Skip to main content
sharethis

112WATCH คุยกับ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ นักวิชาการและนักกิจกรรม ว่าด้วยงานรณรงค์ของเธอในประเด็นกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมความเห็นเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทยในบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนกำลังกำหนดระเบียบโลกใหม่

27 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์โครงการ 112WATCH ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย University of Southern California นักวิชาการและนักกิจกรรมเกี่ยวกับงานรณรงค์ของเธอในประเด็นกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปองขวัญยังให้ความเห็นเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทยในบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนกำลังกำหนดระเบียบโลกใหม่

โดยมีรายละเอียดการสัมภาษณ์ดังนี้

112WATCH : คุณได้ทำงานรณรงค์บางอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เรามีคำถามว่า งานรณรงค์ประเภทไหนที่คุณกำลังทำอยู่และองค์กรใดที่คุณกำลังเป็นตัวแทนให้อยู่?

ปองขวัญ : เราทำงานกับสองกลุ่มรณรงค์ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่ม the Association for Thai Democracy, USA (ATD) กลุ่มนี้มีเป้าหมายหลักคือพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย กลุ่มที่สอง ได้แก่ Advocates for Sustainable Democracy in Asia (ASDA) กลุ่มนี้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะ เมียนมาร์ ไต้หวัน ฮ่องกงและประเทศไทย กลุ่มที่สองนี้ริเริ่มจากการร่วมงานกันระหว่าง 4 คนจากชุมชนพลัดถิ่นในลอสแอนเจลิส ก่อนหน้านี้กลุ่มเราเรียกชื่อว่าพันธมิตรชานมแอลเอ

ทั้งสององค์กรต่างมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับสภาวะอภิชนาธิปไตยในบ้านเกิดของพวกเรา สำหรับกลุ่ม ATD พวกเราพยายามอัปเดตสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในไทยให้แก่นักการเมืองและหน่วยงานรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา เราตั้งเป้าไว้ว่าจะให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งมักจะถูกทำให้หายไปจากการถูกทับถมของข่าวในประเด็นระหว่างประเทศอื่น ๆ ดังนั้น เราต้องเป้าให้พวกเขาสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น เรายังจัดชุมนุมเพื่อบอกให้รู้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น

จากประเด็นอันหลากหลาย เราเลือกจะเน้น 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ความไม่สมเหตุสมผลของรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบันกับอำนาจในการโหวตนายกของวุฒิสภา 2) แคมเปญต่อต้านการคุกคามของรัฐต่อผู้ชุมนุมที่สนับสนุนประชาธิปไตย และการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง เราเน้นอธิบายประเด็นความกำกวมของตัวบทกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมการตีความและใช้กฎหมายนี้ต่อใครก็ตามที่พวกเขามองว่าเป็นศัตรูต่อระบอบ นอกเหนือจากประเด็นนี้ยังมีเรื่องของอัตราโทษที่รุนแรง ซึ่งสามารถนับตามคดีที่โดนฟ้องได้อีกด้วย ในภาพรวมทั้งหมด การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างกว้างขวางคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการพูด

ถ้ากฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของคุณ อะไรคืออุปสรรคที่ยากลำบากที่สุดในการนำประเด็นอ่อนไหวขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะอย่างเปิดเผยกับเพื่อนร่วมงานของคุณที่สหรัฐอเมริกา?

เราไม่ได้มีความท้าทายอะไรสำหรับการพูดเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 กับเพื่อนร่วมงานที่สหรัฐอเมริกา ในประสบการณ์ของเรา พวกเขาสนใจสถานการณ์ของประเทศไทยอย่างมากและมักจะตกใจต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างไม่สมเหตุสมผล จากประเด็นทั้งหมดพวกเขาสนใจอยู่ 3 ประเด็น 1) เรื่องจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากการชุมนุมตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 2020 2) จำนวนโทษที่มากเป็นพิเศษถึง 42 ปีในกรณีของคุณอัญชัน 3) การบังคับใช้กฎหมายต่อเยาวชนอายุ 14 ปี พวกเขาตกใจเหมือนกับเรา เมื่อได้รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้ตัดสินต่อกรณีเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นการพยายามล้มล้างระบอบการเมือง หรือเป็นกบฏ

อย่างไรก็ตาม การฟังไม่สำคัญเท่ากับการลงมือกระทำอะไรบางอย่าง ดังนั้น พวกเราจึงเรียกร้องให้มีคณะกรรมการหรืออนุกรรมการเพื่อรับฟังสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่การตั้งกรรมการนี้ยังไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะมาจากหลายสาเหตุ ดังนี้

