Skip to main content
sharethis

คุยกับนักวิชาการด้านการจัดการน้ำผู้อาศัยอยู่ในเมืองเชียงราย ‘ มงคลกร ศรีวิชัย’ ทำไมผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ถึงรุนแรงกว่าที่ผ่านมา วิเคราะห์ทำไมการอพยพจึงเกิดขึ้นล่าช้า รวมทั้งข้อเสนอเพื่อการรับมือน้ำท่วมที่ภาครัฐควรจัดการให้ดีขึ้น

 

ภาพประชาชนในจังหวัดเชียงรายติดค้างตามบ้านเรือน ทยอยอพยพออกจากพื้นที่อย่างทุลักทุเลด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ นับเป็นภาพสะเทือนใจที่เห็นอยู่เต็มโซเชียลมีเดียและหน้าข่าว คำถามสำคัญคือ เรารู้ก่อนหรือไม่ว่าอุทกภัยครั้งนี้จะรุนแรงเพียงนี้ และเหตุใดการอพยพจึงไม่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

มงคลกร ศรีวิชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย เป็นนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ และยังอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลบ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไท ขณะที่ก็กำลังเตรียมการรับมือมวลน้ำที่กำลังจะมาถึงพื้นที่ไปด้วย

มงคลกร มองว่า น้ำท่วมใน อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงรายครั้งนี้มีความรุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ และหนักกว่าปี 2565 ที่ว่ากันว่าหนักที่สุด ปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณน้ำฝนที่มากและตกเต็มพื้นที่ ทำให้มีน้ำหลากมาจากทุกทิศทางซึ่งเป็นผลกระทบจากหาง 'พายุยางิ'

สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย (ที่มา: ภาพจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย)

นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วม อ.แม่สาย หนักหน่วง ยังเป็นเพราะบริบทในพื้นที่ตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนภูมิประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำกำลังลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมีประชาชนเข้าไปสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น บ้าน สถานที่พักผ่อน หรือคอนโดฯ ในพื้นที่รับน้ำ แถมยังสร้างสิ่งป้องกันน้ำท่วมตามมาด้วย ส่งผลทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถรับน้ำได้ในปริมาณเท่าเดิม

ส่วนเรื่องการเตือนภัยของภาครัฐ มงคลกรมองว่า เทคโนโลยีของภาครัฐถือว่ามีความทันสมัย และการพยากรณ์ทำได้ดีแล้ว แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ ‘การสื่อสาร’ จากภาครัฐถึงประชาชนที่ทำให้การรับมือทำได้ไม่ดีพอ เพราะยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้ว่า น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนแน่ๆ

“เราพยากรณ์ได้ดีมาก ข้อมูลการพยากรณ์ชัดมาก แต่ทุกคนมีประสบการณ์ของเขา และทุกคนเคยเจออยู่แค่ระดับหนึ่ง จึงคิดว่ามันไม่มีมากกว่านี้หรอก แต่พอเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นมันไม่ใช่อย่างนั้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำกล่าวในฐานะคนพื้นที่

อาจารย์ยังอธิายอีกว่า บริบทในพื้นที่เชียงรายใช้ระบบเตือนภัยผ่านการส่งเสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้าน แตกต่างจากที่อื่นๆ ที่เป็นลักษณะหอกระจายเสียงของศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่บ้านแต่ละคนให้ความสำคัญกับการเผชิญภัยพิบัติไม่เท่ากัน บางคนให้ความสำคัญมากๆ ก็มี แต่บางคนก็รู้สึกว่า ‘ไม่เป็นไร’ น้ำท่วมคราวนี้น่าจะเหมือนครั้งก่อนๆ ก็มีเหมือนกัน นั่นทำให้ประชาชนเตรียมรับมือภัยธรรมชาติครั้งนี้ไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า การช่วยเหลือของภาครัฐมีการกระจายข้อมูลต่างๆ วุ่นวายมาก ประชาชนไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลไหน และไม่ทราบว่าจะไปหาข้อมูลการช่วยเหลือของภาครัฐจากไหน อย่างไร รวมถึงไม่มีการซักซ้อมการเตรียมความพร้อมเผชิญภัยพิบัติในพื้นที่

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำประเมินว่า แนวโน้มอุทกภัยในเชียงรายจะถี่ขึ้น และขยายพื้นที่เป็นวงกว้างไปมากขึ้น ซึ่งปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ควรต้องเตรียมพร้อมแผนเชิญเหตุ

มงคลกร เสนอว่า ต้องสร้างแผนรับมือแบบจำลองโดยใช้ข้อมูลที่เรามี และแผนรับมือของภาครัฐต้องมีเอกภาพ เพราะตอนนี้ทิศทางมันกระจัดกระจาย ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าควรใช้แผนรับมือน้ำท่วมอย่างไร หรือไม่เข้าใจว่าแผนเผชิญเหตุคืออะไร

"สมมติมีแผนเผชิญเหตุว่า ตอนนี้น้ำล้นจากฝั่งแม่น้ำกก มาจากทิศเหนือมา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปูมาทางด้านเหนือตรงบ้านผมต้องทำยัง แต่ตอนนี้ผมไม่รู้เลยว่าจะทำยังไง นี่คือสิ่งที่พวกเราไม่มี แต่ในอนาคตพวกเราต้องมี" มงคลกร กล่าว

มงคลกร เสนอว่า ภาครัฐควรพิจารณาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการป้องกันอุทกภัยในอนาคตอย่างการสร้างคลองผันน้ำ และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมได้และจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งนี้ อีกทั้งควรจะมีนโยบายหรือมาตรการให้นักจิตวิทยามาช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมด้วย นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่อาจถูกละเลย 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net