Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราแปลการตรัสรู้ของพุทธะเป็นภาษาอังกฤษว่า “enlightenment” ที่หมายถึง “การรู้แจ้ง” ขณะที่ enlightenment ก็เป็นคำใหญ่ในประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตก เพราะเป็นคำที่บ่งถึง “ยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง” หรือ “the Enlightenment” อันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านจากยุคกลางสู่ยุคสมัยใหม่ที่ปลดปล่อยปัจเจกบุคคล สังคม และการเมืองออกจากอำนาจครอบงำของศาสนาแบบยุคกลาง

แนวคิดทางปรัชญาสำคัญๆ ที่งอกงามขึ้นในยุคนี้คือ แนวคิดมนุษยนิยม (humanism) ที่เชื่อมั่นในความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ว่าอธิบายความจริงของธรรมชาติ, ความหมายของชีวิต, คุณค่าและระเบียบทางสังคม การเมืองและอื่นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคำตอบของพระเจ้าในไบเบิล หรือกฎระเบียบทางสังคม และการเมืองที่ศาสนจักรกำหนดให้เดินตามเท่านั้น แนวคิดมนุษยนิยมจึงสนับสนุนการแสวงหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สะท้อนความสามารถทางปัญญาของมนุษย์

อีกแนวคิดที่สนับสนุนกันคือ แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่ยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการตีความคำสอนของพระเจ้าในไบเบิลด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการตีความของนักบวชหรือศาสนจักรเท่านั้น ทั้งยืนยันเสรีภาพที่จะเลือกถือศาสนาคริสต์นิกายใดๆ ก็ได้ เลือกถือศาสนาอื่นๆ หรือไม่มีศาสนาก็ได้ กระทั่งยืนยันเสรีภาพทางการเมืองที่นำไปสู่การปฏิเสธอำนาจเผด็จการเทวสิทธิ์ของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ ทำให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ตามมา

ยังมีแนวคิดที่ได้อิทธิพลทั้งจากมนุษยนิยมและเสรีนิยมคือ แนวคิดฆราวาสนิยมหรือโลกวิสัย (secularism) ที่ถือว่าคุณค่าความหมายของชีวิต ศีลธรรม ระเบียบทางสังคม และการเมืองมาจากการใช้เหตุผลของมนุษย์เพื่อการมีชีวิตและสังคมที่ดีในโลกนี้ ไม่ใช่เพื่อชีวิตที่ดีในโลกหน้าตามความเชื่อแบบศาสนา ทำให้มีการแยกระหว่างศีลธรรมแบบศาสนา (religious morality) กับศีลธรรมแบบโลกวิสัย (secular morality) ออกจากกัน โดยปฏิเสธการนำศีลธรรมแบบศาสนาที่ให้อภิสิทธิ์แก่ชนชั้นปกครองและศาสนจักรหรือนักบวชมาใช้เป็นกฎหรือข้อบังคับทางการเมืองและกฎหมาย เช่น ปฏิเสธอำนาจเทวสิทธิ์, ศาลศาสนา, การใช้กฎหมายศาสนาละเมิดสิทธิสตรี และคนหลากหลายทางเพศ เป็นต้น และถือว่าศีลธรรมโลกวิสัยที่ยืนยันว่าการกระทำที่ถูกหรือดีต้องยึดโยงกับการเคารพและปกป้องหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประโยชน์สุขส่วนรวม หรือหลักความยุติรรมสาธารณะเป็นหลักศีลธรรมทางโลกที่ควรส่งเสริมให้คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนายึดถือในการอยู่ร่วมกัน

แนวคิดโลกวิสัยทำให้เกิดการแยกศาสนาจากรัฐ ยกเลิกรัฐศาสนา หรืออำนาจทางการเมืองในนามศาสนา เช่น อำนาจเทวสิทธิ์ อำนาจการปกครองโดยธรรมแบบโบราณ เป็นต้น และแยกศาสนจักรหรือสถาบันศาสนาออกไปจากสถาบันทางการเมือง แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นไม่ได้ใช้เวลาชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลายาวนานหลายศตวรรษ  

เราจึงพูดกว้างๆ ได้ว่าการรู้แจ้งในประวัติศาสตร์ความคิดแบบยุโรป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในวิถีชีวิตปัจเจกบุคคล สังคม การเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอื่นๆ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดไม่ได้มาจากการเกิด “enlightenment” เพียงอย่างเดียว เพราะมีผลกระทบจากการปฏิรูปศาสนา สงครามระหว่างนิกายศาสนา พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ปัจจัยทางสังคมวิทยาและเศรษฐกิจเป็นต้นบีบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย ภูมิปัญญาแบบยุครู้แจ้งก็มีที่มาจากปรัชญากรีก โรมัน คริสต์ศาสนาเป็นต้นที่ถูก “ตีความใหม่” หรือคิดคืบหน้าต่อไป และอีกอย่างผลที่ตามมาจากแนวคิดยุครู้แจ้งก็ไม่ได้มีแต่ “ด้านดี” เท่านั้น ยังมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ลัทธิล่าอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่ 1- 2 และอื่นๆ ที่ครอบงำและทำร้ายสังคมมนุษย์มาแล้ว และผลกระทบบางอย่างก็ยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดสำคัญในยุครู้แจ้ง เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลายเป็น “ประเด็นพื้นฐาน” ในการถกเถียงและถูกอ้างอิงในการต่อสู้ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความเท่าเทียมทางเพศ การบัญญัติกฎหมาย ความยุติธรรม และอื่นๆ ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ส่วนการ “ตรัสรู้” ของพุทธะที่แปลว่า enlightenment หรือรู้แจ้งนั้น เป็นการรู้แจ้งความจริงที่ทำให้เกิด “อิสรภาพทางจิตใจ” จากพันธนาการของกิเลสต่างๆ ความจริงที่ว่านั้นเรียกว่า “อริยสัจสี่” คือ ความจริงเกี่ยวกับทุกข์ทางจิตใจ, สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์, ความเป็นอิสระจากทุกข์ และทางดำเนินชีวิตที่ทำให้เป็นอิสระจากทุกข์ ซึ่งความหมายของความจริงสี่มิตินี้ไม่ได้มีความเป็น “ศาสนา” เลยด้วยซ้ำ เป็นเพียง “ปรัชญาชีวิต” แบบหนึ่งที่ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้

แต่การสร้าง “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับพุทธะให้กลายเป็น “อภิมนุษย์” เช่นว่ากว่าจะได้รู้แจ้งความจริงนี้ต้องผ่านการเกิดเป็นโพธิสัตว์นับชาติไม่ถ้วน ต้องผ่านการให้ทานลูกเมียเป็นทาสและอื่นๆ ชาติสุดท้ายเกิดมาก็เดินได้ 7 ก้าวและพูดได้ทันทีเลย คืนตรัสรู้ก็เกิดญาณวิเศษระลึกชาติได้นับไม่ถ้วน มีมารผจญก็ชนะได้หมด จะแสดงธรรมครั้งแรกก็มีพรหมมาอาราธนา ซ้ำพุทธะยังเหาะเหินเดินอากาศได้ เปิดสามโลกคือ โลกมนุษย์ สวรรค์และนรกให้สรรพสัตว์มองเห็นกันและกันได้ และพุทธะยังไม่ทำความเคารพใครเลยอีกด้วย เพราะถ้าทำความเคารพใครจะทำให้ศีรษะเขาขาดตกไป เป็นต้น เรื่องเล่าทำนองนี้เองที่สร้าง “ความเป็นศาสนา” ขึ้นมา คือทำให้พุทธะกลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ และทำให้ความจริงที่เป็นปรัชญาชีวิตกลายเป็นความจริงสูงส่งเหนือความจริงในความหมายใดๆ

