Skip to main content
sharethis

กก.พิจารณาภาพยนตร์มอง‘ภาพยนตร์’ ในไทยมีสถานะเป็นอุตสาหกรรมรัฐจึงต้องเข้ามากำหนดมาตรฐานด้านนักวิชาการนิติศาสตร์ชี้จำกัดเสรีภาพสื่อได้ แต่ต้องชัดและถือหลักความได้สัดส่วน แนะต้องสู้เพื่อขยับเพดานเสรีภาพ-ยกเลิกการแบน-รวมกลุ่มคนทำหนัง พร้อมฟังผู้กำกับหนังที่ถูกแบนเล่าประสบการณ์ เชคสเปียร์ต้องตาย ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ 2.2 และหนังสั้นกำเนิดหอยทากทองจนถึงMV ประเทศกูมี

 


จากซ้ายไปขวา ธีระวัฒน์ รุจินธรรม, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, สุรศักดิ์ ป้องศร, มานิต ศรีวานิชภูมิ, พระชาย วรธัมโม, กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน, สาวตรี สุขศรี, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 

8 ธ.ค.2561 วานนี้ที่ ห้องออดิทอเรียมชั้น 5หอศิลปวัฒนธรรมแหงกรุงเทพมหานคร สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ร่วมกับ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดเสวนาหัวข้อ "กู้อิสรภาพหนังไทย"โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน นักวิจารณ์ภาพยนตร์และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง เชคสเปียร์ต้องตายสุรศักดิ์ ป้องศร ผู้กำกับไทบ้าน เดอะซีรี่ส์ พระชาย วรธัมโม นักเขียนและนักเคลื่อนไหว จุฬญาณนนท์ ศิริผล ผู้กำกับหนังและศิลปิน และ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับเอ็มวีเพลงประเทศกูมี ดำเนินการเสวนาโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับ Insect in the Backyard

 

พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯปี51 สู่การจัดเรตที่แอบแทรกแบนหนัง

 

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ย้อนไปช่วงแรกตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยนำหนังเข้ามาฉาย ค่อนข้างมีเสรี ไม่ค่อยถูกควบคุม แต่พอเริ่มมีความตึงเครียดด้านการเมือง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 ฉบับแรก ประกาศใช้ รัฐรู้สึกว่าหนังมีอิทธิพลที่จะปลูกฝังหรือกล่อมเกลาคนในสังคม รัฐมองหนังว่าค่อนข้างอันตราย จึงมีการคุมค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การผลิตหนังต้องส่งให้กองตรวจก่อน ซึ่งเป็นกรมตำรวจ คุมกระทั่งการฉาย การทำพีอาร์ ต่อมาจะออกมาคุมพวกวัสดุอุปกรณ์เทปโทรทัศน์ด้วยในช่วงปี 2530 หลังจากนั้นอุตสาหกรรมหนังและวงการหนังเริ่มอยากเปลี่ยนแปลง เริ่มมีการเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการควบคุมหนัง สิ่งที่เรียกร้องคือการจัดประเภทหนัง มีการช่วงร่าง พ.ร.บ. โดยคนในวงการ แต่พอเข้าไปสู่คณะกรรมการก็ออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง กลายเป็นว่าปี 2551 พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ยอมรับการจัดประเภทหนัง แต่แทรกมาตรการแบนหนังกลับมาเหมือนเดิม และคณะกรรมการสามารถสั่งให้ตัดทอนหนังได้ หากไม่ตัดก็จะไม่ได้ฉาย แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่เปิดกว้างพอ

 

ชี้ ‘ภาพยนตร์’ มีสถานะเป็นอุตสาหกรรม รัฐต้องเข้ามากำหนดมาตรฐาน

 

กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน นักวิจารณ์ภาพยนตร์และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ อธิบายว่า ทำไมเราต้องมีการพิจารณาภาพยนตร์โดยคณะกรรมการจากภาครัฐ อาจต้องแบ่งก่อนว่าภาพยนตร์มีสถานะ 3 อย่าง แต่ละประเทศรับรองสถานะหนังต่างกัน1.) มีสถานะเป็นศิลปะ ในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี สวีเดน ถือหนังเป็นศิลปะ เพราะฉะนั้นจะไม่มีการควบคุมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการเซ็นเซอร์ เพราะถ้าควบคุมก็ไม่ใช่ศิลปะ แต่เจ้าของหนังก็จัดเรตหนังตัวเองเพื่อความสะดวกในการฉายต่างประเทศ  2.) มีสถานะเป็นสื่อมวลชน เช่นกันคือรัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวควบคุม ให้จัดการกันเอง อย่างเมืองไทยคือสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ซึ่งแม้แต่ กสทช. ก็ไม่มีสิทธิไปเซ็นเซอร์ ซึ่งตอนนี้สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยก็พยายามเรียกร้องให้ภาพยนตร์มีสถานะเป็นสื่อ 3.) มีสถานะเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งภาพยนตร์ไทยได้ถูกยกให้เป็นอุตสาหกรรมตั้งแต่ประมาณปี 2530 ซึ่งเงื่อนไขคือภาครัฐต้องให้การส่งเสริมเหมือนอุตสาหกรรมทั่วไปที่เรียกว่า บีโอไอ แต่ขณะเดียวกันต้องมีมาตฐานสากลกำหนดโดยภาครัฐ สำหรับหนังก็คือการจัดเรตติ้ง นี่คือเหตุผลว่าทำไมภาครัฐยังจำเป็นต้องมีการพิจารณาภาพยนตร์

“พ.ร.บ. ภาพยนตร์ พ.ศ.2551ที่เขาบอกว่ารับๆไปก่อนแล้วค่อยแก้ สิบปีก็ยังไม่ได้แก้ ผมเป็นคณะกรรมการภาพยนตร์ 7 ปี มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไข ทำประชาพิจารณ์เสร็จ แต่เรื่องถูกเก็บไว้ จนกระทั่งผมออกมา ฉบับที่ผมไปช่วยแก้ มันล้าสมัยไปแล้ว พอผมออกก็มีการร่างใหม่คือร่างปีที่แล้ว ร่างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการพิจารณา แต่เท่าที่พบคือแก้ใหม่แล้วก็ยังคงปัญหาเดิมๆ” กิตติศักดิ์กล่าว

 

เมื่อภาพยนตร์คืออุตสาหกรรม กลุ่มทุนจึงได้ประโยชน์

 

กิตติศักดิ์กล่าวว่า คนในวงการยังไม่ยอมให้ภาพยนตร์ซึ่งตอนนี้มีสถานะเป็นอุตสาหกรรมเปลี่ยนสถานะเป็นสื่อหรือศิลปะ เพราะนั้นหมายความว่าสิ่งที่เคยได้จากรัฐ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็จะหายไป ยกตัวอย่างเช่น ช่องสามจะปลดพพนักงาน ถ้าภาพยนตร์เป็นสื่อ รัฐก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้เลย

มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างหนังเชคสเปียร์ต้องตาย กล่าวว่า กลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ด้านบีโอไอไม่ต้องการจะขยับไปเป็นสื่อ มันมีความขัดแย้งกันอยู่ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างกลุ่มทุนกับคนทำหนัง แต่ต้องตั้งคำถามว่าท้ายสุดสิ่งที่เราได้จากรัฐมันคุ้มไหมกับการขาดเสรีภาพของคนทำหนัง เพราะสุดท้ายคนได้รับผลประโยชน์คือคนกลุ่มเก่าๆ ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด คนกลุ่มใหม่ๆก็ยังจะไม่ได้รับผลประโยชน์

 

กก.อาศัยดุลยพินิจ วิจารณญาณ และบริบทของหนัง ในการพิจารณา

 

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถาม ถ้าเช่นนั้นขอบเขตและดุลยพินิจของคณะกรรมการจะมีมากน้อยแค่ไหน คณะกรรมการมี 5 ชุด มีวิจารณญาณไม่เท่ากัน มาตรฐานอยู่ตรงไหน การทำหนังเรื่องหนึ่งเราต้องวัดดวงว่าจะได้คณะกรรมการชุดไหนหรือไม่

กิตติศักดิ์ตอบว่า กฎกระทรวงออกมาว่าเรตนี้ทำอะไรได้บ้าง แต่เวลาพิจารณาก็ต้องดูบริบทโดยรวมอื่นๆเช่น ตามกฎกระทรวง ถ้าเห็นอวัยวะเพศจะเข้าเรต 15+แต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีภาพยนตร์ที่นำมาเข้ากองพิจารณาภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เห็นอวัยวะเพศเต็มที่ และมีฉากการปราบปรามนักศึกษาด้วย ก็ได้เรต 15+ส่วนวันอังคาร ภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นผู้หญิงเปลือยหมดเหมือนกัน ได้เรต 13+ ถ้าเอาตามตัวบทต้องได้เรต 15+แต่โดยดุลยพินิจคณะกรรมการเห็นว่าไม่ได้รุนแรง ไม่ได้โจ่งแจ้ง จึงได้เรต 13+

