Skip to main content
sharethis

บอร์ดภาพยนตร์มติ 18 : 4 ไม่อนุญาตให้ 'เชคสเปียร์ต้องตาย' ฉายในประเทศ ขณะที่ “อภินันท์ โปษยานนท์” เสียดายคนไทยไม่ได้ดู เผยเสียดายความงดงามของหนัง พร้อมเสนอให้แก้กฎหมายภาพยนตร์ ขณะที่ ผู้สร้างเล็งอัดรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้เสรีภาพการนำเสนอ ฟ้องศาลปกครอง และอาจดื้อแพ่งฉายแล้วรอให้ตำรวจมาจับ

11 พ.ค. 55 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งได้มีการพิจารณากรณีภาพยนตร์ เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ของนายมานิต ศรีวินิชภูมิ ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์ ภายหลังบอร์ดภาพยนตร์ฯ คณะที่ 3 มีมติไม่อนุญาตให้ฉาย โดยนางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ มีมติยืนยันตามมติคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย ฉายในประเทศ โดยลงมติไม่ให้ฉาย 18 : 4 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไปทางผู้จัดสร้างภาพยนตร์มีสิทธิที่จะดำเนินการทางกฎหมาย โดยสามารถร้องศาลปกครองภายใน 90 วัน

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดวธ.ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการแปลบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเนื้อเรื่องของบทประพันธ์เชคสเปียร์ เมื่อ 400 ปีที่แล้วมาเป็นภาษาไทยมีอรรถรส วาทะที่นำเสนองดงาม มีการสอดแทรกสิ่งที่แสดงถึงศิลปะร่วมสมัยของไทย มีความยาว 173 นาที โดยทางคณะกรรมการภาพยนตร์ ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ และลงมติ ไม่อนุญาตให้ฉาย เพราะคณะกรรมการฯ ได้แจ้งผู้สร้างปรับแก้ในฉากแล้ว แต่ผู้สร้างได้ยืนยันจะไม่มีการตัดทอนใด ทางคณะกรรมการฯ จึงได้ยืนตามมติดังกล่าว 

“ก็ต้องถามต่อว่า เราจะมีเรตติ้งไว้ทำไม รอกันมาหลายทศวรรษแล้ว พอมีเรตแล้วก็ต้องพิจารณาไปตามเรต สะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 ทั้ง 7 เรตติ้งของกระทรวงวัฒนธรรม ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข กรณีของการห้ามฉายนั้น เมื่อคณะกรรมการฯเสนอมาอย่างนั้น ก็ต้องดำเนินตามขั้นตอน ผมได้ชมภาพยนตร์ 2 รอบแล้ว แต่ผมอยากจะเรียนว่า กรรมการหลายท่านได้พูดถึงความงดงามของหนังเรื่องนี้ บางคนที่ไม่ได้ดูก็มีความอยากดู มีการพูดกันต่อว่า ฉากนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีการคิดต่อเติมกันไปด้วย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยและชาวต่างชาติไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้” รองปลัดวธ.กล่าว

ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ นั้น การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึง แต่เราจะมีคณะอนุกรรมการเรื่องปรับปรุง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ อยู่แล้ว ซึ่งมีตนเป็นประธาน ยืนยันว่า จะต้องนำเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์มาพิจารณาด้วย เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่งแล้วไม่สามารถใช้การ พ.ร.บ.ได้ ก็ควรมีการปรับปรุง แก้ไข ก็ต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะมีเรตติ้งไว้เพื่ออะไร กรณีเรตอายุ 20 ปีขึ้นไป บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีนี้เมื่อมีวุฒิภาวะที่จะดูแล้ว ตนคิดว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็งน่าจะสามารถพินิจพิเคราะห์ได้ว่า อะไรที่ถูกอะไรที่ไม่ถูก จริงๆ แล้ว เราอยู่ในโลกหลังการตายของสตีฟ จ็อบส์ โลกเปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน เราไปขวางกันหรือห้ามสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ มันเป็นการบ่งบอกอะไรบางอย่างในฐานะของตนที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ รู้สึกอึดอัดพอสมควร เพราะยังไงก็ตามต้องเคารพมติของบอร์ด

ด้านนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้สร้างภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย กล่าวว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างหนึ่งปัญหาของสังคมไทย ในเรื่องของประชาธิปไตย เราไม่สามารถที่จะทำหนังที่มีคุณภาพ หรือสะท้อนสังคมไทยได้ เมื่อทำแล้วเราจะประสบชะตากรรมอย่างนี้ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้หนังไทยมีคุณภาพ พอมีคุณภาพเราก็ไม่ให้พื้นที่แสดงออก การแบนสะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่ก้าวพ้น การดูหมิ่นผู้ชม ดูหมิ่นประชาชน ยังเป็นสังคมที่ล้าหลัง ซึ่งน่าเสียดายที่ วธ.เลือกที่จะทำแบบนี้ แทนที่จะส่งเสริม แทนที่จะสนับสนุน ที่สำคัญกรมหนึ่งส่งเสริม อีกกรมหนึ่งฉุดรั้ง ขัดแย้งกันเองในกรม ตนคิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องไปพิจารณาตัวเอง ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยของท่านคืออะไร เมื่อท่านเรียกร้องให้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่ไม่ให้ประชาธิปไตยคนอื่น เมื่อตนเองมีประชาธิปไตยมีอำนาจ ก็ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า

นายมานิต เปิดเผยด้วยว่าเตรียมฟ้องศาลปกครองและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้รอรับเรื่องนี้อยู่ สุดท้ายอาจจะเป็นการประท้วง การจัดฉาย เพื่อให้มีการถูกจับกุม เพื่อให้เป็นประเด็น ประจานนานาชาติ ว่า ประเทศไทยไม่มีเสรีภาพเช่นเดียวกับประเทศจีน ที่จีนจับประชาชนตัวเองขังคุก ผมต้องการประกาศให้คนทั่วโลกรู้ว่า รัฐบาลนี้เป็นแบบนี้ รัฐบาลที่อ้างตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่

“ผมคิดว่าการใช้เหตุใช้ผลในคณะกรรมการฯ แห่งชาติ เราไม่สามารถใช้เหตุใช้ผลได้ อันนี้พิสูจน์แล้ว การที่ขอให้ตัดฉากนั้นฉากนี้ ผมขอคณะกรรมการฯโน้มน้าวเหตุผลให้ตัดฉากนั้น แต่คณะกรรมการ ไม่ได้โน้มน้าวให้ผมเปลี่ยนใจ ผมคิดว่าคณะกรรมการมีเหตุมีผล ผมฟังอยู่แล้ว แต่กรรมการให้ตัดฉากที่ไม่มีเหตุผล ทำให้หนังมันดูแย่ ล้มเหลว และผมไม่สามารถปล่อยหนังที่ล้มเหลวออกไปได้ เพียงเพราะว่าเอาใจคณะกรรมการ เพื่อให้หนังออกมาสู่ประชาชน ผมไม่สามารถทำลายผลงานศิลปะของตัวเองที่ทำมาอย่างดีได้” นายมานิตกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net