพฯ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

25 มิ.ย. 2564 รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ระบุว่า เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกําลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่มากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ระหว่าง 0.43-0.84 เมตรภายในปี พ.ศ.2643 ขณะเดียวกัน ตลอดศตวรรษที่ 21 พายุมีความเร็วลมรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมแนวชายฝั่งในสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียอาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมชี้ว่า 'สัปปายะสภาสถาน' รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงจมน้ำภายใน พ.ศ.2573

คิม มีกยอง ผู้จัดการโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกกล่าวว่าภายในทศวรรษนี้ เมืองที่อยู่ติดชายฝั่งในเอเชียจะมีความเสี่ยงสูงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุที่เข้มข้นรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อบ้านเรือน ความปลอดภัย และวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากเหลือเวลาไม่มากในการยุติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องดำเนินการระบบบริหารจัดการน้ำท่วมและการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพิ่มมากขึ้น ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายภายใต้แผนที่นำทางก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally determined contribution targets) นั้นไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากน้ำท่วมชายฝั่งในสภาวะสุดขีด

รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าภายใน พ.ศ.2573 ประชาชนกว่า 15 ล้านคนใน 7 เมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

"รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในทันทีและเร่งการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เรากำลังเผชิญกับสภาวะฉุกเฉินของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เราต้องเสริมสร้างการวางแผนจัดการภัยพิบัติและการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เมืองของเราหลายแห่งในเอเชียเสี่ยงต่อน้ำท่วม เราไม่อาจรอได้" ผู้จัดการโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกกล่าว

กรีนพีซ เอเชียตะวันออก เลือกเมือง 7 แห่งในเอเชียที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่งเพื่อวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากน้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal Flooding) ใน พ.ศ.2573 ตามภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามปกติ (Business as usual) การวิเคราะห์ของเราชี้ให้เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในรายงานนี้ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ เว้นแต่เราจะลงมือทําในทันทีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายภายใต้แผนที่นําทางก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally determined contribution targets) นั้นไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากน้ำท่วมชายฝั่งในสภาวะสุดขีด รัฐบาลและบรรษัทต่างๆ ต้องลงมือทําอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วขึ้น เช่น ยุติการสนับสนุนทางการเงินให้กับอุตสาหกรรมถ่านหินและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อป้องกันมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ข้อค้นพบหลักจากรายงาน

  • ภายใน พ.ศ.2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่ กทม. อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง
  • กรุงจาการ์ตาเผชิญกับภัยคุกคามสองประการ ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและแผ่นดินทรุด ราว 17% ของพื้นที่ทั้งหมดของจาการ์ตาซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ใน พ.ศ.2573 อาจถูกน้ำท่วมภายใต้สถานการณ์อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • พื้นที่ลุ่มต่ำทางตะวันออกรวมถึงแขวงโคโตซึ่งเป็น 1 ใน 23 แขวงพิเศษของกรุงโตเกียว (ประกอบด้วยเขตสุมิดะ โคโตะ อาดาจิ คัตสึชิกะและเอโดงาวะ) มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะเกิดขี้นจากน้ำท่วมชายฝั่งภายใน พ.ศ.2573 หรือคิดเป็น 10% ของ GDP รวมของกรุงโตเกียว
  • ในกรุงไทเป สถานีกลางไทเป (Taipei Main Station) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญที่สุดทางตอนเหนือของไต้หวัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับเขตต้าถงอันเก่าแก่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 24% ของ GDP รวมของกรุงไทเป
  • เกือบ 87% ของพื้นที่กรุงมะนิลาเป็นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมซึ่งหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายใน พ.ศ.2573 ผู้คนมากกว่า 1.54 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

'สัปปายะสภาสถาน' รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม

กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ของทวีปเอเชีย และมีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร ซึ่งทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมโดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพฯ เผชิญความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสภาพชั้นดินบริเวณดังกล่าวเป็นดินอ่อน ประกอบกับพื้นที่เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วและแผ่นดินทรุดตัว ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ กำลังจมลงใต้น้ำ โดยอัตราการทรุดตัวของพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ปีละ 30 มม.

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น คลื่นพายุขนาดใหญ่ที่โถมเข้าซัดชายฝั่งและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอาจทำลายพื้นที่แนวปะการังและอาจทำให้เกิดความท่วมครั้งรุนแรง นอกจากนี้ ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงจนไหลเข้ามาปะปนกับน้ำจืดอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภค

พื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่าร้อยละ 96 เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปีที่จะเกิดขึ้นภายใน พ.ศ.2573 โดยเขตที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นรวมถึงเขตเศรษฐกิจใจกลางเมืองเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมมากกว่าเขตพื้นที่อุตสาหกรรมและการเกษตรที่ตั้งอยู่รอบนอกของเมือง รายงานของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกยังระบุอีกว่าย่านเรษฐกิจสำคัญกลางใจเมือง เช่น สีลม สาทร วิทยุ และเพลินจิตอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ 'สัปปายะสภาสถาน' หรือรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเกียกกาย ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงป่าชายเลนบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำเจ้าพระยาก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งประชากรกว่า 10.45 ล้านคนใน
กรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งใน พ.ศ.2573

ภาพพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจถูกน้ำท่วมใน พ.ศ.2573 จากรายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จุดสีเขียวคือที่ตั้งของสัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภาแหง่ใหม่ของไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 

นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว อีก 6 เมืองใหญ่ในเอเชียที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ได้แก่ ฮ่องกง กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย กรุงโซลของเกาหลีใต้ กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ และกรุงไทเปของไต้หวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท