Skip to main content
sharethis

สหภาพยุโรปกำลังเผชิญกับการที่ต้องจัดสมดุลให้ดีในการเตรียมตัวขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีน เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของยุโรป ขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้เป็นการจุดชนวนสงครามการค้ากับจีนแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ เคยทำ

 

7 มิ.ย. 2567 ภาคส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นภาคส่วนที่เป็นหน้าเป็นตาของยุโรป มีแบรนด์ดังๆ อยู่เบื้องหลังหลายแบรนด์ไม่ว่าจะ เมอร์เซเดส หรือเฟอร์รารี แต่บริษัทยุโรปเหล่านี้ก็กำลังเผชิญกับวิกฤตการดำรงอยู่จากการปรับเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปให้กลายเป็นยานยนต์ไฟฟ้า และจีนก็มีแต้มต่อในการปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้าที่ว่านี้

ในปีที่แล้ว (2566) อียูเปิดการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่อียูมองว่าการอุดหนุนเช่นนี้จะสร้างความไม่เป็นธรรมด้านการแข่งขันด้วยวิธีการที่จีนการตัดราคาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป ทำให้อียูต้องการยับยั้งการกระทำของบริษัทจากจีน

ในตอนนั้น จีนมีปฏิกิริยาโต้ตอบโดยแสดงความไม่พอใจ กล่าวหาว่าอียูเป็นพวกลัทธิคุ้มครองทางการค้า

อียูจะต้องตัดสินใจในเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี (EVs) ภายในวันที่ 4 ก.ค. ที่จะถึงนี้ จากที่ในตอนนี้มีภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 10 โดยมีการคาดการณ์ว่าพวกเขาจะตัดสินใจในเรื่องนี้ภายในวันใดวันหนึ่งของเดือน มิ.ย. นี้

ในขณะที่มีการรอคอยประกาศในเรื่องนี้ ทางการจีนก็ทำให้ความขัดแย้งหนักขึ้นด้วยการขู่จะขึ้นภาษีจากฝั่งตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรของยุโรป

ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้สหภาพยุโรปขึ้นภาษีนำเข้ารถอีวีจีนให้อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 20-30 ซึ่งมากพอที่จะทำให้ผู้ส่งออกจากจีนลังเลที่จะส่งออกมาที่ยุโรปแต่ไม่ถึงขั้นที่จะสกัดกั้นพวกเขาอย่างเต็มที่ โดยที่บริษัทวิจัย โรเดียมกรุ๊ป ประเมินไว้ว่า การที่ถึงขั้นจะถึงขั้นสกัดกั้นจีนได้อย่างเต็มที่นั้นจะต้องตั้งกำแพงภาษีถึงร้อยละ 40-50

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อูร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน คำนวณไว้ เธอเป็นผู้ที่เน้นย้ำว่าอียูกำลังวางแผนปฏิบัติการแบบ "ตั้งเป้าหมาย" หลังจากที่สหรัฐฯ ทำการเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้ารถอีวีจีนไปเป็นร้อยละ 100

การห้ำหั่นกันเรื่องรถอีวี เกิดขึ้นในบริบทที่มีความตึงเครียดทางการค้าสูงขึ้นระหว่างจีนกับประเทศตะวันตก ซึ่งทางฝ่ายประเทศตะวันตกกำลังทำการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในธุรกิจการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและกล่าวหายักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างจีนว่าทำให้การแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมในธุรกิจภาคส่วนนี้ทุกๆ ด้าน ตั้งแต่กังหันลมไปจนถึงแผงโซลาร์เซลล์

แต่ทางอียูก็ทำการวางแผนอย่างระมัดระวัง ยาคอบ กุนเทอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสที่องค์กรคลังสมอง MERICS ซึ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับจีนกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าใครก็ตามในอียูต้องการที่จะทำให้เกิดสงครามการค้าหรือสงครามเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ... แต่ก็มีการเล็งเห็นว่าควรจะมีอะไรบางอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลงในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างอียูกับจีน"

 

แนวทางที่ต่างกัน

จีนเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและยุโรปก็เป็นตลาดที่สำคัญ สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศระบุว่า การนำเข้ารถอีวีจากจีนเข้าสู่อียูนั้นเพิ่มขึ้นจากราว 57,000 คันในปี 2563 เป็นราว 437,000 คันในปี 2566