กิตติศักดิ์ยกตัวอย่างอีกเรื่องคือ  Operation Mekong (2016)มีประเด็นที่เกี่ยวกับยาเสพติดในเมืองไทยซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก มีคนแอบไปดูมาก่อนจากต่างประเทศ แล้วกลายเป็นกระแสว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เมืองไทยเสื่อมเสีย นายกฯ ก็พูดว่า ถ้ามันทำให้เมืองไทยเสื่อมเสีย ตนจะเป็นคนแบนเอง ปรากฎหนังเรื่องนี้ส่งเข้าไทยมาจริงๆ เข้าคณะกรรมการที่ไม่ใช่ชุดผม หนังเรื่องนี้ได้เรต 15+ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นจะเอากระแสสังคมวัดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยวิจารณญาณ บริบทหลายอย่างที่ช่วยในการพิจารณาประเด็นต่อมาเรื่องมาตรฐานของคณะกรรมการ คณะกรรมการทุกชุดมีการสัมมนากันทุกปี เพื่อปรับให้มาตรฐานใกล้เคียงกันมากสุด

“ตอนนี้คณะกรรมการมี 5 ชุด ชุดหนึ่งมี 7 คน ภาครัฐ 4 คน เอกชน 3 คน และประธานต้องเป็นภาครัฐ ผมเคยเสนอเมื่อ 3-4 ปีก่อน ว่าให้สมาคมผู้กำกับไปต่อรองว่าขอเพิ่มภาคเอกชนอีก 1 คน ภาครัฐลดไป 1 คน แล้วขอสิทธิเสนอชื่อคณะกรรมการเพราะตอนนี้เกิดจากการสรรหาของกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเดียว ปรากฎมีการรายชื่อเสนอเข้ามา มีชื่อ เช่น ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์หนัง ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์โสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์หนังอิสระ แต่แล้วพอประกาศมาจริงๆ รายชื่อเหล่านี้หายไปไหนไม่รู้” กิตติศักดิ์กล่าว

 

นักวิชาการชี้จำกัดเสรีภาพสื่อได้ แต่ต้องชัดและถือหลักความได้สัดส่วน

 

สาวตรี กล่าวว่า ประเด็นต่อมาเรื่องเสรีภาพทางความคิด เป็น absolute rights เป็นเรื่องที่อยู่ข้างใน จะรักใคร ชอบใคร เชื่ออะไร รัฐจะออกกฎหมายมาจำกัดไม่ได้ เรียกมาปรับทัศนคติก็เท่านั้น แต่เสรีภาพสื่อซึ่งเป็นซับเซตของเสรีภาพแสดงออก บางครั้งแสดงออกแล้วจะไปกระทบอะไรบางอย่าง จึงต้องมีการจำกัดขอบเขต

รัฐไทยมีการจำกัดขอบเขตเสรีภาพการแสดงออกอะไรบาง ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 4 เรื่อง คือ แสดงออกแล้วไม่ขัดความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่ขัดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและชื่อเสียงของบุคคลอื่น และไม่กระทบหรือสร้างความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชน อันนี้เป็นกรอบกว้างๆ แต่ถ้าจะจำกัดก็ต้องไปออกกฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่น พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ พ.ร.บ. คอมฯ ตามหลักต้องกำหนดชัดเจนว่าจะแบนเรื่องอะไร เช่น ขัดศีลธรรม มีเรื่องอะไรบ้าง คนทำงานและประชาชนจะได้รู้ มั่นใจว่าสิ่งที่แสดงออกมันทำได้หรือไม่ได้ แต่อย่าไปเขียนว่าเป็นดุลยพินิจ เพราะมันจะสร้างความไม่ชัดเจนของกรอบ และจะทำให้เสรีภาพถูกจำกัดได้มากขึ้น

ดังนั้นตามหลักการออกกฎหมาย หนึ่ง จำกัดเสรีภาพได้ แต่ต้องชัดว่าจะจำกัดอะไร สอง ต้องยึดถือหลักความได้สัดส่วน ต้องชั่งน้ำหนัก มาตรการความผิดต้องสอดคล้องกับความเสียหาย เช่น หากหมิ่นประมาท ก็มีโทษทางอาญา ทางแพ่ง หรือเมื่อแสดงความคิดเห็น ล่วงละเมิดพื้นที่ส่วนบุคคล เขาฟ้องร้องค่าเสียหาย ก็ต้องรับผิด

สาวตรี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการพรีเซ็นเซอร์มี 2 อย่างคือ ภาพยนตร์กับโทรทัศน์ คณะกรรมการสามารถสั่งให้ตัดฉากใดออกได้ ซึ่งนานาประเทศไม่ทำกัน เพราะการพรีเซ็นเซอร์ตรวจสอบไม่ได้ กระทบเสรีภาพค่อนข้างมาก ไม่ได้สัดส่วน ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจคณะกรรมการไม่ได้เลย ยิ่งโดยเฉพาะภาพยนตร์ซึ่งเป็นการฉายในวงจำกัด ถ้าจะบอกว่ามันเสียหายหรือกระทบต่อคน มันกระทบแค่วงจำกัด แต่การตัดหรือจำกัดสิทธิเขาเลย คือความไม่ได้สัดส่วน เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพการแสดงออก รัฐออกกฎหมายจำกัดได้ แต่ถ้าอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยต้องออกกฎหมายให้ได้สัดส่วน

