Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.พรรคประชาชาติเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206/1 และมาตรา 206/2 โดยมีสาระสำคัญว่า การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กรณีการลบหลู่ หรือเหยียดหยามในประการที่ “น่าจะ” ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทศาสนา 

ผมคิดว่าถ้ามีกฎหมายหมิ่นศาสนา จะเกิดปัญหาสำคัญตามมา คือ

1. อะไรคือหมิ่นศาสนา ในประวัติศาสตร์ โสกราตีสถูกศาลแห่งเอเธนส์ตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาชักนำเยาวชนไปในทางที่ผิด และนำเสนอเทพเจ้าองค์ใหม่ เยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขนด้วยข้อหากบฏและ “ดูหมิ่นพระเจ้า” ทั้งสองกรณีมีความพัวพันระหว่างการเมืองและการใช้ข้อหาหมิ่นศาสนาเป็นเครื่องมือขจัดคนคิดต่าง แต่ผลก็คือข้อกล่าวหาทำนอง “หมิ่นศาสนา” ที่ผู้กล่าวหาตีความว่า “น่าจะ” ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการประหารชีวิตนักปรัชญาและศาสดาคนสำคัญของโลก แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว โสกราตีสก็ไม่ได้ทำอะไรให้ศาสนาของชาวเอเธนส์ “เสื่อมเสีย” ได้จริง และเยซูกลับเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนาคริสต์ที่คนส่วนใหญ่ในโลกนับถือ 

นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติได้อธิบายลักษณะของการกระทำที่เป็นการ “ดูหมิ่นศาสนา” เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่า 

“ปัจจุบันมีบุคคลและกลุ่มบุคคลบางกลุ่มใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาของตนเองก่อให้เกิดความแตกแยก ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จมีลักษณะ ลบหลู่ และเหยียดหยามคำสอนและศาสดาของศาสนาที่มีหมู่ชนจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธาเคารพนับถือ

ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเกลียดชังกันหมู่ของประชาชนโดยส่วนรวม เป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ และเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นในการนับถือศาสนา และการประกอบพิธีกรรมตามหลักความเชื่อตามหลักการทางศาสนาของตน

พฤติการณ์ของบุคคลและกลุ่มบุคคลดังกล่าว มีการเจตนาเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ใส่ความ บิดเบือนเกี่ยวกับเนื้อหาคำสอนของศาสดาของศาสนาบางศาสนา การเผยแพร่ข้อความอันเป็นความเท็จดังกล่าวทำให้ประชาชนผู้ได้รับข้อมูลข่าวสารนั้นหลงเชื่อ ทำให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาในศาสนาที่ถูกใส่ความ บิดเบือน ลบหลู่ หรือ เหยียดหยามได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ของประชาชนภายในประเทศ เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ ประกอบกับประมวลกฏหมายอาญาซึ่งเป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก
(ดู https://www.matichon.co.th/politics/news_3193941)

ผมอ่านหลายรอบก็ยิ่งเห็นชัดเจนว่า นี่เป็นข้อกล่าวหาแบบ “การล่าแม่มด” ในยุคโบราณและยุคกลางเลย เพราะคำว่า “หมิ่นศาสนา” สามารถตีความได้ครอบจักรวาล ไม่ต่างจากข้อกล่าวหาที่เคยใช้กับโสกราตีส, เยซู, กาลิเลโอ, และคนอีกเป็นแสนๆ ในยุคกลาง หรือในรัฐศาสนาอย่าง “รัฐอิสลาม” ในปัจจุบัน 

2. ถ้ามีกฎหมายหมิ่นศาสนาจะมีหลักประกันอะไรว่า จะไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นศาสนาแบบการใช้มาตรา 112 เพราะนิยามของ “การหมิ่นศาสนา” ตามที่โฆษกพรรคประชาชาติอธิบายมันครอบจักรวาลเหมือนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามที่มีการใช้มาตรา 112 เลย 

ปัญหาสำคัญของการมีและการใช้มาตรา 112 คือ ทำให้มีการใช้กฎหมายนี้กดปราบประชาชนที่คิดต่างทางการเมือง หรือใช้กฎหมายนี้กลั่นแกล้งกันในทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย แทนที่ 112 จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้ดำรง “ความเป็นกลางทางการเมือง” กลับทำให้มีการอ้างเรื่องปกป้องสถาบันกษัตริย์เพื่อใช้ 112 ปิดปากฝ่ายคิดต่าง ดังนั้น การใช้ 112 จึงเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งทางการเมืองตามที่เป็นมาและเป็นอยู่ 

