Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อ 'เบนาร์นิวส์' นักสิ่งแวดล้อมเชื่อ 'โครงการคาร์บอนเครดิต' ไม่ช่วยลดโลกร้อน แนะรัฐผลักดันการใช้พลังงานสะอาด และหามาตรการลดการปล่อยคาร์บอน

เบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2567 ว่าเมื่อประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) เป็นหนึ่งในกลไกหลักที่รัฐบาลไทยเลือกใช้ในการเดินไปสู่เป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม แนวทางคาร์บอนเครดิตกลับเป็นทางเลือกที่นักสิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วย และแนะนำให้รัฐผลักดันการใช้พลังงานสะอาด เพื่อหามาตรการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

"คาร์บอนเครดิตเป็นคำลวง ไม่ได้ลดภาวะโลกร้อน โลกเดือด เพราะไม่แก้ปัญหาที่สาเหตุ อีกทั้งยังทำให้บริษัทเอกชนสามารถปล่อยคาร์บอนได้อย่างชอบธรรม" น.ส. บัณฑิตา อย่างดี นักวิชาการจากศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) กล่าวกับเบนาร์นิวส์

คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คือ ก๊าซที่เกิดจากการย่อยสลายของพืชและสัตว์ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ถูกนับว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดสำคัญ เพราะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ และมีผลกับภาวะโลกร้อนมากที่สุด

เพื่อมุ่งไปสู่การลดภาวะโลกร้อน นานาชาติจึงให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ผู้นำชาติต่าง ๆ จึงต้องให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไทยเองก็เข้าร่วมด้วย

“ไทยเรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามคำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้จาก 20% เป็น 40% ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2566 (ค.ศ. 2023)

ทั้งนี้ ก่อนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศหรือบริษัทเอกชนจำเป็นต้องรู้ว่า กิจกรรมในแต่ละวันมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) เท่าใด ซึ่งเป็นการคำนวณตัวเลขการใช้พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิง และการสร้างสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

“Carbon Footprint คือ แต้มบาป สำหรับบริษัทเอกชนคือ การดูว่ากิจกรรมทุก ๆ วัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ Carbon Credit คือ แต้มบุญ ที่ได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นกลไกด้านเศรษฐศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อหักลบกับคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่ถูกสร้าง” ดร. พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

ผลกระทบต่อชุมชน

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานว่า เฉพาะปี 2566 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงาน 243.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

ขณะที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(อบก.) ระบุว่า ในปี 2566 ไทยสร้างคาร์บอนเครดิตได้ 8.57 แสนตัน มีมูลค่า 68.32 ล้านบาท หรือราคาตกอยู่ 79.71 บาทต่อตัน

และหากนับตั้งแต่ ปี 2559 - เดือนเมษายน 2567 ที่เริ่มมีการเก็บข้อมูลไทยสร้างคาร์บอนเครดิตได้ 3.25 ล้านตัน มีมูลค่า 292 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 89.6 บาทต่อตัน

“การได้แต้มบุญ หรือ คาร์บอนเครดิต มีวิธีทำ 200-300 วิธี ตาม Clean Development Mechanism (CDM) ซึ่งวิธีที่เกษตรกรบ้านเราสามารถทำได้ก็มีหลายวิธี เช่น การทำเกษตรไม้ยืนต้น หรือสวนผลไม้ แล้วคนผลิตคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ก็เอาเงินมาซัพพอร์ทให้โครงการพวกนี้ได้เกิดแล้วล้างบาปกัน” ดร. พูนเพิ่ม ระบุ

ด้วยเหตุนี้ บริษัทเอกชนหลายแห่งจึงหันมาร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อนำพื้นที่ป่ามาดำเนินกลไกผลิตคาร์บอนเครดิต เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ตั้งเป้าหมายในการปลูกป่า 2 ล้านไร่ เพื่อชดเชยคาร์บอนภายในระยะเวลา 10 ปี

โดยเฉพาะปี 2565-2566 (ค.ศ. 2022-2023) สามารถปลูกป่าได้แล้วเกือบ 1 แสนไร่ (160,000,000 ตารางเมตร) และถูกเสนอเป็นโครงการเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตกับ อบก. แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าวิธีนี้ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม

“โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ บางโครงการอาจสร้างภาระให้กับชุมชนเกินสมควร และสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตก็ไม่เป็นธรรม เช่น บริษัทได้ส่วนแบ่งไปถึง 70% ชุมชนได้ส่วนแบ่งเพียง 20% เท่านั้น และส่วนที่เหลืออีก 10% แบ่งปันให้กับรัฐ รัฐจึงควรมีการทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิต” น.ส.บัณฑิตา กล่าว

ข้อมูลของ อบก. ระบุว่า ปีแรกที่ประเทศไทยมีคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้คือ ปี 2564 สามารถผลิตได้ 16 ตัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 1,270 ตันในปีถัดมา และล่าสุดปี 2566 สามารถผลิตได้ถึง 2.08 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 35.94 ล้านบาท

“ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยพึ่งพิงป่าควรได้สิทธิในการจัดการป่า ไม่ใช่ค่าตอบแทนจากการดูแลป่าให้กับบริษัทที่ปล่อยมลพิษ เพราะเทียบกับเม็ดเงินจากส่วนแบ่งหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากโครงการคาร์บอนเครดิต ยังไม่มีอะไรที่รับประกันว่าต่อไปชาวบ้านจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าได้เหมือนเดิมไหม” นายพชร คำชำนาญ ผู้ประสานงาน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ภาพรวมป่าไม้ในไทยลดลง

หลังจากมีโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เกิดขึ้น นักสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่ง เรียกโครงการลักษณะนี้ว่า การฟอกเขียว (Greenwashing) เพราะมองว่าโครงการเช่นนี้ไม่ได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการชดเชยสิ่งที่บริษัทเอกชนได้ทำลายสิ่งแวดล้อมไป

“เราไม่เห็นด้วยกับคาร์บอนเครดิต เพราะกำลังเอื้อกลุ่มทุนให้ยังทำลายล้างโลกนี้ต่อไปได้ ฟอกตัวคนบาปให้กลับมาขาวสะอาด ฟอกเขียวให้กลุ่มทุนยังเดินหน้าลิดรอนสิทธิประชาชน กอบโกยผลประโยชน์บนผืนดินนี้ต่อไปอย่างมูมมาม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าสังคายนากฎหมาย และนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดินทั้งระบบ” แถลงการณ์ของ P-move ระบุ

ข้อมูลของกรมป่าไม้ เผยให้เห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2516 (ค.ศ. 1973) ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 138.56 ล้านไร่ (221,707,000,000 ตารางเมตร) หรือ 43.21% ของพื้นที่ประเทศ และในปี 2565 (ค.ศ. 2022) เหลือพื้นที่ป่า 101.81 ล้านไร่ (162,909,049,216 ตารางเมตร) หรือ 31.47% ของพื้นที่ทั้งหมด

กรมป่าไม้ ระบุว่า ระหว่างปี 2565-2566 (ค.ศ. 2022-2023) มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนถึง 12 บริษัท และปลูกป่าไปแล้วเกือบ 3 แสนไร่ (480,000,000 ตารางเมตร) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม นางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ มองต่างจากนักสิ่งแวดล้อม เพราะเห็นว่า โครงการคาร์บอนเครดิตเป็นโอกาสของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

“คาร์บอนเครดิต ในภาคป่าชุมชนเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจจะเข้ามาเสริมหนุนป่าชุมชน มีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำเอกสาร วางแปลง กรมป่าไม้ออกกฎหมายแบ่งปัน แต่ชุมชนต้องได้รับอนุมัติตั้งป่าชุมชน ชาวบ้านมีหน้าที่ดูแลป่า มีสิทธิรับประโยชน์จากป่า ทั้งผลผลิต ท่องเที่ยว การแบ่งปันคาร์บอนเครดิต” นางนันทนา กล่าวในการประชุมเรื่อง โอกาสของป่าชุมชน คนดูแลป่า บนเส้นทางคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบัน ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยในเดือนเมษายน 2567 นครราชสีมาได้ทำลายสถิติความร้อนสูงสุดครั้งแรกในรอบ 41 ปี ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส จากสถิติเติม 39.5 องศา ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2526

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมในเดือนสิงหาคมนี้ พบพื้นที่น้ำท่วม 147,512 ไร่ นาข้าวเสียหาย 54,706 ไร่ ในพื้นที่ 15 จังหวัด พื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และตะวันออก

“คาร์บอนเครดิตเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐควรมีมาตรการให้เอกชนลดละเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซ เก็บภาษีทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือไฟฟ้า สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง แทนที่จะเน้นคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว” บัณฑิตา กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net