Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศาสนาและความเชื่อต่างๆ เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์ความรู้สึก” อย่างลึกซึ้ง อารมณ์ความรู้สึกคือที่มาของความต้องการ หรือความปรารนาต่างๆ ของเรา มีงานวิชาการศึกษาว่า “อารมณ์ความรู้สึกสร้างโลกหรือเปลี่ยนแปลงโลก” เช่น เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในชีวิตบุคคลสำคัญ กระทั่งการประท้วงทางการเมือง จราจล สงครามและอื่นๆ มักมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลังอย่างมีนัยสำคัญ

เฉพาะในทางศาสนา อารมณ์ของพระเจ้าสำคัญกว่าเหตุผลของพระองค์เสียอีก เพราะเมื่อพระเจ้าโกรธหมายถึงไฟนรก ขณะที่ความรักของพระองค์หมายถึงสวรรค์ เราไม่ทราบเหตุผลในการสร้างมนุษย์ของพระเจ้าด้วยซ้ำ และเราจึงไม่ทราบเหตุผลด้วยว่าทำไมพระองค์จึงสร้างสิ่งชั่วร้ายนานา เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด สงคราม ฯลฯ เพื่อเป็น “บททดสอบ” สำหรับมนุษย์ผู้เป็นลูกรักของพระองค์

สิทธัตถะในวัย 29 ปี น่าจะผ่านการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิตมาไม่น้อย และคงจะได้คำตอบสำคัญๆ ที่มีเหตุผล แต่ “ความรู้สึกสะเทือนใจ” จากการไตร่ตรองเกี่ยวกับธรรมชาติของความทุกข์ที่ปรากฎผ่านความชรา ความเจ็บป่วย ความตาย และความว่างเปล่าไร้ความหมายของชีวิตมนุษย์ คือที่มาของความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ นี่คือ “อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา”แบบหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตนเอง

แน่นอนว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยในโลกนี้คิดถึงหรือไตร่ตรองเกี่ยวกับความทุกข์และความไร้แก่นสารของชีวิต แต่อาจมีเพียงคนจำนวนหนึ่งที่เกิดความรู้สึกสะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง จนเป็นพลังผลักดันให้เลือกทางเดินของชีวิตเช่นเดียวกับสิทธัตถะ อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเกี่ยวกับความทุกข์และความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์คือ “ความรู้สึกร่วม” ทางศาสนาในวัฒนธรรมอินเดียโบราณ


ชาวฮินดูกับแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ 
https://www.voathai.com/a/india-ganges-pollution-tk/4034678.html

ขณะที่ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือที่มาของอารมณ์ความรู้สึกร่วมทางศาสนาเช่นกัน จะว่าไปนี่อาจเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาใน “ระดับพื้นฐาน” มากกว่าความต้องการพ้นทุกข์ทางจิตวิญญาณเสียอีก เพราะอารมณ์ความรู้สึกจากความเชื่อในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ชาวฮินดูนับแสนๆ เดินทางไปรวมตัวชำระบาปในแม่น้ำคงคาอันศักดิสิทธิ์ เช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกร่วมของชาวมุสลิมเป็นแสนๆ ที่ไปรวมตัวแสวงบุญที่นครเมกกะดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม


การแสวงบุญของชาวมุสลิมใน “พิธีฮัจญ์” 
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_777777785415

ในแง่หนึ่งเรื่องเล่าในคัมภีร์พุทธศาสนา อารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกเบื่อหน่ายในความไร้สาระของชีวิตทำให้สิทธัตถะปรารถนาความพ้นทุกข์ และเลือกเส้นทางชีวิตแสวงหาความพ้นทุกข์ ความปรารถนาเช่นนี้นำไปสู่การใช้ชีวิตเรียนรู้ลองผิดลองถูกจนเกิดปัญญารู้ความจริงที่ทำให้เป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึกด้านที่ก่อทุกข์ เช่น ความโลภ ความโกรธ เกลียด และความไม่รู้ตามเป็นจริง ซึ่งดูเหมือนว่าการเป็นพุทธะคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยแสงสว่างทางปัญญาที่ทำให้มีอิสรภาพจากพันธนาการต่างๆ และมีความกรุณาต่อผู้อื่น

