Skip to main content
sharethis

สส.จีนลุกอภิปรายนโยบายรัฐบาลชี้จะได้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อไหร่แล้วประชาชนจะได้มีส่วนร่วมจริงหรือไม่ อีกทั้งยังทวงให้รัฐบาลนำร่างแก้กฎหมาย ปปช.ที่เพื่อไทยเคยผลักดันกลับมาพิจารณาเพื่อคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องเสื้อแดง รวมไปถึงให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมือง “อดิศร” ลุกตอบให้คำมั่นหากเยาวชนไม่เคยทำผิดและจริงใจต่อบ้านเมืองจะได้นิรโทษกรรมเหมือนกัน

12 ก.ย.2567 ที่ประชุมรัฐสภาในวาระแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา พุธิตา ชัยอนันท์ สส.พรรคประชาชน อภิปรายในประเด็นที่แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลว่า นโยบายเรื่องนี้ของรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ปัญหาเฉพาะในเรื่องที่ตัวเองเสียผลประโยชน์เท่านั้นคือเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล แล้วตกหล่นในหลายเรื่อง

สส.พรรคประชาชนกล่าวถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีปัญหาตุลาการภิวัฒน์ กองทัพที่กดขี่ประชาชนและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และความยุติธรรมที่ล่าช้าบกพร่อง แต่รัฐบาลก็เห็นแค่เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาการถอดถอนรัฐบาลจากอำนาจแบบคาดเดาไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเจอกับตัวมาก่อนแต่ไม่ได้พูดถึงประเด็นปัญหาที่ปรากฏตัวอยู่อย่างชัดเจนแต่รัฐบาลก็ไม่กล้าที่จะแก้ปัญหาทางการเมือง

พุทิตากล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่บอกว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุดที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้สำคัญแล้ว แต่ไม่ได้เป็นนโยบายเร่งด่วนแล้วถูกใส่ไว้เป็นหมวดนโยบายระยะกลางและระยะยาวแทน และไม่กล้าสัญญาว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ปีไหน ทั้งที่เรื่องนี้มีอยู่มาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาและผ่านมาแล้วหนึ่งปียังไม่มีความคืบหน้าตั้งคณะกรรมาธิการมาศึกษาแล้วก็ยังไม่ได้อะไรใหม่ออกมา เสียทั้งงบประมาณและเป็นการถ่วงเวลาไปเปล่าๆ แล้วกฎหมายการทำประชามติฉบับใหม่ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้เสียทีแล้วที่ช้าก็เป็นเพราะฉบับของคณะรัฐมนตรีไม่เสร็จแม้ว่าฉบับจากพรรคการเมืองจะเสร็จมารอนานแล้ว อีกทั้งจากที่ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีจะเคยบอกว่าได้ทำประชามติไตรมาสแรกปี 2567 แต่ตอนนี้พ.ร.บ.ประชามติก็ยังไม่เสร็จ

อีกทั้งในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยังมีการตัดคำว่ารัฐบาลจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคำถามประชามติและออกแบบรัฐธรรมนูญออกไปจากคำแถลงนโยบายเมื่อเทียบกับของรัฐบาลเศรษฐา

“หมายความว่าประชาชนจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำรัฐธรรมนูยอีกแล้วหรือเปล่า ประชาชนจะไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้อีกแล้วใช่หรือไม่ คำถามประชามติจะเป็นอย่างไร สสร.จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกหรือเปล่า” พุธิตากล่าวและตั้งข้อสังเกตด้วยว่าจะยังได้ร่างใหม่ทั้งฉบับหรือไม่

ประเด็นต่อมาที่พุธิตากล่าวคือการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่ถูกพูดถึงกันมาหลายครั้งแต่เมื่อลงมือทำแล้วก็กลายเป็นอีกเรื่อง และเธอยังชี้ว่าการโยงระหว่างหลักนิติธรรมกับการสร้างรายได้ ทั้งที่ใจความสำคัญการมีกฎหมายชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศและการเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายของประชาชนและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมีรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุดและมีหลักประกันด้วยว่าตุลาการต้องเป็นอิสระ จึงขอวอนให้แยกสองเรื่องนี้ออกจากกันเพราะไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการหารายได้

