Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของปาฐกถาหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม ทำงานอย่างไรในระบบกฎหมายไทย” ของธงชัย วินิจจะกูล ในงานปิดนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และในโอกาสครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร (ดูคลิปที่นี่ https://www.matichon.co.th/clips/news_4597035) ผมเห็นว่ามีแง่มุมสำคัญบางอย่างเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาไทยมาก จึงอยากแลกเปลี่ยน

ก่อนอื่นเวลาเราพูดถึง “พุทธศาสนาไทย” ผมคิดว่าเรามองได้ 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่เป็น “ความเชื่อทั่วไป” ที่พุทธศาสนาไทยมีร่วมกับพุทธศาสนาแบบอื่นๆ และ “ลักษณะเฉพาะ” ของพุทธศาสนาไทยที่ต่างจากพุทธศาสนาแบบอื่นๆ

ความเชื่อทั่วไปที่พุทธศาสนาไทยมีร่วมกับพุทธศาสนาแบบอื่นๆ เช่นคำสอน เรื่องเล่า ชาดกต่างๆ แนวคิดเกี่ยวกับพุทธบริษัทสี่, สังฆะ ตามที่บันทึกคัมภีร์เถรวาทท ซึ่งมีทั้งส่วนที่มีเหตุผล และส่วนที่เป็นความเชื่อเชิงปาฏิหาริย์ต่างๆ และความเชื่อเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิด ผี เทวดา นรก สวรรค์ นิพพาน หรือไตรภูมิและการหลุดพ้นจากไตรภูมิที่ถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมคลาสสิก “ไตรภูมิพระร่วง” เป็นต้น รวมทั้งความเชื่อ, พิธีกรรม, คาถาอาคม, โหราศาสตร์ ที่ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างพุทธ พราหมณ์ ผี เหล่านี้คือความเชื่อทั่วไปที่มีร่วมกันทั้งในพุทธศาสนาเถรวาทแบบอินเดีย ศรีลังกา เมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา เป็นต้น อีกทั้งพุทธศาสนาเถรวาทไทยยังมีความเชื่อสำคัญๆ ที่สอดคล้องกับพุทธศาสนานิกายมหายาน วัชรยาน เซน เป็นต้นด้วย เช่น อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน เป็นต้น

ส่วน “ลักษณะเฉพาะ” ของพุทธศาสนาไทย ที่ต่างจากพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราควรทำความเข้าใจให้กระจ่าง เพราะโดยปกติ “ความเชื่อทั่วไป” ที่พุทธไทยมีร่วมกับกับพุทธแบบอื่นๆ อาจไม่เป็นปัญหาต่อเสรีภาพปัจเจกบุคคล, เสรีภาพทางการเมือง และหลักนิติรัฐ หรือ rule of law แต่ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาไทยต่างหากที่เป็นปัญหา หรือการนำความเชื่อทั่วไปต่างๆ พวกนั้นมาใช้ภายใต้อำนาจอันเป็นลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาไทยต่างหากที่กระทบต่อเสรีภาพปัจเจกบุคคล เสรีภาพทางการเมือง และหลักนิติรัฐ ซึ่งลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาไทยที่สำคัญๆ ตามที่ปรากฏอยู่จริงหรือทำงานอยู่จริงในสังคมไทย คือลักษณะต่อไปนี้

1. พุทธศาสนาไทยมีสถานะเป็นสถาบันนามธรรมของรัฐ ที่เรียกว่า “สถาบันหลักของชาติ” ได้แก่ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้พุทธศาสนาถูกผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับชาติและสถาบันกษัตริย์ ความมั่นคงของพุทธศาสนาก็ถูกจัดเป็น “ความมั่นคงของรัฐ” ด้วย จึงมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธสาสนา (เน้นนิกายเถรวาท) ให้รัฐนำหลักธรรมพุทธศาสนามาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และวางกลไกป้องกัน “ภัยของพุทธศาสนา” โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม (ดู รธน. 2560 มาตรา 67)

2. พุทธศาสนาไทยมีสถานะเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง ของกษัตริย์ยุคราชาธิปไตย-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงยุค “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน นั่นคือ อุดมการณ์ “การปกครองโดยธรรม” ซึ่งอ้างอิงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ของ “โบราณราชประเพณี” โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (ตั้งแต่ ฉบับ 10 ธันวาคมเป็นต้นมา) ให้กษัตริย์ผู้ปกครองโดยธรรม “ต้องทรงเป็นพุทธมามกะและเป็นอัครศาสนูปถัมภก” และ “ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” รัฐธรรมนูญหมวดสถาบันกษัตริย์ (ที่ห้ามแก้ไขหากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐบาลนี้) ก็คือรัฐธรรมนูญที่สถาปนาสถานะและอำนาจของกษัตริย์พุทธมามกะผู้ปกครองโดยธรรมที่ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และมาตรา 112 ก็คือกฎหมายที่ปกป้องสถานะเช่นนั้นของกษัตริย์พุทธมามกะผู้ปกครองโดยธรรม

ดังนั้น การมองสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ โดยแยกต่างหากจากพุทธศาสนาจึง “ไม่ make sense” ที่เถียงๆ กันว่าใครคือ “พุทธแท้” ถ้าตอบตามความจริงเชิงประจักษ์ สถาบันกษัตริย์น่าจะเป็นพุทธแท้มากที่สุด เพราะในประวัติศาสตร์ไทย กษัตริย์เป็น “หน่อพุทธะ” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เป็นพระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัว, สมมติเทพผู้เป็นธรรมราชาปกครองโดยธรรม มีอำนาจปกครองทั้งอาณาจักร และศาสนจักร นี่คือความเชื่อหลักอันเป็นลักษณะเฉพาะเด่นชัด และสำคัญที่สุดของพุทธศาสนาไทย

3. พุทธศาสนาไทยมีศาสนจักรของรัฐ คือ มหาเถรสมาคมที่มีอำนาจปกครองพระภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักร รัฐไทยได้ให้ “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” (religious privilege) มากมายแก่ศาสนจักรนี้ เช่น อำนาจทางกฎหมายในการปกครองสงฆ์, สมณศักดิ์, งบประมาณรายปี, เงินนิตยภัตรายเดือนแก่พระสังฆาธิการ และพระมีสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ มีส่วนราชการต่างๆ สนับสนุนงานศาสนาของศาสนจักร เช่นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด กรมการศาสนา และอื่นๆ

อำนาจทางกฎหมาย (ในรูปคำสั่ง, มติมหาเถรฯ) ของศาสนจักร “ขีดเส้น” ไว้ชัดเจนว่า บทบาทของศาสนจักร และพระสงฆ์ทั่วไปที่ตีความพุทธศาสนา, พิธีกรรม หรือปฏิบัติกิจกรรมใดๆ ในทางสนับสนุนอุดมการณ์ปกครองโดยธรรม, เฉลิมพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ หรือสนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ย่อม “ไม่ถือว่าเกี่ยวข้องการเมือง” แต่การกระทำใดๆ ที่สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของประชาชน ถือว่าเป็นการ “เกี่ยวข้องการเมือง” ผิดกฎมหาเถรฯ และธรรมวินัย รัฐไทยเองก็ยอมรับฐานคิดเช่นนี้ จึงห้ามพระภิกษุสามเณรใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย

4. พุทธศาสนาไทยเป็นที่มาของศีลธรรมอันดีของชาติ เห็นได้จากนโยบายจัดการศึกษาสมัยใหม่ของรัฐไทย ตั้งแต่ยุคปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาได้ใช้ “ทฤษฎีความรู้คู่คุณธรรม” เป็นกรอบคิดหลักในการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ราษฎรมี “ความรู้สมัยใหม่” สำหรับประกอบอาชีพ และมี “ความรู้ศีลธรรมพุทธศาสนา” เพื่อให้เป็นคนดี หรือเป็นพลเมืองดี แนวทางการพัฒนาระบบตุลาการก็มุ่งสอน “นิติศาสตร์สมัยใหม่” แก่นักกฎหมาย และอบรมคุณธรรมพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นผู้พิพากษาที่เก่งและดี รวมทั้งการอบรมจริยธรรมพุทธศาสนาแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ

แต่พัฒนาการของความรู้สมัยใหม่ จริยธรรมสมัยใหม่ รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ของตะวันตกเกิดจากการต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจาก “อำนาจครอบงำ” ของศาสนา ศาสนจักร และอำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐให้ทำงานได้จริง ส่วนศีลธรรมสาธารณะก็แยกออกจากศาสนาเป็น secular morality หรือ secular ethics ที่ยึดโยงกับ moral autonomy ของปัจเจกบุคคล, สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประโยชน์สุขส่วนรวม และหลักความยุติธรรมสาธารณะทางสังคมและการเมืองสมัยใหม่ แต่ศีลธรรมพุทธที่ถือเป็นศีลธรรมหลักของชาติไทย กลับไม่ได้ยึดโยงคุณค่าสมัยใหม่เหล่านั้นในเชิงตรรกะเลย

5. พุทธศาสนาไทยเป็นที่มาของสัญลักษณ์รูปธรรมของอำนาจชอบธรรมทางการเมือง ของสถาบันกษัตริย์ เช่น สัญลักษณ์ของอาคารรัฐสภาที่เรียกว่า “สัปปายะสภาสถาน” ที่หน้าตาเหมือนศาสนสถานนั้น คือสัญลักษณ์ที่สื่ออุดมการณ์ทางการเมืองแบบศักดินาตามคติ “ไตรภูมิพระร่วง” อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองโดยธรรม ซึ่งล้วนสะท้อนสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่เหนืออำนาจรัฐสภา

6. พุทธศาสนาไทยมีบทบาทหลักในพิธีกรรมทางศาสนาของรัฐ เช่น พิธีบรมราชาภิเษก และพิธีการอื่นๆ ของรัฐ รวมทั้งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยของรัฐ  

ที่กล่าวมาคือ “ลักษณะเฉพาะ” ของพุทธศาสนาไทยที่ผมเรียกว่า “พุทธราชาชาตินิยม” คือพุทธศาสนาที่ทำหน้าที่สนับสนุนแนวติดชาตินิยมของชนชั้นนำ ที่ถือว่าราชาหรือกษัตริย์คือผู้ปกครองที่ยังความสงบสุข ความเจริญสถาพรมาสู่พุทธศาสนาและชาติบ้านเมือง และเป็นศูนย์รวมความรักสามัคคีของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

พุทธราชาชาตินิยมเกี่ยวข้องอย่างไรกับราชนิติธรรม?

ตามคำอธิยายของธงชัย “ราชนิติธรรม” เป็นแนวคิดที่เป็นรากฐานของการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ถือว่า “ความมั่นคงของรัฐ” หมายถึง “ความมั่นคงของรัฐที่มีชนชั้นนำเป็นผู้นิยมเจ้า” พูดให้เห็นภาพรวมคือความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ที่มีชนชั้นนำนิยมเจ้าถืออำนาจทางการเมือง, กองทัพ, ตุลาการ, ภาคราชการโดยรวม และประชาชนที่ต้องมีความจงรักภักดี และมีหน้าที่ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการบัญญัติความจงรักภักดี และหน้าที่เช่นนั้นไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเน้นมากขึ้นเป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญ 2560

ธงชัยอธิบายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่าง “ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ” กับ “ราชนิติธรรม” ว่า ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ หมายถึง แนวคิดการปกครองก่อน 2475 ที่กษัตริย์ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ แล้วให้มีรัฐบาลบริหารประเทศ แต่พระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจเหนือรัฐบาล และรัฐธรรมนูญ นี่ “ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย” และนี่คือสิ่งที่ ร.7 คิดจะมอบแก่ราษฎร การต่อสู้ของ “ฝ่ายกษัตริย์นิยม” หลัง 2475 เป็นต้นมา คือการต่อสู้เพื่อให้เกิดระบบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญในความหมายนี้ และนี่คือระบบที่รองรับราชนิติธรรม และนิติรัฐอภิสิทธิ์ของนิติศาสตร์ไทยและระบบยุติธรรมไทย