ดังนั้นถ้าเป็นการโพสต์เซ็นเซอร์แทน คือถ้าผิดค่อยจัดการ ถ้าเผยแพร่ภาพลามก ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แบบนี้ผู้สร้างก็จะเข้าใจว่าหากเผยแพร่อะไรผิดกฎหมายก็จะมีกลไกจัดการ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐว่าที่จะมาจำกัดว่าอย่าเผยแพร่

 

สู้เพื่อขยับเพดานเสรีภาพ สู้ทางกฎหมาย-ยกเลิกการแบน-รวมกลุ่มคนทำหนัง-สร้างไวรัล-ทำให้เป็นข่าว

 

สำหรับประเด็นเรื่องการต่อสู้นั้น สาวตรีเห็นว่าถ้าเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เรานำเสนอมันตอบโจทย์เรา เราต้องการวิพากษ์สังคม การเมือง ศาสนา ความหลากหลายทางเพศ หรืออะไรก็ตาม แล้วเราถูกใช้อำนาจโดยไม่ชอบ สิ่งที่เราทำได้คือ หนึ่ง-การต่อสู้โดยกฎหมาย สู้ทางศาลปกครอง เพราะการกระทำคณะกรรมการเป็นการกระทำทางปกครอง แต่ทั้งนี้การฟ้องคดีมีต้นทุน แต่ถ้าเราคิดจะยืนหยัด ก็ต้องสู้ ทางสมาคมหรือองค์กรอาจต้องมีกลุ่มที่ให้การสนับสนุนการใช้สิทธิในทางศาล สมาคมอาจต้องอออกหน้า มีกองทุนในการจ้างทนายความ ถ้าศาลตัดสินแล้วมีผลในวงกว้าง สามารถขยับเพดานเสรีภาพได้ก็จะเป็นเรื่องดี

สอง-ต้องยืนยันเรื่องการแก้กฎหมาย ต้องทำให้ไม่มีการแบน และต้องแก้เรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการ ต้องเอาคนของวงการภาพยนตร์เข้าไป ยกตัวอย่างที่อเมริกา คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ไม่มีรัฐเกี่ยวข้อง ให้สมาคมต่างๆ กำกับดูแลกันเอง และรัฐคอยดูห่างๆ ไม่ใช่ผู้ตัดสิน

สาม-ต้องมีการรวมตัว ตอนนี้เรามีความคิดว่า ถ้าคนอื่นโดนเราไม่โดนก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เรามองเป็นเรื่องไกลตัว เราไม่ได้มองว่านี่คือสิทธิเสรีภาพในภาพรวม เพราะฉะนั้นสังคมถึงไม่ไปไหน ประชาชนบางคนถูกเข้าค่ายทหาร บางคนถูกจำคุกโดยที่ข้อหาไม่ชัดเจน ทุกคนก็มองว่าไม่ใชปัญหาของฉัน ฉันไม่โดน ทุกคนไม่มองว่าวันหนึ่งอาจจะเป็นเราที่โดน ถ้าเราคิดแบบนี้ รวมตัวกัน พลังการต่อรองจะมากขึ้น เพราะเป็นกลไกของผู้ใช้อำนาจรัฐ ถ้าคนอยู่ภายใต้ยอมสยบ วันนี้ไม่ใช่เรา วันหน้าก็อาจเป็นเรา

สี่-ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้บางครั้งเราแทบไม่ต้องต่อสู้ เช่นกรณี ‘ประเทศกูมี’ รัฐออกมาโวยวาย คนดูยิ่งเยอะ หรือคุณปิดฉากพระร้องไห้เคาะโลงในหนังไทบ้าน แต่เราได้ดูฉากนั้นก่อนหนังฉายอีก ยิ่งคุณตีข่าวให้เขา ก็เท่ากับคุณพีอาร์ให้เขา ปัจจุบันยิ่งปิดยิ่งเปิด หน้าที่ของรัฐคือปรับตัวเถอะ เลิกใช้พรีเซ็นเซอร์ได้แล้ว ให้เขาใช้เสรีภาพแล้วรับผิดชอบเอง สิ่งที่ตามมาคือประชาชนมีวิจารณญาณสูงขึ้น ถ้าคุณปิด วิจารณญาณก็ไม่โต อุตสาหกรรมหนัง เอ็มวีก็ไม่โตตามไปด้วย ทั้งหมดนี้เราร่วมสู้ด้วยกันได้เพื่อการบังคับกฎหมายที่ดีขึ้นในอนาคต

