Skip to main content
sharethis

สั่งดำเนินคดี นายจ้าง ปัดรับผิดชอบค่ารักษาแรงงานต่างชาติ อ้างเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

จากกรณี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงนายจ้างชาวไทยที่จ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ หลังแรงงานต่างชาติได้รับบาดเจ็บจากการถูกของมีคมทะลุชายโครงซ้ายใกล้หัวใจ ทะลุกระบังลม สุดท้ายถูกนายจ้างปัดความรับผิดชอบ ทิ้งภาระค่ารักษาพยาบาลแก่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยอ้างว่าค่ารักษาไม่เกี่ยวข้องกับตน เพราะเเรงงานต่างชาติคนดังกล่าวเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เดินทางเข้ามาประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มทำงานกับตนเอง อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเเรงงานต่างชาติสัญชาติเมียนมาที่บาดเจ็บ เเละภรรยาทราบว่าทำงานกับนายจ้างรายดังกล่าวเเละได้รับค่าจ้างมาแล้วประมาณ 1 เดือน

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนสั่งการกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 กรมสวัสดิการและคุ้มครองเเรงงาน สำนักงานประกันสังคม และ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1

"การกระทำของนายจ้างรายดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เเละที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีนายจ้างรายดังกล่าว ณ สน.ทุ่งสองห้อง ต่อไป"

“กรมการจัดหางานขอย้ำเตือนว่า นายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ในส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งหากพบการกระทำความผิดกรมการจัดหางานจำเป็นต้องดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น”

ที่มา: FM91 Trafficpro, 7/7/2567

ดันครูมวยไทยทำงานต่างประเทศ เพิ่มศูนย์ออกใบรับรอง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านซอฟต์พาวเวอร์ กีฬามวยไทยซึ่งเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถานประกอบกิจการ ในการร่วมกันจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย เพื่อให้ครูมวยหรือผู้ที่สนใจประกอบอาชีพนี้ มีมาตรฐานเพื่อใช้ในการรับรองว่ามีฝีมือ ความรู้ ความสามารถและทัศนคติในการประกอบอาชีพเป็นครูมวยได้ ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีโอกาสติดตามท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาตรวจติดตามความคืบหน้าของงานในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล จึงได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา พร้อมทั้ง มอบป้ายศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ให้แก่โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา (อนุสรณ์ 70 ปี เทศบาล) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบแห่งแรกของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า กรมได้บูรณาการทุกภาคส่วนในการส่งเสริมด้านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 22 แห่ง โดยศูนย์ทดสอบฯ ทุกแห่งที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมานั้น พร้อมจะช่วยสนับสนุนมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ฝึกสอนหรือครูมวยไทยที่จะสืบทอดกีฬามวยซึ่งเป็นหนึ่งในกีฬาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยของเราสืบไป สำหรับครูมวยไทยหรือนักมวยอาชีพที่ต้องการเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทย สามารถเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ได้ที่ สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือติดต่อศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าว หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน 1506 กด 4 หรือที่ กองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0-2243-4837 อธิบดีบุปผากล่าวท้ายสุด

ที่มา: สยามรัฐ, 6/7/2567

“โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์” คว้ารางวัล “Kincentric Best Employer 2024”

บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “โคคา-โคล่า” ในประเทศไทย รับรางวัล “Kincentric Best Employer 2024” สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย จากคินเซนทริค (ประเทศไทย) บริษัทชั้นนำในการให้คำปรึกษาด้านการบริหารงานบุคลากรและการพัฒนาองค์กร ในเครือสเปนเซอร์ สจวร์ต (Spencer Stuart) สะท้อนความสำเร็จในการให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ สนับสนุนความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี (Well-being) มอบความมั่นคงและโอกาสเติบโตในการทำงาน

คุณจรัสพักตร์ การปลื้มจิตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ทรัพยากรบุคคล โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของประเทศไทย โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 ของการดำเนินงานในปีนี้ ฅนไทยน้ำทิพย์กว่า 8,000 คน มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและเติบโตภายในองค์กร โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์มาตรฐานระดับโลกให้กับลูกค้าและผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงสร้างความแตกต่างให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ มีการสำรวจความผูกพันและความพึงพอใจของฅนไทยน้ำทิพย์อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี โดยเน้นการลงมือปรับปรุงในเรื่องที่พนักงานต้องการเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทเห็นความสำคัญของพนักงานทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของธุรกิจ ในการสำรวจในปีล่าสุดพบว่าคะแนนความผูกพันและพึงพอใจของฅนไทยน้ำทิพย์ยังคงรักษาระดับสูงที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าองค์กรสามารถตอบสนองความคาดหวังของพนักงานได้ดี โดยเฉพาะในด้านโอกาสในการเติบโต และการยอมรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ รู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับการยกย่องให้เป็นองค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2567 เราจะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาองค์กรของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นสำหรับเพื่อนพนักงานของเรา เพราะเราเชื่อมั่นว่าการส่งมอบสินค้าและบริการที่เป็นเลิศ ต้องมาจากคนในองค์กรที่มีความสุขในการปฏิบัติงานและพร้อมจะเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคต”