เช่นเดียวกัน การอ้างว่ามีกฎหมายหมิ่นศาสนาแล้วจะแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยก แต่ความจริงแล้วอาจนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะนิยามการหมิ่นศาสนาที่ครอบจักรวาล ย่อมทำให้ง่ายต่อการใช้กฎหมายหมิ่นศาสนากดปราบคนคิดต่าง และสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชน เท่ากับกฎหมายนี้เป็นเงื่อนไขให้มี “การนำศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง” เพราะกฎหมายหมิ่นศาสนาอาจนำปสู่การใช้กลั่นแกล้งกันในทางการเมือง และปิดปากคนคิดต่างได้ง่ายดาย ไม่ต่างอะไรกับการใช้ 112 เพราะเป็นการนำเอาศาสนาที่ควรเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ไปผูกกับรัฐหรือความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นหลักคิดแบบ “รัฐศาสนา” มากกว่าจะเป็นหลักคิดแบบ “รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่” หรือรัฐเสรีประชาธิปไตย 

3. กฎหมายหมิ่นศาสนาขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะในระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะหลักความยุติธรรมสาธารณะในระบอบเสรีประชาธิปไตย ต้องเป็นหลักความยุติธรรมที่มี “ความเป็นธรรม” (fairness) แก่พลเมืองทุกคน ไม่ว่าจะถือศาสนาใดๆ หรือไม่ถือศาสนาก็ตาม 

ดังนั้น ตามหลักความยุติธรรมสาธารณะ รัฐต้อง “เป็นกลางทางศาสนาและความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา” โดยรัฐต้องประกันเสรีภาพ, ความเสมอภาคทางศาสนา และให้การศึกษาที่ส่งเสริมให้พลเมืองมีความเคารพและอดกลั้นระหว่างกลุ่มคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน และกลุ่มคนไม่มีศาสนา รัฐจะไม่ออกกฎหมายใดๆ เพื่อ “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” (religious privileges) เช่น กฎหมายบัญญัติศาสนาประจำชาติ กฎหมายอุปถัมภ์ศาสนา กฎหมายห้ามหมิ่นศาสนา การบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ การให้งบฯ อุดหนุนศาสนา เป็นต้น 

4. บทบาทของสถาบันต่างๆ ในรัฐเสรีประชาธิปไตย เช่น บทบาทของรัฐบาล พรรคการเมือง กองทัพ ศาล หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องปฏิบัติตามและปกป้อง “คุณค่าหลัก” (core values) ของระบอบเสรีประชาธิปไตย เช่น หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน หลักเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพปัจเจกบุคคล เสรีภาพทางศาสนา หรือเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ เป็นต้น  

ทำไมสถาบันต่างๆ ในรัฐเสรีประชาธิปไตยต้องปฏิบัติตามและปกป้องคุณค่าหลักของระบอบเสรีประชาธิปไตย ก็เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงได้ ถ้าละเมิดคุณค่าหลัก เช่น ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมมนุญก็เท่ากับทำลายคุณค่าหลัก และประชาธิปไตย หรือการออกกฎหมายใดๆ ที่ขัดหลักเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพปัจเจกบุคคล หรือกฎหมายที่ง่ายต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพดังกล่าว ย่อมทำให้ประชาธิปไตยไม่มั่นคง 

การพูดถึง “ความมั่นคงของชาติ” โดยไม่พูดถึง “ความมั่นคงของหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย” ย่อมเป็นการพูดที่ไร้ความหมาย เพราะ “ชาติ” คือ “ประชาชน” และประชาชนมีอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้จริง ก็ต่อเมื่อประชาธิปไตยมั่นคง

5. ปัญหาของพรรคการเมืองมุสลิมและกลุ่มเคลื่อนไหวชาวพุทธ คือการเป็นพรรคการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อ้างหลักศาสนาของกลุ่มตนในทางที่ขัดกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือคุณค่าหลักของระบอบเสรีประชาธิปไตย

เช่น กรณี ส.ส.พรรคประชาชาติอ้างหลักศาสนาอิสลามคัดค้านการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการเสนอร่างกฎหมายหมิ่นศาสนา เป็นต้น ทั้งๆ ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นการให้หลักประกัน “สิทธิเท่าเทียม” แก่คนทุกคนศาสนาและคนไม่มีศาสนาสามารถ “เลือกได้” ว่าจะสมรสเพศเดียวกันเพื่อให้มีสิทธิอื่นๆ เท่าเทียมกับเพศชาย-หญิงเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายที่ “บังคับ” ให้ชาวมุสลิมหรือชาวศาสนาไหนๆ ต้องสมรสเพศเดียวกันแต่อย่างใด ถึงมีกฎหมายเช่นนี้ชาวมุสลิมก็มีสิทธิ์เลือกที่จะไม่สมรสเพศเดียวกันได้อยู่แล้ว การทำหน้าที่ ส.ส.ของพรรคประชาชาติในกรณีนี้จึงขัดกับหลัก “สิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียม” ของระบอบเสรีประชาธิปไตย ทำให้เกิดคำถามว่าคุณเป็น “ผู้แทนของชาวมุสลิมเท่านั้น” หรือ “เป็นผู้แทนปวงชน” ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิม ชาวศาสนาไหนๆ รวมทั้งคนไม่มีศาสนาด้วย 

