Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในงานปรัชญาตะวันตก เป็นเรื่องปกติที่มีการมองพุทธะเป็นนักปรัชญา แต่ผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาสในบ้านเราไม่ชอบมองเช่นนั้น พวกเขามักจะ “ขีดเส้น” ว่าปรัชญาเป็นเพียงแนวคิด, การเก็งความจริงด้วยการใช้หลักเหตุผล, หรือเป็นเพียง “เกมความคิด” แต่ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริง (แต่อย่าลืมสิ มีตัวอย่างการปฏิบัติทางศาสนามากมายที่ถอยห่างจากความจริง กระทั่งปฏิเสธ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความจริง) พุทธะคือผู้ปฏิบัติเข้าถึงความจริง แล้วนำความจริงนั้นมาสอนคนอื่น จึงไม่ได้เป็นเพียงนักคิด หากแต่เป็นศาสดาของศาสนาแห่งความหลุดพ้น

แต่ที่จริงแล้ว การเป็นนักปรัชญากับการเป็นศาสดาของศาสนาแห่งความหลุดพ้น ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันทั้งในเชิงตรรกะและในทางปฏิบัติ การปฏิเสธความเป็นนักปรัชญาของพุทธะและเชิดชูให้เป็นศาสดา “ผู้วิเศษ” ต่างหากที่ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า คนกลุ่มไหนได้ประโยชน์ นักบวชที่เชิดชูศาสดาเป็นผู้วิเศษ พวกเขาก็ย่อมแสดงบทเป็นผู้วิเศษด้วย เพื่อดึงดูดศรัทธาประชาชน ชื่อเสียง ลาภสักการะ สมณศักดิ์ และอื่นๆ ขณะเดียวกันพวกกษัตริย์ก็ได้อภิสิทธิ์สวมบทพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือผู้มีบุญญาธิการเหนือหัวประชาชน เพราะอ้างว่าเป็นผู้เจริญรอยตามพุทธะ และอุปถัมภ์พุทธสาสนาให้รุ่งเรือง

ถ้าเรานำเสนอว่าพุทธะเป็นนักปรัชญาล่ะ ใครจะได้ประโยชน์จากการใช้พุทธะเป็นเครื่องมือครอบงำประชาชนได้บ้าง นอกจากจะสนทนาแลกเปลี่ยน และถกเถียงกับความคิดของพุทธะผู้เป็นนักปรัชญาเท่านั้น

เหลวไหลทั้งเพ สำหรับการขีดเส้นว่า “ปรัชญาไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติ” สงวนการปฏิบัติให้เป็นเรื่องของศาสนาเท่านั้น แต่เมื่อโสกราตีสกล่าวว่า “คุณธรรมคือความรู้” คุณจะนั่งอยู่เฉยๆ รอให้ความรู้หรือปัญญาหล่นมาจากฟ้า และซึมซับเข้าไปในสมองได้หรือ การทำปรัชญาของ Epicurus บนเส้นทางของ “การมีเสรีภาพจากความกลัวและความเจ็บปวด” ก็คือการเลือกใช้ชีวิต เลือกสร้างชุมชนอิสระที่มี “เสรีภาพในทางปฏิบัติจริงๆ” เช่น ออกไปสร้างชุมชนอิสระในสวนนอกกำแพงเมือง และสมาชิกทุกคนมีเสรีภาพในการออกกฎขึ้นมาใช้ร่วมกัน ซึ่งไม่ต่างมากนักกับชุมชนสังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้น