โดยรางวัล Kincentric Best Employer 2024 ประเมินจากผลสำรวจความพึงพอใจของพนักงานไทยน้ำทิพย์จำนวนกว่า 8,000 คน ที่ครอบคลุมทุกส่วนงาน โดยได้คะแนนด้านความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) สูงในระดับควอไทล์บน (top quartile) เมื่อเทียบกับองค์กรทั้งหมดที่เข้าร่วมการสำรวจ นอกจากนี้ ยังได้คะแนนความพึงพอใจของพนักงานในด้านความคล่องตัว (Agility) ความเป็นผู้นำที่เอาใจใส่ (Engaging Leadership) และการให้ความสำคัญกับบุคลากร (Talent Focus) อยู่ในเกณฑ์ที่สูงระดับบนของกลุ่มธุรกิจในภาพรวมของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการประเมินความพร้อมของระบบงานทรัพยากรบุคคลในด้านต่าง ๆ ด้วย โดยโคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ เป็น 1 ใน 4 บริษัทชั้นนำในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้

ที่มา: บ้านเมือง, 5/7/2567

CNBC จัดอันดับให้ประเทศไทยให้เป็นจุดหมายที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและทำงานมากที่สุดในโลกลำดับที่ 6 สำหรับกลุ่ม Expat

5 ก.ค.2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แนวโน้มความนิยมชมชอบในการเดินทางเข้ามาพักอาศัยและทำงานในต่างประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมากขึ้น โดยจากการเปิดเผยของสำนักข่าว CNBC ในรายงานจาก Expat Insider ของ InterNations ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่ม Expat ที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและทำงานมากที่สุดในโลกลำดับที่ 6 จาก 53 อันดับทั่วโลกประจำปี 2024

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รายงานดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวนกว่า 12,500 คน ในเดือนกุมภาพันธ์ เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการใช้ชีวิตในต่างประเทศ และนำมาจัดอันดับจาก 53 ประเทศทั่วโลก จาก 5 ดัชนี ได้แก่ คุณภาพชีวิต ความสะดวกในการปรับตัว การทำงานในต่างประเทศ การเงินส่วนบุคคล และดัชนี “สิ่งจำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ” ซึ่งครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการ ภาษา และชีวิตดิจิทัล

สำหรับ 10 จุดหมายปลายทางแรกที่น่าอยู่และเหมาะทำงานมากที่สุดในโลกในปี 2024 ได้แก่

1. ปานามา

2. เม็กซิโก

3. อินโดนีเซีย

4. สเปน

5. โคลอมเบีย

6. ไทย

7. บราซิล

8. เวียดนาม

9. ฟิลิปปินส์

10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภารกิจแรกๆ ในการผลักดันสนับสนุนรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะถือเป็นกลยุทธ์แรก ๆ ในการสร้างรายได้ที่ไทยมีศักยภาพสูง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น เกิดการพัฒนาที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และสามารถสร้างงานให้กับประชาชนได้จำนวนมาก

รวมถึงการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพโดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาวให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเชิงรุก ด้วยการอำนวยความสะดวก การปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย (Visa Free) มาตรการ LTR Visa หรือแม้แต่การจัดทำ Fast Track VISA อำนวยความสะดวกสำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) ยกระดับประเทศให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงที่สำคัญในภูมิภาคนี้

“นายกรัฐมนตรีผลักดันการอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ติดตามกระแสของกลุ่มนักท่องเที่ยว และใช้โอกาสจากกระแสการทำงานได้จากทุกที่ Work From Anywhere เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายการเข้ามาทำงานของนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับการสนับสนุนการลงทุนในไทย ในขณะเดียวกันก็ได้เร่งพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมอนาคต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างให้มีนักลงทุนสนใจลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง” นายชัย กล่าว