ห้า-รุมทำข่าว ทำให้เป็นข่าว สุดท้ายคุณอยากจะปิดปากใครมันจะกระจายไปเอง แต่หมายความว่าประชาชน สื่อ ต้องให้ความสนใจ ประจานการทำงานที่ไม่ชอบธรรม การใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย

“มีทางเลือกให้เราสู้เยอะ ไม่จำเป็นต้องสู้หลายทาง สู้ทางใดทางหนึ่ง และขอเป็นให้กำลังใจผู้ทำสื่อทำศิลปะว่าทำเถอะ มันเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เรานักวิชาการพูดกัน” สาวตรีกล่าว

 

ไทบ้านโดนแบน แต่ได้ฉายหลังยอมตัดฉากออกเหตุคำนึงถึงธุรกิจ

 

สุรศักดิ์ ป้องศร ผู้กำกับไทบ้าน เดอะซีรี่ส์เล่าถึงประเด็นที่ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ 2.2 โดนแบนว่า หนังเรื่องนี้ในภาค2ต้องการพัฒนาคาแรกเตอร์ให้โตขึ้นและมีหลายมิติมากขึ้นโครงเรื่องของคือคนที่อกหักเพราะแฟนเขาไปแต่งงานกับคนอื่น เขาก็ตั้งใจไปบวชเพื่อลืมผู้หญิงคนนั้นซึ่งจริงๆ ตอนภาค 2.1 ก็มีฉากพระไปจับมือสีกา ซึ่งเป็นบริบทที่ตั้งใจจะสื่อว่าถ้าพระรู้สึกเสียใจการทำแบบนี้ก็เป็นปฏิกิริยาของมนุษย์ปกติคนหนึ่ง แต่ภาคนั้นไม่มีปัญหาอาจเพราะเป็นคณะกรรมการคนละชุด แต่พอภาค 2.2ความตั้งใจของตนที่ออกแบบซีนนั้น (ซีนพระร้องไห้เคาะโลง) คือต้องการให้คนดูเหนือความคาดหมาย

“ที่โดนแบน ต้องโทษเราด้วย เราส่งไฟล์ช้า ยุคนี้เราต้องระบุก่อนว่าเราจะเข้าฉายวันไหนก่อน พอระบุ เรายังทำหนังไม่เสร็จเราต้องเร่งทำหนัง พอเราส่งไฟล์ช้า คณะกรรมการก็ตรวจช้า คือตรวจวันที่ 19 พ.ย.พอวันที่ 20 ก็เป็นรอบสื่อแล้วพอหนังไม่ผ่าน ต้องตัดฉากนั้นออก ตอนแรกเราก็เจรจาอ้างเรื่องความเป็นมนุษย์แต่เขาให้เหตุผลว่ามันจะกระทบต่อศีลธรรมอันดีงาม ทำลายภาพลักษณ์ของศาสนา แม้เราจะพยายามขอว่าฉากนี้สำคัญมาก ยอมเป็น 20+ ก็ได้เพราะถ้าพูดกันตามโครงสร้างบทมันคือจุดตกต่ำที่สุดของตัวละคร (falling action)มุมมองนักเล่าเรื่องเราไม่อยากให้ตัดการตัดออกทำให้หนังชะงัก ไม่สมบูรณ์ แต่มุมมองนักธุรกิจ ไม่ตัดจะมีผลเสียมากกว่าผลดี สุดท้ายเราก็ยอมตัด เพราะเราวิเคราะห์กันแล้วว่าผลกระทบเยอะเราอิงกับความเป็นจริง เราต้องการใช้เงิน เราไม่ได้อินดี้ขนาดนั้น” สุรศักดิ์กล่าว

สุรศักดิ์เล่าต่อว่า หลังจากนั้นก็เร่งตัดใหม่ แล้วเอาตัวที่ตัดใหม่เสนอเข้าไป แม้เขาจะไม่ได้ห้ามให้เอาตัวเก่าเสนอ แต่กลัวว่าถ้าเอาตัวเก่าไปเสนอไม่มีอะไรรับประกันว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน อาจจะถูกเลื่อนฉายออกไปอีก

ขณะที่ กิตติศักดิ์กล่าวเสริมว่า การพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้คือความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดที่ตนอยู่ แต่บังเอิญวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนติดธุระจึงไม่ได้เข้าร่วม

