Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คนไทยเพิ่งจะห่างหายจากการล้อเลียนนายกฯ ทหารที่มีทักษะภาษาอังกฤษงู ปลา “Yes, No, Okay” มาได้ไม่ถึง 1 ปี ก็ต้องมาเจอคลิปสั้นของนายกฯ หญิงคนที่สอง แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์อย่างตะกุกตะกักเป็นภาษาอังกฤษ แพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ ทั้ง Tiktok และ Youtube ที่แสบสันกว่าคือ การนำคลิปของแพทองธาร ชินวัตรไปเทียบกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อส่งสารเป็นนัยว่าศิษย์การโรงแรมจาก University of Surrey ประเทศอังกฤษนั้นหากประชันวาจาภาษาอังกฤษกันแล้วคงเทียบศิษย์วิทยาลัยการปกครอง Harvard University สหรัฐอเมริกาไม่ได้ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ช่วงเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด หลายรายการของสื่อตระกูล “The” ก็ได้เชิญผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกฯ หลายคนมาสัมภาษณ์ความคิดเห็นเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีเจตนาจะเทียบให้เห็นชัดว่าใครมีรัศมีและวิสัยทัศน์พอจะเฉิดฉายบนเวทีโลกบ้าง 

จนเกิดเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจในโลกออนไลน์ว่าคนจะเป็นผู้นำประเทศได้นั้นจำเป็นต้องสื่อสารภาษาอังกฤษ (หรือภาษาที่สอง และสาม) คล่องประหนึ่งเจ้าของภาษา โดยมีกลิ่นอายของ “สำเนียงไทย” ให้น้อยที่สุดหรือไม่? ซึ่งในมุมของผู้เขียนนั้น ข้อเสนอที่ฟังแล้วดูสมเหตุสมผลมากที่สุดน่าจะมาจากวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาที่แสดงทัศนะไว้ว่าความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษนั้นเป็นเพียงข้อได้เปรียบที่ผู้นำคนหนึ่งจะมีเท่านั้น ไม่ได้เป็นสาระสำคัญที่จะตัดสินความเหมาะสมกับตำแหน่ง เพราะในปัจจุบันทางกระทรวงที่เกี่ยวข้องเองก็มักมีการจัดเตรียมล่ามแปลภาษาเอาไว้ในโอกาสที่ผู้บริหารกระทรวงนั้นต้องก้าวขึ้นไปเจรจาหรือพูดคุยบนเวทีระหว่างประเทศอยู่แล้ว

เมื่อมาพิจารณากันเอาจากหน้างานจริงในแวดวงการทูต และเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยสมาชิกมากกว่า 193 ประเทศ ก็ถือว่าค่อนข้างสอดคล้องตามที่วราวุธได้กล่าวเอาไว้ เพราะมีอยู่เพียง 70-80 กว่าประเทศเท่านั้นที่กำหนดให้ใช้อังกฤษเป็นภาษาราชการ สำหรับกลุ่มประเทศนอกเหนือจากนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็ให้ความสำคัญเป็นลำดับรองลงไป เช่น หลายประเทศในทวีปเอเชียก็ไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษบนเวที UNGA ครั้งนี้ ไม่ว่าจะจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย หรือแม้แต่รัสเซีย ที่นักท่องเที่ยวจากไทยไปเยือนทีไรก็มักประสบปัญหาการสื่อสารระหว่างกันเสียทุกครั้ง เพราะคนส่วนใหญ่สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ (หรือในบางกรณี คือ ไม่ประสงค์จะใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาท้องถิ่นตนเอง) เช่นเดียวกันทัศนคติลักษณะนี้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านแนวทางการสื่อสารของผู้นำประเทศนั้นบนเวทีโลก

