Skip to main content
sharethis

เปิดเหตุผลของศาลปกครองสูงสุดในการยกเลิกคำสั่งห้ามฉาย “เชคสเปียร์ต้องตาย” ของกองเซ็นเซอร์ห้ามฉายและยังสั่งให้จ่ายชดเชยค่าเสียหาย 5 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลเห็นว่าแม้จะมีฉากที่สื่อถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่ศาลกลับเห็นเห็นว่าฉายได้ไม่ได้สร้างความแตกแยกสามัคคี คำสั่งของกองเซ็นเซอร์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

21 ก.พ.2567 หลังจากเมื่อวานนี้มีการรายงานข่าวถึงศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยสั่งให้ยกเลิกคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” และสั่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (ในรายงานชิ้นนี้จะเรียกว่า กองเซ็นเซอร์) จ่ายค่าเสียหายฐานละเมิดสิทธิเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และผู้กำกับ

มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ได้ให้ข้อมูลเป็นเอกสารคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแก่ประชาไททำให้ทราบรายละเอียดของเหตุผลของศาลเพิ่มเติมในการยกเลิกคำสั่งห้ามฉายของกองเซ็นเซอร์

แบนเพราะมีฉากที่ทำให้รู้ว่าเป็นเหตุการณ 6 ตุลาฯ

คำพิพากษาสรุปได้ว่า เบื้องต้นในคดีนี้ มานิต ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้อำนวยการร่วมและเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ของภาพยนตร์ “เชคสเปียร์ต้องตาย”  ได้รับเงินทุนสนับสนุนการสร้างจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเงินจำนวน 3,000,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2552 และภายหลังจากทั้งสองสร้างภาพยนตร์เสร็จได้ยื่นคำขอตรวจพิจารณาภาพยนตร์ต่อกองเซ็นเซอร์

หลังกองเซ็นเซอร์ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาที่นำเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 มาสอดแทรกไว้ เช่นฉากที่แสดงถึงคนดูละครทำร้ายคณะนักแสดงและจับผู้กำกับละครขึ้นแขวนคอและทุบตีด้วยสิ่งของ ซึ่งเข้าลักษณะก่อให้เกิดความแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติต้องห้ามเผยแพร่ในประเทศ ตามข้อ 7(3) ของกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 และจัดประเภทเป็นภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในประเภท ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง(7) ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551

แต่ก่อนที่กองเซ็นเซอร์จะมีมติห้ามฉายได้มีการเรียกมานิตและสมานรัชต์เพื่อขอให้แก้ไขฉากดังกล่าวแต่ทั้งสองยืนยันว่าไม่แก้ไขเพราะเป็นการนำเสนอความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 และต่อมากองเซ็นเซอร์ได้มีมติสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ดังกล่าว มานิตและสมานรัชต์จึงดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งของกองเซ็นเซอร์ต่อนายกรัฐมนตรีและประธานของคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ

ต่อมา 11 พ.ค.2555 คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ พิจารณาข้ออุทธรณ์ของผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับแล้วเห็นว่า แม้ภาพยนตร์ดังกล่าวจะมีการดัดแปลงสถานที่ในเรื่องให้เป็นประเทศสมมติแล้วก็ตามแต่ก็สื่อให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงสังคมไทย และบางฉากยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ และเมื่อกองเซ็นเซอร์ได้สั่งให้แก้ไขเนื้อหาบางส่วนที่เห็นว่าสร้างความแตกสามัคคีแล้วแต่ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งสองยืนยันที่จะไม่แก้ไข คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ จึงมีมติยกอุทธรณ์ของผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งสอง

มานิตและสมานรัชต์ เห็นว่าคำสั่งห้ามฉายของกองเซ็นเซอร์และคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ กองเซ็นเซอร์เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 เป็นคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นเพื่อให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องทั้งสองรายและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก้มานิตและสมานรัชต์ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง มานิตและสมานรัชต์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การมีคำสั่งห้ามฉายของกองเซ็นเซอร์และคำสั่งยกอุทธรณ์ของคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และประเด็นที่สอง การกระทำของกองเซ็นเซอร์และคณะกรรมการภาพยนตร์นั้นถือเป็นการละเมิดต่อมานิตและสมานรัชต์หรือไม่ ถ้าหากเป็นการละเมิดผู้ถูกฟ้องทั้งสองรายจะต้องจ่ายชดใช้ให้แก่ทั้งสองคนหรือไม่และจ่ายเท่าไหร่