เหตุผลแรก ความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังไม่ถึงระดับที่ประเทศอื่น ๆ พบเจอ เช่น เมียนมาร์ หรือรอิหร่าน สิ่งนี้มีผลให้รัฐบาลสหรัฐอเมริการไม่ได้เร่งรีบในการเข้ามาจับตาสถานการณ์ในประเทศไทย ด้วยความร้ายแรงของมันอาจจะทำให้ความสนใจจากนักการเมืองของสหรัฐอเมริกาน้อยลง ขณะที่เราได้พูดคุยประเด็นนี้กับนักการเมืองหลายคน แต่ยังมีอีกหลายคนที่เรายังไม่สามารถไปพบได้ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าคนที่ตอบรับให้เราเข้าไปเจออาจจะกังวลต่อสถานการณ์ของประเทศไทยตั้งแต่ต้นอยู่แล้วก็ได้ ดังนั้น การไปพบของเราอาจจะมาจากตัดสินใจตามอคติส่วนตัวของแต่ละบุคคล

เหตุผลที่สอง มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่า เมื่อประเมินลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อที่อื่น ความท้าทายของสถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในไทยถูกวางอยู่ในลำดับความสำคัญรองลงมา ขณะที่หลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ความถดถอยของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลีกเลี่ยงจะใช้จุดยืนเดียวกันต่อรัฐบาลไทย สิ่งนี้อาจจะมาจากเหตุผลว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องถ่วงดุลระหว่างความกังวลเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยกับประเด็นที่กว้างกว่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงระหว่างประเทศ

ในมุมมองของคุณ จุดยืนของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างไร?

โดยปกติ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 และผลสะท้อนของตัวกฎหมายต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก เช่น รอบสุดท้ายของกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาและรัฐอื่น ๆ อีก 11 รัฐได้ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลไทยว่าควรทบทวนหรือปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว เอกอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกาหลายคนได้วิจารณ์เรื่องการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าทำให้เสรีภาพการแสดงออกกลายเป็นเรื่องทางอาญา อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น คำวิจารณ์ดังกล่าวยังไม่ได้มาพร้อมกับแผนปฏิบัติการที่จับต้องได้เพื่อที่จะทำให้รัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ กล่าวโดยสรุป คำวิจารณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแค่ในระดับผิวเผินเท่านั้น

มีความพยายามภายในฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะหาทางออกให้กับความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทย เช่น เดือนมีนาคมของปีนี้ (2024) สมาชิกวุฒิสภา เอ็ดเวิร์ด มาร์กี (Edward Markey) นำเสนอทางออก ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคุ้มครองและยกระดับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ[1] เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก เช่นเดียวกันกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซูซาน ไวลด์ (Susan Wild) เสนอทางออกเดียวกันให้กับสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤษภาคม ทั้งสองข้อเสนอต่างเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อกดทับเสรีภาพในการแสดงออก ส่วนนี้รวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 116 ทั้งสองข้อเสนอยังบอกว่าหากรัฐบาลไม่สามารถยกระดับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองให้ย่ำแย่ลง ซึ่งอาจจะมีผลอย่างมากต่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารต่อประเทศไทย

ปัญหาของประเด็นนี้คือ ข้อเสนอทั้งสองไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันภายในจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สาเหตุที่สองชุดข้อเสนอนี้ไม่มีพัฒนาการน่าจะมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ประการแรก ความกังวลและผลประโยชน์ของสภาคองเกรสต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ หรือ ประการที่สอง อาจจะมีความกลัวว่าข้อเสนอที่ใช้ภาษาที่ก้าวร้าวแบบนี้ แม้ว่าจะมีผลกระทบแค่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็อาจจะมีผลทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและสหรัฐแย่ลง ซึ่งไม่ดีต่อสหรัฐในช่วงที่กำลังแข่งขันในเรื่องการหาพันธมิตรระหว่างประเทศกับจีน

องค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ประเทศไทยสามารถสนับสนุนการแก้ไข/ปฏิรูป/ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้หรือไม่?

