Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อุณหภูมิที่สูงขึ้นสร้างความเสียหายต่อมูลค่าการผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนแล้ว โดยเฉพาะครัวเรือนที่ไม่มีระบบชลประทานหรือมีพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ แต่การทำกิจกรรมการเกษตรหลากหลายประเภท เช่น ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง หรือการปลูกพืชผสมผสานหลายชนิด จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ทั้งนี้ ถึงแม้มนุษยชาติจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไป ดังนั้น เราควรเร่งสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงระบบชลประทาน ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน และพัฒนาวิธีการเกษตรที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวและการสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเร่งด่วน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปริมาณฝนตกในประเทศไทยมีความผิดปกติ ปี พ.ศ. 2567 มีปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายปีเพิ่มสูงทำลายสถิติทุกปี โดยข้อมูลแสดงแนวโน้มสภาวะอากาศร้อนจัดอุณหภูมิสูงสุดเกิน 43 องศาเซลเซียสเกิดขึ้นเพียงไม่กี่จังหวัดตั้งแต่ปี 2562 แต่เมื่อเดือนเมษายน 2567 มีรายงานอุณหภูมิสูงเกิน 43 องศาเซลเซียส ถึง 16 จังหวัด

ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) และ เอลนีโญ (El Niño) จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพภูมิอากาศในประเทศ และสร้างผลกระทบเกิดขึ้นทั่วโลกในรูปแบบต่างกัน ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2567 เป็นปัจจัยทำให้อุณหภูมิในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงสุดและเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะภัยแล้ง ขณะที่ปรากฏการณ์ลานีญากลับมาช่วยให้ฝนชุ่มฉ่ำในช่วงกลางปี 2567 แต่ก็นำไปสู่น้ำท่วมฉับพลันและรุนแรงในหลายจังหวัด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การจัดสรรน้ำสำหรับชลประทานในภาคการเกษตรมีความเสี่ยงและการแข่งขันมากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของกลยุทธ์การปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่มีอนาคตเปราะบางต่อความยากจน

งานวิจัย Impacts of Climate Change and Agricultural Diversification on Agricultural Production Value of Thai Farm Households ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Climatic Change และ ได้รับการอ้างอิงในบทความ Telegraph โดยงานวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 (พ.ศ. 2550-2563) และใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติและสถิติแสดงว่า “อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรแล้ว และ การกระจายความเสี่ยงด้านการเกษตร เช่น การทำเกษตรหลายประเภทหรือปลูกพืชผสมผสาน ช่วยบรรเทาผลกระทบได้”

ดังนั้น ข้อพิจารณาเชิงนโยบายสำหรับอนาคตของครัวเรือนเกษตรกรไทยที่ไม่ค่อยจะสดใส ก็คือ ควรได้รับความใส่ใจจากรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิธีการเกษตรที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การพิจารณาแนวทางนโยบายโดยเร่งด่วน คือ ช่วยเหลือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ผลาญแต่งบประชาสัมพันธ์ที่เกษตรกรได้รับประโยชน์แค่หลักหมื่นราย จากเกือบ 8 ล้านครัวเรือนเกษตรกร  หรือ การใช้งบประมาณในกระทรวงเกรดเอที่มีข่าวความขัดแย้งและการทุจริตเกิดขึ้นเสมอมา

ในขณะเดียวกัน นโยบายที่ระดับท้องถิ่นช่วยสนับสนุนได้ คือ การปรับตัวได้อย่างยั่งยืน โดยจูงใจและสนับสนุนให้กระจายความเสี่ยง โดยควรกำหนดเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็น “ผลงานรัฐบาล” ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในมิติที่กว้างขึ้น ตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs)

ทั้งนี้ Goal 13: Climate action ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ระบุไว้และสามารถแปลใจความเป็นไทยว่า: 
“ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ทุกคนในทุกประเทศของทุกทวีปจะได้รับผลกระทบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะภัยพิบัติรุนแรง หรือ cataclysm ทางสภาพภูมิอากาศกำลังคืบคลานเข้ามา และเรายังไม่พร้อมรับมือ” (Take urgent action to combat climate change and its impacts. Every person, in every country in every continent will be impacted in some shape or form by climate change. There is a climate cataclysm looming, and we are underprepared for what this could mean.)

 

หมายเหตุ: สรุปจากบทความต้นฉบับ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกระจายความเสี่ยงต่อมูลค่าผลผลิตของครัวเรือนเกษตรกรไทย” เผยแพร่บนเว็บไซต์ “เศรษฐสาร” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net