หลังยุคพุทธศาสนาแบบอโศก กษัตริย์พุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างอ้างตนเป็นจักรพรรดิราชแบบพระเจ้าอโศก และยัง “สวมบท” เป็นพระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ขณะเดียวกันก็สถาปนาระบบศักดินาเจ้าและศักดินาพระขึ้นมาด้วยแนวคิดทางการเมืองแบบพุทธที่ถือว่าบรรดากษัตริย์หรือชนชั้นสูง ล้วนเป็น “ผู้มีบุญญาธิการ” ที่สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน ดังนั้น คนที่เกิดมาในชนชั้นต่างกัน ก็เพราะทำบุญมามากน้อยต่างกัน นี่คือการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนระบบชนชั้นในยุคสังคมจารีต ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาคำสอนเกี่ยวกับ “การรู้แจ้ง” ความจริงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้เอาไว้เช่นเดิม แต่กลับไม่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตปัจเจกบุคคล สังคม และการเมืองให้มีอิสรภาพเช่นนั้นอย่างเห็นได้ชัด ตรงกันข้ามระบบการเมืองในรัฐพุทธศาสนากลับสนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครอง เข้าทำนองที่ว่า

“ชนชั้นปกครองมือขวาถือปืน มือซ้ายถือกฎหมาย ปากพ่นศีลธรรมสั่งสอนประชาชน”

ปัจจุบันการนับถือพุทธศาสนาในสังคมไทย ก็มุ่งตอบสนอง “ชีวิตและสังคมทางโลก” มากกว่า เช่น ระบบศาสนจักรของนักบวชก็มีอำนาจทางกฎหมาย รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐ นักบวชเองก็ได้รับทั้ง “เกียรติยศทางศาสนา” คือ สมณศักดิ์หรือศักดินาพระชั้นต่างๆ จากการแต่งตั้งโดยกษัตริย์ และมีเงินนิตยภัตรายเดือนจากภาษีประชาชน และได้ “เกียรติยศทางโลก” ด้วย เช่นตำแหน่งทางวิชาการและอื่นๆ ฆราวาสทั่วไปที่เข้าวัดปฏิบัติธรรมก็เพื่อการมีชีวิตที่ดีทางโลก กระแสศรัทธาในพระเกจิชื่อดังต่างๆ ก็เพื่อหวังว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพระเกจิ เวทมนต์ วัตถุมงคลต่างๆ จะดลบันดาลโชคลาภ ชื่อเสียง เกียรติยศ และกระแสโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการทำบุญก็เน้น “บริจาคมาก รวยมาก” ซึ่งล้วนแต่มุ่งตอบสนองชีวิตทางโลก

แต่อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาไทยที่มุ่งตอบสนองชีวิตทางโลกดังกล่าวกลับสวนทางกับ “พุทธศาสนาแบบโลกวิสัย” หรือ “secular Buddhism” ที่เป็นพุทธศาสนาแบบที่นำหลักอริยสัจสี่และคำสอนอื่นๆ มาตีความสนับสนุนวิถีชีวิตทางโลกให้สอดคล้องไปกันได้กับ “คุณค่าแบบโลกวิสัย” (secular values) เช่น การเคารพหลักการของรัฐโลกวิสัยที่แยกศาสนาจากรัฐ และรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาจึงจะเป็นรัฐที่สามารถรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้จริง และสนับสนุนขันติธรรมทางศาสนาได้จริง พุทธศาสนาแบบโลกวิสัยจึงเป็นพุทธที่นำปรัชญาชีวิตแบบพุทธะ และการปฏิบัติภาวนาเพื่อบ่มเพาะปัญญาและกรุณาให้งอกงามขึ้นเพื่อการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคลและการมีสังคมที่ดีในโลกนี้

