Skip to main content
sharethis

กสม. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว โดยแนะให้ ศธ. พิจารณาโอนงานให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้กำกับดูแลแทน สพฐ. หลังมีผู้ร้องเรียนว่าพบอุปสรรคและถูกลิดรอนสิทธิในการจัดการศึกษา

22 มี.ค. 2567 ทีมสื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า เวลา 10.30 น. วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว หลังมีผู้ร้องเรียนว่าพบอุปสรรคและถูกลิดรอนสิทธิในการจัดการศึกษา 

วสันต์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว มากกว่า 2,000 ครอบครัว ซึ่งผู้จัดการศึกษาได้รับความเดือดร้อนและถูกลิดรอนสิทธิในการจัดการศึกษา เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปลี่ยนแปลงแก้ไขแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว โดยพบปัญหา ได้แก่ การปฏิเสธแผนการจัดการศึกษาในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ การกำหนดให้ยื่นความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษาได้เพียงปีละสองครั้ง การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ขาดการมีส่วนร่วมของผู้จัดการศึกษา กลไกการดำเนินการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีความพร้อมในการอนุญาตให้จัดการศึกษา การส่งเสริมสนับสนุนไม่เป็นระบบและไม่มีคุณภาพ อีกทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว จึงขอให้ตรวจสอบ 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 กสม. ได้พิจารณาปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว และมีมติให้ศึกษารวบรวมข้อมูลและข้อกฎหมาย ตลอดจนปัญหาอุปสรรคให้ครบถ้วนรอบด้านเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบด้วย

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนสากล ตลอดจนรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดว่า นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครอบครัวมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย

กสม. ได้พิจารณาสภาพปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว และเห็นว่ามีประเด็นสำคัญดังนี้ 

(1) การเตรียมการเพื่อขออนุญาตจัดการศึกษา ยังขาดแหล่งการเรียนรู้หรือแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว

(2) การยื่นความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษา มีความไม่ชัดเจนในเรื่องช่องทางการยื่นขออนุญาตต่อเนื่องจากระดับประถมศึกษาไปยังมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่มีกรอบระยะเวลาและการนับระยะเวลาการขออนุญาตที่ชัดเจน และเมื่อครอบครัวยื่นคำขออนุญาตแล้ว ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา แต่ครอบครัวไม่ส่งเด็กเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา ส่งผลให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

(3) การจัดทำแผนการจัดการศึกษา เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากไม่กำหนดกรอบระยะเวลา และการนำหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กับผู้เรียนในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว อาจไม่สอดคล้องกับผู้เรียนในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ หรือผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

(4) การขออนุญาตจัดการศึกษา มีการเพิ่มขั้นตอนการขออนุญาตให้อยู่ในอำนาจของสองหน่วยงาน คือทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เป็นผลให้การอนุญาตให้จัดการศึกษาเป็นไปด้วยความล่าช้า และ 

(5) การวัดผลและประเมินผลของผู้เรียน ซึ่งใช้วิธีการประเมินของการศึกษาในระบบ (ข้อสอบ) มาใช้กับผู้เรียนในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ อาจไม่สอดคล้องกับแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว องค์ประกอบคณะกรรมการวัดและประเมินผลขาดการมีส่วนร่วมของผู้จัดการศึกษา การวัดและประเมินผลการเรียนระดับผู้จัดการศึกษา และระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เคารพความเห็นต่างของแต่ละฝ่าย รวมถึงผู้เรียน มีมาตรการคุ้มครองเด็ก เปิดโอกาสให้ภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การอำนวยความสะดวกในการให้บริการ ไม่สร้างขั้นตอนเกินความจำเป็น มีกรอบระยะเวลาและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แนวคิดปรัชญาการศึกษาที่แตกต่างกันส่งผลให้การดำเนินงานดังกล่าวเกิดปัญหาอุปสรรคในขั้นตอนต่างๆ แม้ สพฐ. จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด และสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่เกิดได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในการศึกษา การแก้ไขปัญหาในระยะยาวควรมีกลไกที่เหมาะสมในการกำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเลือก มีบุคลากรที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพทัดเทียมกับการศึกษาในรูปแบบอื่นๆ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาโอนภารกิจการกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีแนวคิดปรัชญาในการจัดการศึกษาสอดคล้องกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้แทนผู้จัดการศึกษามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย เพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวในอนาคต

(2) ให้ สพฐ. และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่เพื่อให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในเรื่องแนวคิด ปรัชญา กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(3) ให้ สพฐ. เพิ่มช่องทางในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวของส่วนกลางและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการยื่นความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษาและการจัดทำแผนการจัดการศึกษา โดยจัดให้มีแนวทางการจัดทำแผนการจัดการศึกษาซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษแต่ละระดับ แต่ละรูปแบบการจัดการศึกษา และประเภทความพิการ และกำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์ของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้วิธีการประเมินอย่างหลากหลาย โดยให้มีบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวร่วมเป็นคณะกรรมการวัดและประเมินผล และเปิดโอกาสให้ครอบครัวสามารถเข้าร่วมชี้แจงเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หรือเข้าร่วมสังเกตการณ์การประเมินผลได้ ทั้งนี้ ให้จัดให้มีกลไกการรับฟังความคิดเห็นของเด็กโดยคำนึงถึงอายุ สติปัญญา พัฒนาการ ความพร้อม และความต้องการของเด็ก ประกอบการจัดทำแผนการจัดการศึกษา และการให้ความคุ้มครองเด็กกรณีที่เด็กไม่ประสงค์จะเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือครอบครัวจะต้องไม่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้จัดการศึกษาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net