ที่มา: Thai PBS, 5/7/2567

"กมธ.แรงงาน" สรุปผลสอบปม "ทีมก้าวไกล" เรียกรับผลประโยชน์ โยนปธ.สภา ชี้ขาด

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แถลงสรุปผลการลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ตรวจสอบกรณี นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ติดตามนายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกรับผลประโยชน์ ว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าของโรงงาน และสส.ในพื้นที่ รวมถึง 5 เสือแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี โดยนำเรื่องเข้าที่ประชุม กมธ. โดยนายสุเทพ เข้าร่วมประชุมด้วย พบว่า ในส่วนของความเสียหาย ได้ประเด็นจากพยานหลักฐานทั้งเอกสารและบุคคล สรุปว่า จะเก็บรายละเอียดหลักฐานทั้งหมดเสนอต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นผู้ชี้ว่าการกระทำดังกล่าว สร้างความเสียหายต่อ กมธ.แรงงานหรือไม่ ส่วนตัวนายสุเทพ จะมีความผิดทางจริยธรรมหรือไม่อย่างไรนั้น กมธ.ฯ ได้สรุปประเด็นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ชี้ขาด ว่า เข้าหลักเกณฑ์ผิดจริยธรรมหรือไม่

"การประชุมเมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) ไม่ได้เป็นมติว่าจะให้ส่งหรือจะให้ทำอะไร แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบของคณะ กมธ. คือ นายสุเทพ ก็จะเป็นผู้เสนอส่งเอกสาร และหนังสือทั้งหมด เพื่อให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้วประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้วินิจฉัยฐานความผิด ความเสียหายต่อไป โดยนายสุเทพได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่า บุคคลที่ถูกร้องเรียนเป็นผู้ติดตามของนายสุเทพจริง และยอมรับว่า ให้ไปเก็บข้อมูล แต่ในช่วงที่เราลงพื้นที่ พฤติกรรมต่างๆ ทั้งหมดอยู่ในสำนวน บันทึกแจ้งความ อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรปราจีนบุรีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการรับเงินรับทองนั้น นายสุเทพ ระบุว่า ไม่ทราบ แต่พฤติกรรมของลูกน้องนั้น ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสืบหาข้อเท็จจริงและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป ในส่วนของคณะกรรมการ มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ได้ชี้ขาด ซึ่งต้องยื่นตามขั้นตอนให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไป" ประธานกมธ.แรงงาน สภาฯ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/7/2567

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้เก็บผลไม้ป่าในสวีเดน/ฟินแลนด์ สร้างรายได้ระยะสั้น วงเงิน 75,000 บาท/ราย เริ่มวันนี้-31 ก.ค.67

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. จัดโครงการสินเชื่อเพื่อไปเก็บผลไม้ป่าในต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนค่าเดินทางไปเก็บผลไม้ในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ลดการพึ่งพากู้เงินนอกระบบต้นทุนสูง และช่วยเพิ่มรายได้ให้ลูกค้า ธ.ก.ส. ในช่วงว่างเว้นจากการผลิตภาคเกษตร เตรียมวงเงิน 375 ล้านบาท เป้าหมายลูกค้า ธ.ก.ส. 5,000 ราย แบ่งเป็นวงเงินกู้สำหรับไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดน กู้ได้ไม่เกิน 75,000 บาท/ราย ส่วนประเทศฟินแลนด์ กู้ได้ไม่เกิน 65,000 บาท/ราย ดอกเบี้ยตามชั้นลูกค้า

กำหนดชำระคืนเงินกู้เพียง 1 งวด ภายใน 31 ธันวาคมนี้ เน้นกลุ่มลูกค้าของ ธ.ก.ส. เปิดบัญชีเงินกู้ เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อลูกค้า บริษัทจัดหางานได้รวบรวม และนำมาเสนอธนาคาร เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำหนังสือกู้ยืม โดยธนาคารให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสวัสดิภาพการเดินทางไปทำงานดังกล่าว ต้องถูกกฎหมาย รวมถึงการันตีรายได้ที่เหมาะสมจึงไม่อนุญาตให้ลูกค้ากู้เงินเพื่อเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในต่างประเทศด้วยตนเองโดยไม่ผ่านบริษัทสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 4/7/2567

ทิศทาง ศก.ไม่เข้าเป้า กกร.จ่อทบทวนสมุดปกขาวใหม่ ขึ้นค่าแรง 400 บาทรายเล็กอ่วม

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (ประธาน กกร.) และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายผยง กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้านและเห็นว่าบางเรื่องบางเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะความรุนแรงด้านสงครามระหว่างประเทศและอื่นๆ ทำให้ กกร.เตรียมประเมินและจัดทำสมุดปกขาวใหม่เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลช่วยหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เหลือของปีนี้ คาดว่าสมุดปกขาวของ กกร.จะนำเสนอต่อรัฐบาลได้ในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้จากการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้น การค้าโลกชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะต่อเนื่อง เป็นผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯต่อจีนมีผลภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย.67 ขณะที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของโลกในระยะข้างหน้า