“มีอีกซีนที่ไม่มีใครพูดถึง เป็นซีนที่เด็กไปบอกพระว่าแฟนตาย ตอนนั้นพระนั่งอยู่ในวัด พอรู้ว่าแฟนตาย พระรีบออกจากวัด จีวรหลุดลุ่ย พอไปถึงก็จับมือสีกาถามหาแฟน แต่ไม่มีใครพูดถึงซีนนี้ ซึ่งคิดว่าตรงนี้คณะกรรมการก็ไม่ได้พูดถึง ปล่อยให้ผ่าน เพราะตอนนั้นทุกคนเห็นว่าพระคือคน พระช็อคที่แฟนตาย เพราะฉะนั้นพระลืมความเป็นพระแล้ว เขาวิ่งออกไปด้วยความเป็นคน จีวรหลุด มันบอกว่านี้ไม่ใช่พระแล้ว ซึ่งเป็นฉากที่ดีมาก ส่วนซีนที่มีปัญหา คนที่มีปัญหาเขาอธิบายให้ผมฟังว่าตอนนั้นพระเป็นพระ พระกำลังปฏิบัติกิจของสงฆ์ พระไม่ควรแสดงความเป็นคนออกมาในลักษณะนั้น” กิตติศักดิ์กล่าว

พระชาย วรธัมโม นักเขียนและนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า เห็นฉากพระร้องไห้ในหนังทำให้นึกถึงตัวเองหลายปีก่อนที่ร้องไห้ตอนพ่อเสีย แต่ตอนนั้นตนปิดประตูร้องไห้

พระชายเห็นว่าศาสนาควรเป็นสิ่งที่ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ได้ คำสอนเรื่องกาลามสูตรของศาสนาพุทธสอนหมดว่าอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเชื่อเพราะได้ยินกันมา อย่าเชื่อเพราะเป็นอาจารย์ หรือแม้กระทั่งอย่าเชื่อเพราะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งศาสนาอื่นไม่มีคำสอนทำนองนี้แปลว่าศาสนาพุทธนั้นตั้งคำถามได้ แปลว่าเราสามารถใส่อะไรลงไปก็ได้ แต่สังคมก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์กัน จึงจะเกิดความรู้ เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องใดที่คุณถูกปิดไม่ให้พูดถึงเรื่องนั้นคุณก็จะโง่

“เราเป็นพระสอนเรื่องเพศด้วย อันหนึ่งที่เห็นปรากฎการณ์คือไทยเป็นประเทศเอเชียอันดับต้นๆ ที่มีเรื่องตั้งท้องในโรงเรียน เพราะหลักสูตรไม่ได้บรรจุเรื่องเซฟเซ็กส์พอเกิดเหตุแบบนี้ก็ยังคงไม่แก้แบบเรียนนี่คือตัวอย่างว่าสิ่งใดที่เราถูกปิดบังเราก็จะโง่สรุปเราอยู่ในประเทศที่อะไรก็แปลกๆ ตอนเรียนต้องไว้ผมเกรียน โตขึ้นมาอยากแต่งงานกับเพศเดียวกันก็ไม่ได้ หรืออยากดูหนังก็ถูกตัด เราเห็นอวัยวะเพศของเราตลอดตอนที่เข้าห้องน้ำ แต่เราเห็นอวัยวะเพศศบนจอไม่ได้หรือ” พระชายกล่าว

สาวตรีกล่าวว่า ต้องแบ่งก่อนว่า หนังที่พูดถึงพระหรือพฤติกรรมของนักบวชในศาสนาต่างๆจริงๆ เป็นคนละอย่างกับความเชื่อทางศาสนา นักบวชกับศาสนาไม่เหมือนกัน  การพูดถึงนักบวชไม่ใช่การแตะศาสนา และประเทศนี้ถ้าเราบอกว่าเราเป็นเสรีประชาธิปไตย ศาสนา ศาล ก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้หมด

 

สู้‘คดีแบนเชคสเปียร์ต้องตาย’ เพื่อความเป็นภาพยนตร์ที่สมบูรณ์

 

มานิต กล่าวว่าปีนี้เข้าปีที่ 7 สำหรับการถูกแบนหนังเรื่องเชคสเปียร์ต้องตายและการต่อสู้คดี โดยตนยืนยันที่จะไม่ตัดฉากที่เป็นปัญหาออก กรณีตนอาจต่างกับสุรศักดิ์ ผู้กำกับไทบ้านเดอะซีรี่ส์ที่มีปัจจัยเรื่องธุรกิจที่ต้องคำนึง แต่ตนไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นนั้น สิ่งที่คำนึงคือตนต้องพิทักษ์สิทธิของความเป็นภาพยนตร์ที่สมบูรณ์และยืนยันเรื่องเสรีภาพในการทำภาพยนตร์

