Skip to main content
sharethis

หลายฝ่ายกังวลว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่จะมีอายุถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2570 ซึ่งเท่ากับว่าเหลือเวลาเพียง 2 ปี 8 เดือนเท่านั้น

การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทยในช่วงจัดตั้งรัฐบาล ทว่าในรัฐบาลเศรษฐาก็ยังไม่ได้เริ่มก้าวแรก โดยพรรคเพื่อไทยเคยประเมินว่า ขั้นตอนสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะใช้เวลา "ไม่น้อยกว่า 3 ปี" ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้เริ่มการทำประชามติหรือกระบวนการใดๆ และมีแนวโน้มว่ากระบวนการจะยิ่งล่าช้าออกไปอีก หากรัฐบาลชุดใหม่ยังเดินหน้าโดยอิงตามข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ที่ให้มีการประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งในการทำประชามติครั้งแรกยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เพราะคำถามประชามติที่ซับซ้อน อีกทั้งหากมีการทำประชามติเกิดขึ้นได้จริง ก็ยังเสี่ยงว่าจะมีใครไปร้องเรียนให้เป็นประชามติที่ไม่ถูกรับรองด้วยกฎหมาย

วานนี้ (19 ก.ย. 2567) เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) จัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญใหม่ไปกันต่อ สสร. เลือกตั้ง” ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยช่วงท้ายกิจกรรมมีวงเสวนา “รัฐธรรมนูญใหม่ทัน 3 ปี ต้องมี สสร.” มีผู้ร่วมพูดคุยได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ  สส.และหัวหน้าพรรคประชาชน, จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และ อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคของการแก้รัฐธรรมนูญคืออะไรบ้าง, 2 พรรคเห็นตรง-เห็นต่างกันอย่างไร ,บทบาทของ สว. และภาคประชาชนอยู่ตรงไหน ประชาไทสรุปมาด้านล่างนี้

สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

จาตุรนต์ ในฐานะ สส.พรรคเพื่อไทย และ ณัฐพงษ์ สส.และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวตรงกันถึงจุดยืนของพรรคเรื่องที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ว่าต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100%

ส่วนสิ่งที่สองพรรคเสนอแตกต่างกันเป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย เช่น องค์ประกอบของ สสร. และรูปแบบวิธีการเลือกตั้ง

อังคณา ในฐานะ สว. กล่าวเสริมในเรื่องการเลือก สสร. ที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มคนชายขอบ โดยชวนถอดบทเรียนความล้มเหลวของระบบ สว.เลือกกันเอง คำถามสำคัญคือจะออกแบบระบบการเลือกตั้งอย่างไรที่จะเปิดโอกาสให้คนชายขอบเข้ามาเป็นผู้แทนได้จริง

จีรนุช จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวว่าประเทศไทยยังไม่เคยมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% เราเคยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ก็ถือว่าเข้าถึงประชาชนอย่างมาก แต่นั่นมันก็ 20 ปีผ่านมาแล้ว ในวันนี้จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลือกตั้ง สสร. 100% เพื่อให้รัฐธรรมนูญยึดโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากยังมีคนชายขอบอีกมากที่ไม่ถูกมองเห็น แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่สามารถแก้ปัญหาได้ครอบจักรวาล แต่เราควรข้ามให้พ้นจากวาทกรรมนักการเมืองเลว แล้วมุ่งไปสู่ขั้นตอนการออกแบบกระบวนการในการเลือกตั้ง สสร. ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อให้ไปถึงปลายทางที่เราเห็นร่วมกัน

ปัญหาที่อาจทำให้ แก้ รธน. ไม่ทัน

จาตุรนต์กล่าวถึง 3 อุปสรรคในการทำรัฐธรรมนูญใหม่

ข้อแรก – การจะทำประชามติทันหรือไม่ทันตามกรอบเวลาดังกล่าว ขึ้นอยู่กับว่า สว. ว่าจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ ประชามติฯ) ที่แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ทันหรือไม่ ถ้ามีการปรับแก้มาก หรืออาจถึงขั้นตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาพูดคุย ก็อาจทำให้ล่าช้าไปอีก

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ 2 ฉบับ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับยื่นและกล่าวว่า จะนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมตามขั้นตอนต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

จาตุรนต์ ฉายแสง

ข้อสอง – การทำประชามติครั้งแรกจะมีใครไปร้องเรียนหรือเปล่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความอย่างไร เพราะว่าเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายรองรับตามรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำสามครั้ง เพียงแต่ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและรัฐบาล มีแนวทางการทำประชามติสามครั้ง สืบเนื่องมาจาก สว. ชุดที่แล้วเคยอ้างว่า “ต้องทำประชามติก่อน” ไม่เช่นนั้นจะไม่ลงมติให้