อีกกรณีคือ กลุ่มชาวพุทธที่ประกอบด้วยพระสงฆ์และฆราวาสเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาเป็นต้น รวมทั้งชาวมุสลิมเรียกร้องการออกฎหมายพิเศษทางศาสนาของกลุ่มตน ล้วนแต่สวนทางกับการพัฒนาไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยทั้งสิ้น กลุ่มชาวพุทธและมุสลิมเหล่านี้ “เล่นการเมือง” เพื่ออภิสิทธิ์ทางศาสนาของกลุ่มตนอย่างขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือคุณค่าหลักของระบอบประชาธิปไตย

6. หยุดทำให้ศาสนาขัดแย้งกับศีลธรรม ประวัติศาสตร์ของการมีและการใช้กฎหมายหมิ่นศาสนาล่าแม่มด กดปราบคนคิดต่าง คือประวัติศาสตร์ของ “การทำให้ศาสนาขัดแย้งกับศีลธรรม” เพราะขณะที่พระศาสดาสอนให้ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง, จงให้อภัยแก่ศัตรู” แต่ในยุคกลางศาสนจักกลับใช้ข้อหาหมิ่นศาสนาที่ตีความได้ครอบจักรวาลจับผู้คนนับแสนๆ มาขังคุกทรมาน แขวนคอ และเผาทั้งเป็น 

ปัจจุบันประเทศที่ยังเป็นรัฐศาสนา ก็ใช้กฎหมายหมิ่นศาสนาลงโทษรุนแรงอย่างขัดหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งล้วนแต่เป็นการทำให้ศาสนาขัดแย้งกับคำสอนพระศาสดา หรือขัดแย้งกับ “พระเจ้า” และเสรีภาพแห่งความเป็นมนุษย์

ในสังคมสมัยใหม่มีแนวคิดศีลธรรมที่เป็นอิสระจากศาสนา คือ “ศีลธรรมโลกวิสัย” หรือ “ secular morality” ที่ถือว่า “แก่น” ของศีลธรรมคือการที่ปัจเจกบุคคลมี “autonomy” คือมีอิสรภาพหรือเสรีภาพในการกำหนดตนเอง การมีเสรีภาพทำให้เราแต่ละคนกำหนดกฎศีลธรรมขึ้นมาใช้สำหรับตนเองและใช้ร่วมกันกับทุกคนได้ เช่นเดียวกับเรามีเสรีภาพกำหนดกฎกติกาทางสังคมและการเมืองขึ้นมาใช้ร่วมกันได้บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน 

ดังนั้น ศีลธรรมสมัยใหม่จึงสอดคล้องไปกันได้กับหลักความยุติธรรมสาธารณะหรือคุณค่าหลักของระบอบเสรีประชาธิปไตย การมีกฎหมายหมิ่นศาสนาจึงเป็นการทำให้ศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อศีลธรรมสมัยใหม่ ซึ่งย่อมขัดแย้งกับกระแสเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญด้วย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พรรคการเมือง และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวพุทธและชาวมุสลิมในไทย จะเกิด “การเรียนรู้” และ “ตื่นรู้” เสียทีว่า พุทธศาสนาและศาสนาอิสลามสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีคุณค่าต่อบุคคลหรือกลุ่มคนผู้ศรัทธาควบคู่กับการปกป้องรักษาหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือคุณค่าหลักของระบอบเสรีประชาธิปไตยได้ 

หรือตื่นรู้เสียทีว่า ศาสนาไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อศีลธรรมสมัยใหม่ แล้วเลิกเคลื่อนไหวเรียกร้องการบัญญัติกฎหมายใดๆ เพื่ออภิสิทธิ์ทางศาสนาของกลุ่มตน ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย และขัดกับคำสอนของพระศาสดา หรืออาจขัดหลักธรรมะ และพระประสงค์ของพระเจ้าเสียเอง!  

 

ที่มาภาพ https://siamrath.co.th/n/320868

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net