เราคิดว่ากลุ่มรณรงค์ที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทยมีประโยชน์ในสองทาง ทางแรก พวกเขาสามารถเป็นแหล่งข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องระหว่างประเทศของประเทศอื่นได้ ซึ่งวิธีการนี้สามารถมีผลต่อการปรับทิศทางนโยบายต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ วิธีการนี้ทำได้ด้วยการอัปเดตสถานการณ์เป็นประจำ กลุ่มรณรงค์เหล่านี้สามารถดึงความสนใจให้กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนโยบายต่างประเทศได้ มันสำคัญมากที่จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายตระหนักต่อปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะว่าผู้กำหนดนโยบายก็เป็นคนธรรมดาที่สามารถรับข้อมูลหลากหลายได้อย่างจำกัด การที่พวกเขาได้อัปเดตประเด็นใหม่หลาย ๆ ครั้งก็จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายจำข้อมูลเกี่ยวกับไทยได้ดีขึ้น และสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น การใกล้ชิดกับรัฐบาลในแต่ละประเทศ ทำให้กลุ่มรณรงค์เหล่านี้สามารถสะสมความน่าเชื่อถือและกลายเป็นหลายข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้สำหรับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เมื่อจำเป็นต้องใช้ข้อมูล พวกเขาก็จะเลือกหยิบใช้ข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์เหล่านี้

ประการที่สอง เมื่อพวกเขาอยู่ที่ต่างประเทศ กลุ่มรณรงค์เหล่านี้ก็จะสามารถสร้างแรงสนับสนุนจากประชาชนในรัฐนั้น ๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่พยายามรณรงค์ในประเทศนั้น ๆ ถ้าชุมนุมพลัดถิ่นเหล่านี้เคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้น พวกเขาก็อาจจะมีอิทธิพลต่อนักการเมืองในประเทศนั้น ๆ ให้ช่วยผลักดันประเด็นที่พวกเขารณรงค์ องค์กรจากไต้หวันและฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่สำเร็จในการเคลื่อนไหว กลุ่มเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อสภาคองเกรสในการออกกฎหมายเกี่ยวกับประเทศพวกเขา

คุณคิดว่าปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การแข่งขันกันระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน จะมีผลกระทบต่องานรณรงค์ในระดับระหว่างประเทศหรือไม่?

ใช่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา เวลาส่วนใหญ่ที่เราไปคุยนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกา เรามักจะทำให้เขาสนใจประเด็นของเราด้วยเชื่อมโยงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทยเข้ากับบริบทการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น มันปฏิเสธไม่ได้ว่า การขึ้นมาของประเทศจีนในปัจจุบันได้ดึงความสนใจส่วนใหญ่ของผู้กำหนดนโยบายในสหรัฐไปอยู่ในประเด็นนั้น ดังนั้น การนำประเด็นของไทยไปเชื่อมโยงในเชิงยุทธศาสตร์กับความกังวลของสหรัฐต่อจีน การทำแบบนี้จะช่วยให้เราสามารถพูดคุยประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์สำหรับการพูดถึงบทบาทของไทยที่มากขึ้นในภูมิภาคเอเชียไม่ได้แปลว่า สหรัฐจะมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อไทยในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่ถดถอยของไทย ตามความเป็นจริงแล้ว สหรัฐแค่กังวลว่ารัฐบาลไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ซึ่งทำให้สหรัฐต้องระมัดระวังมากขึ้น

ในทางกลับกัน สหรัฐอเมริกาก็คาดหวังว่าจะยกระดับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งจากความต้องการเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของตัวเองและจากความคาดหวังของกลุ่มรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ผลจากเรื่องนี้ทำให้สหรัฐวิจารณ์ประเทศไทยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ และตัดสินใจจะไม่เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาร่วมงานประชุมสุดยอดผู้นำเพื่อประชาธิปไตย (Democracy summit) ในทางกลับกันรัฐบาลสหรัฐก็กังวลว่าจะกดดันประเทศไทยมากเกินไปจนหันไปผูกมิตรกับประเทศจีนมากขึ้น เพราะอาจจะเกิดผลร้ายจากจุดยืนนี้ทำให้สหรัฐไม่สามารถถ่วงดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีนทำให้ไทยใกล้ชิดจีนมากขึ้น และโอกาสทางเศรษฐกิจของสหรัฐก็อาจจะกระทบจากจุดยืนแบบนี้ด้วย

ความกังวลต่อการทะยานขึ้นของประเทศจีน ทำให้พวกเราเจอกับความท้าทายว่าจะเล่าเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างไรให้ไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ต้องการผูกมิตรกับประเทศไทยมากขึ้น ถ้าผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ทุ่มความสนใจไปที่เรื่องการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ขนาดนี้ เราอาจจะไม่ท้าทายขนาดนี้ 

 


[1]นิติรัฐ หมายถึงการปกครองภายใต้กฎหมายเดียวกัน กฎหมายมุ่งเน้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ให้ผู้ใช้อำนาจสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ในหลายครั้งมักใช้สลับกันกับคำว่าเสรีนิยม ซึ่งหมายถึงการจำกัดอำนาจของผู้ปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือบางครั้งอาจจะใช้คำว่านิติธรรม ซึ่งก็มีความหมายคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ที่มาของคำอธิบายแตกต่างกันเพราะระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net