สส.พรรคประชาชนยังกล่าวด้วยความขัดแย้งที่ยาวนานเธอก็เห็นด้วยว่าจะต้องยุติลงได้แล้ว แต่ต้องทำให้คนได้รับความยุติธรรมไม่ใช่แค่นักการเมืองจับมือกันเพราะผลประโยชน์ลงตัวหรือแค่มีศัตรูร่วมกัน แต่ยังมีคนอีกมากที่คนยังรอความยุติธรรมอยู่ เช่น ผู้ที่ถูกปราบปรามจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่ยังมีคดีค้างอยู่และมีคนตายจากอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่มีใครได้รับโทษเลย แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจเต็มคุมฝ่ายบริหารและเสียงข้างมากในสภาได้ขอให้จัดการเรื่องนี้ด้วย

พุธิตาเสนอว่าจะต้องแก้ไขธรรมนูญศาลทหารเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาขึ้นศาลยุติธรรม แล้วเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยตอนเป็นฝ่ายค้านก็เห็นชอบมาตลอด และร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่จะคืนความยุติธรรมให้แก่พี่น้องคนเสื้อแดงและเคยถูกผลักดันแต่พรรคเพื่อไทยก็ถอนร่างออกบอกว่าจะเอาไปปรับแก้ แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อยู่ตรงไหนทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญของคนที่สูญเสียและพรรคเพื่อไทยก็น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี

สส.พรรคประชาชนยังกล่าวถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองด้วยว่า ในขณะนี้ยังมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองที่กำลังรอคอยความยุติธรรมทั้งที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศโดยที่หลายคนก็ยังเป็นเด็กและหลายคนก็ยังถูกคุมขัง แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่อาชญากรที่กระทำความผิดร้ายแรงปล้นฆ่าชิงทรัพย์แต่แค่แสดงออกทางการเมืองต่างไปจากที่รัฐต้องการจะเห็นเท่านั้น การดำเนินคดีกับพวกเขาเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลเลย

พุธิตาได้กล่าวพาดพิงถึงสมาชิกในรัฐสภาที่เคยได้รับโอกาสจากการนิรโทษกรรมมาแล้วในอดีตเช่น ภูมิธรรม เวชชยชัย หรือสหายศรชัย สหายสุภาพ ที่เคยได้รับความยุติธรรมมาแล้ว

“วันนี้พวกท่านจะคืนความยุติธรรมให้กับคนอื่นๆ ให้กับประชาชนคนอื่นๆ ได้หรือไม่” สส.พรรคประชาชนกล่าวทิ้งท้าย

อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ตอบพุธิตา ต่อประเด็นนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองว่า ในรุ่นของพวกเขาสมัยการชุมนุมทางการเมืองเมื่อ 6 ต.ค.2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามมา

อดิศรกล่าวต่อด้วยว่าขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลของแพทองธารอยากให้ประเทศนี้มีความปรองดองเข้ามา เขาก็เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาแห่งนี้คงมีความคิดเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ารุ่นของพวกเขาเคยได้นิรโทษฯ แล้วรุ่นต่อมาไม่นิรโทษฯ

“เยาวชนคือผ้าขาวผมให้คำมั่นสัญญากับพรรคประชาชนและพี่น้องประชาชนว่า คน 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ไม่ลืมกำพืดและไม่ลืมความทุกข์ยากและความทารุณโหดร้าย รุ่นนี้เยาวชนลูกหลานเราไม่มีความผิดอะไร ถ้ามีความจริงใจต่อชาติบ้านเมืองก็จะได้นิรโทษกรรมเหมือนกัน”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net