Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมกำลังอ่านหนังสือ “ผีอาลัยรักกับพระนักเวทย์: สมเด็จโตกับนางนากและการนับถือพระพุทธศาสนาในสังคมไทยสมัยใหม่” ที่แปลจาก “The Lovelorn Ghost and the Magical Monk: Practicing Buddhism in Modern Thailand” ของจัสติน โธมัส แมคดาเนียล (Justin Thomas McDaniel) โดยสมหวัง แก้วสุฟอง หนังสือเล่มนี้พูดถึงพุทธศาสนาไทยว่ามี “คลังวัฒนธรรม” ที่ประกอบด้วยความเชื่อและภาษาทางพุทธศาสนาที่หลากหลาย เช่น คัมภีร์ ความเชื่อตามการตีความของบุคคลหรือชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ประเพณี พิธีกรรม วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง เวทมนตร์คาถา ฯลฯ ที่ใช้ปฏิบัติอยู่จริงอย่างเห็นได้ทั่วไปในวิถีชีวิตประจำวันของชาวพุทธในสังคมไทยสมัยใหม่

ขณะที่ผมอ่านหนังสือนี้ เกิดเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ขึ้นติดๆ กัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่แมคดาเนียลเรียกว่า “คลังวัฒนธรรม” ของพุทธศาสนาไทยอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุการณ์แรก กลุ่มคนมีชื่อเสียง เช่นทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม, แทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, ชลิดา พะละมาตย์ ประธานกลุ่มเป็นหนึ่ง, ประยุทธ์ ประเทศเสนา ทนายความอดีตพระมหาเรียญ 7, แพรรี่ -ไพรวัลย์ วรรณบุตร (อดีตพระมหาไพรวัลย์ รวิวณฺโณ เปรียญ 9 พระนักวิจารณ์ปัญหาวงการพุทธศาสนาไทยที่คนรุ่นใหม่และสื่อเคยยกย่องว่าเป็น “พระหัวก้าวหน้า” สามารถสื่อสารคำสอนพุทธศาสนาเข้าถึงคนรุ่นใหม่) ได้ยกขบวนไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับ “ลัทธิเชื่อมจิต” ด้วยการอ้างเหตุผลจากคลังวัฒนธรรมพุทธศาสนาว่า

“...เป็นการสอนที่ผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการบิดเบือน ทำลายและกลืนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นการก่อให้เกิดสัทธรรมปฏิรูป คือธรรมปลอม ถือเป็นภัยร้ายแรงอันดับแรกของการทำลายพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ “[1]

ขณะที่นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้สัมภาษณ์สื่อว่าได้ตั้งคณะกรรมการทำงานตรวจสอบ กลั่นกรอง​ข้อมูลข่าวสาร และการกระทำอันอาจส่งผลกระทบต่อ “ความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา” เพื่อตรวจสอบกรณีเด็กเชื่อมจิตว่า “ขัดต่อพระไตรปิฎกหรือไม่” หรือขัดต่อเรื่องใดในพุทธศาสนาหรือไม่ พร้อมกับให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

“ศรัทธาอย่าแกว่ง ธรรมะไม่ใช่เรื่องซื้อขาย และตอนนี้ทาง ผอ.สำนักพุทธฯ บอกว่ามีข้อมูลครบทุกอย่าง และเราจะได้เห็นกันว่ากรณีเชื่อมจิตมีจริงหรือไม่ และทำได้หรือไม่ เพราะเมื่ออิงหลักพระพุทธศาสนา และตามกฎกระทรวง ก็ถือเป็นหน้าที่และภารกิจของสำนักพุทธฯ”[2]

เหตุการณ์ที่สอง ความตายของ “บุ้ง เนติพร” หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” สมาชิกกลุ่มทะลุวัง ซึ่งเดิมทีเธอเคยร่วมประท้วงกับกลุ่ม กปปส. แต่เมื่อเรียนรู้ปัญหาการเมืองมากขึ้น จึงเปลี่ยนจุดยืนมาร่วมต่อสู้ในแนวทางเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ที่ชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์ และมีเป้าหมายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังนั้นเรียบง่ายตรงไปตรงมา คือการทำโพลตั้งคำถามต่อ “ขบวนเสด็จ” ของพวกเจ้าว่าเกิดปัญหารถติด ทำให้ประชาชนเดือดร้อนในการเดินทางหรือไม่ แต่สมาชิกกลุ่มทะลุวังและบุ้งกลับโดนคดี 112 ทว่าบุ้งและกลุ่มทะลุวังก็ยังเคลื่อนไหวต่อไป เช่นเสนอให้ “ยกเลิก 112” ชูป้ายตั้งคำถามต่อพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยว่ามีนโยบายยกเลิก 112 หรือไม่ จนกลายเป็นข่าวในสื่อกระแสหลัก และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สื่อกระแสหลักกล้าจัดดีเบตระหว่างตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ว่ามีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิก 112 หรือไม่ ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา

