Skip to main content
sharethis

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบยกเครื่องใหญ่หรือยกร่างทั้งหมด ยังไม่เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ และไม่แน่ชัดว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อใด

ระหว่างนี้พรรคการเมืองต่างๆ จึงพยายามยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เพื่อหยุดยั้งการทำให้การเมืองสะดุดอย่างที่ไม่ควรสะดุด เช่น การหลุดตำแหน่งนายกฯ เพียงเพราะแต่งตั้งบางตำแหน่ง หรือการยุบพรรคเพราะการเสนอแก้กฎหมายในสภาปกติ

ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ต่างก็เตรียมเสนอร่างแก้ไขในปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าว เพื่อปรับสมดุลอำนาจการตรวจสอบให้ไม่เป็นอุปรรคต่อระบบการเมือง โดยประธานสภานัดหมายคร่าวๆ ว่าน่าจะได้พิจารณากันในกลางเดือนหน้าและต้องเป็นการประชุมร่วม 2 สภา

รายละเอียดของแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 2 พรรคใหญ่ มีดังนี้

กราฟิกเปรียบเทียบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่าง พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทย

1. แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

2. แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ  

(4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น "ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต" โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้

(5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า  ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา

(7)  ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

3. แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรม ที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และ มาตรา 246

4. แก้ไข มาตรา 211  ว่าด้วย มติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

5. แก้ไขมาตรา 235  ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ  ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

6. แก้ไขหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ใน มาตรา 255 ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไขในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก.

พรรคประชาชน

1. แก้กฎหมายยุบพรรค

เสนอปรับเงื่อนไขเรื่องการยุบพรรคให้สอดคล้องกับหลักสากล ผ่านการยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560  เพื่อให้พรรคการเมืองเกิดง่าย ตายได้ยาก และยึดโยงกับประชาชน

เช่น ลดเงื่อนไขในการตั้งพรรคเรื่องทุนประเดิม สาขาพรรค และธุรการที่เกี่ยวข้อง, ปลดล็อกให้พรรคการเมืองระดมทุนจากประชาชนได้ง่ายขึ้น (เช่น การขายสินค้าของพรรคออนไลน์), ป้องกันการครอบงำพรรคการเมืองโดยทุนใหญ่ ที่ใช้วิธีซอยย่อยและกระจายเงินบริจาค ไปตามบริษัทย่อยๆในในเครือ

2. เลิกให้ศาลตีความเรื่องจริยธรรมนักการเมือง

เสนอให้มีการกำกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งในท้ายที่สุดจะไปจบที่คูหาเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมี 3 ฉบับที่ยื่นไปแล้วก่อนหน้านี้

ร่างที่ 1: ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเร่งรัดยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.

เปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่ง คสช. มีโอกาสได้โต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ประกาศและคำสั่งนั้นส่งผลต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ร่างที่ 2: เพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร

เสนอเพิ่มหมวด 16/1 ในรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วนคือ:

1. คุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป หรือ กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจ

2. เพิ่มความรับผิดชอบให้สถาบันทางการเมืองร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร (เช่น ห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองการรัฐประหาร)

3. ทำให้การทำรัฐประหารมี "ราคา" สำหรับผู้ก่อการ (เช่น การห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร การกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฏได้โดยปราศจากอายุความ การทำให้บทบัญญัติในหมวดการป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณี ที่มีผลใช้บังคับไปโดยตลอดไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่)

ร่างที่ 3: ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ฉบับ คสช.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net