เราอาจพูดได้ว่า ระบบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ ที่กษัตริย์ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ และมีรัฐบาลบริหารประเทศ แต่กษัตริย์เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล และรัฐธรรมนูญ ก็คือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่เราเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นในยุคนี้นั่นเอง

เพราะระบอบประชาธิปไตยที่มีสร้อยเช่นนี้ ไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) ดังเห็นได้จากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า การรณรงค์เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้ (แบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น) เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้าง” การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีสร้อยนั้น หรือแม้แต่พรรคการเมืองอย่าง “พรรคก้าวไกล” แค่เสนอแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านกระบวนการรัฐสภา ศาลก็ตัดสินว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีสร้อยแล้ว

ลักษณะสำคัญของราชนิติธรรม คือ การมี “สภาพยกเว้น” การใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ และอาจ “ยกเว้น” สิทธิอื่นๆ เช่น “สิทธิประกันตัว” ของผู้ต้องหาคดี 112 รวมทั้งเอื้อต่อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์” เช่น ทหารนิยมเจ้าที่ทำรัฐประหารโดยอ้างว่าปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์สามารถนิรโทษกรรมให้พวกตนเองได้เสมอ และศาลรัฐธรรมนูญก็ “ยกเว้น” ไม่รับฟ้องเอาผิดทหารที่ทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ธงชัยชี้ให้เห็นว่า “หัวใจของ rule of law คือสิทธิ เสรีภาพของประชาชน” ขณะที่เราเข้าใจได้ว่าหัวใขของราชนิธิธรรมและนิติรัฐอภิสิทธิ์คือ สถานะและอำนาจที่ล่วงละเมิดมิได้ของสถาบันกษัตริย์ และอภิสิทธิ์ทางอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำนิยมเจ้า ในแง่นี้อภิสิทธิ์ทางศาสนาที่กฎหมายรับรอง ก็อาจจัดเข้าในนิติรัฐอภิสิทธิ์ได้เช่นกัน

ทำไมพระสงฆ์ไม่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง? เพราะการมีสิทธิเลือกตั้งอาจไม่สำคัญเท่ากับการมีอภิสิทธิ์ทางศาสนาตามกฎหมายรับรอง และที่ไม่ต้องการให้ “แยกศาสนาจากรัฐ” ก็เพราะการคงลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาไทยไว้ตามเดิมยัง “เปิดทาง” ให้เรียกร้องร้องอภิสิทธิ์ทางศาสนาเพิ่มมากขึ้นได้เสมอ ดังที่เคยเรียกร้องให้เพิ่มอภิสิทธิ์เช่นนี้มาแล้ว เช่น เรียกร้องให้มีกระทรวงพุทธศาสนา ก็ได้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักพุทธจังหวัด, เรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน. ก็ได้รัฐธรรมนูญมาตราที่บัญญัติให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา เป็นต้น นี่จึงเป็นฐานให้เรียกร้องอภิสิทธิ์อื่นๆ ได้อีกต่อไปผ่าน “การล็อบบี้” พรรคการเมือง หรือรัฐบาลทั้งจากเลือกตั้งและรัฐประหาร

ดังนั้น การต่อสู้ของอานนท์ นำภา, คนรุ่นใหม่ และประชาชนทุกรุ่นที่ต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ และหลักนิติรัฐที่คุ้มครองเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพปัจเจกบุคคล อำนาจอธิปไตย และสิทธิพื้นฐานต่างๆ ของประชาชนให้มีผลในทางปฏิบัติ จึงเป็นการต่อสู้ที่ยากยิ่ง

เพราะต้องเผชิญหน้ากับราชนิติธรรมที่ยึดโยงกับลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาไทย ซึ่งเป็นพุทธศาสนาแบบที่สถาปนาอำนาจนำทางการเมือง และอำนาจนำทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์พุทธมามกะผู้ปกครองโดยธรรม และทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และเผชิญหน้ากับนิติรัฐอภิสิทธิ์ที่มุ่งปกป้องอภิสิทธิ์ทางอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำนิยมเจ้า ซึ่งมีทั้งชนชั้นนำทางศาสนา การเมือง กองทัพ ศาล และกลุ่มทุนต่างๆ  

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/www.onab.go.th/videos/364440509544717

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net