ล่าสุดบุ้งถูกศาลตัดสินจำคุก 1 เดือน ข้อหาละเมิดอำนาจศาล และถูกถอนสิทธิประกันตัวคดี 112 เธออดอาหารประท้วงในคุกด้วยข้อเรียกร้อง 2 ประการ คือ 1) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ 2) จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก หลังการอดอาหารประท้วงราว 65 วัน บุ้งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่บุ้งไม่ใช่คนแรกที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้รับสิทธิประกันตัวคดี 112 ก่อนหน้านั้น “อากง” หรือนายอำพล ตั้งนพกุลที่ถูกจำคุกคดี 112 ได้เสียชีวิตด้วยอาการป่วยเมื่อปี 2555 หลังจากยื่นขอประกันตัวถึง 8 ครั้ง แต่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัว[3] 

หากย้อนไปดูกรณีการเสียชีวิตของอากง เราจะพบว่า “คลังวัฒนธรรม” ของพุทธศาสนา หรือ “ภาษาที่สื่อความเชื่อแบบพุทธศาสนา” ถูกนำมาใช้แสดงความสะใจ เย้ยหยัน และสาปแช่งอากงในโลกโซเชียลจำนวนมาก เคสที่โด่งดังมากที่สุดคือ การโพสต์เฟซบุ๊กของดาราชื่อดัง “ตั๊ก บงกช คงมาลัย” ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่วัดพระธรรมกายด้วย เช่นที่เธอโพสต์ว่า

“เวรกรรมของอากง, แต่อากงไม่อยู่ก็ดีนะคะ แผ่นดินจะได้ดีขึ้น” และโพสต์ถึงคนที่ปกป้องสิทธิของอากงว่า “คุณรักอากง ฉันก็รักครอบครัวพ่อของฉัน ทำไมเหรอ, ...แล้วทำไมคุณกล้าสู้เพื่ออากง แล้วเมื่อไหร่คุณจะตายคะ จะได้ไปช่วยอากงต่อในนรก เพราะอากงคุณตกนรกแน่ จากกรรมที่หมิ่นพ่อฉัน"[4] โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้กดไลค์จำนวนมาก

การใช้ภาษาที่สื่อความเชื่อแบบพุทธศาสนาแสดงความสะใจ เย้ยหยัน และสาปแช่งให้ตกนรกโดยอ้างว่าเป็น “กรรม” ที่หมิ่นกษัตริย์จากกรณีความตายของอากงถึงบุ้ง ทะลุวัง ไม่ได้น้อยลงแต่อย่างใด เพราะทันที่มีมีข่าวบุ้งเสียชีวิต การกดหัวเราะ และโพสต์สะใจ เย้ยหยันก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ยิ่งกว่านั้นยังมีผู้รู้ทางพุทธศาสนาแสดงมุมมองอิงความเชื่อพุทธด้วยท่วงทำนองจริงจัง เช่นว่า

“บางคนต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรื่องนี้ไว้ว่ากรรมจำแนกมนุษย์/สัตว์ให้ต่างกัน พี่น้องคลานตามกันมายังต่างกัน เพราะทำกรรมมาต่างกัน ทำกรรมดีตามพุทธวิธีแล้วจะดีขึ้น”[5]

มีการอ้างความเชื่อในคัมภีร์มาแย้งฝ่ายสนับสนุนบุ้งที่โพสต์ไว้อาลัย “ขอให้บุ้งสู่สุคติ” เช่นมีบางคนคอมเมนท์ว่า “เถียงใจขาดที่หลายคนบอกให้น้องไปสู่สุคติภูมิ การฆ่าตัวตายด้วยกรณีใดก็แล้วแต่จะจบลงด้วยทุคติ&อบายภูมิเท่านั้น อย่าริอ่านหาทำกันเป็นอันขาด ประชาธิปไตยสู้ด้วยวิธีอื่นดีกว่า อย่าหาทำอย่างนี้อีกเด็ดขาด เพราะคุณจะรอดจากนรกภูมิย่อมเป็นไม่ได้เลย เตือนน้องๆ ทุกคนด้วยความหวังดีจากอดีตมหา ปธ.7”