เมื่อฌอง-ปอล ซาตร์กล่าวว่า “สิ่งที่จะกำหนดว่าความหมายของชีวิตมนุษย์คืออะไร คือการกระทำและสิ่งที่เราเลือกด้วยตนเอง” นี่ไม่ใช่การปฏิบัติหรอกหรือ และเราต่างก็รู้ว่าความรักระหว่างซาตร์กับซีโมน เดอ โบวัวร์ ที่ทั้งสองต่างให้ “consent” แก่กันและกันที่จะเลือกคบคนอื่นได้ ก็คือการปฏิบัติตามหลัก “เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบ” ที่ซาตร์และโบวัวร์สมาทานร่วมกันมิใช่หรือ และเมื่อคาร์ล มาร์กซ์บอกว่า “หน้าที่ของนักปรัชญาไม่ใช่การอธิบายโลก แต่คือการเปลี่ยนแปลงโลก” หรือการทำปรัชญามนุษยนิยม และเสรีนิยมเฉดต่างๆ ล้วนแต่ส่งผลทางปฏิบัติในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสมัยใหม่ ดังนั้น การปฏิบัติที่ช่วยให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น จึงมีสารพัดอย่าง ไม่ได้มีแต่การปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นแบบศาสนาเท่านั้น

แต่การปฏิบัติในเส้นทางแห่งความหลุดพ้น ก็ใช่ว่าจะเขี่ยปรัชญาออกไปจากเส้นทางนี้ได้ง่ายๆ (ดังที่พวกนักศาสนาชอบทำกันอย่างทื่อๆ) อันที่จริงเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิทธัตถะหรือพุทธะ ตามที่บันทึกในคัมภีร์ไตรปิฎก อรรถกถาฝ่ายเถรวาท และคัมภีร์หรือพุทธประวัติฝ่ายมหายาน หรือแม้แต่พุทธประวัติฉบับไทย เราจะเห็นบุคลิกภาพของนักปรัชญาชัดเจนมาก

บุคลิกภาพนักปรัชญาของสิทธัตถะ คือนิสัยที่ชอบสงสัยใคร่รู้และการตั้งคำถามปัญหาพื้นฐานสำคัญๆ เช่น ในวัยเด็กเขาตั้งคำถามต่อคณะปุโรหิตผู้ทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทว่าใครควรเป็นเจ้าของนกที่กำลังฟื้นจากอาการบาดเจ็บ “นกตัวนี้ควรเป็นของใคร ระหว่างผู้ที่ฆ่ามันกับผู้ปกป้องชีวิตมัน” นี่คือคำถามที่ทำให้เด็กชายสิทธัตถะเป็นฝ่ายชนะข้อพิพาท

แต่การตั้งคำถามบางอย่าง ก็อาจนำอันตรายมาสู่ตน อย่างที่เรารู้กันว่าการทำสงคราม ถือเป็น “ธรรมะ” หรือหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ เมื่อเป็นหน้าที่ พวกวรรณะกษัตริย์ที่เป็นญาติฝ่ายพ่อและแม่จึงปฏิเสธ “สงครามแย่งน้ำทำนา” ไม่ได้ แต่สิทธัตถะปฏิเสธสงครามเช่นนี้ ด้วยเหตุผลว่า “ชีวิตคนมีค่ากว่าน้ำ” ถึงเหตุผลจะดี แต่ก็เป็นความผิดร้ายแรง เพราะนี่คือการปฏิเสธหน้าที่ของนักรบ พุทธประวัติฝ่ายมหายานชี้ว่านี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิทธัตถะต้องเนรเทศตัวเองออกบวช อาจจะจริงตามนี้หรือไม่ก็ได้ แต่นัยสำคัญของเรื่องเล่านี้คือ เมื่อเป็นสมาชิกของวรรณะกษัตริย์แล้วยังกล้า “สวนกระแส” ของคนส่วนใหญ่ในวรรณะตน นับเป็น “ความกล้าหาญ” ที่สะท้อนบุคลิกภาพแบบนักปรัชญาผู้ยืนยันจุดยืนทางความคิดของตนเองอย่างมั่นคง เช่นที่โสกราตีสยืนยันจุดยืนทางความคิดของตนเองจนยอมตาย แต่สิทธัตถะยอมเนรเทศตัวเองออกจากการเป็นสมาชิกของวรรณะกษัตริย์แห่งศากยวงศ์  