อย่างในกรณีญี่ปุ่นสมัยที่ Shinzo Abe เป็นนายกฯ ก็ยอมรับว่าตนไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษระดับทางการในที่สาธารณะได้ และมักให้ผู้ติดตาม หรือล่ามที่คณะทำงานของตนจัดหาไว้ให้คอยอ่านสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษคู่ขนานไปช่วงที่ตนอยู่บนเวทีเสมอ ดังที่ปรากฏให้เห็นเมื่อครั้งที่ Abe ไปเยือน Harvard University ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำรงตำแหน่ง หรือการแสดงบทบาทผู้นำบนเวทีระหว่างประเทศสักเท่าใด อย่างในกรณีเลวร้ายมากที่สุดก็แค่อาจจะถูกนำไปล้อเลียน ไม่ก็เป็นประเด็นซุบซิบในแวดวงสื่อมวลชนอย่างที่ Donald Trump นำเรื่องที่ Akie Abe ภรรยาของ Shinzo Abe สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ไปหยอกล้อขณะให้สัมภาษณ์เมื่อปี 5-6 ปีก่อน 

แง่หนึ่งหากจะกล่าวว่าแนวทางนี้ถือเป็นหนึ่งในการจำกัดขอบเขตความเสียหายที่จะเกิดขึ้นบนเวทีระหว่างประเทศให้น้อยที่สุด ก็คงจะไม่เกินไปกว่าความเป็นจริง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าเวทีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะในด้านการเมืองหรือการทูตนั้นถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ของความเป็นทางการ และความเป็นมืออาชีพ (professional) คงจะไม่เป็นการเข้าท่านัก หากจะมีผู้นำคนใดที่ไม่สันทัดภาษาต่างประเทศ แต่ดันทุรังจะขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ หรือ ถ้อยคำใดที่อาจส่งผลเป็นการผูกมัดประเทศตนเอง จนเกิดความเสียหายไม่ว่าจะทางด้านชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของประเทศ หรือไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหนึ่งต่ออีกประเทศหนึ่ง กล่าวอย่างพื้นฐานที่สุด คือ หากพูดออกมาแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แถมยังพาลจะนำไปสู่โทษแล้วก็อย่าพูดออกมาให้เป็นที่อับอายเสียจะดีกว่า 

เรื่องตลกขบขันหนึ่งที่เคยเป็นกระแสโด่งดังเมื่อช่วงประมาณ 20 ปีก่อนและมักถูกนำมาเล่าขานในห้องเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะกรณีศึกษาถึงการใช้ล่ามแทนการสื่อสารในภาษาที่ตนเองไม่ถนัด คือ กรณีที่ George W. Bush เชิญ Fernando Cardoso ประธานาธิบดีบราซิลในขณะนั้น มาเยือนที่ทำเนียบขาวหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2000 แล้ว Bush ดันไปถาม Cardoso เป็นภาษาสเปน ว่า “ประเทศคุณก็มีไอ้พวกคนดำเหมือนกับประเทศเราใช่ไหม?” (Do you have blacks too?) จนทำให้เจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ติดตามหลายคนที่สันทัดภาษาสเปนถึงกับตกใจต้องปรี่เข้าไปกระซิบเตือน Bush เรื่องการใช้คำในทันที โดยในภายหลังมีการนำประโยคที่ Bush กล่าวไปพิจารณากันอีกครั้ง จึงทราบว่าเจตนาที่แท้จริงของ Bush นั้น ตั้งใจจะถามถึงสถานการณ์การเหยียดสีผิวในสังคมบราซิล