ตัวอย่างเช่นขบวนการชาวพุทธมหายานในรัฐโลกวิสัยอย่างไต้หวันที่ก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ (Tzu Chi Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมของชาวพุทธที่มีสมาชิก 10 ล้านคนทั่วโลก มีโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ฉือจี้เพื่อช่วยเหลือคนในท้องถิ่นผู้ยากไร้จนไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ มีการรณรงค์ปกป้องสิทธิสัตว์ ภิกษุณีที่มีบทบาทสำคัญรูปหนึ่งคือ “สื้อเจาฮุ่ย” ที่รณรงค์ให้รัฐออกกฎหมายรับรองสิทธิแต่งงานของคนหลากหลายทางเพศ และประกอบพิธีแต่งงานแก่คนหลากหลายทางเพศ ขณะที่ทะไลลามะเยือนไต้หวัน ภิกษุณีเจาฮุ่ยยังตั้งคำถามต่อทะไลลามะว่าเหตุใดพุทธธิเบตจึงไม่รับรองสิทธิการบวชภิกษุณี และเธอยังเสนอให้ “ฉีกครุธรรม” ที่เป็นกฎเหล็กในไตรปิฎกซึ่งกำหนดให้ “พระเพศชาย” มีสถานะเหนือกว่า “พระเพศหญิง” แปลว่าภิกษุณีเจาฮุ่ยทั้งฉีกกฎในไตรปิฎกที่กำหนดความไม่เท่าเทียมทางเพศ ต่อต้านประเพณีปฏิบัติแบบพระเพศชายเป็นใหญ่ และยังรณรงค์ให้รัฐบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงายของคนหลากหลายทางเพศ และประกอบพิธีแต่งงานแก่คนหลากหลายทางเพศด้วย

ที่มา https://samyanpress.bentoweb.com/en/product/1070886/product-1070886

ผมอ่านบทสนทนาระหว่างภิกษุณีเจาฮุ่ยกับนักปรัชญาชาวอเมริกันปีเตอร์ ซิงเกอร์ (Peter Singer) ในหนังสือ “วิวาทะพระและนักปรัชญา” (The Buddhist and Ethicist: Conversations on Effective Altruism, Engaged Buddhism, and How to Build a Better World) ซิงเกอร์บอกว่าเคยมาสังเกตการนับถือพุทธศาสนาในไทยและพม่าพบว่ามีเพียงชาวพุทธจำนวนน้อยที่ทานมังสวิรัติ ซึ่งตัวเขาเองก็ทานมังสวิรัติ แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางศาสนาใดๆ เป็นเหตุผลแบบจริยศาสตร์ประโยชน์นิยม ต่อมาเขาไปไต้หวันได้รู้จักภิกษุณีเจาฮุ่ยที่ทานมังสวิรัติเช่นกัน จึงทำให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างมุมมองทางจริยศาสตร์ประโยชน์นิยมกับจริยศาสตร์พุทธในประเด็นพื้นฐานสำคัญๆ เช่น รากฐานแห่งจริยธรรม, แนวคิดหลักทางพุทธศาสนา: กรรมและนิพพาน, ผู้หญิงและความเสมอภาค, เพศ, การวิจัยเอ็มบริโอและการทำแท้ง, สวัสดิภาพสัตว์, การุณยฆาตและการฆ่าตัวตาย, โทษประหารและการฆ่าในสงคราม