แต่กระนั้นก็มีเรื่องเล่ามากมายที่ประกอบสร้างความเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ของพุทธะ ทั้งที่ปรากฏในคัมภีร์ และปรากฏผ่านการสร้างรูปเคารพหรือ “พุทธปฏิมา” สถูป เจดีย์ วิหาร ศาสนสถาน วัตถุมงคล เวทมนต์คาถา การปลุกเสก และพิธีกรรมมากมายในทุกสังคมที่พุทธศาสนาแผ่ไปถึงในประวัติศาสตร์พุทธศาสนายุคหลังพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นก็เกิดประเพณีการ “สวมบท” ความเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ของพุทธะโดยพวกนักบวช และกษัตริย์ชาวพุทธในรัฐโบราณต่างๆ ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับสยามไทยชนชั้นปกครองสวมบทเป็นหน่อพระพุทธเจ้า, พระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัวดังที่เราทราบกัน ถึงตอนนี้ความเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาผู้สวมบทก็เกินเลยไปจาก “อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา” แบบสิทธัตถะและวิถีชีวิตแห่งปัญญาและกรุณาแบบพุทธะมากแล้ว จนบรรดา “ผู้สวมบท” กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่าพุทธะเสียอีก ทว่าพวกเขากลับปราศจากอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาแบบสิทธัตถะ และมิได้มีวิถีชีวิตแห่งปัญญาและกรณาแบบพุทธะแต่อย่างใด

พิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ และขบวนอัญเขิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นการประกอบสร้างอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอีกแบบหนึ่ง คืออารมณ์ความรู้สึกศรัทธา จงรักภักดี และเกรงกลัวต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่อิงความเชื่อทางศาสนาของชนชั้นปกครอง อันเป็นประเพณีที่มีมาในรัฐนาฏกรรม (theatre state) โบราณ และมีการปรับเปลี่ยนโดยการผลิตซ้ำตามบริบทของยุคสมัยต่างๆ  


กทม.ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนอัญเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ 
https://www.thairath.co.th/news/royal/2798718

แน่นอนว่าการ “เน้น” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในยุคนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกับ “บริบท” ของสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการฟื้นฟูความศรัทธา ความจงรักภักดี และความเกรงกลัวต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ เพราะพวกเขาจินตนาการว่าทิศทางการเมืองแบบพรรคก้าวไกล และคนรุ่นใหม่หรือประชาชนทั่วไปที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้ กำลัง “กัดกร่อนบ่อนเซาะ” ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์

ทั้งๆ ที่ความจริงทางประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในโลก บอกชัดแจ้งแล้วว่า ความเสื่อมของสถาบันโบราณต่างๆ เกิดจากตัวสถาบันนั้นๆ เองที่ขัดขวางความก้าวหน้าทางความคิด ความรู้ ปัญญา สิทธิ เสรีภาพ ความต้องการ และอำนาจต่อรองของประชาชนส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมศักดิสิทธิ์ใดๆ จะสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกศรัทธา จงรักภักดี และเกรงกลัวต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครองให้เป็น “อารมณ์ร่วม” ของประชาชนส่วนใหญ่ได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนมี “อารมณ์ความรู้สึก” อีกด้านอย่างไร เพราะมนุษย์เราไม่ได้มีแต่อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาเท่านั้น ยังมีอารมณ์ความรู้สึกทางโลกที่ริชาร์ด รอร์ตี (Richard Rorty) เรียกว่า “อารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวด” ต่อความอยุติธรรมและการกดขี่ รอร์ตีมองว่าไม่ใช่คำเทศนาทางศีลธรรมเปี่ยมเหตุผลหรอกที่เปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ แต่เป็น “เสียงร่ำไห้” ของบรรดาผู้ถูกกดขี่จนกลายเป็น “อารมณ์ความรู้สึกร่วม” ของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ทนรับความอยุติธรรมและการกดขี่นั้นๆ ไม่ได้อีกต่อไป

ดังนั้น อารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวดต่อความอยุติธรรมและการกดขี่ ที่เป็น “อารมณ์ความรู้สึกร่วม” ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นที่มาของความต้องการหรือความปรารถนาอิสรภาพจากความอยุติธรรมและการกดขี่ ความต้องการหรือความปรารถนาเช่นนี้คือพลังการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

