Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง ม.112 'บุปผา' ผู้ป่วยจิตเวช แต่ยังคงลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใน 4 โพสต์ที่เกี่ยวกับ ร.9 และ ร.10 ลงโทษจำคุก 24 เดือน โดยให้รอลงอาญา พูนสุขทนายความจากศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้มีการฟ้องถึงราชวงศ์คนอื่นด้วย แต่ศาลลงเฉพาะข้อความที่กล่าวถึง ร.9 และ ร.10 และการที่ศาลยกฟ้องตาม ม.112 แล้ว แสดงว่าไม่มีฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แต่ศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งที่ไม่ผิดคดีความมั่นคงอยู่แล้ว

 

28 ส.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของ “บุปผา” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช ในคดี ม.112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์รายอื่น

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ข้อหาและฟ้องข้ออื่นให้ยก ก่อนให้รอการลงโทษและคุมประพฤติ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คือ รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตเวชต่อ

ศูนย์ทนายฯ ระบุ โพสต์ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เป็นความผิดรวม 4 โพสต์นั้น เป็นข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นรัชทายาท ณ ขณะเกิดเหตุ ส่วนอีก 9 โพสต์ที่เหลือเป็นโพสต์เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์องค์อื่นๆ

คดีนี้เดิมถูกพิจารณาลับในศาลทหาร โดยเธอถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างการคุมขังศาลได้มีคำสั่งส่งตัวไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ต่อมา หลังมีการเลือกตั้งและ คสช.ยุติบทบาทลง คดีได้ถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม แต่การสืบพยานต่อในศาลจังหวัดพัทยาก็เป็นการลับเช่นเดิม ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดี รวมถึงในการอ่านคำพิพากษาของศาลทั้งสามชั้นก็มีคำสั่งให้ทำเป็นการลับ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 แต่ลงโทษในความผิดนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำนวน 13 กระทง จําคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 78 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 3 ปี คุมความประพฤติจําเลยโดยให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตเวชต่อ

ต่อมา ทั้งโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 1 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ทั้งโจทก์และจำเลยยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต่อศาลฎีกา จากนั้นศาลจังหวัดพัทยาได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 18 ก.ค. 2567 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจังหวัดพัทยาจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับมาฟังคำพิพากษา และเลื่อนมานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ (28 ส.ค. 2567)

ศาลฎีกาลงโทษ “บุปผา” พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 (3) โพสต์ข้อมูลผิดความมั่นคงฯ เฉพาะ 4 กรรม ที่เกี่ยวกับกษัตริย์และรัชทายาท จำคุกรวม 24 เดือน รอลงอาญา อีก 9 กรรมและข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

ก่อนอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้สั่งให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นคู่ความออกไปจากห้องพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถสรุปได้ดังนี้

คดีนี้โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว จำเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิต แพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเภท ชนิดหวาดระแวง อาการโดยทั่วไปจะหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

ประการแรก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาท ชอบหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายอุทธรณ์ของโจทก์ไว้แล้วว่า ศาลน่าที่จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 ตามฟ้องด้วย เพราะจำเลยรู้สำนึกในการกระทำ ย่อมถือว่าโจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องความผิดตามมาตรา 112 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำอันเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบในประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์กลับรับฟังได้เจือสมกับทางนำสืบจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเวชและมีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์

พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่เพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการกระทำอันเป็นความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดข้อหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

ประการที่สอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ชอบหรือไม่

จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นปรับบทคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งมิใช่การลงโทษตามที่พิจารณาได้ความ ต้องพิพากษายกฟ้องนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยไม่ทราบว่าข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลเท็จ จึงลงโทษเฉพาะความผิดตามมาตรา 14 (3) จึงเท่ากับว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 14 (1) เมื่อโจทก์อุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 และขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยเท่านั้น ดังนั้น ข้อหาตามมาตรา 14 (1) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ทั้งการยกฟ้องในข้อหาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงในสำนวนโดยคลาดเคลื่อน จึงมิใช่การปรับบทกฎหมายคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยแต่อย่างใด

ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 (1) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า เฉพาะตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 เท่านั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องรวมไปด้วยว่าจำเลยนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่ามีข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และรัชทายาทในทางที่ไม่ดี อันเป็นการที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงสมฟ้องแล้ว

แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาทก็ตาม ก็มิใช่ว่าต้องฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดในข้อหานี้ด้วย เพราะองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน การพิจารณาถึงเจตนาจึงแตกต่างกันไปด้วย เมื่อในกรณีนี้จำเลยนำข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยรับรู้และเข้าใจถึงการกระทำจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้ว

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ลงโทษตามฟ้องข้ออื่นมาด้วยไม่ชอบ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน

ประการที่สาม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการป่วยของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นโรคจิตเภท มีความเชื่อบิดเบือนไปจากความเป็นจริง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ โดยบอกว่าจำเลยเป็นรัชทายาทของรัชกาลที่ 5 จากการประเมินเชื่อว่า จำเลยเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่ต้นปี 2556 และแสดงอาการรุนแรงต้นปี 2559 สองคล้องกับหนังสือแจ้งประวัติการรักษา จึงเชื่อว่า จำเลยกระทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต

อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยสามารถพิมพ์ข้อความและนำรูปภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้ และสามารถใช้ข้อความที่สื่อถึงความรู้สึกนึกคิดของจำเลยได้ด้วย แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือบังคับตนเองได้บ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรให้โอกาสจำเลยได้รับการบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามฟ้องข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ข้อหาและฟ้องข้ออื่นให้ยก การรอการลงโทษ การคุมความประพฤติ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล, วินิตย์ ศรีภิญโญ และ ปิยนุช มนูรังสรรค์

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นต่อคำตัดสินของศาลฎีกาในคดีบุปผาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า คดี 112 และพ.ร.บ.คอมฯ วันนี้ (28 ส.ค. 2567) จำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเภท มีความเชื่อบิดเบือนว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ ศาลยกฟ้อง 112 เพราะเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด แต่ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยกระทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต แต่การที่จำเลยสามารถพิมพ์ข้อความและนำรูปภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้แสดงว่ายังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือบังคับตนเองได้บ้าง ลงโทษตามมาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมฯ นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง 4 กรรม กรรมละ 6 เดือน รวม 24 เดือน

โดยคดีนี้มีการฟ้องถึงราชวงศ์คนอื่นด้วย แต่ศาลลงเฉพาะข้อความที่กล่าวถึง ร.9 และ ร.10

พูนสุข ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ศาลยกฟ้องตาม ม.112 แล้ว แสดงว่าไม่มีฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แต่ศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ผิดที่นำเข้าข้อมูลคดีความมั่นคง ทั้งที่ไม่ผิดคดีความมั่นคงอยู่แล้ว และการที่ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยขาดเจตนา ม.112 เพราะอาการจิตเภท พ.ร.บ.คอมฯ ก็ต้องมีองค์ประกอบเรื่องเจตนาในการกระทำความผิดเช่นกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตามความเห็นของศาลเจตนา ม.112 กับ พ.ร.บ.คอมฯ สามารถพิจารณาแยกกันได้หรือ

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net