Skip to main content
sharethis

สื่อเบนาร์นิวส์ เผยนักวิชาการมาเลเซียวิเคราะห์เบื้องหลังการเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้เพราะเจรจาขาดความก้าวหน้า ด้านภาคประชาชนไทยในพื้นที่หวังทำหน้าที่อย่างมีเป้าหมายและจริงใจ


ดาโต๊ะ ฮัจญี โมฮาเม็ด ราบิน บิร บาซีร ผู้อำนวยการใหญ่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติภาพไทย-บีอาร์เอ็น คนใหม่

สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานว่าสืบเนื่องรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศในวันศุกร์นี้ว่า ดาโต๊ะ ฮัจญี โมฮาเม็ด ราบิน บิร บาซีร (Datuk Mohd Rabin Bin Basir) จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แทน พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกคนเก่า ด้านนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้คาดหวังให้ ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่วางเป้าหมายการพูดคุยให้ชัดเจน และจริงใจกับกระบวนการนี้

“รัฐบาลมาเลเซียขอประกาศว่าได้แต่งตั้ง ดาโต๊ะ ฮัจญี โมฮาเม็ด ราบิน บิร บาซีร เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายมาเลเซีย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567” สภาความมั่นคง มาเลเซีย ระบุผ่านเอกสารข่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


“เราเชื่อมั่นมากว่า ดาโต๊ะ ฮัจญี โมฮาเม็ด ราบิน บิร บาซีร จะสามารถสานต่อภารกิจการพูดคุยฯ ให้มีทิศทางบวก และสร้างผลลัพธ์การพูดคุยอย่างมีรูปธรรม และหวังว่า จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาบทบาทในการมุ่งไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งสันติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” รัฐบาลมาเลเซีย เปิดเผย

ในเอกสารของรัฐบาลมาเลเซียยังระบุว่า พล.อ. ซุลกิฟลี จะไปทำหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการสันติภาพมินดาเนา ของฟิลิปปินส์ต่อไป

พล.อ. ซุลกิฟลี ผู้อำนวยความสะดวกคนเก่า เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซีย มีความเชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีและความไม่สงบ รับใช้กองทัพมาเลเซียมากว่า 40 ปี ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2563 และทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รับตำแหน่งผู้อำนวยความสะดวกฯ ในเดือน ม.ค. 2566

ขณะที่ ดาโต๊ะ ฮัจญี โมฮาเม็ด ราบิน บิร บาซีร ปัจจุบัน อายุ 62 ปี เคยรับราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทำงานด้านการทูตในหลายประเทศ และเป็นกงสุลมาเลเซียในนิวเดลี อินเดีย กลับไปทำหน้าที่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเชีย และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสภาความมั่นคง กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกฯ คนที่ 5

ต่อการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า คาดหวังให้ ดาโต๊ะ ฮัจญี โมฮาเม็ด ราบิน บิร บาซีร ทำหน้าที่อย่างมีเป้าหมาย และจริงใจ

“อยากให้ผู้อำนวยความสะดวกวางบทบาทตัวเองให้ชัดเจน ให้ความสำคัญกับคู่เจรจาอย่างเท่าเทียม และให้เกียรติ มีเป้าหมายในการเจรจาการพูดคุยฯเดินไปข้างหน้า และเชื่อมโยงกับความคาดหวังของประชาชน สื่อสารผลการพูดคุยอย่างจริงใจ เพราะที่ผ่านมา ในการแถลงผู้อำนวยความสะดวกมักบอกแต่ว่า มีความก้าวหน้า ที่ไม่มีรายละเอียดว่าก้าวหน้าอย่างไร ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ” น.ส.อัญชนา กล่าว

เบื้องลึกการเปลี่ยนตัว

ด้าน นาบีลา อิสมาอิล นักวิเคราะห์การวิจัยและสนับสนุนด้านการต่างประเทศที่ Bait Al Amanah (House of Trust) ในมาเลเซียกล่าวว่า ซุลกิฟลี สามารถนำทั้งสองฝ่ายเข้าสู่โต๊ะเจรจาและปรากฏตัวต่อหน้านักข่าวได้

“ซุลกิฟลียังถูกมองว่าเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้และเป็นผู้ฟังระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน” เธอกล่าวกับเบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่า การเจรจาที่ขาดความก้าวหน้า ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความไม่มั่นคงภายในรัฐบาลไทย ทำให้เกิดความท้าทายในการดำเนินกระบวนการเจรจาอย่างมีประสิทธิผล แม้จะมีความพยายามสร้างสันติภาพโดย พล.อ. ซุลกิฟลี แต่ความรุนแรงที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องได้ตอกย้ำถึงความไม่มั่นคงที่ยังคงมีอยู่ในภูมิภาค

“ด้วยเหตุผลนี้ มาเลเซียจึงดำเนินการเรื่องนี้แตกต่างออกไปโดยการแต่งตั้งผู้ที่มีประสบการณ์ในภาครัฐ โดยเฉพาะจากฝ่ายความมั่นคง การทูต การบังคับใช้กฎหมาย และข่าวกรอง” นาบีลา กล่าว

ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท ขณะที่การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นการเจรจาระหว่าง ตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มมารา ปาตานี แต่การพูดคุยฯ ดังกล่าวขาดช่วง ทั้งจากความไม่มั่นคงของการเมืองภายในไทย และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซีย ก่อนจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี 2563 โดยตัวแทนรัฐบาลไทย ได้เริ่มเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น

น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯ ไม่น่ามีผลกับชีวิตคนในชายแดนภาคใต้

“กระบวนการสันติภาพไม่มีผลต่อชีวิตชาวบ้านที่ย่ำแย่ และลำบากจากความรุนแรงและเศรษฐกิจถดถอยมานานมาก ผู้อำนวยความสะดวกฯ ที่ผ่านมาก็ยังไม่แสดงให้เห็นว่า ชี้นำทหารไทยในการพูดคุยฯได้ รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ทำงานบริหารหรือจัดการความขัดแย้งทางอาวุธแบบพลเรือน หรือขจัดการครอบงำของทหารในการเมืองไทยไม่ได้ ดังนั้น ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ก็ไม่น่าทำให้อะไรเปลี่ยน” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

การพูดคุยสันติสุขฯ กำหนดเป้าหมายใช้ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ตั้งแต่ปี 2566 โดยวางแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1.การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ ข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการลงนามร่วมกันเพื่อรับรองใช้แผนดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ แผนรอมฎอนสันติสุข ปี 2567 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเสนอว่าจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจในช่วงเดือนถือศีลอด และสงกรานต์ของไทยก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งการปิดล้อมตรวจค้น และวิสามัญฆาตกรรม

ล่าสุด เกิดเหตุคนร้ายลอบระเบิดที่อาคารแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ในช่วงสายของวันอาทิตย์ทำให้ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 34 ราย

“ชาวบ้านมีความหวังต่อการเจรจา เพราะในสภากาแฟก็มองว่า คาร์บอมบ์หน้าแฟลตตำรวจ เป็นสัญญาณว่าต้องการให้การเจรจามีความคืบหน้า ขบวนการคงรู้ก่อนแล้วว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และคาดหวังกับการเจรจา ชาวบ้านก็หวังว่า ความรุนแรงจะจบลงโดยเร็ว” นายอุสมาน อูแล ประชาชนในจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net