Skip to main content
sharethis

ประเดิมประชุมสภาฯ วันแรก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวล กม.ที่ดิน เสนอโดย 'ก้าวไกล' ที่ช่วยปลดล็อกสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน ปชช.เข้าถึงการพิสูจน์สิทธิที่ดิน กระตุ้นการใช้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ถูกสภาฯ ตีตกด้วยคะแนน 144 ต่อ 256 เสียง ทำให้ตกไปในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ

 

4 ก.ค. 2567 ยูทูบ 'TP Channel' ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (3 ก.ค.) รัฐสภา แยกเกียกกาย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) 3/7/67 วาระพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เสนอโดยอภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล โดยมีหลักการสำคัญที่ช่วยปลดล็อกให้ประชาชนเข้าถึงการพิสูจน์สิทธิที่ดินง่ายมากขึ้น สิทธิท้องถิ่นที่สามารถจัดการที่ดินของชุมชน รวมถึงนโยบายกระตุ้นให้ใช้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

อภิชาติ ศิริสุนทร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่…) พ.ศ. … อภิปรายสรุปร่างดังกล่าวว่า ตั้งแต่เขาได้รับเลือกเป็น สส. จนตอนนี้เข้าสู่สมัยที่ 2 ปีที่ 6 สมัยแรกที่เข้ามาสมาชิกสภาฯ ทั้งหลายแทบทุกเดือนทุกสมัยประชุม ล้วนแล้วแต่หารือเรื่องที่ดินทำกินที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ดินของตัวเองบ่อยจนคิดว่ามันเป็นปัญหาของประชาชนทั่วประเทศ แต่ไร้ทางออกเรื่องนี้

อภิชาติ ระบุต่อว่า ตอนเขาทำงานใน กมธ.ที่ดิน ก็มีประชาชนเข้ามาร้องเรียนที่ กมธ. ปีละเป็นพันเรื่อง เราศึกษาข้อมูลว่าปัญหาต้นตอมาจากไหน เราเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ งั้นสรุปว่ามันเป็นปัญหาที่แนวคิด และกฎหมายใช่หรือไม่

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ท่านสมาชิกสภาฯ ทราบว่าเป็นปัญหาที่กฎหมาย แต่ทำไมถึงมีเสียงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ท่านไร้ความรู้สึกต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน อันไหนที่เป็นข้อแก้ไข ก็ให้ไปถกเถียงแก้ไขในวาระที่สอง (ชั้น กมธ.) ท่านจะปิดประตูการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่พูดและบ่นทุกวันในสภาฯ แห่งนี้หรือ

"ผมยังไม่ได้ฟังเสียงและเหตุผลของท่าน ร่างฉบับนี้มันมีข้อบกพร่องตรงไหน ไม่ได้ยินเลย ทำไมท่านไม่บอกผมบ้าง ท่านทำไมไม่อภิปรายในสภาฯ แห่งนี้ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนทราบ" อภิชาติ กล่าว

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า เรื่องสิทธิชุมชน ที่ระบุในร่าง พ.ร.บ.ที่ดิน ดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงว่า ที่ดินจะตกอยู่ในมือของเอกชน แต่ที่ดินยังเป็นของรัฐ แต่ว่าให้ชุมชนบริหารจัดการ ที่ผ่านมารวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ประชาชนถูกดำเนินคดีกี่เรื่อง ก็เปิดรับให้มีการจัดการบริหารโดยท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งเขามองว่าเรื่องนี้จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐ และประชาชน และต่างประเทศก็บริหารแบบนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลประโยชน์ต่อรัฐอย่างมหาศาล

อภิชาติ ระบุว่า การปล่อยที่รกร้างว่างเปล่า ต่างประเทศเขาก็มีนโยบายการกระตุ้นให้ใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และมันไม่ดีตรงไหน สามารถพูดในชั้น กมธ. (วาระที่ 2) หลักการเขาทำทั่วโลกปล่อยไว้ 2 ปีเท่านั้น แต่ในร่างกฎหมายเสน 3-5 ปี แต่ถ้ามันน้อยไป ก็สามารถไปแก้ไขชั้น กมธ.ได้