จะเห็นได้ว่าภาษาจากคลังวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่ถูกนำมาใช้แสดงความสะใจ เย้ยหยัน สาปแช่ง หรือ “เตือน” ผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ถูกกดปราบด้วย 112 เป็น “ภาษาแบบยุคก่อนสมัยใหม่” ขณะที่ภาษาของฝ่ายที่ประท้วงกระบวนการยุติธรรมและรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการขังคุกคนคิดต่างจนกระทั่งเกิดการเสียชีวิต เป็นการใช้ “ภาษาที่สื่อความคิดสมัยใหม่” เช่น ภาษาที่ยืนยันเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก สิทธิการประกันตัว ความยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ ฯลฯ

ถึงตรงนี้ผมอยาก “แลกเปลี่ยน” กับประเด็นที่แมคดาเนียลเขียนว่า “นักวิชาการโดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มักเน้นอำนาจแห่งการโฆษณาชวนเชื่อของราชสำนักจนล้นเกิน และมักตัดพ้อว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์โดยมิเสื่อมคลาย คณะสงฆ์ไทยมักถูกวาดภาพเป็นเครื่องมือของรัฐหรือราชสำนัก...” (น.65) แมคดาเนียลก็ยกตัวอย่างเรื่องการใช้ 112 และบทบาทของราชวงศ์ในเหตุการณ์รัฐประหาร 2516, 2520, 2535 และ 2549 ว่าดูเหมือนจะสนับสนุนสมมติฐานของนักวิชาการทั้งไทยและเทศ แล้วเขาก็วิพากษ์ว่า

“...คำอธิบายเหล่านี้มักมองว่าคนไทยเป็นผู้บูชาที่มืดบอด ไม่ได้รับรู้ข้อมูล ส่วนพระสงฆ์หากไม่เป็นนักฉวยโอกาส ก็เป็นเหยื่อทางการเมือง เป็นที่ทราบกันดีว่าในชีวิตประจำวันนั้นคนไทยเสพข่าวลือเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ส่งต่อภาพถ่ายที่ไม่เหมาะสมกันอย่างเปิดเผย และตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทพระราชวงศ์ในการพัฒนา การเมือง และการช่วยเหลือสังคม สิ่งเหล่านี้ดูจะเกิดในยุคสมัยของสมเด็จโตเช่นกัน เมื่อเราพบว่าท่านดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์อย่างเปิดเผย บางทีทัศนะของนักวิชาการที่ชอบมองว่าพวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวที่ตั้งคำถามกับอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ อาจเป็นทัศนะที่ต้องนำมาทบทวนเสียใหม่” (น.65)

ผมคิดว่าประเด็นปัญหาที่ซับซ้อนมากๆ นี้ แมคดาเนียวมอง “ฉาบฉวย” ไปหน่อย อันที่จริงปัญหาพื้นฐานที่นักวิชาการวิพากษ์คือ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับศาสนา มี 2 เรื่องหลักๆ คือ ปัญหาเชิงอุดมกาณ์และโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กับปัญหาปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองที่เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างเช่นนั้น

เรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าในชีวิตประจำวันคนไทยเสพข่าวลือ และมีวัฒนธรรม “นินทา” พระนินทาเจ้ามายาวนาน รู้ว่าเรื่องเล่าที่แมคดาเนียลบอก “สมเด็จโตหมิ่นพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์อย่างเปิดเผย” นั้นมีความคลุมเครือ และเป็น “ข้อยกเว้น” ให้ทำเช่นนั้นได้เฉพาะสมเด็จโต พระรูปอื่นๆ กระทำแบบนั้นไม่ได้ และทำไมคนไทยจึงใช้วิธีการนินทาเจ้าในชีวิตประจำวัน ก็เพราะสังคมไทยไม่มีเสรีภาพในการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาสถาบันกษัตริย์ทั้งในระบบการเมืองของรัฐสภา (ยกเว้นสมัยที่คณะราษฎรยังมีอำนาจ) และในการเมืองบนท้องถนน