ส่วนเรื่องเล่าฝ่ายเถรวาท สิทธัตถะออกจะเป็นคนที่น่าเห็นใจ เพราะชีวิตตั้งแต่เด็กจนอายุ 29 ปี เขาถูกขังอยู่ในโลกแคบๆ ภายใต้กำแพงวัง ช่างเป็นชีวิตที่ไร้เหตุผล (absurd) ของพวกวรรณะกษัตริย์ ผู้ยกตนเป็นชนชั้นปกครองที่มีหน้าที่ต้องรู้ปัญหาทุกเรื่องของผู้คนภายใต้ปกครอง แต่พวกเขากลับถูกขังอยู่ในกำแพงวัง หรือ “กำแพงชนชั้นวรรณะ” ที่ปิดกั้นตัวเองจากการสัมผัสรับรู้ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ ทว่าสิทธัตถะกลับต่างออกไป เขาอยากรู้ว่าโลกภายนอกกำแพงวังเป็นเช่นไร จึงลักลอบออกจากวัง ได้พบเห็นชีวิตที่ยากลำบากของพวกวรรณะศูทร และพวกจัณฑาลที่ถูกคนทุกวรรณะถ่มถุย ได้เห็นคนแก่ คนเจ็บป่วย และคนตาย ทำให้สิทธัตถะรู้สึกสะเทือนใจ และตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิต

คำถามที่ว่า “ความหมายของชีวิตคืออะไร?” เป็นคำถามสำคัญทางปรัชญา และสำหรับ “นักปรัชญา” คำถามเช่นนี้ไม่ใช่คำถามที่ควร “ปล่อยผ่าน” แต่เป็นคำถามที่ต้องลงแรงอย่างจริงจังเพื่อหาคำตอบ

จากคำถามนี้ทำให้สิทธัตถะพบว่าชีวิตตนเองก็มีความหมายไม่ต่างจากคนแก่ คนเจ็บป่วย และคนตายเหล่านั้น จริงอยู่ตัวเขาเองอาจมีชีวิตสุขสบายในปราสาทสามฤดู แต่นั่นคือวิถีชีวิตที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมากจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนส่วนใหญ่มาปรนเปรอกิเลสตัวเองของคนจำนวนน้อยนิดอย่างไร้สาระ และจำเจน่าเบื่อหน่าย ในที่สุดก็ต้องตายอย่างว่างเปล่า เป็นไปได้ไหมที่คนเราจะหลุดพ้นจากการมีชีวิตที่ไร้แก่นเหล่านี้ เมื่อได้เห็นสมณะ สิทธัตถะจึงมองเห็นความเป็นไปได้ และตัดสินใจว่าเส้นทางชีวิตแบบสมณะคือทางเลือกของตน

ในมุมมองแบบซาตร์ “เสรีภาพคือการเลือก” ในสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิต คนเราเลือกอยู่เสมอ ไม่ว่าสิทธัตถะจะใช้ชีวิตภายในกำแพงวังต่อไป หรือเลือกเส้นทางแสวงหาความหมายของชีวิตในโลกกว้าง ต่างก็คือการใช้เสรีภาพในการเลือก และการเลือกนั้นๆ ก็คือการสร้างความหมายให้กับชีวิตของตน

สิทธัตถะใช้เสรีภาพในการเลือกในสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากับ “ทางสองแพร่ง” ที่ยุ่งยาก ระหว่างเส้นทางการเป็นกษัตริย์กับเส้นทางชีวิตอิสระของตนเอง เส้นทางแรก คือการเลือกทำตามความปรารถนาของพ่อ และย่อมเป็นการดีสำหรับลูกเมียที่ไม่ต้องเผชิญการพรัดพราก เส้นทางหลังคือการเลือกทำตามความปรารถนาของตนเอง การที่สิทธัตถะเลือกทำตามความปรารถนาของตนเอง นี่คือการกล้าใช้เสรีภาพและรับผิดชอบตามมุมมองแบบซาตร์