จริงแล้วการใช้ล่ามแปลภาษาระหว่างการพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้นำประเทศ หรือ เวทีประชุมและเจรจานานาชาตินั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าอายแต่อย่างใด ผู้นำหลายคนเลือกที่จะยอมรับในข้อจำกัดและกำแพงภาษาที่ตนมีต่อคู่สนทนา แล้วใช้บริการล่ามกระซิบ (chuchotage) แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะพอมีทักษะในภาษาของประเทศคู่คนสนทาในระดับที่มากพอก็ตาม ตัวอย่างเช่น กรณีการประชุมทวิภาคีระหว่างเยอรมนีและรัสเซียตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา Angela Merkel จะใช้ล่ามกระซิบเกือบทุกครั้งที่ต้องนัดพบหรือเจรจากับ Vladimir Putin เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่เกิดจากการสื่อสาร แม้ตัว Merkel เองจะมีความคุ้นเคยกับภาษารัสเซียเพราะเติบโตมาจากเยอรมนีตะวันออก ทางด้าน Putin เองขณะที่รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ KGB ก็เคยอาศัยอยู่ในเยอรมนีเป็นเวลาหลายปีก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลาย จนสามารถสื่อสารภาษาดังกล่าวได้ในระดับคล่องแคล่ว 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้นำประเทศบางส่วนนิยมใช้บริการล่ามกระซิบในการประชุมระดับทวิภาคี หรือโอกาสอื่นที่มีความจำเป็นต้องโต้ตอบกับคู่สนทนาตลอดเวลานั้น คือ เพื่อการประวิงและผัดผ่อนเวลาให้ดำเนินไปช้าลง ผู้นำหลายคนนั้นอาจจะสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะ Shinzo Abe, Recep Tayyip Erdogan, หรือแม้แต่ Xi Jinping ทว่า ข้อดีของการใช้ล่ามในการเจรจานัดสำคัญนั้นช่วยให้ผู้นำแต่ละฝ่ายสามารถทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่คู่สนทนาสื่อสารออกมาได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะหากล่ามกระซิบเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญโดยตรงในสาขาที่เป็นหัวข้อการสนทนา/เจรจา และที่สำคัญสุดเลย คือ การมีล่ามกระซิบ เปิดโอกาสให้ผู้นำประเทศมีเวลาพิจารณาถึงเนื้อหาของการสนทนาได้ยาวนานขึ้นกว่าการสนทนาโดยไม่มีล่าม ซึ่งจะมีรูปแบบที่กดดันในเรื่องของกรอบเวลามากกว่า และมีความกระชั้นชิดในการให้คำตอบมากกว่า
ส่วนประเด็นที่ว่าเป็นเพราะเหตุใดผู้นำจากบางประเทศที่น่าจะมีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับสูงอย่างเช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย และรัสเซีย กลับเลือกใช้ภาษาท้องถิ่นของตนเองเมื่อต้องกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีโลกนั้นเป็นเรื่องทัศนคติชาตินิยม ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นมหาอำนาจระดับกลาง (middle powers) และภูมิภาค (regional powers) ทั้งสิ้น การนำภาษาประจำชาติของตนเองไปสู่เวทีโลกนั้นเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ และบ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาษานั้น ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลักดันให้ Emmanuel Macron เลือกใช้ภาษาฝรั่งเศสในการกล่าวสุนทรพจน์ หรือ แสดงจุดยืนบนเวทีโลกอยู่บ่อยครั้ง อาจเรียกได้ว่าเป็นการแสดงถึงวิสัยทัศน์รูปแบบหนึ่งที่สามารถนำกลับไปสื่อสารกับฐานเสียงกลุ่มชาตินิยม (patriots) ของตนเองได้ 

ซึ่งก็ไม่ต่างจากสถานการณ์ในไทย ทุกครั้งที่มีการกล่าววิจารณ์ถึงทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศของผู้นำไม่ว่าจะจากพรรคใด ขั้วการเมืองไหนก็มักจะมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มชาตินิยม หรือท้องถิ่นนิยมออกมากล่าวสนับสนุนโดยใช้ถ้อยคำในลักษณะที่ว่าภาษาอังกฤษ (หรือภาษาที่สองและสาม) ไม่ใช่ภาษาของบรรพบุรุษ ไม่ก็ลามไปถึงระดับที่ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาของเจ้าอาณานิคม แต่ไทยไม่เคยถูกยึดเป็นอาณานิคมจึง ‘ไม่จำเป็นต้องสื่อสารภาษาอังกฤษคล่อง’ อยู่เรื่อยไป 

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net