แต่เราก็ต้องเข้าใจว่างานของแมคดาเนียลเขียนขึ้นก่อนที่เขาจะได้เห็นผลพวงที่ตามมาจากรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ในปี 2549 ที่มีประชาชนโดนคดิ 112 จำนวนมาก ทำให้มีกลุ่มนักวิชาการและประชาชนร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 กว่า 10,000 คน[6] ทว่ารัฐสภาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่กล้ารับร่างดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณา กระนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังถูกทำรัฐประหารอยู่ดี

หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดนคดี 112 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันพรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า การใช้นโยบายแก้ 112 หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้น “เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และขณะนี้ศาล รธน.กำลังพิจารณาว่าจะตัดสินยุบพรรคก้าวไกล (หรือไม่)

แม้หลังเลือกตั้งครั้งล่าสุดเราได้ “รัฐบาลจากการเลือกตั้ง” มาแทนรัฐบาลประยุทธ์แล้ว แต่การกดปราบประชาชนด้วย 112 ยังดำเนินต่อไป จนกระทั่งเกิดการเสียชีวิตของบุ้ง แต่สังคมเราก็ยังตกอยู่ในสถานการณ์อึมครึมทางการเมือง ยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะมีการให้สิทธิประกันตัวนักโทษ 112 อีกหลายคนหรือไม่ และเราจะต่อสู้ให้นิรโทษกรรมคคดี 112 สำเร็จหรือไม่

ผมชอบที่แมคดาเนียลชวนเราคิดว่า เราไม่ควรติดกับดักของ “การจัดประเภท” พุทธแท้ พุทธเทียม พุทธแบบรัฐ พุทธแบบบ้านๆ หรือกระทั่งแยกเด็ดขาดระว่างพุทธ พราหมณ์ ผี เพราะไม่เคยมี “พุทธบริสุทธิ์” ที่ไม่ปนเปื้อนพราหณ์ ผี หรือความเชื่ออื่นๆ ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่พุทธศาสนาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าพุทธในอินเดีย เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่ไหนในโลก หรือพูดให้ชัดกว่านั้นพุทธใน “คัมภีร์” ก็คือคลังวัฒนธรรมศาสนาพุทธที่มีทั้งคำสอนเชิงเหตุผล ศีลธรรม และความเชื่อเรื่องสวรรค์ นรก เทวดา ผี พราหมณ์ และอื่นๆ อยู่แล้ว ดังนั้น ชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ที่ดูเหมือนมีความเชื่อและแนวปฏิบัติต่างกันต่างก็สามารถอธิบายความเชื่อและแนวปฏิบัติของตนให้เชื่อมโยงกับเรื่องเล่า และคำสอนในคัมภีร์ได้ในแง่ใดแง่หนึ่งทั้งนั้น

แน่นอนว่าถ้าเราไม่แยกระหว่างพุทธแท้ พุทธไม่แท้ หรือพุทธบริสุทธ์ พุทธบิดเบือนหรือสัทธรรมปฏิรูป ก็ย่อมไม่เกิดปรากฎการณ์แจ้งความเอาผิดลัทธิเชื่อมจิต ด้วยข้ออ้างว่าบิดเบือนคำสอนในไตรปิฎก แต่เรื่องนี้กลับไม่ง่าย เพราะมันมีปัญหาเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างที่นอกจากจะไม่เคยถูกแก้ไขแล้วยังขยายเพิ่มส่วนที่เป็นปัญหาให้ซับซ้อนมากขึ้นโดยลำดับ เช่น มีการบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นพิเศษ มาตรานี้กลายเป็น “เครื่องมือ” ของกลุ่มชาวพุทธที่อ้างว่าพวกตนปกป้องพุทธศาสนาเถรวาทจากการบิดเบือนของลัทธิเชื่อมจิต และบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ที่พวกเขาเห็นว่าบิดเบือนคำสอนในไตรปิฎกของพุทธศาสนาเถรวาท 