“ถ้าไปทำประชามติโดยที่รัฐสภายังไม่พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมันอาจจะมีปัญหาการร้องเรียน ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่าทำ (ประชามติ) ไม่ได้… คือทำแล้วไม่มีผลยุติผูกพันใครทั้งนั้น ไม่มีผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ถึงแม้ประชาชนจะลงมติผ่าน เห็นชอบ แต่ไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ หมายความว่าพอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสภา สมมติว่า สว.ไม่มาลงคะแนนเลย ร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ตกไป” จาตุรนต์กล่าว

ข้อสาม – ประธานรัฐสภายังไม่บรรจุญัตติการแก้ไขมาตรา 256 ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไว้ในวาระการประชุม

จาตุรนต์กล่าวว่า ปัญหาในข้อนี้ก็มีวิธีแก้ที่อาจพอทำได้ คือพรรคการเมืองอย่าง 2 พรรคคือเพื่อไทย กับก้าวไกล เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ

“มันก็เป็นปัญหาวนไปวนมาอย่างนี้ ทำประชามติยังไง ในเมื่อรัฐสภายังไม่ได้มีมติ คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่า อำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ถ้าหากรัฐสภาต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไปทำประชามติก่อน ปัญหาเวลานี้คือรัฐสภายังไม่ได้แสดงความต้องการตรงไหนเลย เพราะว่ารัฐสภายังไม่พิจารณา ประธานสภาฯ ยังไม่บรรจุระเบียบวาระ ฉะนั้นทางที่จะทำให้กระบวนการทั้งหมดมันดำเนินไปได้เร็วแล้วก็ทำประชามติครั้งแรกให้มันมีผลแน่ๆ ก็คือประธานสภาบรรจุร่างที่ยื่นไปเข้าระเบียบวาระ แล้วก็ลงมติ ต้องได้เสียงตามเงื่อนไข ก็คือฝ่ายค้าน 20% ซึ่งก็คงได้อยู่แล้ว เสียงเกินครึ่ง ซึ่งก็น่าจะได้อยู่แล้ว สว.ต้องได้เกิน 1 ใน 3 ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันว่าจะได้ไหม” จาตุรนต์กล่าว

จาตุรนต์ย้ำว่า ปัญหาสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประธานสภาฯ บรรจุระเบียบวาระ และ ถ้าจะทำประชามติ 3 ครั้ง จะทำอย่างไรให้ได้ทำไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568

เหตุผลที่ต้องเป็นช่วงเดือนดังกล่าว จาตุรนต์บอกว่าน่าจะเพราะตรงกับการเลือกตั้งสมาชิก อบจ. ซึ่งก็จะได้ทำประชามติไปพร้อมกันด้วยเลย เพื่อความสะดวกและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

ประชามติ 3 ครั้ง จำเป็นต้องทำจริงหรือ?

ณัฐพงษ์ สส.และหัวหน้าพรรคประชาชน แสดงความกังวลเช่นเดียวกันในเรื่องที่ประธานรัฐสภายังคงไม่บรรจุวาระ โดยกล่าวถึงสาเหตุด้วยว่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของสภาคอยให้คำปรึกษาประธานรัฐสภานับตั้งแต่ชุดที่แล้ว ตั้งแต่ตอนที่ ชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภาเรื่อยมาจนถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการบรรจุวาระ

สำหรับปัญหานี้ ณัฐพงษ์มองว่าต้องแก้ด้วยวิธีการทางการเมือง ทั้งพูดคุยหน้าบ้านและหลังบ้าน รวมไปถึงการรณรงค์นอกสภาของภาคส่วนต่างๆ ก็อาจช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนคำถามที่ว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการทำประชามติสามครั้ง หัวหน้าพรรคประชาชนให้ความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นทางกฎหมาย

“ถ้าเราดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ก็ไม่ได้เขียน คำวินิจฉัยรวมก็ไม่ได้เขียนชัดขนาดนั้นว่า ต้องทำสามครั้ง มิหนำซ้ำถ้าเราไปดูในคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการแต่ละท่าน เสียงข้างมากในตุลาการที่ลงความเห็นตรงนั้นบอกไว้ค่อนข้างชัดด้วยซ้ำว่าทำสองครั้งก็ได้ ไม่ได้เขียนบอกไว้เลยว่าต้องทำสามครั้ง เพราะงั้นเรื่องนี้ผมคิดว่าด้วยเหตุและผลแล้วกันความจำเป็นทางกฎหมายคิดว่าไม่มีความจำเป็น”  ณัฐพงษ์กล่าว