“คณะกรรมการจะให้เปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ ฉากที่เราโดนแบนคือฉากที่เราอ้างอิงกับ 6 ตุลา คณะกรรมการอ้างว่าบางฉากยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศผมก็ต่อสู้ว่า ในคนสามารถดูฉาก 6 ตุลาได้เต็มไปหมดในอินเตอร์เน็ต แต่ทำไมถึงจะดูในภาพยนตร์ไม่ได้ และสำหรับผมฉากความยาว 2 นาทีนี้เป็นฉากที่สำคัญ และในกรณีหนังเรื่องนี้ บอกชัดเจนว่าเป็นประเทศสมติ แต่คณะกรรมการบอกว่าหนังพูดภาษาไทย ดังนั้นเป็นประเทศไทย ผมคิดว่าคณะกรรมการไม่มีสิทธิจะมาบอกว่าจะให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วคุณก็ทำลายศิลปะของการทำภาพยนตร์ของเขา แล้วคุณจะให้ยอมรับเหตุผลของคนไม่มีเหตุผลแบบนี้เหรอ ผมอยากใช้เคสนี้เป็นการต่อสู้เพื่ออย่างน้อยที่สุดถ้าคณะกรรมการจะได้ใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวังมากขึ้น” มานิตกล่าว

มานิตเสนอว่า สมาคมผู้กำกับควรมีส่วนในการเข้าไปตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์นอกจากนี้หากยังไม่สามารถแก้ พ.ร.บ. ได้ เราสามารถพักใช้การห้ามฉายได้หรือไม่ อาจจะทำให้รัฐไม่ได้รู้สึกว่าเราหัวชนฝา หรือการแก้กฎกระทรวงทำได้ง่ายกว่า ก็อาจแก้ที่กฎกระทรวงก่อน

มานิตกล่าวต่อว่า หลังจากนั้นได้ทำหนังเรื่องเซ็นเซอร์ต้องตาย ซึ่งเป็นเรื่องการแบนหนังของคณะกรรมการ จากนั้นได้ส่งไปให้คณะกรรมการพิจารณาซึ่งคณะกรรมบอกว่าไม่รับพิจารณา เพราะเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง ตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ พ.ศ. 2551 มาตรา 27(1) ภาพยนตร์ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต้องผ่านการเซ็นเซอร์ แต่หลังจากนั้นเมื่อมีการเสนอให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ คณะกรรมการสุพรรณหงส์บอกว่าไม่สามารถให้ผ่านเข้าชิงได้เพราะไม่ผ่านการเซ็นเซอร์

“สิ่งนี้ทำให้ผมรู้ว่าคนในวงการไม่เข้าใจอะไรเลยถึงสิทธิของตัวเอง เราต้องสู้อย่างโดดเดี่ยวเพราะเราไม่รวมตัวกัน เป็นเอกก็ยอมตัดสารคดีเพื่อที่จะได้ฉายโดยไม่ได้มาดูเคสของผมถ้าเรายังไม่รวมตัวอย่างจริงจัง แล้วเราปล่อยให้ทุนร่วมมือกันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็จะไม่โต เพราะกลุ่มทุนก็พอใจกับกฎหมายที่ไม่ให้เสรีภาพแต่เขาอยู่ได้ เขาก็โอเค” มานิตกล่าว

 

‘กำเนิดหอยทากทอง’ หนังสั้นที่ถูกแบนจากงานไทยแลนด์เบียนเนเล่

 

จุฬญาณนนท์ ศิริผล ผู้กำกับหนังและศิลปินเล่าถึงประสบการณ์การถูกแบนหนังในงาน ‘ไทยแลนด์เบียนเนเล่’ที่จังหวัดกระบี่ว่า ตนได้สมัครเข้าโครงการและได้รับเลือก ซึ่งทางโครงการมีทุนให้สำหรับทำผลงาน และตนได้เสนอผลงานเป็นภาพยนตร์สั้นชื่อ ‘กำเนิดหอยทากทอง’ ถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ 16 มม. ไม่มีเสียง และวางแผนจะฉายด้วยเครื่องฉาย 33 มม. พอทำหนังเสร็จก็ส่งให้คณะกรรมการของเบียนเนเล่ดู ซึ่งทางคณะกรรมการตอบกลับมาว่ามีปัญหาบางฉาก เช่น ซีนที่ถ่ายให้เห็นเรือนร่างผู้หญิงแล้วมีหอยทากเดินอยู่ โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่าคนในพื้นที่ส่วนมากเป็นมุสลิมอาจออกมาต่อต้านได้ อาจทำให้เสียภาพลักษณ์กระทรวงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งตนได้ปฏิเสธในฐานะศิลปิน และได้เสนอที่จะเปิดพับลิกทอล์คเชิญผู้จัดงาน ศิลปิน คนในพื้นที่ มาคุยร่วมกัน แต่พับลิกทอล์คก็ไม่เกิดขึ้น

ต่อมาจุฬญาณนนท์ได้รับจดหมายว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดีตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ มาตรา 29 จึงเป็นข้อสงสัยว่า หนึ่ง- พ.ร.บ. นี้ คณะกรรมการของเบียนเนเล่มีอำนาจในการใช้ด้วยหรือไม่ สอง-งานชิ้นนี้เป็นภาพยนตร์ก็จริงแต่อยู่ในบริบทของงานศิลปะ เราจะมองได้มั้ยว่างานชิ้นนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์แต่เป็นศิลปะ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถใช้มาตรา 29 ได้ สาม-จะสามารถนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายในตอนนี้ที่อื่นได้ไหม