“มันไม่มีหรอก คนจนจะปล่อยพื้นที่รกร้างว่างเปล่า มีแต่คนรวยจะซื้อที่ดินไว้เก็งกำไร ไม่ได้เอามาทำการผลิต ท่านก็ต้องมาคุยในวาระที่ 2 ท่านบอกว่า 5 ปีมันน้อยหรือมากไป มันไม่พอดี ก็มาคุยกัน แต่ทั่วโลกเขาทำแบบนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดิน ผมยังไม่ได้เห็นคำอธิบายที่ไม่ชัดเจน” อภิชาติ กล่าว

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า เขาเสนอปลดล็อกการพิสูจน์สิทธิที่ดิน และการเปิดช่องการเพิ่มเรื่องของการออกโฉนดในกรณีที่ สปก. ที่ตรวจสอบสิทธิว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง สามารถยื่นขอออกโฉนด เพราะใน พ.ร.บ.เดิม เขาจะออกโฉนดให้เฉพาะ ที่ดิน สค.1 หรือมีหลักฐานที่ทางราชการออกให้ หรือที่ๆ เป็นนิคมสหกรณ์ที่ครองแล้ว 5 ปี ไม่ได้เขียนคำว่าที่ สปก.ออกโฉนดได้ เพื่อยกระดับความมั่นคงในที่ดินทำกินในที่ดิน สปก. ถ้าไม่เห็นด้วย ขอฟังคำอภิปราย

อภิชาติ ระบุว่า เรื่องการพิสูจน์สิทธิ ประชาชนที่มีที่ดิน ส.ค.1 จะไปออกโฉนดทำยังไงเพราะเป็นที่ๆ มีความคาบเกี่ยวกับที่สาธารณะประโยชน์ ที่ดินของกรมป่าไม้ประเภทต่างๆ แต่กรมที่ดินออก สค.1 ให้แล้ว หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านมีวัด มีสถานีอนามัย มีโรงเรียน แล้วเกษตรกรคนชนบทอยู่ที่ไหนมักจะมีสวนมีนาอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติไปกับการตั้งถิ่นฐาน ดังนั้น กระบวนการในการพิสูจน์สิทธิที่เขียนไว้ในตัวกฎหมายเดิม ที่ให้ใช้เฉพาะระหว่างภาพถ่ายทางอากาศ หรือหลักฐานทางราชการอื่นๆ เช่น ส.ค.1 ซึ่งสมัยก่อนว่าการสื่อสารไม่ทั่วถึงแน่ การเดินทางจากหมู่บ้านเข้าอำเภอยากลำบาก รถสักคันก็ไม่มี หรือมี ก็มีเพียงเที่ยวเดียว หรือผู้ใหญ่บ้านไม่มีหอกระจายข่าว และประชาชนหากินทำไร่ตามนาตามป่าเขาไม่ได้มาประชุม หรือไม่ได้แจ้ง ส.ค.1 หรือแจ้งการครอบครอง ทำให้เขาหมดสิทธิที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะว่ารัฐไปเขียนข้อจำกัดในการพิสูจน์สิทธิไว้ 

อภิชาติ ระบุต่อว่า ร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอจะนำมาสู่การปลดล็อกการพิสูจน์สิทธิเหล่านั้นง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ใช้หลักฐานอื่นๆ ร่องรอยการทำประโยชน์ ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการพิสูจน์มากขึ้น

"ถ้าสมาชิกเห็นเหมือนกับผมว่า ปัญหาเรื่องที่ดินตอนนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายที่ดินตรงนี้ ถ้าเห็นตรงกัน รับหลักการไปหน่อย อย่างน้อยเห็นแก่ประชาชน อย่างน้อยได้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรสมตามที่ประชาชนได้มอบอำนาจให้ อันไหนที่ขาดตกบกพร่องก็ไปคุยในรายละเอียด สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น ผมจึงขอร้องให้เพื่อนถ้าตัดสินใจไม่ได้วันนี้เลื่อนออกไปก็ยังได้ ลงมติอาทิตย์หน้า และก็หารือกันใหม่ หรือจะให้ทำยังไง ผมยอมแล้ว กับหลักการแก้ไขปัญหาที่ดินให้ประชาชน" อภิชาติ กล่าว

เมื่อเวลา 18.58 น. หลังจากอภิปรายสรุปร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลที่ดิน โดยอภิชาติ แล้ว พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้ให้สมาชิกสภาฯ ลงมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่างดังกล่าว โดยผลปรากฏว่า มีผู้ลงคะแนนเสียง 397 คน โดยมีผู้เห็นชอบ จำนวน 144 ราย และไม่เห็นชอบ 256 ราย ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตกในชั้นวาระที่ 1 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net