Skip to main content
sharethis

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ ‘ประกาศบริหารกองทุนบัตรทอง ปี 2567’ ปรับ 3 ประเด็นรองรับนโยบายรัฐบาล ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ “บริการสาธารณสุขร่วมกับ อปท.” และ “บริการดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง รองรับสถาชีวาภิบาล”

 

17 พ.ค. 2567  ทีมสื่อของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันพุธที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบ “(ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567” 

 

สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จริงๆ ทราบมาว่ามีการพิจารณาไปแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งในการนำมาพิจารณาอีกครั้งในรอบนี้นั้น เนื่องจากภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการเห็นชอบงบประมาณ ปี 2567 ราว 2.17 แสนล้านบาท ให้กับ สปสช. หลังจากนั้น สปสช. มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารกองทุนปี 2567 และได้มีข้อเสนอจากผู้ให้บริการบางส่วน ที่สะท้อนมาใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ

ประกอบด้วย

 

1. การจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน (IP) ในกรณีที่งบประมาณไม่เพียงพอที่จะจ่ายในอัตราเบื้องต้น 8,350 บาท ให้มีการใช้งบประมาณในแหล่งอื่นๆ เช่น เงินเหลือจ่ายในปี 2567 กรณีเงินเหลือจ่ายไม่เพียงพอใช้เงินจากรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม หรือให้ขอรับงบประมาณเพิ่มเติมในปีถัดไป และหากดำเนินการดังกล่าวแล้วยังมีเงินไม่เพียงพอให้ยกยอดผลงานบริหารไปใช้ค่าใช้จ่ายจาก Global budget ระดับเขตของแต่ละเขตในปีถัดไป

2. การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ควรมีงบประมาณรองรับในทุกรายการ

3. การปรับอัตราและรายการบริการ ควรทำในระยะเวลาก่อนบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน รวมถึงให้มีการจัดการประชุมรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านก่อนการประกาศใช้ ตลอดจนการแจ้งอัตราค่าบริการใหม่ให้กับหน่วยบริการทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ร่างประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ จากที่ได้นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน ได้มีข้อสังเกตเพื่อให้พิจารณาเช่นกัน ได้แก่

 

1. ให้คงงบประมาณการจ่ายรายการบริการผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน (IP) แบบปลายปิด โดยจ่ายตามอัตราเบื้องต้นที่ 8,350 บาท และในกรณีเงินเหลือให้จ่ายคืนหน่วยบริการ ส่วนกรณีเงินไม่พอ ให้จ่ายลดลงตามส่วน รวมถึงหากเงินที่จ่ายลดลงตามส่วนแล้วมีผลต่อสภาพคล่องของหน่วยบริการให้ สปสช. พิจารณาหาแหล่งเงินอื่นๆ เพื่อจ่ายชดเชยเพิ่มเติม

 

2. ให้พิจารณค่า AdjRW ของ เกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมไทยและน้ำหนักสัมพัทธ์ ฉบับที่ 5 (DRG ฉบับที่ 5) และ ฉบับที่ 6 ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ และฉบับใดที่มี AdjRW สูงกว่า และ 

 

3. พิจารณาการกันวงเงินระดับประเทศว่าควรกันเพิ่มจากขึ้นจาก 100 ล้านบาทหรือไม่ เพื่อให้เพียงพอรองรับในการดำเนินการ และ 

4. DRG ฉบับที่ 6 จะมีการประกาศใช้เมื่อไหร่

 

อย่างไรก็ดี โดยสรุปแล้วประเด็นที่มีการปรับปรุงในร่างประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารกองทุนฯ ฉบับนี้มี 3 ประเด็น คือ

 

1. บริการผู้ป่วยนอก มีงบประมาณสำหรับรองรับกรณีการดำเนินตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในหน่วยบริการอื่น นอกเครือข่ายบริการประจำหรือปฐมภูมิ และหน่วยบริการนวัตกรรม ทั้ง 7 หน่วย ได้แก่ คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ ร้านยา คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกเวชกรรม และคลินิกเวชกรรม

2. บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีการปรับการจ่ายตามแผนงานโครงการ ซึ่งจากเดิมเป็นการจ่ายตามแผนงานประจำปีอย่างเดียว และ 

3. บริการสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง สปสช. จะมีการปรับการจ่ายให้กับหน่วยบริการที่เป็นสถานชีวาภิบาล เพื่อเตรียมการรองรับนโยบายรัฐบาล

“ในการบังคับใช้ประกาศบริหารกองทุนฯ ฉบับนี้ จะให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ต.ค. 2566 อย่างไรก็ดี ในบริการต่างๆ ที่เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อรองรับ จะเป็นการให้ใช้ได้ตามมติบอร์ด สปสช.” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net