สิ่งที่แมคดาเนียลชี้ให้เห็นคือ พุทธศาสนาเชิงปฏิบัติที่มีอยู่จริงในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยมีความหลากหลาย และแต่ละมิติต่างก็มีคุณค่าสำหรับปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนที่เชื่อหรือตีความในแบบนั้นๆ ไม่ใช่ว่าการใช้เหตุผลแบบพุทธต่อต้านวัตถุนิยม บริโภคนิยม หรือเน้นคุณค่าของความพ้นทุกข์ทางจิตใจจะเป็นสิ่งที่ถูก ขณะที่การใช้ความเชื่อพุทธเป็นเหตุผลสนับสนุนชีวิตทางโลก เช่น การใช้คาถาอาคม เวทมนตร์ วัตถุมงคลเพื่อป้องกันภัย หรือให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวยจะเป็นสิ่งที่ผิด ถึงที่สุดแล้วเราอาจยอมรับ “ความย้อนแย้ง” ได้ด้วย เช่นบางครั้งเราอาจทำตามคำสอนที่ดูมีเหตุผล บางครั้งเราอาจเป็นพุทธสายมูที่เชื่อเวทมนตร์ วัตถุมงคล หรือการบน การสาบานต่อพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

(ที่จริงแล้ว “คำปฏิญาณ” ของจำเลยและพยานในศาล ก็คือการปฏิญาณต่อพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ดลบันดาลความสุขหากเราให้การตามเป็นจริง แต่หากให้การเท็จก็ขอให้ประความพินาศฉิบหาย ซึ่งก็สอดรับกับการปฏิบัติในวิถีชีวิตชาวพุทธไทยที่เห็นได้ทั่วไป)

ผมเห็นด้วยว่าพุทธศาสนาในวิถีชีวิตประจำวันของชาวพุทธไทยมี “ความหลากหลาย” อยู่จริง รัฐไม่สามารถควบคุมบทสวดมนต์ การประกอบสร้างคาถาอาคม พิธีกรรม วัตถุมงคลพาณิชย์และอื่นๆ ให้เป็นแบบที่รัฐต้องการได้จริง ปัจเจกบุคคลสามารถตีความคำสอน และพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของกลุ่มผู้ศรัทธา วัดหรือสำนักต่างๆ ตามที่เราเห็นได้ทั่วไป

แต่ผมคิดว่ารัฐไทยยุคเก่าและปัจจุบันไม่เคยต้องการควบคุมเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเลย เพราะสถานะและอำนาจชอบธรรมของกษัตริย์ ก็ขึ้นกับความเชื่อและพิธีกรรมแบบพุทธ พราหมณ์ ผี บางครั้งกษัตริย์เสด็จประกอบพิธีกรรมทางพุทธที่วัดพระแก้ว บางครั้งเสด็จในพิธีแรกนาขวัญที่มีพราหมณ์เป็นเจ้าพิธี บางครั้งก็มีพระบรมราชโองการให้พระสงฆ์สวดมนต์ไล่โรคระบาด หรือลงเรือไปสวดมนต์ให้น้ำลดในฤดูน้ำหลากท่วมไร่นาราษฏรเป็นต้น พระและฆราวาสก็มีความเชื่อและพิธีกรรมหลากหลายเช่นกัน ดังนั้น ความหลากหลายทำนองนี้ จึงมีอยู่แล้วในชาวพุทธทุกชนชั้น รัฐไม่เคยคิดจะควบคุมเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังอะไรนัก

แต่คำถามคือ ความหลากหลายของพุทธไทยอยู่บนหลักเสรีภาพทางความคิดเห็น (freedom of conscience), เสรีภาพทางศาสนา, ความเคารพ และความอดกลั้น (tolerance) หรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่” เพราะชนชั้นปกครองและศาสนจักรของรัฐ (มหาเถรสมาคม) ไม่อนุญาตให้มีความหลากหลายในด้านที่ท้าทาย หรือวิจารณ์และตรวจสอบอำนาจของสถาบันกษัตริย์และศาสนจักรได้จริง ดังนั้น ถึงจะมีพระอย่างครูบาศรีวิชัย, กบฏผีบุญ และอื่นๆ ท้าทายอำนาจรัฐและศาสนจักร แต่สุดท้ายก็ถูกกดปราบ

ยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการแก้กฎหมายให้ระบบการปกครองของคณะสงฆ์ขึ้นตรงต่อ “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” แบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยิ่งทำให้การตั้งยศ และตำแหน่งบริหารระดับสูงของคณะสงฆ์เป็นไปตาม “พระราชอัธยาศัย” ชัดเจนขึ้น กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะและผู้บริหาระดับสูงของคณะสงฆ์ได้ โดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ขณะที่มหาเถรสมาคมออกคำสั่งให้พระสงฆ์ทุกวัดทั่วราชอาณาจักรสอนประชาชนให้จงรักภักดิ์ดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และห้ามพระภิกษุสามเณรแสดงความคิดเห็น อภิปราย เสวนา และชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของประชาชน เพราะถือเป็นการ “เกี่ยวข้องกับการเมือง” แต่การเทศนา การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือกระทำการใดๆ ที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ หรืออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แม้กระทั่งสนับสนุนอำนาจที่มาจากรัฐประหาร เช่น ว. วชิรเมธีออกทีวีของรัฐ “รายการเดินหน้าประเทศไทย” แสดงความเห็นสนับสนุน “ค่านิยม 12 ประการ” ของผู้นำรัฐบาล คสช.[7] หลังเหตุการณ์รัฐประหารเพิ่งผ่านไป ก็ถือว่า “ไม่ใช่การเกี่ยวข้องกับการเมือง” นี่คือข้อเท็จจริงบางส่วนที่ผมอยากแลกเปลี่ยนกับแมคดาเนียลว่าทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ใช้พุทธศาสนาและศาสนจักรของรัฐสนับสนุน

พูดอีกอย่าง มันยากมากที่เราจะอธิบายให้พระสงฆ์หรือชาวพุทธทั่วไปยอมรับความจริงได้ว่า ภายใต้อำนาจศาสนจักรของรัฐตามที่เป็นอยู่ คณะสงฆ์ถูกกำหนดให้เป็นกลไกสนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และพระเณรก็ไม่มี “เสรีภาพทางศาสนา” จริง เพราะถ้ามี “เสรีภาพ” ต้อง “เลือกได้” ว่าคุณจะแสดงความเห็น เทศนาตีความพุทธศาสนาสนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือจะตีความพุทธศาสนาตั้งคำถาม วิพากษณ์วิจารณ์ “การปกครองโดยธรรม” ของกษัตริย์ และสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนก็ได้

ภายใต้สภาพบังคับของศาสนจักรของรัฐที่พระเณรไม่มีเสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่ไม่มีพระเณรลุกขึ้นต่อสู้ในฐานะปัจเจกบุคคลเอาเสียเลย มีครับ แต่ก็ถูกกดปราบ เช่น สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า (เณรโฟล์ค) เพียงแค่ปราศรัยในที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งคำถามว่า “ทำไมพระในวัดต่างๆ เทศนาแต่ด้านดีของพระราชา ไม่พูดถึงภัยของพระราชาบ้าง” คำว่า “ภัยของพระราชา” ถูกตีความว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 112 และศาลตัดสินจำคุก 2 ปี

อีกกรณีคือ สมณะดาวดินที่เดิมทีเป็น “ชาวสันติอโศก” แต่รับไม่ได้กับแนวทางการเมืองแบบสันติอโศก โดยเฉพาะที่สมณะโพธิรักษ์ใช้ภาษาจากคลังวัฒนธรรมพุทธศาสนาสนับสนุนว่า “ระบอบ คสช. เป็นอาริยะประชาธิปไตย, พลเอกประยุทธ์ทำงานแบบโลกุตรธรรมคนจึงเห็นได้ยาก”[8] เป็นต้น เมื่อรับไม่ได้กับแนวทางเช่นนั้น สมณะดาวดินจึงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับแนวทางคนรุ่นใหม่ เช่น อดอาหารประท้วงให้ปล่อยนักโทษ 112 แต่เขากลับถูกดำเนินคดีข้อหา “แต่งกายเลียนแบบสงฆ์” 2 คดี ผมเป็นพยานจำเลยทั้งสองคดี ศาลแห่งหนึ่งตัดสิน “ยกฟ้อง” แต่อีกศาลหนึ่งตัดสินให้มีความผิดโทษปรับ 10,000 บาท

ข้อสังเกตคือ พระเณรที่มาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย มักไม่ได้ใช้ภาษาจากคลังวัฒนธรรมพุทธศาสนาเท่าใดนัก (อาจมีบ้างแต่น้อยมาก) ในขณะที่ทั้งพระและฆราวาสฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารและสถาบันกษัตริย์ และพวกที่แสดงความสะใจ เย้ยหยัน สาปแช่งความตายของฝ่ายที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยคือฝ่ายที่ใช้ภาษาจากคลังวัฒนธรรมพุทธศาสนามากเป็นพิเศษ

ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของเฮอร์มาน เฮสเสที่บรรยายบุคลิกภาพของตัวละครในนวนิยายเรื่อง “บทเรียน” ว่า “ความเชื่อมั่นที่มีต่อศาสนาของเขาทำให้เขากลายเป็นคนที่มีอคติ” ที่น่าประหลาดใจอย่างหนึ่งคือ ปัญญาชนพุทธบ้านเรามักแสดงออกว่าตนไม่มีอคติ มีจุดยืนที่ “เป็นกลาง” ทางการเมือง แต่เป็นกลางจริงหรือ

เช่น พุทธทาสภิกขุจำกัดบทบาทของตนเองในฐานะ “พระภิกษุ” ว่า ไม่ควรร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับประชาชนฝ่ายใดๆ ควรทำหน้าที่ “สอนธรรมะ” เท่านั้น แต่การประยุกต์ธรรมะในทางการเมืองของเขา ก็ยังอยู่บนอคติแบบนักบวช เช่นว่าต้องเอาธรรมะ เอาศาสนามานำการเมือง แนวคิดธัมมิกประชาธิปไตย, ธัมมิกสังคมนิยม, เผด็จการโดยธรรมของเขา ก็คือจุดยืนในการวิพากษ์อุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยม และเสรีนิยมว่า “ไม่เหมาะกับสังคมไทย” แล้วเขาก็เชื่อมโยงแนวคิด “การเมืองที่ประกอบด้วยธรรมะ” ของเขาเข้ากับ “ระบบพ่อปกครองลูก” แบบไทย และหลักทศพิธราชธรรม หรือการปกครองโดยคนดีมีคุณธรรม โดยที่ไม่ตั้งคำถามต่อ “การปกครองโดยธรรม” ของไทยเลยว่าก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้จริงตามแนวคิดที่เขาเสนอหรือไม่

ขณะที่ ป.อ. ปยุตฺโตอ้างว่า “ธรรมาธิปไตยไม่มาจึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ”[9] แต่เขามุ่งสอนประชาชนให้มีธรรมาธิปไตย โดยไม่ตั้งคำถามเลยว่าการปกครองโดยธรรมของกษัตริย์และระบบการปกครองคณะสงฆ์ได้ใช้ธรรมาธิปไตยที่ทำให้หาประชาธิปไตยเจอกันแล้วหรือยัง

ในมุมมองของผมปัญหาพุทธศาสนาไทยไม่ใช่ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของ “คาถาชินบัญชร” ของสมเด็จโต, คาถาเป่าตาแดงของหลวงพ่อในวัดชนบท หรือความเชื่อทั่วไปที่ถูกตีตราว่า “งมงาย” ตราบที่ความเชื่อเหล่านั้นถือปฏิบัติกันในฐานะ “ความเชื่อส่วนตัว” ที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น

ปัญหาพุทธศาสนาไทยอยู่ที่งานทางความคิดของปัญญาชนพุทธทั้งพระชื่อดังและฆราวาสที่ประยุกต์ใช้พุทธธรรมวิพากษ์สังคมและการเมือง แต่พวกเขาไม่วิพากษ์การปกครองโดยธรรมของชนชั้นปกครอง และไม่วิพากษ์อำนาจของศาสนจักรว่ามีธรรมาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร กลับอ้างธรรมะมาวิพากษ์นักการเมืองและประชาชนเป็นด้านหลัก ขณะที่อ้างธรรมะสรรเสริญกษัตริย์กันเป็นประเพณี

เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พธม.-กปปส. ที่อ้าง “ธรรมาธิปไตย-คนดีมีคุณธรรมควรเป็นผู้ปกครอง” และนักวิชาการ กระทั่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มุ่งตรวจสอบ “การขาดจริยธรรม” ของนักการเมือง แต่พวกเขากลับยอมรับรัฐประหาร อำนาจรัฐบาลจากรัฐประหาร และอำนาจสถาบันกษัตริย์ที่ตรวจสอบไม่ได้