โดยการส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน การขึ้นภาษีของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่นยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้นอย่างไรก็ดีอาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีประเด็นฉุดรั้งจากเรื่องต้นทุนจากการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น กกร.จึงปรับกรอบการเติบโตของการส่งออกเป็น 0.8-1.5% จากเดิม 0.5-1.5%

ส่วนการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์และอสังหาฯ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% เป็นผลมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นอาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4%

ขณะเดียวกันที่ประชุมมีความกังวลต่อปัญหาการขนส่งทางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมและจำกัดความสามารถในการส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ที่ประชุม ยังมีความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงาน โดยในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2567-2580 (PDP2024 ) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนขอให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 และขอให้มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ กกร.จังหวัด ทั่วประเทศได้มีการประชุมหารือผู้แทนในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคีระดับจังหวัด) เกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ในภาคเกษตรและบริการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ประกอบการภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ส่งกระทบต่อรายได้ในช่วงที่ผ่านมา จึงได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด ให้ค่าแรงที่ปรับมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ที่ประชุม กกร. เน้นย้ำถึงความสำคัญในการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด(ไตรภาคี) ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่

โดย กกร. ได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (Competency Based Pay) ด้วยความร่วมมือเชิงรุกจากภาคนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเร่ง Upskill, Reskill ให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือตามมาตรฐาน โดยกกร. จะร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการสนับสนุนโดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 279 สาขา และมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามทักษะมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 129 สาขา ซึ่งสามารถเป็นกลไกในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะแทนการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงจะเป็นระบบที่สามารถรับรองทักษะแรงงาน ตอบโจทย์เทคโนโลยีและบริบทของธุรกิจที่เปลี่ยนไปยกระดับรายได้ให้แก่แรงงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Productivity) ให้แก่ประเทศและเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสร้างงาน สร้างรายได้เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อ แต่อาจต้องกลับมาดูว่าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ที่จะปรับขึ้นทั่วประเทศในเดือนตุลาคมนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมากได้

ที่มา: สยามรัฐ, 3/7/2567

สพท.-สสส. ผนึก สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี จัดฝึกทักษะอาชีพ ภายใต้โครงการ Gig Worker

สพท.-สสส. ผนึก สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรีจัดโครงการ Gig Worker พัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพเยาวชนแรงงานและผู้ใช้แรงงาน ฝึกอบรม 30 ชั่วโมง "ทำขนมฟิวชั่น" และ "ธุรกิจเครื่องดื่ม" ได้วุฒิบัตร และเครื่องมือทำมาหากินไปตั้งต้นประกอบ "อาชีพเสริม" ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน หรือเป็น "อาชีพอิสระ" ไว้เป็นอาชีพใหม่ เผื่อไว้เป็นทางเลือกรองรับชีวิตหลังเกษียณ หรือ โชคร้ายโดนออกจากงานกลางคัน หรือ ถ้ามีความมุ่งมั่นมากพอจะเลิกใช้ชีวิต "อาชีพลูกจ้าง" ไปทำธุรกิจส่วนตัวในอนาคต

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ในฐานะประธานโครงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยนางวาสิษฐี ระจิตดำรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความร่วมมือกับ สพท. และ สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 หรือ โครงการ Gig Worker ปี 2567 สนับสนุนการ ฝึกทักษะอาชีพ จำนวน 30 ชั่วโมง ให้ได้รับวุฒิบัตร และ เครื่องมือทำมาหากิน วงเงินไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน จำนวน 2 รุ่นๆละ 20 คน รุ่นที่ 1 ทำขนมฟิวชั่น ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 1 - 5 มิ.ย. 2567 และ รุ่นที่ 2 ธุรกิจเครื่องดื่ม ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. - 2 ก.ค. 2567 ณ สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย จ.ปราจีนบุรี

นายมนัส กล่าวว่าเป้าหมายของการพัฒนาทักษะอาชีพ โครงการ Gig Worker เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดเพื่อให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้ในการดำรงชีวิตโดยใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ และ มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน หรือ ปรับตัว หากต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเปราะบาง และการจ้างงานในอนาคต สามารถประกอบอาชีพเสริม หรือ อาชีพอิสระ จากทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในชุมชน รวมถึงได้รับใบประกอบอาชีพมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทำให้สามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ไปต่อยอดสมัครงานหรือประกอบอาชีพส่วนตัวได่อย่างมั่นคงและมีความน่าเชื่อถือ