ในหนังสือเล่มดังกล่าว ผมพบแนวคิดพุทธแบบโลกวิสัยจากการถ่ายทอดของภิษุณีเจาฮุ่ยอย่างชัดเจนว่าการเป็นพุทธแบบโลกวิสัย นอกจากจะไม่ทำให้คุณค่าของความจริงหรือ “อริยสัจ” จากการรู้แจ้งของพุทธะหายไป ยังนำมาปรับใช้อย่างมีชีวิตชีวา การทานมังสวิรัติไม่ใช่เพื่อแสดงตนเป็น “คนดี” มีศีลธรรมสูงส่ง แต่เป็นพันธะทางจริยธรรมในการปกป้องชีวิตสัตว์ ขณะเดียวกันการสร้างโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลช่วยเหลือคนยากจนในชุมชนท้องถิ่น และการรณรงค์ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ความเป็นธรรมทางสังคม สันติภาพ และประโยชน์สุขส่วนรวมก็เป็น “พันธะทางจริยธรรม” ของชาวพุทธที่ต้องมีบทบาทช่วยให้สังคมและโลกน่าอยู่ขึ้น ซึ่งสาระสำคัญแล้วเป็นการตีความพุทธธรรมในทางสนับสนุนหรือสอดคล้องไปกันได้กับคุณค่าแบบโลกวิสัย ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ

แต่เรากลับไม่ได้เห็นพัฒนาการเช่นนั้นในพุทธศาสนาไทย ผมนึกถึงภาพพระถือป้ายประท้วงในการชุมนุมทางการเมืองร่วมกับขบวนการคนรุ่นใหม่ ข้อความว่า “พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 บอนไซพระให้แคระแกร็นทางความคิด” แล้วก็มองเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “พระผู้ใหญ่” บางรูปที่มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการมหาเถรสมาคมทุกวันนี้ สมัยเป็น “พระหนุ่ม” เขาจบปริญญาเอกด้านปรัชญา เขียนงานทางปรัชญา “เปรียบเทียบแนวคิดพุทธทาสกับซาตร์” แต่เมื่อไต่เต้ามีสมณศักดิ์และตำแหน่งบริหารสูงขึ้นตามกฎหมายสงฆ์ฉบับนี้ เป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสพระอารามหลวง และเจ้าคณะปกครองส่วนอื่นๆ รวมทั้งเป็นศาสตราจารย์ และผ่านการเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย แต่ผลงานที่โดดเด่นของเขาในยุคนี้คือบทความวิชาการ บทเทศนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ศาสตร์พระราชา, จิตอาสาพระราชทาน ล่าสุดคือการแต่งบทเทศนาเฉลิมพระเกียรติ ร.10 ชื่อ “วชิโรปมกถา ว่าด้วยปัญญาประดุจเพชร” เป็นบทเทศนาที่มหาเถรสมาคมมีมติให้พระไทยทุกวัดทั้งในและนอกราชอาณาจักรเทศนาสอนประชาชน


ที่มา https://prachatai.com/journal/2020/11/90577


ดังนั้น พุทธศาสนาไทยที่ไม่แยกจากรัฐ จึงเป็นพุทธศาสนาที่เน้นการตีความพุทธธรรมเฉลิมพระเกียรติเป็นด้านหลัก ถึงจะเป็นพุทธศาสนาที่มีไว้ตอบสนองชีวิตทางโลก แม้แต่นักบวชเองก็ได้รับทั้งเกียรติยศทางศาสนาหรือศักดินาพระเป็นต้นและได้รับเกียรติยศอื่นๆ ทางโลกด้วยดังที่กล่าวแล้ว แต่ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาที่ปรับตัวให้สอดคล้องและสนับสนุนคุณค่าแบบโลกวิสัยอย่างพุทธแบบโลกวิสัยในไต้หวัน (เป็นต้น)  

พุทธแบบไทยจึงยังคงเป็นศาสนาที่ทำ “หน้าที่หลัก” สนับสนุนสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของชนชั้นปกครอง และบรรดานักบวชก็มี “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” ที่ขัดกับคุณค่าแบบโลกวิสัยหรือหลักการแยกศาสนาจากรัฐในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่พุทธเช่นนี้จะมี “พันธะทางจริยธรรม” ในการสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอย่างที่พุทธแบบโลกวิสัยเขาทำกัน

 

 

ที่มาภาพ: https://tricycle.org/beginners/buddhism/secular-dharma-and-religion/

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net