พวกเขาป่าวประกาศด้วยภาษาพุทธศาสนาว่า “การคอร์รัปชันของนักการเมืองผิดศีลอทินนาทาน” แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าการทำรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนผิดศีลอทินนาทานหรือไม่ รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็เข้าเฝ้ารับ “ธรรมโอวาท” และ “พร” จากสมเด็จพระสังฆราช และใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ปกครองประเทศในฐานะ “คนดีมีคุณธรรม” ได้อย่างยาวนานกว่ารัฐบาลใดๆ ที่มาจากหการเลือกตั้งของประชาชนเสียอีก

ความย้อนแย้งดังกล่าว (เป็นต้น) ดำเนินไปพร้อมๆ กับการเน้น “การปกครองโดยธรรม” และอุดมคติไตรภูมิพระร่วงมาออกแบบสร้าง “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาที่มีหน้าตาแบบ “ศาสนสถาน” นี่คือการนำคลังวัฒนธรรมของพุทธศาสนามาใช้ในทางการเมืองที่สะท้อน “พุทธศาสนาเชิงปฏิบัติแบบที่มีอยู่จริง” ในสังคมไทย ขณะที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยสมัยใหม่ปฏิเสธความเชื่อเรื่อง “สมมติเทพ” ที่ไม่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ แต่รัฐธรรมนูญกลับบัญญัติสถานะศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” และคำตัดสินคดี 112 ของศาลก็อ้างรัฐธรรมูญมาตรานี้เสมอ ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องมี 112 ก็คือความจำเป็นที่ต้องปกป้องสถานะศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาของกษัตริย์ผู้ปกครองโดยธรรมแบบพุทธไทยที่แตะต้องไม่ได้

กล่าวโดยสรุป ผมไม่ได้คิดว่างานวิชาการที่วิพากษ์ปัญหารัฐกับพุทธศาสนาในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและโครงสร้าง กับงานศึกษาความมีอยู่จริงและการเปลี่ยนแปลงอย่างพลวัตของพุทธศาสนาที่ไหลเวียนอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนและสังคมไทยแบบงานของแมคดาเนียลจะเป็นงานที่ขัดแย้งกัน ผมคิดว่างานวิชาการทั้งสองแบบช่วยให้เราเข้าใจพุทธศาสนาตามที่ทำงานอยู่จริงในทางการเมืองและสังคมไทยชัดเจนขึ้น เป็นงานที่ต่างเติมเต็มให้กันและกันมากกว่า ซึ้งจะช่วยให้เราเข้าใจพุทธศาสนาไทยได้ครอบคลุม ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และเห็นพ้องกันได้ว่าเราจะร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหาให้ “ถูกจุด” ได้อย่างไร

 

อ้างอิง

 

[1] ดู ผนึกกําลังแจ้งจับน้องไนซ์เชื่อมจิต อนันต์ชัย-พวกตีแผ่ลัทธิเพี้ยน จี้เอาผิดพ่อ-แม่ https://www.thairath.co.th/news/society/2785361

[2] ดู "พิชิต" ตั้งกรรมการสอบกรณี "เด็กเชื่อมจิต" ลั่น "สำนักพุทธฯ" ต้องกล้าชี้ถูกชี้ผิด เตรียมแถลงวันที่ 17 พ.ค.นี้ https://www.thaipbs.or.th/news/content/340019

[3] คลิกอ่านการต่อสู้คดีของบุ้งที่นี่ https://tlhr2014.com/archives/66964 และอ่านบทสัมภาษณ์ของบุ้งที่นี่ https://tlhr2014.com/archives/44709

[3]ดู ตั๊ก บงกช รับโพสต์เฟซบุ๊กถึงอากงแค่ทำเพื่อคนที่รักและเคารพ

https://women.kapook.com/view40674.html

 

[6] ดู ทั้งเสนอแก้ไข – ยกเลิก ย้อนดูทางวิบากของการเสนอต่อมาตรา 112 https://www.ilaw.or.th/articles/10432

[7] ดู ว.วชิรเมธีแนะคนไทยนำหลักค่านิยม 12 ประการมาปลูกฝัง https://www.sanook.com/news/1650541/

[8] ดู สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมพุทธศาสนาไทยไปไม่ได้กับสังคมโลกวิสัย https://prachatai.com/journal/2022/07/99502

 

[9] คลิกอ่านหนังสือ “ธรรมาธิปไตยไม่มาจึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ” ที่นี่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/226

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net