โรเดียมกรุ๊ประบุว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองมูลค่าตลาดของรถอีวีจีนก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 1,600 ล้านดอลลาร์ เป็น 11,500 ล้านดอลลาร์

ในขณะที่สหรัฐฯ ดูเหมือนพร้อมที่จะเสี่ยงกับความขัดแย้งด้านการค้ากับจีน เอลวิเร ฟาบรี จากองค์กรคลังสมอง สถาบัน จาคส์ เดลอร์ส มองเห็นสิ่งที่แตกต่างกันออกไปในยุทธศาสตร์ของยุโรป

เดลอร์ส บอกว่า การกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นตั้งอยู่บนฐานของการให้ความสำคัญทางการเมืองต่อการทำให้จีนโดดเดี่ยวและทำให้การพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีนช้าลง แต่วิธีการของยุโรปนั้น ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่มาจากการสืบสวน และมีเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรม

 

ความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานเขียว

สิ่งที่สำคัญคือ อียูจะต้องจัดสมดุลให้ดีเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการนำเข้ารถอีวีจีน และเรื่องที่พวกเขามีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

อียูต้องการให้มีรถอีวีเพิ่มขึ้นจำนวนมากจากการที่พวกเขาเตรียมการที่จะทำให้น้ำมันพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลผิดกฎหมายนับตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป ซึ่งจีนได้อาศัยจุดนี้มาเป็นพลังคัดง้างในการต่อรองกับอียู

He Yadong โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า "มาตรการเหล่านี้จะแค่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคของพวกเขาเอง รวมถึงส่งผลในระดับโลกต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานเขียวและความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ"

ในอียูเองการสืบสวนเพื่อต่อต้านการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีนต่อรถอีวี ยังเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยกระหว่างรัฐสมาชิกต่างๆ ด้วย

การสืบสวนดังกล่าวนี้มาจากการผลักดันของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติฝรั่งเศส แต่เยอรมนีและสวีเดนต่างก็สงวนท่าทีในเรื่องนี้

นอกจากนี้แล้วดูเหมือนว่ากลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ในยุโรปบางส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการสืบสวนของอียู เช่น กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์เยอรมนี

 

กล่าวหายุโรป 'มีแรงจูงใจทางการเมือง'

การสืบสวนเรื่องรถอีวีในครั้งนี้เป็นการสืบสวนครั้งใหญ่ที่สุดที่อียูเคยกระทำกับจีน เป็นการกระตุ้นให้จีนโกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมาจากการริเริ่มของอียูเองแทนที่จะมาจากการแจ้งเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการ

กุนเทอร์ จากองค์กรคลังสมอง MERICS กล่าวว่าเขาคาดหวังว่าจะมี "การโต้ตอบอย่างหนักพอสมควร" จากจีน

ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จีนก็โต้ตอบด้วยการเปิดการสืบสวนของตัวเองบ้าง โดยเป็นการสืบสวนเพื่อต่อต้านการทุ่มตลาดบรั่นดีที่นำเข้าจากยุโรป

เมื่อไม่นานนี้จีนยังดูเหมือนจะเพิ่มการกดดันมากขึ้น จากที่สื่อแท็บลอยด์รัฐบาลจีนโกลบอลไทม์รายงานว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้วิธีการโต้ตอบแบบตาต่อตาฟันต่อฟันอย่างการมุ่งเล่นงานการนำเข้าเนื้อหมูจากยุโรป

สภาหอการค้าจีนต่ออียู (CCCEU) อ้างอิงข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในสื่อจีนระบุว่า ไวน์จากยุโรปและผลิตภัณฑ์นมจากยุโรปอาจจะเผชิญผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับยุโรปในเรื่องนี้ด้วย

CCCEU ระบุว่าการสืบสวนจากยุโรปนั้น "ดูเหมือนจะมีแรงจูงใจทางการเมือง พวกเขาขาดการยื่นร้องเรียนอย่างเป็นจริงเป็นจังจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรปในแบบที่สะท้อนเรื่องผลประโยชน์ของบริษัทผู้ผลิตอย่างเหมาะสม"

อียูมีกำหนดการที่จะตัดสินใจรอบสุดท้ายในเรื่องการปรับภาษีนำเข้ารถอีวีภายในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้

 

 

เรียบเรียงจาก

EU seeks roadblocks for Chinese EVs without sparking trade war, The Japan Times, 30-05-2024

https://www.japantimes.co.jp/business/2024/05/30/tech/eu-chinese-ev-trade-war/

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net