Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยโทษประหารชีวิตในปี 2566 จำนวนการประหารชีวิตพุ่งสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ ความก้าวหน้าในสหรัฐฯ สะดุดลงเมื่อจำนวนการประหารชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนจีนยังคงประหารชีวิตหลายพันคน พร้อมข่มขู่ประชาชนว่าการก่ออาชญากรรมจะได้รับโทษประหารชีวิต


ที่มาภาพ: Amnesty International

29 พ.ค. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่าในปี 2566 การประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากในตะวันออกกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในรายงานประจำปีเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลก

มีการประหารชีวิตทั้งหมด 1,153 ครั้งในปี 2566 ซึ่งไม่รวมการประหารชีวิตในจีนที่เชื่อว่าเกิดขึ้นหลายพันครั้ง โดยเพิ่มมากกว่า 30% จากปี 2565 ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้หลังจากปี 2558 ที่มีการประหารชีวิต 1,634 ครั้ง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตตามที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้กลับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า จำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอิหร่าน ทางการอิหร่านแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง และเพิ่มการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ยิ่งเป็นการเน้นย้ำผลกระทบในการเลือกปฏิบัติของโทษประหารชีวิตต่อชุมชนชายขอบและยากจนที่สุดของอิหร่าน

“แม้เราจะเห็นความถดถอยในปีนี้ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามประเทศที่ยังคงมีการประหารชีวิตกลับโดดเดี่ยวมากขึ้น การรณรงค์ของเราเพื่อต่อต้านโทษประหารชีวิตนั้นได้ผล การลงโทษนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และไม่ควรมีอยู่ เราจะรณรงค์ต่อไปจนกว่าเราจะยุติโทษประหารชีวิตได้”

สถิติของ 5 ประเทศที่มีจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดในปี 2566 ได้แก่ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย และสหรัฐฯ ในอิหร่านเพียงประเทศเดียวคิดเป็น 74% ของการประหารชีวิตที่บันทึกได้ทั้งหมด ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียคิดเป็น 15% โซมาเลียและสหรัฐฯ ต่างมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นในปี 2566

ในปี 2566 จำนวนการตัดสินประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% รวมทั้งหมด 2,428 ครั้ง

การประหารชีวิตในอิหร่านเพิ่มสูงขึ้น

ในอิหร่าน ทางการได้เพิ่มความรุนแรงในการใช้โทษประหารชีวิตเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนและพยายามรวบอำนาจไว้โดยใช้การประหารชีวิตทั่วประเทศ ในปี 2566 มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 853 คน เพิ่มขึ้น 48% จาก 576 คน ในปี 2565 การประหารชีวิตส่งผลกระทบอย่างมากต่อชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บาลูชีของอิหร่าน ซึ่งคิดเป็น 20% ของการประหารชีวิตในประเทศที่บันทึกได้ แม้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บาลูชีจะมีสัดส่วนประมาณ 5% ของประชากรอิหร่านก็ตาม ในจำนวนนั้น มีผู้หญิงอย่างน้อย 24 คน และผู้ที่ยังเป็นเด็กในขณะที่กระทำความผิดถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 5 คน

จากการประหารชีวิตที่บันทึกได้ในอิหร่าน มีการประหารชีวิตอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างน้อย 545 ครั้ง สำหรับความผิดที่ไม่ควรได้รับโทษประหารชีวิตภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การปล้นทรัพย์ และการจารกรรม การประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นและคิดเป็น 56% ของการประหารชีวิตที่บันทึกได้ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 89% จากการประหารชีวิตที่บันทึกได้ 255 ครั้งในปี 2565

ความถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐฯ และภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา

ความก้าวหน้าในสหรัฐฯ สะดุดลงเนื่องจากการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 18 ครั้ง เป็น 24 ครั้ง ในปี 2566 ร่างกฎหมายการประหารชีวิตโดยการยิงเป้าถูกเสนอในรัฐไอดาโฮและเทนเนสซี ในขณะที่สภาของรัฐมอนแทนา พิจารณามาตรการเพื่อเพิ่มสารที่ใช้ในขั้นตอนการฉีดยาเพื่อประหารชีวิต ในรัฐเซาท์แคโรไลนา มีการลงนามในร่างกฎหมายเพื่อปกปิดตัวตนของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการหรือการดำเนินการประหารชีวิต

“ในสหรัฐฯ รัฐจำนวนหนึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างน่ากลัวต่อโทษประหารชีวิต และแสดงให้เห็นถึงเจตนาอย่างไร้ปราณีในการลงทุนกับทรัพยากรต่างๆ เพื่อปลิดชีวิตของมนุษย์ การประหารชีวิตด้วยวิธีใหม่ๆ ที่โหดร้ายโดยใช้ก๊าซไนโตรเจนทำให้ขาดอากาศหายใจถูกนำมาใช้ในรัฐแอละแบมาอย่างน่าอับอาย วิธีการนี้ถูกนำมาใช้ประหารชีวิตนายเคนเนธ สมิธเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งที่ยังไม่ได้มีการทดสอบวิธีการประหารชีวิตนี้ และเป็นเพียง 14 เดือนหลังจากความพยายามประหารชีวิตของเขาที่ล้มเหลว”

“ประธานาธิบดีไบเดนต้องหยุดถ่วงเวลาในการทำตามสัญญาที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตของรัฐบาลกลาง”

ความถดถอยยังเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ด้วย เนื่องจากการตัดสินประหารชีวิตและการประหารชีวิตที่บันทึกได้เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา การประหารชีวิตที่บันทึกได้ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจาก 11 ครั้งในปี 2565 เป็น 38 ครั้งในปี 2566 การตัดสินประหารชีวิตที่บันทึกได้ทั่วภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา เพิ่มขึ้นสูงถึง 66% จาก 298 ครั้งในปี 2565 เป็น 494 ครั้งในปี 2566 นอกจากนี้ ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคนี้ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในปี 2566

ความลับของรัฐหรือความลับของทางราชการ

เนื่องจากการเก็บข้อมูลเป็นความลับของรัฐหรือความลับของทางราชการ สถิติของแอมเนสตี้จึงไม่ได้นับรวมอีกหลายพันคนในจีนที่เชื่อว่าถูกประหารชีวิต ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศแถวหน้าในการประหารชีวิตของโลก ในทำนองเดียวกัน องค์กรไม่สามารถระบุตัวเลขสำหรับเกาหลีเหนือและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่เชื่อว่าหันกลับมาใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม รายงานอย่างเป็นทางการที่มีจำนวนจำกัดจากประเทศเหล่านี้ได้ส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังประชาชนว่าอาชญากรรมหรือผู้เห็นต่างจะต้องถูกลงโทษประหารชีวิต แสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตยังคงเป็นเครื่องมือในอาวุธของรัฐเพื่อควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่าง

ในจีน การรายงานสถิติในสื่อของรัฐถูกนำมาใช้เพื่อเตือนประชาชนว่าอาชญากรรม เช่น การค้ายาเสพติดและการติดสินบน จะถูกลงโทษอย่างรุนแรงและมีผลลัพธ์ถึงประหารชีวิต ในขณะที่เกาหลีเหนือได้ออกกฎหมายใหม่ที่รวมโทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาของเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกัน กองทัพในเมียนมายังคงใช้โทษประหารชีวิตในศาลซึ่งถูกกองทัพควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยการพิจารณาคดีลับและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

แม้จะมีความถดถอย แต่ความก้าวหน้ายังดำเนินต่อไป

แม้จะมีการดำเนินการเพียงเล็กน้อย แต่ความก้าวหน้ายังคงดำเนินต่อไป ปัจจุบันนี้ มี 112 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง และรวมเป็นทั้งหมด 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว

มีการประหารชีวิตที่บันทึกได้ใน 16 ประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนต่ำสุดที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้ ไม่มีการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตในเบลารุส ญี่ปุ่น เมียนมา และซูดานใต้ ซึ่งทั้งหมดเคยมีการประหารชีวิตในปี 2565

ในเอเชีย ปากีสถานยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ในขณะที่มาเลเซียยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียว ทางการศรีลังกายืนยันว่าประธานาธิบดีจะไม่ลงนามในหมายสั่งให้ประหารชีวิต ซึ่งลดความกังวลเรื่องการกลับมาประหารชีวิตอีกครั้ง  

แม้ว่าจะไม่มีประเทศใดยกเลิกโทษประหารชีวิตในภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา แต่ร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษดังกล่าวยังคงค้างอยู่ในเคนยา ไลบีเรีย และซิมบับเว ในกานา รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายปัจจุบัน แต่ในสิ้นปี 2566 ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่กลายเป็นกฎหมาย

“ลักษณะที่สำคัญของการใช้โทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติในตัวเองและเป็นการใช้อำนาจอย่างพลการ มีแต่จะทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในระบบยุติธรรมทางอาญาของเราทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศส่วนน้อยที่ยังยืนกรานใช้โทษประหารจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและยกเลิกการลงโทษนี้ไปตลอดกาล”

“โทษประหารชีวิตจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศรวมตัวกันสนับสนุนข้อเรียกร้องของสหประชาชาติให้ยุติการใช้โทษประหารชีวิตเพื่อแสดงความมุ่งมั่นครั้งสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน” 

เอกสารสำหรับดาวน์โหลด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net