ในมุมมองแบบซาตร์ การเลือกใช้ชีวิตตามความปรารถนาหรือความคาดหวังของคนอื่น คือการเลือกที่ทำให้ตัวเราเองเป็นเสมือนวัตถุสิ่งของที่จะถูกใครใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายบางอย่างของเขา ผลที่ตามมาคือ เราสูญเสียตัวเอง หรือ “แปลกแยก” กับตัวเอง สิทธิธัตถะเลือกใช้ชีวิตบนเส้นทางความปรารถนาของพ่อจนอายุ 29 ปี แล้วพบว่านั่นไม่ใช่เส้นทางของตัวเอง จึงรู้สึกแปลแยก และมองเห็นความไร้สาระน่าเบื่อหน่ายของการมีชีวิตที่สูญเสียตัวตน จึงต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางของตนเองในที่สุด แม้จะเผชิญความเจ็บปวดที่ต้องตัดขาดจากลูกเมีย และคนที่รักอื่นๆ

เป็นเวลา 6 ปี ของการใช้ชีวิตบนเส้นทางผู้แสวงหาความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณแห่งตน ชายวัยฉกรรจ์ที่เดินโซเซเหมือนโครงกระดูกที่เดินได้ แต่จิตวิญญาณยังไม่แตกสลาย เพราะยังไม่สิ้นหวังในเส้นทางที่ตนเลือก เขารอดชีวิตอย่างหวุดหวิดจากการใช้ตบะอดอาหารทรมานตนเป็นเวลานาน แต่เพราะระลึกถึง “เสียงในวัยเด็ก” ทำให้เขาเดินตามเสียงนั้นกลับมาทานอาหารฟื้นฟูร่างกายให้มีชีวิตอยู่ต่อไป

เสียงที่ว่านั้นคือเสียงจากความทรงจำในวัยเด็กที่เคยนั่งสมาธิใต้ร่มไม้เพียงลำพัง ขณะที่จิตสงบ เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และรับรู้ได้ถึงความทุกข์และความดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของสัตว์ต่างๆ และต้นไม้ใบหญ้า นี่คือความรักและความกรุณา (empathy) ที่เกิดขึ้นใน “จิตบริสุทธิ์แบบเด็กๆ” ที่ยังไม่ถูกชี้นำหรือครอบงำจากความเชื่อต่างๆ และไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของคนอื่นๆ สิทธัตถะได้สติว่า จิตบริสุทธิ์แบบเด็กๆ ที่สงบและเปี่ยมด้วยความรักและความกรุณาเช่นนั้นไม่ใช่หรือที่ตนเองแสวงหามายาวนาน แต่กลับเสียเวลาไปกับการเดินตามคนอื่น และลัทธิความเชื่อต่างๆ แท้จริงแล้วเสียงแห่งความสงบ เป็นอิสระ และเปี่ยมด้วยความรักความกรุณา คือ “เสียงของความต้องการที่แท้จริง” ที่อยู่ภายในตัวเรา เพราะเป็น “เสียงแห่งความเป็นพุทธะ” ภายในตัวเรา

จึงทำให้สิทธัตถะใช้เสรีภาพในการเลือกครั้งสำคัญอีกครั้ง นั่นคือ ใช้เสรีภาพในการเลือกทำตามเสียงของความต้องการที่แท้จริงจากภายใน เลิกเดินตามทางของคนอื่น หรือลัทธิความเชื่อใดๆ หลังทานข้าวมธุปายาส เขาได้พาร่างกายผอมโซที่เริ่มมีแรงไปนั่งภาวนาภายใต้ร่มโพธิ์และตรัสรู้เป็นพุทธะในที่สุด  

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net