Skip to main content
sharethis

เครือข่ายจับตาการใช้ ม.112 สัมภาษณ์ เกรก เรย์มอนด์ นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิกจาก ANU ต่อปัญหาของมาตรา 112 ที่ตอนนี้กำลังส่งผลจนถึงกับทำให้พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งถูกตั้งคดียุบพรรคเพียงเพราะการรณรงค์แก้ไขกฎหมายด้วยกลไกรัฐสภา เปรียบ ม.112 เหมือน “doublespeak” ในนิยาย 1984

เมื่อ 11 มิ.ย.2567 เว็บไซต์ของเครือข่าย 112WATCH เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของเกรก เรย์มอนด์ จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศภายใต้ Coral Bell School ด้านกิจการเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ส่งผลให้เกิดคดียุบพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะมีคำวินิจฉัยในสัปดาห์หน้า

เรย์มอนด์ชี้ว่ามาตรา 112 ของไทยได้ทำให้เรื่องทางการเมืองของไทยกลายเป็นประเด็นความมั่นคง (securitization) แม้กระทั่งการจะถกเถียงว่าสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างไร ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการที่กฎหมายมาตรานี้ถูกย้ายไปอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐในช่วงหลังพ.ศ. 2500 เป็นต้นมา เหมือนระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศที่ใช้กระบวนการทำให้กลายเป็นความมั่นคงเพื่อสร้างสภาวะฉุกเฉินขึ้นมาแล้วใช้กฎหมายความมั่นคงในการปิดปากคู่แข่งทางการเมืองและทำให้เป็นศัตรูของรัฐ

นักวิชาการด้านความมั่นคงยังกล่าวด้วยว่า การใช้มาตรา 112 คือความพยายามหยุดยั้งเยาวชนไทยที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปี พ.ศ.2563 ที่ได้เริ่มรับรู้ปัญหาการเมืองต่างไทยทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ นายกรัฐมนตรีไม่ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะเคารพรัฐธรรมนูญ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกอุ้มหาย การใช้กฎหมายแบบนี้ก็เพื่อไม่ให้จินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ของการเมืองไทยรวมถึงชะตากรรมของประเทศไทย โดยเขาเปรียบเทียบว่ามาตรา 112 เสมือนกับ “doublespeak” ที่ปรากฏในนิวนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ที่เป็นเครื่องมือในการวางระบบภาษาเพื่อจำกัดความคิดของคน

ทั้งนี้ปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและมุมมองที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ก็ได้เข้าไปรบกวนสภาวะที่เป็นอยู่และสัมพันธ์กับการสูญเสียอำนาจควบคุมทางสังคม ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมตอบโต้อย่างรุนแรงต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งการไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลและแสดงท่าทีต่อต้าน รวมถึงการต่อว่ากรที่ สส.พรรคก้าวไกลไปประกันตัวเยาวชน

นอกจากนั้นในฐานะที่เรย์มอนด์ติดตามศึกษาการเมืองและกองทัพไทยในหนังสือ Thai Military Power: A Culture of Strategic Accommodation เขายังได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามแทรกแซงการเมืองไทยของกองทัพที่มีเรื่อยมานับตั้งแต่พ.ศ. 2454 มีการทำรัฐประหารถึง 35 ครั้งที่บางครั้งกองทัพอาจจะแสดงตัวชัดเจนอย่างการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดในปี 2549 และ 2557 ไปจนถึงโดยอ้อมอย่างการรัฐประหารเงียบในปี 2551 แม้ว่าการรัฐประหารจะไม่เคยแก้ปัญหาการเมืองไทยได้เลยก็ตามและทำให้ปัญหาเลวร้ายลงกว่าเดิม

นอกจากนั้นกองทัพยังเข้ามาแทรกแซงการเมืองด้วยวิธีอื่นๆ ด้วยอย่างการตั้งพรรคการเมืองตัวแทนของตัวเองเข้ามาในรัฐสภาไทยอีกด้วยเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองในสภา ไปจนถึงพยายามจูงใจนักการเมืองพลเรือนให้มาเข้ากับฝ่ายตัวเองด้วย หรือบางครั้งผู้นำกองทัพก็ออกมาเตือนรัฐบาลพลเรือนไปจนถึงการรณรงค์ต่อต้านพรรคการเมือง

เรย์มอนด์ยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่าความสัมพันธ์ของกองทัพและสถาบันกษัตริย์กลายเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งมากขึ้นจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชน เพราะทั้งสองสถาบันการเมืองนี้กลัวจะเสียสิทธิพิเศษต่างๆ ไปจากการเข้ามาของระบอบประชาธิปไตยและหลักการรับผิดรับชอบที่จะมาคู่กันทำให้ต้องพึ่งพิงกันมากขึ้น

ในสัมภาษณ์เรย์มอนด์ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยต่อการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลด้วยว่าเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึง 3 ประเด็น

ประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญไม่พอใจต่อการถกเถียงประเด็นใดที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้เพราะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของฝ่ายอำนาจเก่าเพื่อรักษาระบอบอำนาจนิยมไว้

ประเด็นที่สอง ชนชั้นนำได้รู้ว่านอกจากเครื่องมือการรัฐประหารแล้วยังมีวิธีอื่นอยู่อีก และผู้พิพากษายังมองว่าตัวเองที่ข้าราชบริพารมีสถานะเหนือคนอื่น

ประเด็นสุดท้าย ชนชั้นนำมองว่าพรรคก้าวไกลคือศัตรูอันดับหนึ่ง และเครือข่ายของทักษิณไม่ใช่ภัยคุกคามอีกต่อไป และสถาบันกษัตริย์ยังเข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างพันธมิตรระหว่างพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายอำนาจเก่าด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net