ด้าน จีรนุช กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยังคงยืนการทำประชามติครั้งแรกก่อนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (กลุ่มรณรงค์มักเรียกกันว่า ครั้งที่ศูนย์) มันจะสูญเปล่าจริง เราเสียเวลามาแล้วเกือบปีที่รอว่าจะต้องทำประชามติครั้งที่หนึ่ง ซึ่งคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากยืนยันแล้วว่าการทำประชามติทำสองครั้งก็เพียงพอแล้ว หากเราดูจากไทม์ไลน์โดยหวังว่าจะได้ทำประชามติในเดือนกุมภาพันธ์ หาก ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ยังไม่ผ่านในเวลานั้น ก็จะไม่ทัน และเมื่อมีคำถามแบบล็อกบางหมวดไว้ก็จะยิ่งทำให้มันไม่ผ่าน ดังนั้นแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติก็จะไม่สามารถทำให้มันทันได้ในสมัยรัฐบาลนี้

 

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ท่าที สว.ชุดใหม่ 

อังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า ตอนที่ ร่างพ.ร.บ ประชามติฯ เข้าวุฒิสภา ตนหวังว่าจะพิจารณาสามวาระรวดแต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น หาก สว.มีการปรับแก้มาก อาจส่งผลให้ร่างกฎหมายออกมาไม่ทันการทำประชามติตามไทม์ไลน์ที่วางไว้

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ สว.สายสีน้ำเงิน จะโหวตสนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ อังคณาตอบว่าเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก เนื่องจากเป็นกลุ่มก้อนที่รวมตัวกันมาอย่างดีจึงเป็นเรื่องยากที่จะแตกแถว

 

อังคณา นีละไพจิตร

เสียงจากภาคประชาชน

ทางออกที่ภาคประชาชนเสนอคือ หากรัฐบาลชุดใหม่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด และไม่ต้องเสี่ยงเจอทางตันทางการเมือง รัฐบาลอาจจะพิจารณา ‘ทำประชามติเพียง 2 ครั้ง’ โดยไม่ต้องทำประชามติครั้งแรกตามที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ เสนอ

โดยรัฐบาลต้องเริ่มต้นจากการให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วจึงทำประชามติครั้งที่ 1 และเมื่อ สสร. ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จสิ้นแล้ว จึงทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เท่านี้ก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างเร็วที่สุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

จีรนุช เปรมชัยพร

จีรนุชกล่าวว่า ภาคประชาชนเดินหน้ารณรงค์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธการแก้ไขเป็นรายมาตราของสภาในบางประเด็น เนื่องจากประชาชนบางส่วนก็อาจมีประเด็นเร่งด่วนที่อยากเห็นการแก้เป็นรายมาตราออกมาก่อน เช่น ประเด็นสิทธิชุมชน ปากท้อง สิทธิในทรัพยากร ที่ถ้าไปรอแก้ทั้งฉบับทีเดียวมันก็อาจจะนานสำหรับเขา  

เราคิดว่าเราเป็นประชาชนที่ไม่ได้ใจร้อน เราอยู่กับสังคมที่มันต้องค่อยๆ เดินไปพอสมควร เรารู้ว่าการต่อสู้ของเรามันคือการเดินทางไกล เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่งานที่จะได้ในวันนี้พรุ่งนี้ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาหลายอย่างในสังคมที่ไม่สามาถรถจะทำได้ในเร็ววัน

“แต่เรื่องที่เราอยากได้ในเร็วๆ นี้ก็คือเรื่องนิรโทษกรรม เพื่อนของเรามายืนชูป้ายตรงนี้ เราอยากบอกว่า เรื่องนี้เป็นปมความขัดแย้งที่สำคัญในสังคม ในสังคมที่กระบวนการยุติธรรมมันไม่ฟังก์ชันเนี่ย เราคิดว่านั่นเป็นสังคมที่แย่ที่สุด เรายอมรับมันไม่ได้ และเราก็หวังว่าเรื่องการนิรโทษกรรมจะได้รับการตอบรับจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล”

จีรนุชกล่าวว่าวิธีเดียวที่จะพาเรากลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบไม่เสียเลือดเนื้อคือการร่วมกันเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราต้องการความกล้าหาญจากผู้มีอำนาจที่จะเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้เสียที

 

 

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่:

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net