เราไม่แน่ใจว่าคนส่วนใหญ่ในบ้านเรารับรู้หรือรู้สึกถึง “ความเจ็บปวด” จากการแบกรับความอยุติธรรมของบรรดานักต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ถูกทำให้กลายเป็นนักโทษการเมืองหรือนักโทษ 112 มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน แม้เราจะเห็นขบวนอันเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์อย่างอลังการในหลายจังหวัดที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าภาพที่เห็นเหล่านั้นสะท้อน “อารมณ์ความรู้สึกร่วม” ที่ศรัทธาภักดีในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง เหมือนชาวฮินดูเชื่อในความศักดิ์ของแม่น้ำคงคา หรือชาวมุสลิมเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของนครเมกกะหรือไม่ เพราะอย่างแรกเป็น “ศรัทธาจัดตั้ง” โดยภาครัฐ ขณะที่อย่างหลังเป็นศรัทธาจากความรู้สึกของบุคคลหรือชุมชนความเชื่อทางศาสนา

สิ่งที่เราเห็นได้ค่อนข้างชัดคือ อารมณ์ความรู้สึกร่วมที่เป็น “ความกลัวแห่งยุคสมัย” เพราะความเป็นจริงคือ การถูกเกณฑ์เข้าร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง ย่อมเป็นสิ่งที่บรรดาข้าราชการกลัวที่จะปฏิเสธ ขณะที่การเมืองในระบบรัฐสภาก็ติดกับดักความกลัวที่จะเดินหน้านิรโทษกรรมคดีการเมือง 112 และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็หวั่นกลัวประชาชนจะไม่รัก ไม่ศรัทธา ภักดี และกลัวสถานะอำนาจแบบเดิมจะไม่มั่นคงพอ

อารมณ์ความรู้สึกร่วมที่เป็นความกลัวแห่งยุคสมัยทำให้ขาด “เหตุผล” ที่ควรจะมี เพราะที่จริงแล้ว “ความเป็นเหตุเป็นผล” (rationality) คือคุณค่าพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เป็นกรอบกำหนดว่าพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของรัฐควรทำได้แค่ไหน อย่างไร และควรมุ่งให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมของประชาชนในความหมายใด

เช่น พิธีสาบานตนเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อพระเจ้าหรือ “ไบเบิล” เป็นพิธีกรรมที่ไม่ได้ขัดกับความเป็นเหตุเป็นผล เพราะพิธีกรรมเช่นนี้ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น สถานะและอำนาจของ ปธน.ไม่ยึดโยงใดๆ กับอำนาจเทวสิทธิ์ของพระเจ้าหรือไบเบิล หากแต่ยึดโยงกับความยินยอมของประชาชน เป็นสถานะและอำนาจที่อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย อารมณ์ความรู้สึกร่วมในพิธีกรรมเช่นนี้ จึงไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกศรัทธา จงรักภักดี หรือเกรงกลัวต่อ “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ที่อิงความเชื่อทางศาสนาของ ปธน. แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกร่วมที่ศรัทธาในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย

ถึงตรงนี้จะเห็นว่า “เหตุผล” ไม่ใช่ศัตรูของ “อารมณ์” เพราะความเป็นเหตุเป็นผลอันเป็นคุณค่าพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ยืนยัน “เสรีภาพ” ในการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของรัฐที่สิ้นเปลืองภาษีประชาชนมากเกินไป เป็นพิธีกรรมมุ่งเพิ่มอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาของชนชั้นปกครองให้อยู่เหนือหลักเสรีภาพ และมุ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ให้ศรัทธา ภักดี และเกรงกลัวต่ออำนาจเช่นนั้น ย่อมเป็นพิธีกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล หรือขัดหลักความเป็นเหตุเป็นผลในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ขณะที่หลักความเป็นเหตุเป็นผลยอมรับ “อารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวด” ต่อความอยุติธรรมและการกดขี่มากกว่า และยอมรับความต้องการหรือความปรารถนาเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนส่วนใหญ่มากกว่า

ดังนั้น กรอบความสมเหตุสมผลของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ จึงต้องไม่มีการใช้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพื่อเพิ่มอำนาจศักดิ์สิทธ์แบบศาสนาให้ชนชั้นปกครองอยู่เหนือหลักการประชาธิปไตย หรือหลักสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน และต้องไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเกินจำเป็น อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากพิธีกรรมศักดิ์ของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ยอมรับกันได้ ก็ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกร่วมที่เป็นความศรัทธา จงรักภักดี และความกลัวต่ออำนาจที่แตะต้องไม่ได้ของชนชั้นปกครอง หากแต่ควรเป็นอารมณ์ความรู้สึกศรัทธาในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo?fbid=901046155389938&set=pcb.901046385389915 และ https://www.chiangraifocus.com/32104/
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net