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี กล่าวว่ายินดีร่วมสนับสนุนกิจกรรรมพัฒนาศักยภาพผู้ใช้แรงงาน 3 ส่วน คือ 1.ทักษะอาชีพ 2.ทักษะบริการ และ 3.ทักษะช่าง ถือเป็นการอัพสกิลแรงงานที่เป็นพนักงานโรงงานได้มี "อาชีพเสริม" ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน เพราะค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท/วัน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือ ค่าล่วงเวลา (โอที) วันละ 60 บาท/ชม.ไม่มีความแน่นอน ซึ่งการได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ ให้ได้มี "อาชีพอิสระ" ไว้เป็นอาชีพใหม่ เพื่อรองรับชีวิตหลังเกษียณออกจากงานไปแล้วหรือ เผื่อไว้เป็นทางเลือกหากต้องออกจากงานกลางคัน หรือ เมื่อมีความเชี่ยวชาญเพียงพออยากไปทำธุรกิจส่วนตัวในอนาคต

ทั้งนี้โครงการพัฒนาทักษะอาชีพและยกระดับฝีมือแรงงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี ยังมีการยกระดับฝีมือแรงงานแก่ เยาวชนแรงงานที่ยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์จบการศึกษาต่ำกว่า ม.3 อายุระหว่าง 15 - 18 ปี ไม่ได้เรียนต่อหลุดนอกระบบการศึกษาให้ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ไม่หลงไปติดยาเสพติด เกมส์ หรืออบายมุขระหว่างรอเข้าสู่ตลาดแรงงานตอนอายุ 18 ปีขึ้นไป ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีทักษะฝีมือแรงงาน และ วุฒิบัตรไปสมัครงาน นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะอาชีพแก่ผู้ใช้แรงงาน มาตรา 33 ประกันสังคม ที่ทำงานในโรงงานตอบสนองความต้องการของนายจ้างและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อาทิ ช่างเชื่อมแก๊สหรือไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศ และ ตู้เย็นของโรงงานไฮเออร์ หรือ สอนภาษาจีนแก่พนักงานโรงงานเพื่อใช้สื่อสารกับนายจ้างที่เป็นคนจีน ฯลฯ สำหรับรูปแบบการสนับสนุนของ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี เห็นว่าควรบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มีทั้ง ภาครัฐสนับสนุนวิทยากรฟรี หรือ แนะนำวิทยากรให้ในเกณฑ์ราชการราคาย่อมเยาว์ 600 บาท/ชั่วโมง โดยภาคเอกชนร่วมสมทบ ด้านค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์ หรือค่าเดินทางแก่วิทยากร เป็นต้น

นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี ได้หนุนเสริม เยาวชนแรงงานบางส่วนที่อยู่ในโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้ โครงการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่างงานยังไม่มีงานทำ และ ไม่ได้อยู่ในมาตรา 33 ไม่เป็นลูกจ้างมีงานทำ ได้ร่วมพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ ทั้ง 2 รุ่น เพราะ "อาชีพลูกจ้าง" เป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง เพราะความมั่นคงขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและศักยภาพของนายจ้าง หรือ ผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจ ถ้านายจ้างความสามารถในการแข่งขันต่ำ ลูกจ้างก็ถูกเลิกจ้าง ยิ่งนับวันเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติกำลังเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาตนเองจึงมีความสำคัญ

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วม โครงการ Gig Worker คือ 1.กลุ่มประชาชนทั่วไปที่อายุ 18 - 59 ปี ว่างงาน ตกงาน หรือ ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้อยู่ในมาตรา 33 ประกันสังคม ไม่เป็นลูกจ้างมีงานทำ และ 2.กลุ่มประชาชนทั่วไป อายุ 18 - 59 ปี ต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นายมนัส กล่าวว่าความร่วมมือพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพแก่ผู้ใช้แรงงานในครั้งนี้ สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ค้นหากลุ่มเป้าหมาย และเปิดพื้นที่เรียนรู้แก่ผู้ใช้แรงงานได้รับการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจากการได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งอาชีพเสริม และ อาชีพอิสระ รวมถึงยกระดับฝีมือแรงงานเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมในกรณีที่เป็นเยาวชนแรงงานที่อยู่ในกลุ่มตกงานว่างงานหรือหลุดนอกระบบการศึกษา

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/7/2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net