และล่าสุดจุฬญาณนนท์ชี้แจงว่า ได้มีการประกาศรายชื่อศิลปินที่อยู่ในเบียนเนเล่โดยที่ชื่อของตนถูกตัดออกไป พอถามหน่วยงาน หน่วยงานก็ถูกบอกว่าอาจจะถูกตัดออก และจะไม่ยอมจ่ายเงินงวดสุดท้ายที่ติดค้างอยู่ด้วย ตอนนี้จึงกำลังพิจารณาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“ในฐานะศิลปินเรามีความกลัวเยอะที่จะนำเสนออะไรที่ท้าทายขอบเขตเสรีภาพและการแสดงควาคิดเห็น แต่ในฐานะคนทำงานศิลปะเราต้องมีความกล้าพอที่จะผลักดันเพดานจำกัดนี้ให้ออกไปในมิติต่างๆ มันมีแรงกดดันเสมอจากทั้งภายนอก จากรัฐ จากคนรอบตัวเอง สุดท้ายดูเหมือนเราจะสุ้อยู่คนเดียว แต่เราคิดว่าการต่อสู้เราจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ไม่ใช่แค่วงการหนังแต่รวมถึงวงการอื่นๆด้วย” จุฬญาณนนท์กล่าว

สาวตรีกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์นั้นมี 2 มาตราที่ซ้อนทับกันอยู่ แต่ผลเหมือนกันคือฉายไม่ได้ตราบใดที่ไม่ตัดสิ่งที่เขาต้องการออก เมื่อถามว่าหนังสั้นจำเป็นไหมที่ต้องส่งเข้าตรวจสอบ หากตามมาตรา 27 ไม่ต้องส่งตรวจ แต่กรณีนี้คือรัฐให้เงินเราเอาไปสร้าง แต่แน่นอนว่าใช้อำนาจตามมาตรา 29 ไม่ได้ แต่เข้าใจว่าคณะกรรมการเบียนเนเล่ใช้แนวทางตามมาตรา 29 แต่ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 29หรือหากพูดง่ายๆ คือ เขาเป็นคนให้ทุน ถ้าเขาไม่โอเคเขาก็ไม่ให้ฉาย เขาไม่ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. แต่ใช้ตามอำนาจผู้จัดงาน ดังนั้นถ้าเราจะฟ้องก็ต้องฟ้องเรื่องผิดสัญญา ซึ่งต้องไปดูตามข้อสัญญา

 

ผู้กำกับเอ็มวีประเทศกูมี สะท้อนต้องยืนยันเสรีภาพถึงจะมีศิลปะ

 

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับเอ็มวีประเทศกูมี กล่าวว่า ตอนที่ทำเอ็มวีมีธงชัดเจนว่าต้องการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นงานที่ทำด้วยวาระทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือไวรัลไปได้เร็วมาก ยิ่งมีข่าวว่าจะฟ้อง พ.ร.บ. คอม ข้อหานำเข้าข้อมูลเป็นเท็จ คนก็ยิ่งอยากดู ภาพที่ออกมาอาจรุนแรงในความรู้สึกคนดูและเจ้าหน้าที่รัฐ มีถึงการกล่าวหาว่าทำร้ายประเทศ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ หรือมีคนบอกเอาเหตุการณ์คนไทยทำร้ายกันเองมาแสดงได้ไง แต่ตนไม่ซีเรียส

“ผมมองต่าง สังคมไทย ทุกสังคมในโลกเปลี่ยนไปทุกวัน ไม่หยุดนิ่ง ยิ่งในห้วงเวลานี้ สังคมไทยเปลี่ยนเยอะ เป็นเหตุผลให้คณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนรัฐ กลัวนั่นกลัวนี่ไปหมด เมื่อมีโลกโซเชียลเข้ามา มันปิดไม่ได้ คนทั่วไปรู้หมดว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราอาจเห็นภาพความปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นแค่ช่วงนี้ สังคมไทยมันไม่หยุดนิ่งอยู่แค่นี้ มันปะทะกันระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ แต่ศิลปะจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเสรีภาพ ถ้าไม่มีคุณจะทำงานศิลปะไปทำไม คุณต้องยืนยันตรงนี้ก่อน ต้องอยู่ในสังคมมีเสรีภาพ แต่ประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ ศิลปินนก็ต้องมีความกล้าบ้าง ไม่ใช่หลบซ่อนอย่างเดียว” ธีระวัฒน์กล่าว

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net