หนังไม่สร้างความแตกแยก กองเซ็นเซอร์กำหนดเรต 20+ ฉายแทนห้ามฉายได้

สำหรับประเด็นแรก ศาลได้บรรยายสรุปเนื้อหาของภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นจนถึงฉากจบของภาพยนตร์ที่ภาพยนตร์เล่าถึงการแสดงละครเวทีซ้อนกับสถานการณ์โลกภายนอกโรงละคร ก่อนจะระบุว่าเนื้อหาในเรื่องแม้จะมีบางส่วนที่สื่อให้เห็นว่าเป็นสังคมไทยและฉากความรุนแรงในช่วงท้ายของเรื่องมีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ตามที่กองเซ็นเซอร์และคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ อ้างไว้เช่นกัน

“แต่ภาพยนตร์ดังกล่าวทั้งเรื่องเป็นการนำเสนอเรื่องราวหรือต้องการสื่อสารกับผู้ชมในแง่มุมของความชั่วร้ายในจิตใจของมนุษย์โดยยกเอากรณีผู้นำประเทศที่งมงายในไสยศสาตร์ มักใหญ่ใฝ่สูงและบ้าอำนาจ ได้ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบธรรมตามบทละครของวิเลีบม เชคสเปียร์ บทดภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ได้ต้องการจะสื่อสารหรือแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 แต่อย่างใด”

อีกทั้งศาลยังระบุอีกว่า “ส่วนตอนท้ายเรื่องที่มีกลุ่มบุคคลที่คลั่งไคล้ในตัวท่านผู้นำ(ในโลกภายนอกโรงละคร) โกรธแค้นที่มรการแสดงละครล้อเลียนท่านผู้นำ ได้เข้าไปทำร้ายนักแสดงและผู้คนที่กำลังดูละคร รวมทั้งได้ทำร้ายผู้กำกับละคร(ที่แต่งตัวเหมือนเชคสเปียร์) แล้วลากออกไปด้านหน้าโรงละคร จับแขวนคอและทุบตีด้วยเก้าอี้เหล็กพับท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมากที่ส่งเสียงเชียร์ แม้อาจจะเป็นการเลียนแบบมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 ก็ตาม แต่ฉากการแสดงดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที ไม่น่าจะทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 หรือหากผู้ชมเข้าใจว่าเป็นการเลียนแบบเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 ก็เห็นได้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวได้ยุติไปนานแล้ว”

นอกจากศาลจะเห็นว่าเนื้อหาที่กล่าวถึงเหตุการณเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 จะเกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นประจำทุกปีและยังมีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ทางสื่อต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบถึงเหตุการณ์ในอดีตเพื่อให้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ศาลเห็นว่าภาพยนตร์ดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ และหากกองเซ็นเซอร์เห็นว่าภาพยนตร์ดังกล่าวมีเนื้อหารุนแรงมากเกินไปหรืออาจทำให้คนที่ยังมีวิจารณญาณไม่เพียงพอในการรับชมจนเกิดความเข้าใจผิด กองเซ็นเซอร์สามารถกำหนดให้เป็นภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดูได้ ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง(6) ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ

ศาลจึงเห็นว่าคำสั่งห้ามฉายของกองเซ็นเซอร์เป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลไม่เข้าเงื่อนไขเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและให้ถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมไปถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของมานิตและสมานรัชต์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

คำสั่งห้ามฉายเป็นการละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่รวมค่าเสียหายจากการผลิต

ศาลพิจารณาต่อว่าเมื่อคำสั่งของกองเซ็นเซอร์และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมานิตและสมานรัชต์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 240 ด้วย

แต่เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนแล้วคำสั่งห้ามฉายแล้ว ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถนำไปฉายเผยแพร่ได้แต่จะได้รายได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการสร้างภาพยนตร์จึงไม่ถือว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการละเมิดของผู้ถูกฟ้องทั้งสองราย จึงไม่ต้องกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงพิพากษาให้มานิตและสมานรัชต์ยังได้รับค่าเสียหายจากการออกคำสั่งห้ามฉายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกองเซ็นเซอร์อยู่โดยให้สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นผู้ชดใช้แทนเนื่องจากเป็นสำนักงานเลขาธิการของกองเซ็นเซอร์ แต่คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ไม่ต้องรวมชดใช้เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นเพียงผู้พิจารณาทบทวนคำสั่งห้ามฉายของกองเซ็นเซอร์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่จะออกฉายในประเทศ

ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาให้สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวชดใช้แก่มานิตและสมานรัชต์ดังนี้

  1. ศาลกำหนดเงินต้นที่ต้องชดใช้ที่ 500,000 บาท
  2. นับตั้งแต่วันที่กองเซ็นเซอร์มีคำสั่งห้ามฉายเมื่อ 3 เม.ย.2555 จนถึงวันที่มานิตและสมานรัชต์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2555 รวมเป็นเวลา 129 วัน มีดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดเป็นเงิน 13,217.21 บาท
  3. หลังจากฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2555 จนถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 ให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงินต้น 500,000 บาท
  4. ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 ให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี บวกอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 2 จากเงินต้น 500,000 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net