Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าผู้ใช้ X ไม่ต่ำกว่า 8 ราย เผยถูกทางการไทยร้องขอแพลตฟอร์มให้ปิดกั้นทวีตวิจารณ์รัฐบาล

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าในช่วงเดือน ก.ค. ถึงกลาง ส.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พบว่ามีกรณีที่ผู้ใช้แพลตฟอร์ม X (หรือทวิตเตอร์เดิม) ไม่ต่ำกว่า 8 ราย เปิดเผยว่าได้รับอีเมลแจ้งจากแพลตฟอร์มว่าได้รับคำขอจากทางการไทย อ้างว่าผู้ใช้ได้เผยแพร่เนื้อหา “ละเมิดต่อกฎหมาย” ในประเทศไทย แต่ X ไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว จึงแจ้งมาให้ผู้ใช้ทราบ โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ผู้ใช้ X แต่ละรายดังกล่าว ได้โพสต์ภาพแคปชั่นอีเมลจาก twitter-legal@x.com ซึ่งส่งข้อความมาแจ้งว่า ทวิตเตอร์ได้รับคำขอจากทางการไทย อ้างว่าผู้ใช้งานคนดังกล่าวได้เผยแพร่เนื้อหาที่ “ละเมิดต่อกฎหมาย” ในประเทศไทย (โดยไม่ได้ระบุตัวบทกฎหมายที่แน่ชัด) พร้อมมีการแนบลิงก์ข้อความของผู้ใช้ที่อ้างว่าเข้าข่ายดังกล่าว บางรายระบุลิงก์หลายทวีตข้อความพร้อมกัน แต่ทาง X แจ้งว่าจะไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามคำขอดังกล่าว เนื่องจากนโยบายที่ปกป้องและเคารพในเสียงของผู้ใช้ พร้อมแจ้งให้ผู้ใช้ทราบถึงการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้อีเมล์ดังกล่าว บางกรณีก็ระบุว่าเป็นคำขอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) หรือระบุว่าเป็นคำร้องขอผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศโดยตรงด้วย

จากการตรวจสอบเนื้อหาที่ทาง X ระบุว่ามีการร้องขอจากทางการไทยนั้น พบว่าส่วนใหญ่มีเนื้อหาทวีตข้อความเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในช่วงที่ผ่านมา

 

 

ตัวอย่างผู้ใช้ X ที่แจ้งถึงสถานการณ์ดังกล่าวอาทิ ผู้ใช้ @_femrt ระบุได้รับอีเมลดังกล่าวจำนวน 2 ฉบับ ในช่วงวันที่ 20 ก.ค. 2567 เป็นคำขอจากกระทรวงดีอีขอให้ปิดกั้นทวีตข้อความ 2 ข้อความของผู้ใช้ โดยเป็นข้อความวิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล และวิจารณ์เปรียบเทียบการได้ประกันตัวของทักษิณ ชินวัตร กับนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมชี้ถึงดีลกับผู้มีอำนาจ

ผู้ใช้ @Freiheit_NHLC ก็ระบุว่าได้รับอีเมลจาก X จำนวน 1 ฉบับ ในช่วงเดือน ก.ค. 2567 แจ้งว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นทวีตข้อความ 2 ข้อความของเขา ซึ่งเป็นการรีทวีตข้อความข่าวนโยบายของรัฐบาลที่ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี พร้อมเขียนข้อความวิจารณ์ และข้อความรีทวีตนโยบายดังกล่าวพร้อมวิจารณ์ว่าเอื้อผลประโยชน์นายทุน

ผู้ใช้ @big_kiattichai ระบุว่าได้รับอีเมลเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 แจ้งว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นทวีตข้อความที่ตั้งคำถามต่อการทำงานของกระทรวงดีอี ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาเว็บไซต์พนันออนไลน์อย่างเปิดเผย

ผู้ใช้ @io_patroller ระบุว่าได้รับอีเมลเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 แจ้งว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นทวีตข้อความตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ IO ไปแสดงความคิดเห็นในทวีตของนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ด้วยรูปแบบถ้อยคำที่ซ้ำ ๆ กัน

 

 

 

 

ผู้ใช้ @ThailandF1rst ระบุว่าได้รับอีเมลเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 แจ้งว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นทวีตแชร์คลิปประธานสภาผู้บริโภคให้สัมภาษณ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมโควทข้อความประกอบ

ผู้ใช้ @weeeedpung ระบุว่าได้รับอีเมลแจ้งว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นทวีตข้อความวิจารณ์เรื่องการมีผู้ต้องขังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และวิจารณ์รัฐบาลเรื่องการไม่จัดการแก๊งค์คอลเซนเตอร์ รวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ส่วนผู้ใช้ @BankYNWA ระบุว่าได้รับอีเมลเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 แจ้งว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นทวีตข้อความและคลิปที่มีลักษณะล้อเลียนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

ขณะที่เมื่อมีผู้ใช้ X เปิดเผยเรื่องนี้มากขึ้น ผู้ใช้ @RishadanPort ก็โพสต์ระบุว่าได้รับอีเมล 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 25 ม.ค. และ 26 เม.ย. 2567 แจ้งว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นทวีตข้อความจำนวนรวม 6 ทวีต โดยอีเมลฉบับหนึ่งระบุว่าเป็นคำขอของผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย โดยผู้ใช้ X รายดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงข้อความทั้งหมดที่ถูกร้องขอให้ปิดกั้น แต่ระบุว่า “ไม่ใช่ทวีตโจมตีรัฐบาล ทุกคนคงคาดเดาได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร แถมระบุชื่อตรงๆแบบไม่เซ็นเซอร์”

 

 


ทวิตเตอร์เปิดเผยสถิติตัวเลขจำนวนครั้งที่รัฐบาลไทยส่งคำขอให้ปิดกั้นข้อความในช่วงปี 2560-64

แต่หลังจากปี 2564 แพลตฟอร์ม X ก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขเช่นนี้อีก ทำให้ยากจะเปรียบเทียบถึงสถานการณ์คำร้องขอในแต่ละรัฐบาล แต่จากสถานการณ์ที่มีผู้ใช้แพลตฟอร์มเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวข้างต้นหลายรายในช่วงเวลาไม่นาน จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีคำร้องขอจากรัฐบาลเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงปี 2567 นี้

หากผู้ใช้งาน X ท่านใดพบสถานการณ์ดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมมาได้ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อเก็บบันทึกสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net